รอยเตอร์ - ทางการเนเธอร์แลนด์สั่งห้ามรัฐมนตรี 2 คนของตุรกี เดินทางไปปราศรัยที่เมืองร็อตเตอร์ดัม เมื่อวานนี้ (11 มี.ค.) ขณะที่ปมพิพาทเรื่องการห้ามรัฐบาลอังการาเข้าไปหาเสียงกับผู้อพยพในแดนกังหันลม ส่งผลให้ประธานาธิบดี เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน ถึงกับยัวะจัด ออกมาประณามเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นชาติพันธมิตรนาโตว่าทำตัวเหมือน “นาซี”
ข้อพิพาทดังกล่าวได้ลุกลามหลายเป็นประเด็นทางการทูต หลังจาก ฟัตมา เบตุล ซายัน กายา รัฐมนตรีกระทรวงครอบครัวของตุรกี ถูกตำรวจดัตช์ห้ามไม่ให้เข้าไปยังสถานกงสุลเมืองร็อตเตอร์ดัม ซึ่งผู้อพยพชาวตุรกีหลายร้อยคนได้มาชุมนุมที่ด้านนอกสถานกงสุล พร้อมโบกสะบัดธงชาติเพื่อต้อนรับรัฐมนตรีของพวกเขา
ก่อนหน้านั้น รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี เมฟลุต คาวูโซกลู ก็ถูกห้ามไม่ให้เดินทางไปยังเมืองร็อตเตอร์ดัมเช่นกัน
“ทั่วโลกควรแสดงจุดยืนในนามประชาธิปไตยเพื่อต่อต้านการกระทำแบบฟาสซิสต์เช่นนี้ สิ่งที่พวกเขาทำกับรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้หญิงไม่สามารถยอมรับได้” ซายัน กายา โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ พร้อมระบุว่า เธอกำลังถูกตำรวจดัตช์ส่งกลับไปยังเยอรมนี
เช้ามืดวันนี้ (12) ตำรวจดัตช์ได้ใช้ทั้งสุนัขและปืนฉีดน้ำแรงดันสูงขับไล่ฝูงชนราว 1,000 คน ซึ่งปักหลักประท้วง เพราะไม่พอใจที่รัฐมนตรีตุรกีถูกห้ามไม่ให้มาพบพวกเขา ขณะที่ผู้เห็นเหตุการณ์บอกกับรอยเตอร์ ว่า มีผู้ประท้วงหลายคนถูกตำรวจใช้กระบองทุบตี
รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ซึ่งส่อแววจะพ่ายแพ้ยับเยินให้แก่พรรคต่อต้านอิสลามของ กีร์ต วิลเดอร์ส (Geert Wilders) ในศึกเลือกตั้งสัปดาห์หน้า ระบุว่า การมาเยือนของรัฐมนตรีตุรกีทั้งสองคนเป็นเรื่อง “ไม่พึงประสงค์”
“รัฐบาลไม่สามารถให้ความร่วมมือกับการหาเสียงทางการเมืองของรัฐมนตรีตุรกีในดินแดนของเนเธอร์แลนด์ได้”
รัฐบาลดัตช์แสดงความกังวลว่า การหาเสียงอาจจะสร้างความแตกแยกในหมู่ชาวตุรกีกลุ่มน้อยที่นั่น ซึ่งมีทั้งพวกที่สนับสนุนและต่อต้าน แอร์โดอัน ขณะที่นักการเมืองดัตช์จากทุกพรรคก็มีท่าทีเห็นด้วยกับการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี มาร์ก รัตต์
กระทรวงการต่างประเทศตุรกี ได้มีมาตรการตอบโต้ โดยประกาศว่าไม่ต้องการให้เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ ซึ่งอยู่ระหว่างลาพักรีบเดินทางกลับมาอังการาในช่วงนี้ ทั้งยังมีการส่งตำรวจไปปิดล้อมสถานทูตดัตช์ในกรุงอังการา และสถานกงสุลในนครอิสตันบูล ซึ่งทั้ง 2 แห่งก็มีชาวตุรกีหลายร้อยออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้านการกระทำของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์
แอร์โดอัน หวังเรียกคะแนนนิยมจากผู้อพยพชาวเติร์กกลุ่มใหญ่ในยุโรป โดยเฉพาะในเยอรมนี และ เนเธอร์แลนด์ เพื่อคว้าชัยชนะในการทำประชามติเพิ่มอำนาจบริหารแก่ประธานาธิบดีในเดือน เม.ย.
นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี ยืนยันว่า เธอจะทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งทางการเมืองในตุรกีแผ่ลามเข้าไปถึงเมืองเบียร์ ขณะที่กำหนดการหาเสียง 4 ครั้งของรัฐมนตรีตุรกีที่ออสเตรีย และอีก 1 ครั้งที่สวิตเซอร์แลนด์ ก็ถูกยกเลิกไปแล้ว
ผู้นำตุรกีอ้างภัยคุกคามจากกลุ่มติดอาวุธเคิร์ด และอิสลามิสต์ รวมไปถึงความพยายามก่อรัฐประหารเมื่อเดือน ก.ค. ปีที่แล้ว มาเป็นเหตุผลที่ประชาชนควรจะโหวต “เยส” ให้เขาได้มีอำนาจบริหารเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็พยายามปลุกเร้ากระแสดราม่าด้วยการกล่าวหาพันธมิตรยุโรปกว่า “ทรยศ” ต่อตุรกีซึ่งกำลังเผชิญสงครามบริเวณพรมแดนตอนใต้
เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่เที่ยวบินถูกยกเลิก คาวูโซกลู ยืนยันว่า เขาจะบินไปปราศรัยที่ร็อตเตอร์ดัมให้ได้ในวันเสาร์ (11) พร้อมเรียกร้องให้ยุโรปหยุดทำตัวเป็น “เจ้านาย” ชี้นิ้วสั่งคนอื่น
“ถ้าการที่ผมไปที่นั่นจะทำให้สถานการณ์ตึงเครียดยิ่งกว่าเดิมก็ช่างมันเป็นไร... ผมเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ผมมีสิทธิ์จะไปที่ไหนก็ได้”
คาวูโซกลู ซึ่งเพิ่งถูกห้ามปราศรัยที่เมืองฮัมบวร์กเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยังกล่าวหาเนเธอร์แลนด์ว่าปฏิบัติต่อพลเมืองตุรกีเยี่ยง “เชลย” และไม่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ติดต่อสัมพันธ์กับอังการา
ทางการเนเธอร์แลนด์เพิกถอนสิทธิ์ในการลงจอดของเที่ยวบิน คาวูโซกลู โดยอ้างเหตุผลเรื่องความสงบเรียบร้อย และปัญหาด้านความมั่นคง รวมถึงเรื่องที่รัฐมนตรีผู้นี้ขู่จะใช้มาตรการคว่ำบาตรทางการเมืองและเศรษฐกิจกับแดนกังหัน หากถูกห้ามไม่ให้เข้าประเทศ
กีร์ต วิลเดอร์ส หัวหน้าพรรคเพื่อเสรีภาพ (Party for Freedom) ซึ่งมีจุดยืนต่อต้านอิสลาม ได้โพสต์ทวิตเตอร์ถึงผู้อพยพชาวตุรกีเมื่อวานนี้ (11) ว่า “ถึงชาวเติร์กทุกคนในเนเธอร์แลนด์ที่เห็นด้วยกับแอร์โดอัน : เชิญกลับไปตุรกี และอย่ากลับมาที่นี่อีก!!”
แอร์โดอัน ออกมาประณามเนเธอร์แลนด์ที่ห้ามรัฐมนตรีตุรกี 2 คน ไปเยือนเมืองร็อตเตอร์ดัม โดยระบุว่า “ฟังนะเนเธอร์แลนด์ คุณจะพยายามขัดขวางเราครั้งหนึ่ง หรือสองครั้งก็แล้วแต่ แต่ประชาชนของผมจะแก้เกมคุณจนได้... คุณจะยกเลิกเที่ยวบินของรัฐมนตรีต่างประเทศของเรากี่ครั้งก็ไม่เป็นไร แต่คอยดูก็แล้วกันว่า เที่ยวบินของคุณที่มายังตุรกีจะเป็นอย่างไร”
“คนพวกนี้ไม่รู้จักมารยาทการทูตและการเมือง พวกเขาเป็นเศษเสี้ยวที่ยังเหลืออยู่ของนาซี พวกเขาเป็นฟาสซิสต์”
ด้าน นายกรัฐมนตรี รัตต์ ได้แถลงตอบโต้การพาดพิงถึงนาซีและฟาสซิสต์ว่าเป็น “คำพูดบ้าๆ”