เอเอฟพี - องค์การนิรโทษกรรมสากล (เอไอ) กล่าวหาวันนี้ (9 มี.ค.) ว่ารัฐบาลซาอุดีอาระเบียและกลุ่มพันธมิตรอาหรับมีการนำ “ระเบิดดาวกระจาย” (cluster bombs) ซึ่งเป็นอาวุธต้องห้ามมาใช้ถล่มพื้นที่ชุมชน ระหว่างทำสงครามกวาดล้างกบฏฮูตีในเยเมน
คำแถลงของเอไอ ระบุว่า ระเบิดซึ่งผลิตในบราซิลถูกนำมาใช้ยิงถล่มชุมชน 3 แห่ง และพื้นที่เกษตรกรรมในจังหวัดซาดา (Saada) ทางตอนเหนือของเยเมน ซึ่งเป็นฐานที่มั่นหลักของกบฏฮูตีนิกายชีอะห์ เมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา
การโจมตีดังกล่าวทำให้มีผู้บาดเจ็บ 2 ราย
กลุ่มพันธมิตรซาอุฯ ยังเคยนำระเบิดดาวกระจายมาใช้เมื่อเดือน ต.ค. ปี 2015 และเดือน พ.ค. ปี 2016 ตามรายงานของเอไอ
ลีนน์ มาลูฟ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของเอไอประจำสำนักงานส่วนภูมิภาคในกรุงเบรุต แถลงว่า กลุ่มพันธมิตรซาอุฯ “อ้างว่านำระเบิดดาวกระจายมาใช้อย่างถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งที่มีหลักฐานชัดเจนว่า พลเรือนซึ่งติดอยู่ในพื้นที่สู้รบตกเป็นเหยื่ออาวุธร้ายแรงประเภทนี้”
“ระเบิดดาวกระจายเป็นอาวุธที่ทำลายล้างแบบไม่เลือกหน้า และสร้างความสูญเสียต่อชีวิตมนุษย์อย่างยากที่จะจินตนาการได้”
เอไอ เรียกร้องให้รัฐบาลบราซิล “เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดดาวกระจาย (Cenvention on Cluster Munitions) และขอให้ซาอุดีอาระเบียและประเทศพันธมิตรหยุดนำระเบิดประเภทนี้มาใช้ในสงคราม”
ก่อนหน้านี้ องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรต์ส วอตช์ ได้ออกมากล่าวหาเมื่อเดือน ธ.ค. ว่า กลุ่มพันธมิตรซาอุฯ ใช้จรวดที่บรรจุระเบิดดาวกระจายยิงถล่มใกล้ๆ โรงเรียน 2 แห่งในเมืองซาดา จนเป็นเหตุให้พลเรือนเสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 6 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นเด็ก
เหตุโจมตีดังกล่าวเกิดขึ้นเพียง 1 วัน หลังจากที่ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐฯ และบราซิล ได้ใช้สิทธิ์งดออกเสียงในการโหวตของที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเพื่อรับรองคำสั่งสากลห้ามใช้ระเบิดดาวกระจาย
ระเบิดดาวกระจายสามารถทิ้งลงมาจากเครื่องบิน หรือยิงจากปืนใหญ่ก็ได้ เมื่อยิงออกไปแล้วจะแตกออกเป็นระเบิดลูกเล็กๆ กระจายตัวเป็นวงกว้าง ระเบิดบางลูกที่ไม่ทำงานจะตกค้างอยู่ในดิน เป็นภัยต่อชาวบ้านที่อาจเดินไปเหยียบจนถึงแก่ความตายหรือไม่ก็พิการ และยังสร้างความลำบากแก่ภาครัฐในการเก็บกู้
พันธมิตรซาอุฯ ซึ่งถูกวิจารณ์เรื่องการยิงถล่มชุมชนจนทำให้พลเรือนเยเมนล้มตายเป็นจำนวนมาก ยอมรับเมื่อเดือน ธ.ค. ว่า เคยมีการนำระเบิดดาวกระจายที่ผลิตในอังกฤษมาใช้ “อย่างจำกัด” ทว่าก็ได้เลิกใช้ไปแล้ว
ความขัดแย้งทางการเมืองในเยเมนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 7,400 คน บาดเจ็บอีกราว 40,000 คน หลังจากซาอุฯ และพันธมิตรอาหรับตัดสินใจใช้ปฏิบัติการทางทหารเข้าแทรกแซงเมื่อเดือน มี.ค. ปี 2015 เพื่อช่วยเหลือรัฐบาลเยเมนที่ถูกกบฏฮูตีขับไล่ออกจากเมืองหลวง