xs
xsm
sm
md
lg

In Clip : ศาลอียู ECJ พิพากษา แบนชาติสมาชิกยุโรป ออกวีซ่าเพื่อมนุษยธรรมเข้าประเทศ ถึงแม้ชีวิตจะเสี่ยงฆ่าตัดหัว-ข่มขืนหมู่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์/เอเอฟพี – เมื่อวานนี้(7 มี.ค) ศาลสหภาพยุโรปECJ ออกคำตัดสิน ชาติสมาชิกยุโรปไม่จำเป็นต้องออกวีซ่าเพื่อมนุษยธรรม อนุญาตให้คนเหล่านี้เข้าประเทศ ถึงแม้ว่า จะรับรู้ว่าผู้อพยพนั้นอยู่ในความเสี่ยงของการถูกทรมาน หรือถูกปฎิบัติละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นคำพิพากษาจากศาลอียูล่าสุดที่ออกมาตัดช่องทางการทะลักของผู้ลี้ภัยเข้าสู่เขตเศรษฐกิจสหภาพยุโรปอย่างสิ้นเชิง ท่ามกลางคลื่นผู้อพยพยังคงเข้าสู่ยุโรปต่อเนื่องล่าสุดวันนี้(8 มี.ค) กรีซช่วยขึ้นมาได้จากน้ำอีก 113 คน

รอยเตอร์รายงานเมื่อวานนี้(7 มี.ค)ว่า คำพิพากษาที่ออกมาจากศาลสหภาพยุโรปECJในวันอังคาร(7 มี.ค)มีขึ้นล่าสุดนั้นขัดแย้งต่อการให้แนวทางปฎิบัติโดยทั่วไปที่ออกมาในเดือนกุมภาพันธ์ก่อนหน้านี้ ที่ชี้ว่าวีซ่าเพื่อมนุษยธรรมที่จะออกมาต้องตั้งอยู่บนกฎหมายอียูเท่านั้น

ซึ่งรอยเตอร์เชื่อว่า คำตัดสินล่าสุดจะยิ่งสร้างความกดดันให้กับบรรดาชาติอียูทั้งหมดที่อยู่ในระหว่างหาช่องทางในการแก้ปัญหาการเดินทางเข้าสู่ยุโรปของบรรดาผู้อพยพลี้ภัยสงคราม และแรงงานข้ามชาติ ที่พบว่าในช่วงปี 2014 -2016 เห็นตัวเลขคนจำนวนร่วม 1.6 ล้านเดินทางข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเพื่อขึ้นฝั่เพื่องหาชีวิตใหม่

รอยเตอร์รายงานว่า ในคำตัดสินของศาล ECJ นั้นเป็นคำพิพากษาของคดีครอบครัวชาวซีเรีย ที่หนีภัยออกมาจากเมืองอเลปโป ได้ยื่นขอวีซ่าเพื่ออาศัยอยู่กับคนที่รู้จักในกรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม เมื่อเดือนตุลาคมล่าสุด แต่ทว่าเจ้าหน้าที่เบลเยียมปฎิเสธการออกวีซ่า และนำมาสู่การต่อสู้ทางกระบวนการทางยุติธรรม

โดยในคำพิพากษาระบุว่า “ชาติสมาชิกอียูไม่ถูกกำหนด ภายใต้กฎหมายอียู ให้ต้องออกวีซ่าเพื่อมนุษยธรรมแก่กลุ่มบุคคลที่ประสงค์เข้าสู่ดินแดนของชาติเหล่านั้นในความต้องการเพื่อขอลี้ภัย แต่ยังคงสามารถกระทำได้ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ”

รอยเตอร์ชี้ว่า แต่ในขณะที่ชาติสมาชิกเหล่านี้ยังคงสามารถออกวีซ่าประเภทเหล่านี้ได้หากเป็นความต้องการ ทว่าข้อกำหนดของอียูที่มีขอบเขตกว้างขวาง “จำเป็นต้องหาทางใหม่” เพื่อทำให้แน่ใจว่าผู้ที่ยื่นขอความจำนงค์เป็นจำนวนมากจะไม่ถูกปฎิเสธการร้องขอ ซึ่งพบว่าบรรดาสมาชิกรัฐสภาจำนวนมาก รวมไปถึงกลุ่มเอ็นจีโอได้เรียกร้องทางออกเช่นนี้ โดยชี้ว่า สถานทูตยุโรป และสถานกงสุลนอกอียูสมควรต้องตอบรับข้อร้องขอเหล่านั้น

แต่อย่างไรก็ตาม เธโอ ฟรังค์เคน( Theo Francken) รัฐมนตรีกระทรวงเข้าเมืองเบลเยียมได้กล่าวให้ความเห็นคัดค้านในเรื่องนี้ โดยกล่าวว่า “กลุ่มเอ็นจีโอต้องการย้ายพรมแดนไปอยู่ที่สถานทูตแทน แต่ทว่าศาล ECJ ได้ควบคุมคนเหล่านี้ไว้ ซึ่งถือเป็นสิ่งดี” ฟรังค์เคนแถลง ซึ่งเป็นความเห็นที่ตรงกับแหล่งข่าวนักการทูตคนหนึ่งในบรัสเซลส์ที่กล่าวกับรอยเตอร์ว่า “หากว่าศาลออกความเห็นเป็นอย่างอื่น คงจะมีความโกลาหลเกิดขึ้นอย่างมหาศาล”

ในขณะที่นักการเมืองอื่นๆและกลุ่มเอ็นจีโอได้ออกมาวิจารณ์คำพิพากษาของศาลอียู โดยชี้ว่าเป็นคำพิพากษาที่เพิกเฉยต่อหลักการของอียูที่มีต่อสิทธิมนุษยชน และยังคงผลักดันให้กลุ่มผู้ลี้ภัยไปในทางที่จะเกิดอันตรายอย่างต่อเนื่อง คาร์ล ค็อปป์( Karl Kopp) จากกลุ่มโปรแอสซิล( Pro Asyl) เอ็นจีโอเพื่อสิทธิมนุษยชนของเยอรมันได้ออกมาชี้ว่า “ คำตัดสินที่อกมาในวันนี้ ถือเป็นวันที่น่าเศร้าสำหรับการปกป้องผู้อพยพและกลายเป็นวันเฉลิมฉลองสำหรับพวกต้องการสร้างป้อมปราการและพวกลักลอบค้ามนุษย์”

ล่าสุดวันพุธ(8 มี.ค) มีรายงานว่า หน่วยงานยามฝั่งกรีซสามารถช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจำนวน 113 คน หลังจากเรือที่คนเหล่านั้นนั่งมาประสบปัญหานอกชายฝั่งเกาะพาซี(Paxi) ทางตะวันตกของกรีซ เอเอฟพีรายงาน

ทั้งนี้พบว่าผู้ลี้ภัยเหล่านี้ถูกช่วยโดยเรือคาร์โก และคนทั้งหมดปลอดภัย โดยมีรายงานว่าคนเหล่านี้จะถูกส่งตัวไปยังท่าเรือพาตราส(Patras)ทางตะวันตกเฉียงใต้

โดยก่อนหน้านี้หน่วยงานยามฝั่งได้รับสัญญาณขอความช่วยเหลือในช่วงบ่าย หลังจากมีลมแรงด้วยความเร็วเกือบ 70 ก.ม/ช.มในพื้นที่ และทำให้ทางเจ้าหน้าที่ได้ติดต่อเรือที่วิ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงทันที คือเรือคาร์โก 2 ลำ และเรือขนน้ำมัน 1 ลำ ให้ตรงเข้าช่วยเหลือ





กำลังโหลดความคิดเห็น