xs
xsm
sm
md
lg

“อนามัยโลก” เตือน สภาพแวดล้อมเป็นพิษคร่าชีวิตเด็กเล็กปีละ 1.7 ล้านคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - องค์การอนามัยโลก (ฮู) ชี้ 1 ใน 4 ของการเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบทั่วโลก หรือเท่ากับปีละ 1.7 ล้านคน มีสาเหตุจากสภาพแวดล้อมเป็นพิษหรือไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งรวมถึงน้ำและอากาศเป็นพิษ ควันบุหรี่มือสอง และสุขอนามัยที่ไม่เหมาะสมหรือขาดแคลน แนะภาครัฐเร่งแก้ปัญหาด้วยการขจัดความเสี่ยงในสภาพแวดล้อมที่มีต่อสุขภาพ เช่น ยกระดับคุณภาพน้ำ หรือใช้พลังงานสะอาด

ในรายงานคู่กัน 2 ฉบับ ซึ่งฮูนำออกเผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (6 มี.ค.) ฉบับแรกมุ่งเปิดเผยให้เห็นว่าการเสียชีวิตของเด็กวัยตั้งแต่ 1 เดือนจนถึง 5 ขวบ ซึ่งมีสาเหตุใหญ่ที่สุดมาจาก ท้องร่วง โรคมาลาเรีย และปอดบวม นั้น แท้ที่จริงแล้วจำนวนมากมายทีเดียวสามารถที่จะป้องกันได้ ด้วยการใช้วิธีการซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้วมาลดทอนความเสี่ยงในด้านสภาพแวดล้อม เป็นต้นว่า การทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงน้ำที่มีความปลอดภัย และเชื้อเพลิงสำหรับการหุงหาอาหารที่สะอาด

มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกชี้ว่า สภาพแวดล้อมเป็นพิษเป็นปัจจัยอันตรายถึงชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กเล็ก เธอแจกแจงว่า เนื่องจากเด็กเล็กกำลังอยู่ในช่วงการพัฒนาอวัยวะต่างๆ และระบบภูมิคุ้มกันต่างๆ รวมทั้งร่างกายและทางเดินหายใจของเด็กเล็กก็มีขนาดเล็กกว่าของผู้ใหญ่ ทำให้เด็กเล็กอยู่ในสภาพอ่อนแอมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเผชิญกับอากาศและน้ำที่สกปรก

การสัมผัสสภาพแวดล้อมเป็นพิษอันตรายนั้น สามารถเริ่มขึ้นตั้งแต่ตอนที่ทารกยังอยู่ในครรภ์มารดา ซึ่งทำให้เพิ่มโอกาสในการคลอดก่อนกำหนด ครั้นเมื่อเจริญเติบโตขึ้นมากลายเป็นทารกและเด็กก่อนวัยเรียนก็อาจสัมผัสกับมลพิษทั้งที่อยู่ภายในและภายนอกอาคาร ตลอดจนการสูดควันบุหรี่มือสอง ทำให้พวกเขามีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเป็นโรคปอดบวมตั้งแต่ยังเป็นเด็ก และมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง เช่น โรคหืด ไปจนตลอดชีวิต ขณะที่การสัมผัสกับอากาศที่เป็นมลพิษก็อาจเพิ่มความเสี่ยงให้ช่วงชีวิตของพวกเขาต้องเป็นโรคหัวใจ, หลอดเลือดในสมองตีบตัน, และมะเร็ง

สำหรับรายงานฉบับที่สองขององค์การอนามัยโลก มุ่งเปิดเผยให้เห็นความรุนแรงของปัญหา ด้วยการให้ตัวเลขเด็กที่เสียชีวิตจากการสัมผัสสภาพแวดล้อมเป็นพิษ กล่าวคือ ทุกปีจะมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ 570,00 รายเสียชีวิตจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น ปอดบวม อันเนื่องมาจากอากาศเป็นพิษทั้งในและนอกอาคาร และการสูดควันบุหรี่มือสอง

เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบอีก 361,000 รายเสียชีวิตจากโรคท้องร่วง อันเป็นผลจากการไม่สามารถเข้าถึงน้ำและระบบสุขอนามัยที่สะอาด

เด็ก 270,000 รายเสียชีวิตระหว่างช่วงเดือนแรกหลังคลอดจากสภาวะต่างๆ ที่สามารถป้องกันได้ผ่านการเข้าถึงน้ำ อากาศ และระบบสุขอนามัยที่สะอาด

เด็ก 200,000 รายที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบเสียชีวิตจากโรคมาลาเรียที่อาจป้องกันได้ด้วยการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง

เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ 200,000 รายเสียชีวิตจากการบาดเจ็บโดยไม่ตั้งใจจากสภาพแวดล้อม เช่น สารพิษ

การสัมผัสสารเคมีจากอากาศ อาหาร น้ำ และผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันยังอาจส่งผลให้พัฒนาการในสมองของเด็กล่าช้า

ความเสี่ยงจากสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น การรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างไม่เหมาะสม อาจทำให้เด็กได้รับสารพิษและส่งผลต่อความสามารถด้านความรู้ความเข้าใจ และเพิ่มโอกาสในการทำให้ปอดเสียหายและโรคมะเร็ง ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์จะเพิ่มขึ้น 19% ในช่วงระหว่างปี 2014-2018

รายงานยังแนะนำว่า การลดระดับมลพิษภายในและภายนอกอาคาร ปรับปรุงคุณภาพน้ำ และปกป้องหญิงมีครรภ์จากควันบุหรี่มือสอง จะช่วยเพิ่มอายุขัยของเด็กและลดแนวโน้มการเกิดโรคต่างๆ

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน จากการเพิ่มโอกาสในการสัมผัสละอองเกสรและสารที่ทำให้เกิดภูมิแพ้อื่นๆ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของอาการหอบหืดในเด็ก ขณะเดียวกัน ควันบุหรี่ อากาศเป็นพิษ เชื้อราภายในอาคาร ก็ทำให้อาการหอบหืดในเด็กรุนแรงขึ้น

มาเรีย นีรา ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขของฮู เรียกร้องให้ภาครัฐเพิ่มความพยายามทำให้สถานที่ทุกแห่งปลอดภัยสำหรับเด็ก ด้วยการลงทุนในการขจัดความเสี่ยงในสภาพแวดล้อมที่มีต่อสุขภาพ เช่น ยกระดับคุณภาพน้ำ หรือใช้เชื้อเพลิงที่มีความสะอาดมากขึ้น

กำลังโหลดความคิดเห็น