xs
xsm
sm
md
lg

จีน-รัสเซียแท็กทีม “วีโต้” มติประณามซีเรียอีกรอบ-อ้างไม่เป็นผลดีต่อการเจรจาสันติภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นยกมือโหวตร่างมติประณามซีเรีย ณ สำนักงานใหญ่ยูเอ็นที่นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 28 ก.พ.
เอเอฟพี - จีนและรัสเซียพร้อมใจใช้สิทธ์ “วีโต้” มติประณามซีเรียในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อวานนี้ (28 ก.พ.) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกหลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวขึ้นเป็นผู้นำสหรัฐฯ โดยทูตหมีขาวอ้างว่ามติซึ่งอาจจะนำไปสู่การคว่ำบาตรซีเรียโทษฐานใช้อาวุธเคมีนั้นไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการเจรจาสันติภาพ

การวีโต้ดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่การเจรจาสันติภาพที่นครเจนีวายังคงไร้สัญญาณทางออกสำหรับสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 6 ปี

รัสเซียซึ่งเป็นพันธมิตรทางทหารรายใหญ่ของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ได้ใช้อำนาจวีโต้เพื่อช่วยเหลือซีเรียมาแล้วถึง 7 ครั้ง ขณะที่จีนช่วยโหวตปกป้องซีเรียมาแล้ว 6 ครั้ง

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียได้เอ่ยเตือนก่อนที่จะมีการโหวตว่า การลงโทษรัฐบาลซีเรียทั้งๆ ที่ยังมีการเจรจาสันติภาพอยู่ที่นครเจนีวานั้น “ไม่เหมาะด้วยประการทั้งปวง”

ด้าน นิกกี ฮาร์ลีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็น ได้โต้กลับว่า “มตินี้มีความเหมาะสมอย่างยิ่ง”

“มันเป็นวันที่น่าเศร้าสำหรับคณะมนตรีความมั่นคง เมื่อรัฐสมาชิกต่างหาข้ออ้างปล่อยให้รัฐอื่นๆ เข่นฆ่าประชาชนได้... โลกนี้อันตรายขึ้นทุกวันจริงๆ”

มติประณามซีเรียซึ่งร่างขึ้นโดยอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ ได้รับการโหวตเห็นชอบจาก 9 ประเทศ และมี 3 ประเทศที่คัดค้าน ได้แก่ โบลิเวีย จีน และรัสเซีย ส่วนอียิปต์ เอธิโอเปีย และคาซักสถาน ของดออกเสียง

ทั้งนี้ มติของคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นจะต้องได้รับการโหวตเห็นชอบจากรัฐสมาชิกอย่างน้อย 9 ประเทศ และไม่มีสมาชิกถาวรใช้สิทธิ์วีโต้จึงจะผ่านได้

เนื้อหาของร่างมติกำหนดให้มีการขึ้นบัญชีดำพลเมืองซีเรีย 11 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกผู้บัญชาการทหาร และองค์กรอีก 10 แห่งที่มีส่วนพัวพันกับการใช้อาวุธเคมีสังหารพลเรือนในช่วงปี 2014-2015 นอกจากนี้ยังห้ามประเทศใดๆ จำหน่ายเฮลิคอปเตอร์และสารเคมีให้แก่กองทัพหรือรัฐบาลซีเรีย

ผู้เชี่ยวชาญยูเอ็นสรุปผลการสอบสวนเมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้วว่า กองทัพอากาศซีเรียได้ส่งเฮลิคอปเตอร์นำถังบรรจุก๊าซพิษคลอรีนไปถล่มหมู่บ้าน 3 แห่งที่อยู่ในการยึดครองของพวกกบฏ เมื่อปี 2014 และ 2015

ฟรองซัวส์ เดอลาตร์ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำยูเอ็น ชี้ว่า การใช้อาวุธเคมีสังหารประชาชนสะท้อนถึงความ “ไร้อารยธรรม” ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศเมืองน้ำหอม ฌ็อง-มาร์ก เอโรต์ ก็เตือนรัสเซียให้ตระหนักถึง “ความรับผิดชอบต่อชะตากรรมของชาวซีเรีย และมนุษยชาติทั้งมวล”

โบริส จอห์นสัน รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ระบุว่า การใช้สิทธิ์วีโต้ของรัสเซียและจีนเป็นเรื่องที่ “น่าผิดหวังอย่างยิ่ง”

คณะทำงานร่วมยูเอ็นและองค์การเพื่อการห้ามอาวุธเคมี (OPCW) ยังพบด้วยว่า กลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ได้นำแก๊สมัสตาร์ดมาใช้ในสงครามเมื่อปี 2015

สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนกบฏสายกลางที่ต้องการโค่นล้มระบอบอัสซาด และยังเป็นผู้นำกลุ่มพันธมิตรโจมตีไอเอสทั้งในอิรักและซีเรีย

วลาดิมีร์ ซาฟรอนคอฟ รองเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำยูเอ็น เอ่ยย้ำคำพูดของ ปูติน ที่ว่ามติคว่ำบาตรจะเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาสันติภาพ และร่างมติที่ 3 ชาติตะวันตกผลิตขึ้นนั้นเป็นการ “ยั่วยุ” ให้สถานการณ์เลวร้ายลง

ด้าน หลิว เจียอี้ เอกอัครราชทูตจีนประจำยูเอ็น ชี้ว่าการคว่ำบาตรซีเรียนั้นยังเร็วเกินไป และควรรอให้กระบวนการตรวจสอบของ UN-OPCW เสร็จสมบูรณ์เสียก่อน

กำลังโหลดความคิดเห็น