xs
xsm
sm
md
lg

“ซัมซุง” ยุบสำนักงานยุทธศาสตร์ หลังอัยการพิเศษสั่งฟ้อง “นายใหญ่” ข้อหา “ติดสินบน-ยักยอกทรัพย์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ขณะ ลี เจยอง หรือ เจย์ วาย. ลี นายใหญ่ในทางพฤตินัยของซัมซุงกรุ๊ป ถูกนำตัวมาสอบปากคำที่สำนักงานอัยการพิเศษในกรุงโซล  ทั้งนี้สำนักงานแห่งนี้ประกาศตั้งข้อหาอย่างเป็นทางการต่อ ลี และผู้บริหารระดับสูงของซัมซุงอีก 4 คนในวันอังคาร (28 ก.พ.) </i>
เอเจนซีส์ - อัยการพิเศษเกาหลีใต้ ตั้งข้อหา เจย์ วาย. ลี นายใหญ่ “ซัมซุงกรุ๊ป” พร้อมผู้บริหารระดับสูงอีก 4 คน เมื่อวันอังคาร (28 ก.พ.) ฐานจ่ายสินบนและยักยอกทรัพย์ ในคดีทุจริตที่กำลังนำไปสู่กระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีพัค กึน-ฮเย ขณะเดียวกันด้านกลุ่มธุรกิจยักษ์แห่งนี้ก็ประกาศยุบเลิกสำนักงานยุทธศาสตร์แห่งอนาคตของตนทิ้งไปด้วย

สำนักงานอัยการพิเศษแถลงในวันอังคาร (28) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายในการดำเนินการสอบสวนของสำนักงาน ระบุว่าได้ตั้งข้อหาเจย์ วาย. ลี วัย 48 ปี ผู้นำรุ่นที่ 3 ของซัมซุง พร้อมกับผู้บริหารระดับสูงอีก 4 คน ทั้งนี้ ลีถูกจับกุมตัวตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ซึ่งสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ ซึ่งถือเป็นพลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแดนโสมขาวที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของเอเชีย

รัฐสภาเกาหลีใต้มีมติยื่นฟ้องถอดถอน พัค ออกจากตำแหน่งเมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว หลังเธอถูกกล่าวหาว่าร่วมมือกับเพื่อนสนิท ชอย ซุนซิล ข่มขู่กลุ่มบริษัทใหญ่ๆ ให้บริจาคเงินจำนวนมหาศาลเข้ามูลนิธิไม่แสวงผลกำไร 2 แห่งที่ตั้งขึ้นเพื่อผลักดันโครงการริเริ่มต่างๆ ของพัค

ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้จะถูกถอดถอนหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคาดว่าจะประกาศคำพิพากษาภายในเดือน มี.ค.นี้

“ผู้บริหาร 5 คนจะถูกตั้งข้อหาจ่ายสินบน ยักยอกทรัพย์ และซุกซ่อนทรัพย์สินไว้ในต่างแดน” ลี คยู-ชุล โฆษกอัยการพิเศษแถลง พร้อมเสริมว่านายใหญ่ซัมซุงยังจะถูกตั้งข้อหาเบิกความเท็จต่อรัฐสภาอีกกระทงหนึ่งด้วย

สำหรับผู้บริหารซัมซุงคนอื่นๆ ที่จะถูกดำเนินคดี ได้แก่ ชอย กี ซุง รองประธานกรรมการซัมซุงกรุ๊ป, ชาง ชุงกี ผู้ช่วยของชอย, พัค ซางจิน ประธานซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์ และ ฮวาง ซุงซู รองประธานบริหาร โดยที่ซัมซุงกรุ๊ปได้ออกคำแถลงในเวลาต่อมาว่า ชอย, ชาง และพัค ได้ลาออกจากบริษัทแล้ว

ซัมซุงถูกกล่าวหาว่าจ่ายสินบนรวมเป็นเงิน 43,000 หมื่นล้านวอนให้แก่ชอย เพื่อนสนิทของประธานาธิบดีพัค เพื่อแลกกับการที่รัฐบาลช่วยสนับสนุนการควบรวมกิจการของบริษัทสองแห่งในเครือซัมซุง เมื่อปี 2015

เจย์ วาย. ลี ได้เข้ามากุมบังเหียน ซัมซุง กรุ๊ป กลุ่มกิจการยักษ์ หรือ “แชโบล” ใหญ่สุดของเกาหลีใต้ในทางพฤตินัย นับตั้งแต่ประธาน ลี คุนฮี พ่อของเขา เกิดอาการหัวใจวายเมื่อปี 2014 โดยที่การควบรวมกิจการ 2 บริษัทในเครือดังกล่าว ถือเป็นการแผ้วถางทางอันสำคัญมากสำหรับการเข้าควบคุมแชโบลแห่งนี้ให้อยู่ในกำมือ
<i>ลี คยู-ชุล โฆษกสำนักงานอัยการพิเศษ แถลงข่าวที่กรุงโซลในวันอังคาร (28 ก.พ.) </i>
ภายหลังการแถลงของสำนักงานอัยการพิเศษแล้ว กลุ่มซัมซุงกรุ๊ปก็ได้ออกคำแถลงสั้นๆ ทางอีเมล์ในอีกไม่กี่นาทีต่อมา ระบุว่า “กำลังยุบเลิก” สำนักงานยุทธศาสตร์แห่งอนาคต (Future Strategy Office) ของทางกลุ่ม ซึ่งเป็นหน่วยงานประสานงานทำหน้าที่กำกับการตัดสินใจสำคัญๆ เป็นต้นว่า การซื้อกิจการ การเข้าควบรวมกิจการ ตลอดจนการเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ

ความเคลื่อนไหวคราวนี้ถูกเรียกขานว่าป็น “แผนปฏิรูป” ซึ่งจะทำให้หน่วยธุรกิจของซัมซุงแต่ละหน่วยมีอิสระมากขึ้นในการดำเนินงาน และหน่วยงานทรงอิทธิพลของกลุ่มที่ดูแลงานล็อบบี้ภาครัฐบาลจะถูกยกเลิกไป ขณะที่การตัดสินใจเกี่ยวกับการบริจาคต่างๆ จะให้มีความโปร่งใสมากขึ้น

อันที่จริงตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาแล้ว ลีได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะยุบเลิกสำนักงานยุทธศาสตร์แห่งอำนาคต ซึ่งเป็นเสมือนศูนย์กลางประสาทแห่งสำคัญที่รับผิดชอบแผนการริเริ่มสำคัญๆ ทั้งหลาย และก็ถูกกล่าวหาจากพวกนักการเมืองว่า เป็นองค์กรหลักแห่งหนึ่งในการดำเนินความพยายามล็อบบี้อย่างผิดกฎหมายทั้งหลายของกลุ่มซัมซุงกรุ๊ป

สำนักงานแห่งนี้ซึ่งไม่ได้มีตัวตนตามกฎหมายอย่างถูกต้องด้วยซ้ำ แต่มีพนักงานทำงานอยู่ราว 200 คนที่ได้รับการเลือกสรรมาจากกิจการในเครือต่างๆ หลายหลาก และมีอำนาจอันแท้จริงอย่างมหาศาล ในฐานะที่เป็นเครื่องมือสำหรับการควบคุมซัมซุงกรุ๊ปของครอบครัวลีที่เป็นผู้ก่อตั้งแชโบลแห่งนี้

โฆษกอัยการพิเศษระบุว่า ถึงแม้สำนักงานอัยการพิเศษจะหมดอายุการทำงานลงแล้ว แต่คดีต่างๆ ที่พัวพันกับประธานาธิบดีพัค จะส่งต่อให้อัยการของรัฐเข้ามาทำหน้าที่แทน โดย พัค ยังอยู่ในฐานะผู้ต้องสงสัย และอาจมีการเรียกผู้บริหารกลุ่มธุรกิจอื่นๆ มาสอบปากคำเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ฮวาง เคียวอันห์ นายกรัฐมนตรีและรักษาการประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ยืนยันให้อัยการพิเศษยุติบทบาทในการสอบคดีทุจริตที่พัวพันถึงประธานาธิบดีพัค ตามกำหนดเส้นตาย 28 ก.พ. โดยไม่มีการต่อเวลาให้

กำลังโหลดความคิดเห็น