เอเจนซีส์ – เมื่อวานนี้(22 ก.พ) อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ โทนี แบลร์ (Tony Blair) ออกมาตอบโต้ข้อกล่าวหา รัฐบาลอังกฤษสมัยแบลร์ได้จ่ายเงินค่าเยี่ยวยาจำนวน 1 ล้านปอนด์ให้กับ จามาล อัล-ฮาริธ(Jamal al-Harith) อดีตนักโทษกวนตานาโมชาวอังกฤษ ที่ได้ออกปฎิบัติการระเบิดฆ่าตัวตายในอิรักเพื่อกลุ่มก่อการร้าย IS ล่าสุด
หนังสือพิมพ์ดิอินดีเพนเดนต์ สื่ออังกฤษ รายงานเมื่อวานนี้(22 ก.พ)ว่า อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ โทนี แบลร์ (Tony Blair) ออกมาตอบโต้การรายงานของสื่ออังกฤษ เดลีเมล ก่อนหน้านี้ที่อ้างว่า รัฐบาลอังกฤษในสมัยเขาได้ใช้เงินภาษีคนอังกฤษร่วม 1 ล้านปอนด์ในการจ่ายเยียวยาให้กับมือระเบิดฆ่าตัวตายของกลุ่มก่อการร้าย IS
โดยแบลร์กล่าวว่า ตัวเขาจำเป็นต้องออกมาตอบโต้ เพราะมีการเสนอข่าวเรื่องนี้อย่างไม่ตรงไปตรงมา ซึ่งตัวอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษยืนยันว่า เป็นเรื่องจริงที่ว่า จามาล อัล-ฮาริธ(Jamal al-Harith)สัญชาติอังกฤษถูกปล่อยตัวจากเรือนจำทหารสหรัฐฯ กวนตานาโมจากการร้องขอของรัฐบาลอังกฤษของเขาในปี 2004 แต่แบลร์ยืนยันว่า ข้อตกลงจ่ายเงินค่าตอบแทนจำนวน 1 ล้านปอนด์เกิดขึ้นในปี 2010 ที่มีรัฐบาลพรรคคอนเซอร์เวตีฟอังกฤษเป็นแกนนำเป็นผู้ตกลง
ดิอินดีเพนเดนต์รายงานต่อว่า ทั้งนี้ในต้นสัปดาห์นี้ กลุ่มก่อการร้าย IS ออกมาประกาศว่า อัล-ฮารีธ ที่ใช้ชื่อ อาบู ซาคาริยา ฮัล-บริทานี(Abu Zakariya al-Britani) ได้ระเบิดตัวเองเสียชีวิตภายในรถที่บรรทุกระเบิดมาจนเต็มในหมู่บ้านทางใต้ของโมซุล
ซึ่งในการประกาศ ทางกลุ่มก่อการร้ายยังอ้างว่า สามารถสร้างความเสียหายจำนวนมหาศาล ถึงแม้ว่าจะไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการก็ตาม พร้อมกันนั้น ทางกลุ่มได้เผยแพร่ภาพของอัล-ฮารีธที่กำลังยิ้มอยู่ออกสู่สาธารณะเพื่อยืนยัน
สื่ออังกฤษชี้ว่า อัล-ธารีต นั้นหันมานับถือศาสนาอิสลามในภายหลัง ซึ่งจากประวัติว่า ชายผู้นี้เกิดในอังกฤษภายใต้ชื่อในตอนเกิดว่า โรนัลด์ ฟิดด์เลอร์(Ronald Fiddler)
ดิอินดีเพนเดนต์ชี้ต่อว่า แบลร์ได้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก หลังจากรัฐบาลอังกฤษในชุดที่เขาบริหารถูกกล่าวหาว่า พยายามล็อบบี้เพื่อช่วยเหลืออดีตนักโทษกวนตานาโมสัญชาติอังกฤษให้ได้รับการปล่อยตัว
ซึ่งในรายงานของสื่อเดลิเมล ได้มีการอ้างคำพูดของ ทิม ลอจ์ฮตัน( Tim Loughton) สมาชิกรัฐสภาอังกฤษจากพรรครัฐบาลคอนเซอร์เวตีฟ ที่ได้กล่าวว่า “จากการให้คำมั่นของรัฐบาลโทนี แบลร์ ที่ออกมายืนยันว่า มุสลิมสุดโต่งรายนี้จะไม่เป็นภัยต่อความมั่นคง แต่ที่เห็นได้ชัดว่าเขานั้นเป็นอันตรายต่อทั้งอังกฤษและความมั่นคงของเราทั้งหมด”
และในการรายงานของเดลิเมล ยังอ้างคำกล่าวต่อว่า “และเสริมต่อด้วยความเสียหายที่เกิดขึ้นในการที่ชายผู้นี้ได้รับเงินจำนวน 1 ล้านปอนด์เป็นค่าเยียวยา เป็นเพราะแบลร์ได้ลงความเห็นแล้วว่...าชายผู้นี้บริสุทธิ์”
แต่อย่างไรก็ตาม อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ โทนี แบลร์ ปฎิเสธโดยโต้คำกล่าวหานี้ว่า “เมื่อมีการประกาศการปล่อยตัวชายผู้นี้จากมาตรการปี 2004 ที่ชี้ไปถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากบรรดานักโทษกวนตานาโม ซึ่งส่งผลทำให้บรรดาสมาชิกรัฐสภาอังกฤษพรรคคอนเซอร์เวตีฟอังกฤษออกมาวิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนในการไม่ปล่อยตัว ว่าแต่เหตุใดจึงใช้เวลานานนานนัก” แบลร์กล่าว
และในการออกมาตอบโต้ แบลร์ยังกล่าวว่า “ในความเป็นจริง นี่ถือเป็นสถานการณ์ที่ยุกยากสำหรับทุกรัฐบาลในการที่ต้องตัดสินใจระหว่างสิทธิเสรีภาพของพลเมืองและความมั่นคงประเทศ และดูเหมือนว่าทางเราจะถูกโจมตีไม่ว่า ทางเลือกใดที่เราได้เลือก”
ซึ่งอดีตผู้นำอังกฟษได้เปิดเผยถึงสาเหตุที่ต้องใช้ระยะเวลายาวนานในการปล่อยตัวของคนเหล่านี้ออกมา เกิดขึ้นจากเหตุความเกี่ยวข้องที่แท้จริงที่กลุ่มคนเหล่านี้เกี่ยวพันด้วย โดยแบลร์กล่าวว่า “เหตุผลจากการที่ต้องใช้เวลานานในการปล่อยตัวคนเหล่านี้ เพราะความสงสัยอย่างกระวนกระวายใจอย่างมากต่อความเป็นจริงที่คนเหล่านี้เข้าเกี่ยวข้อง”
แต่อย่างไรก็ตาม แบลร์ยืนยันว่า “ทั้งนี้กลุ่มคนที่เรียกร้องการปล่อยตัวของตัวเอง ไม่สมควรได้รับอนุญาตให้ออกมาประกาศว่า สิ่งที่ได้เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่อื้อฉาว”
สื่ออังกฤษรายงานต่อว่า เลออน เจมสัน(Leon Jameson) พี่ชายของมือระเบิดฆ่าตัวตาย IS วัย 53 ปี เป็นผู้ยืนยันว่า น้องชายของเขาเป็นมือระเบิดฆ่าตัวตาย IS ที่ปรากฎในวิดีโอคลิปจริง โดยในการให้สัมภาษณ์กับสื่อไทม์สของอังกฤษ เจมสันระบุว่า “น้องชายของเชาได้สังเวยชีวิตไปอย่างไร้ค่า” พร้อมกับเสริมว่า “เป็นเขาจริงๆ ผมจำจากรอยยิ้มของเขาได้” เจมสันกล่าว
ดิอินดีเพนเดนต์รายงานว่า โฆษกประจำตัวของนายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ ไม่ตอบคำถามกับดิอินดีเพนเดนต์ที่ว่า ถึงบทบาทของเธอในการปล่อยตัว จามาล อัล-ฮาริธ ออกจากเรือนจำกวนตานาโม หรือค่าตอบแทนของเขาที่ได้รับ แต่แหล่งข่าวระดับสูงของพรรคแรงงานอังกฤษได้อ้างกับเอพีว่า เรือนจำเช่น กวนตานาโม ถือเป็นแหล่งการหาสมาชิกชั้นดีสำหรับกลุ่มก่อการร้ายอิสลามิกมานานร่วม 16 ปีแล้ว
และแหล่งข่าวยังระบุต่อว่า เป็นการยากที่จะทราบว่าการเข้าร่วมกับกลุ่มก่อการร้าย IS ของ โรนัลด์ ฟิดด์เลอร์ ที่ใช้ชื่อ จามาล อัล-ฮาริธ ในเวลาต่อมานั้นเกิดมาจากประสบการณ์ที่ได้รับในระหว่างถูกขังภายในเรือนจำกวนตานาโมหรือไม่ แต่ยืนยันว่า “เป็นที่แน่ชัดว่า เสรีภาพทางประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนนั้นถูกละเมิดขั้นร้ายแรงอย่างแน่นอนภายในค่ายกักกันแห่งนี้ แต่ไม่ใช่เพียงแค่กวนตานาโมเท่านั้น แต่รวมไปถึงค่ายกักกันอื่นๆในสงครามก่อการร้สยที่เกิดขึ้น” แหล่งข่าวกล่าว
และในการให้ข้อมูล แหล่งข่าวคนเดิมเปิดเผยว่า “นโยบายการเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษอังกฤษนั้นได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองอังกฤษทั้งหมด”
ดิอินดีเพนเดนต์รายงานต่อว่า จากข้อมูลของทางรัฐบาลอังกฤษที่เปิดเผยในปีที่ผ่านมาพบว่า มีกลุ่มคนต้องสงสัยทางความมั่นคงอังกฤษจำนวน 850 คนเดินทางไปเข้าร่วมความขัดแย้ง และจากตัวเลขทั้งหมด มีไม่ถึงครึ่งที่ยอมเดินทางกลับเข้าอังกฤษ และราว 15 % เสียชีวิต