xs
xsm
sm
md
lg

ชนชั้นกลางจีนกับภาวะวัตถุไวไฟ และทางแพร่งที่ถูกเร่งให้รีบเลือก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ฟรานเชสโก ซิสซี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

China’s middle class and its growing dilemma
By Francesco Sisci
09/02/2017

จีนวันนี้แข็งแกร่งขึ้นกว่าเมื่อหนึ่งทศวรรษที่แล้ว แต่ขณะเดียวกัน จีนก็อ่อนแอลงกว่าเดิมเช่นกัน ความอ่อนแอเหล่านี้อาจเป็นปัจจัยให้เกิดความแตกต่างในสถานการณ์เผชิญหน้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา

ประเทศจีนในปัจจุบัน ประกอบด้วยปัจจัยมากมายที่เปลี่ยนโฉมหน้าไปจากเมื่อปี 2001 อันเป็นศักราชที่จีนและสหรัฐฯ จวนเจียนจะปะทะกันในกรณีพิพาท EP-3 เมื่อเครื่องบินสอดแนมอเมริกันโหม่งพสุธาบนแผ่นดินเกาะไหหลำของจีน หลังบินชนสนั่นกลางเวหากับเครื่องบินขับไล่จีน

ในขณะที่รัฐบาลทรัมป์โชว์แสนยานุภาพทางการทหารป่วนไปทั่วจีน พร้อมขู่กรรโชกจะแก้เผ็ดจีนด้วยมาตรการทางการค้า แต่ทุกประเทศล้วนมีจุดอ่อนฝังตัวอยู่ในมิติต่างๆ

โอกาสและความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 จู่ๆ ก็ตั้งเค้าเป็นจริงเป็นจังมากขึ้นกว่าแต่เก่าก่อน ซึ่งที่ผ่านๆ มาเคยปรากฏเป็นเพียงคำขู่จากบรรดาสายเหยี่ยวในพรรครีพับลิกัน หรือเคยแสดงออกมาในแนวคิดของฝ่ายเดโมแครตที่เรียกร้องให้เร่งตรวจสอบความเหิมเกริมของจีน

กระนั้นก็ตาม เรายังอยู่เพียงแค่ช่วงแรกเริ่มของยุคประธานาธิบดีทรัมป์ และมุมมองหลายๆ ประการอาจจะผิดก็เป็นได้ อาทิ ปัญหาจากการยกเลิกข้อตกลงการค้าเสรีในเอเชีย หรือ TPP อาจจะเป็นอะไรที่ถูกตีไข่ใส่สีกันเกินเลยสุดๆ

ทั้งนี้ สหรัฐฯ อาจจะเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีระดับทวิภาคี ซึ่งจะเป็นเวทีที่แต่ละประเทศจะรู้สึกว่าได้รับสิทธิพิเศษเฉพาะตนที่จะแผ้วถางทางเข้าสู่กรุงวอชิงตันด้วยช่องทางของตัวเอง แนวทางนี้อาจจะช่วยชดเชยได้กับความเย้ายวนใจจากข้อตกลงการค้าพหุภาคีที่ปักกิ่งนำเสนอขึ้นมาแข่งกับ TPP ของสหรัฐฯ

ด้านปักกิ่งเองก็มีเหตุผลน้อยนิดที่จะคิดกร่างหรือมั่นใจตนเองมากมายอะไรได้ในขณะนี้ แม้จีนมีความแข็งแรงมากขึ้น แต่จีนก็อ่อนแอลงกว่าที่เคยเป็นเมื่อ 16 ปีที่แล้ว ความอ่อนแอเหล่านี้สำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะอาจไปมีผลต่อการเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ ในไม่กี่เดือนข้างหน้า

เห็นได้ชัดว่าจีนแข็งแรงมากขึ้น เพราะมีจีดีพีใหญ่โตกว่าที่ผ่านมาอย่างมหาศาล ราว 8 เท่าของเมื่อปี 2001 แต่จีนก็อ่อนแอลง เพราะชนชั้นกลางของจีนมีขนาดใหญ่โตมากขึ้น แต่เป็นผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์จากการเมือง พร้อมกับมีความผูกพันกับเรื่องเสถียรภาพ หากแต่ก็ไม่แน่ว่าจะผูกพันกับรัฐบาลชุดปัจจุบันหรือไม่

อาจเป็นได้ว่าชนชั้นกลางจีนจะมีสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของประชากรจีนทั้งหมด และส่วนใหญ่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากระบบสาธารณสุข การศึกษา หรือระบบการเกษียณอายุของรัฐ นอกจากนั้น ชนชั้นกลางจีนไม่ได้รับสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ดังนั้น พวกเขาถูกเรียกเก็บภาษีทางอ้อมสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านการจ่ายค่าบริการแสนแพงในระบบการรักษาพยาบาล ในระบบการศึกษา และที่สำคัญ พวกเขาแทบจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ใดๆ ในการเกษียณอายุ

กล่าวก็คือว่า ชนชั้นกลางต้องดูแลตนเอง ขณะที่บริการสำคัญเหล่านี้สามารถเสาะหาได้หากพวกเขาอพยพย้ายถิ่นออกไปจากแผ่นดินจีนแล้ว ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างบริการในจีนกับในต่างประเทศนั้น บริการในต่างประเทศมีสัดส่วนของราคาต่อคุณภาพดีกว่ามาก โดยที่ว่า ณ สนนราคาเท่ากัน คนนอกประเทศจีนจะได้รับบริการการรักษาพยาบาลและการศึกษาดีกว่าคนในประเทศจีน

โดยทั่วไป ณ ประเทศอื่นๆ นั้น บริการเหล่านี้จัดสรรโดยภาครัฐ และรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้เอง บริการที่จัดให้โดยภาครัฐจะช่วยสร้างความเชื่อมโยงที่แข็งแกร่งระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ในทางตรงข้าม หากผู้คนต้องจ่ายเงินเองในทุกสิ่ง ความเชื่อมโยงระหว่างรัฐบาลกับประชาชนจะแผ่วบางและมีอยู่อย่างหลวม โดยประชาชนมักจะรู้สึกว่าต้องมองหาและตักตวงสิทธิประโยชน์ในทุกที่ทุกโอกาส

ในเวลาเดียวกัน ในประเทศต่างๆ ที่ภาครัฐไม่ได้จัดให้มีบริการเหล่านี้ แต่ประชาชนได้รับสิทธิเลือกตั้ง สิทธิตัวนี้คือช่องทางที่เอื้อให้เขามีเสียงที่จะเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงระบบภาษี ในการนี้ ปัจจัยประการใดกันแน่ที่ปกป้องจีนจากแรงกดดันจากมวลชนชาวชนชั้นกลาง คำตอบคือ ที่ผ่านมา การที่ระบบเศรษฐกิจยังเดินหน้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้คนรู้สึกว่ายังมีความหวังที่จะขวนขวายเพิ่มพูนรายได้ ปัจจัยประการนี้ช่วยให้ชนชั้นกลางไม่ตระหนักอย่างจริงจังต่อสถานการณ์ของพวกเขาได้ในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม แรงกดดันจากต่างชาติ และโอกาสทางธุรกิจที่หดตัว อาจเป็นตัวเร่งกระบวนการที่จุดประกายให้ความตระหนักรู้ของชนชั้นกลางผุดมาได้เร็วมากขึ้น ทั้งนี้ เรื่องของเรื่องนั้น มิใช่แค่การถูกเก็บภาษีทางอ้อม หากยังเป็นเรื่องของการได้รับสวัสดิการด้วย

อีกองค์ประกอบหนึ่งซึ่งยังไม่ปรากฏให้เห็นชัด คือ สิทธิในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกร้องเรียนต่อนายกเทศมนตรีมากเป็นอันดับ 2 รองจากประเด็นเรื่องมลภาวะ ในทางกลับกัน ปัญหามลภาวะทำให้ชนชั้นกลาง (ซึ่งมีช่องทางดูแลสุขภาพของตนเอง) ต่อสู้เล่นงานชนชั้นล่าง (ซึ่งมีชีวิตประจำวันที่พึ่งพิงอยู่กับงานที่คลุกคลีกับสิ่งสกปรก)

แต่ปัญหาสิทธิในอสังหาริมทรัพย์อาจจะแก้ได้ง่ายกว่า เพราะมันทำให้นายทุนใหญ่และเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย (ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารหรือที่ดิน) ต้องต่อสู้เล่นงานชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์น้อยนิดคือห้องอพาร์ทเมนท์สักหนึ่งถึงสองยูนิต ในการนี้ มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่ภาครัฐจะไปเข้าแทรกแซงในทางที่เป็นประโยชน์ต่อบรรดาเจ้าของอสังหาริมทรัพย์รายเล็กรายย่อม

ประชาชนคนเดินดินมากมายรู้สึกว่า ในเมื่อมีเพียงกลุ่มชนชั้นสูงไม่กี่คนสามารถได้รับความมั่นใจในอนาคต พวกเขาย่อมต้องเร่งเสาะหาความมั่นคงปลอดภัยให้ตนเอง โดยไปซื้อหา อพาร์ทเมนท์ในต่างประเทศ หรือส่งบุตรหลานไปเรียนหนังสือในต่างแดน

ในทางกลับกัน บรรดาชนชั้นนำรู้สึกไม่มั่นคง เพราะรู้สึกได้ถึงความเกลียดชังจากมวลชน และกลัวจะถูกโค่นอำนาจ เหนืออื่นใด พวกเขาเป็นเยาวชนจากยุคปฏิวัติคอมมิวนิสต์ปี 1949 โดยได้ประสบกับขาขึ้นและขาลงทางการเมืองมาโดยตลอด

ยิ่งกว่านั้น สถานการณ์โลกก็เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากเช่นกัน การนำหุ่นยนต์มาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตได้บั่นทอนผลประโยชน์ที่บรรษัทข้ามชาติต้องพึ่งพิงแรงงานราคาถูกในจีน ขณะที่การแข่งขันเพื่อเสาะหาฐานการผลิตที่ราคาถูกลงมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ได้ดูดเอาการจ้างงานหลายล้านตำแหน่งออกจากจีน ไปยังแหล่งใหม่ๆ อาทิ บังคลาเทศ และเอธิโอเปีย

สินทรัพย์ที่ยิ่งใหญ่ของจีนในปัจจุบันคือ 1.ตลาดผู้บริโภคซึ่งมีกำลังซื้อสูง 2.ความฉับไวของผู้ประกอบการจีน 3.ศักยภาพที่จีนจะเป็นศูนย์ของเอเชีย-แปซิฟิก ซึงเท่ากับว่าจีนมีโอกาสน้อยมากที่จะเป็นขุมกำลังให้แก่ภาคการผลิตและภาคส่งออกของโลก แต่จีนมีศักยภาพสูงที่จะพัฒนาตลาดภายในประเทศ และเปิดตลาดให้แก่การลงทุนต่างชาติ

ปัจจัยดังกล่าวสามารถที่จะช่วยชดเชยความอ่อนแอของจีนได้ ในยามที่เกิดการเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ แต่เหนืออื่นใด มันจะช่วยให้จีนได้มีที่ทางที่ดีขึ้นบนวิถีกระสุนปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นฐานะที่แตกต่างอย่างยิ่งจากสภาพการณ์ที่ผ่านมา

บทความนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Limes ซึ่งเป็นนิตยสารออนไลน์ที่ตั้งฐานอยู่ในอิตาลี โดยนำเสนอการวิเคราะห์เหตุการณ์โลกในเชิงการเมือง

ฟรานเชสโก ซิสซี เป็นคอลัมนิสต์ของเอเชียไทมส์ และเป็นนักวิจัยอาวุโสของมหาวิทยาลัยไชน่าเหรินหมิน (China Renmin University) เขาเคยเป็นผู้สื่อข่าวของเอเชียไทมส์ รวมทั้งเคยเป็นบรรณาธิการด้านเอเชียให้แก่หนังสือพิมพ์รายวันอิตาลี ลา สตัมปา (La Stampa) และผู้สื่อข่าวประจำกรุงปักกิ่งให้แก่ อิล โซเล ดิ 24 โอเร (Il Sole di 24 Ore) ตลอดจนเขียนเรื่องให้แก่สิ่งพิมพ์อิตาลีและสิ่งพิมพ์ระหว่างประเทศจำนวน หนึ่ง เขาเป็นชาวต่างประเทศคนแรกที่ได้เข้าโปรแกรมบัณฑิตศึกษาของบัณฑิตสถานทาง สังคมศาสตร์แห่งประเทศจีน (Chinese Academy of Social Sciences) เขาเขียนหนังสือว่าด้วยจีนมาแล้ว 8 เล่ม และได้รับเชิญเป็นนักวิจารณ์จากทางสถานีโทรทัศน์ส่วนกลางของจีน (CCTV) อยู่บ่อยครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น