เอเจนซีส์ - มูลค่าการค้าอาวุธทั่วโลกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาพุ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในยุคหลังสงครามเย็น โดยมีปัจจัยกระตุ้นจากอุปสงค์ในตะวันออกกลางและเอเชีย ผลการศึกษาโดยสถาบันวิจัยยุโรปเผยวันนี้ (20 ก.พ.)
สถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติ ณ กรุงสตอกโฮล์ม (SIPRI) ระบุว่า อาวุธที่ถูกจัดส่งระหว่างปี 2012-2016 นั้นมากกว่าช่วง 5 ปีใดๆ นับตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา โดยซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นหัวหอกในปฏิบัติการแทรกแซงทางทหารในเยเมนถือเป็นผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากอินเดีย ด้วยมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นถึง 212% และส่วนใหญ่เป็นอาวุธที่สั่งซื้อจากสหรัฐฯ และอังกฤษ
ทวีปเอเชียจัดเป็นภูมิภาคที่มีการนำเข้าอาวุธมากที่สุด เฉพาะอินเดียก็มีสัดส่วนการนำเข้าอาวุธคิดเป็น 13% ของโลก แซงหน้าทั้งจีนและปากีสถาน
อินเดียเลือกพึ่งพาอาวุธจากรัสเซียเป็นหลัก ในขณะที่ซาอุดีอาระเบียนำเข้าอาวุธส่วนใหญ่จากสหรัฐฯ
สหรัฐฯ และรัสเซียยังครองส่วนแบ่งตลาดอาวุธมากกว่า 50% ของโลก โดยมีจีน ฝรั่งเศส และเยอรมนี ติดโผผู้ส่งออกรายใหญ่ 5 อันดับแรกด้วย
“หากไม่มีมาตรการควบคุมอาวุธที่ได้ผล หลายประเทศในเอเชียก็คงจะเสริมคลังอาวุธของตนต่อไปเรื่อยๆ” ซีมอน วีเซมาน นักวิจัยอาวุโสในโครงการวิจัยค่าใช้จ่ายด้านอาวุธและการทหารของ SIPRI ระบุ
เวียดนามมีการนำเข้าอาวุธเพิ่มขึ้น 202% และติด 1 ใน 10 ประเทศผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่ของโลกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับสถิติก่อนหน้าซึ่งอยู่ในลำดับที่ 29 ของโลก
“จีนสามารถผลิตอาวุธใช้เองในประเทศได้มากขึ้น แต่อินเดียยังคงต้องพึ่งเทคโนโลยีจากซัพพลายเออร์ต่างชาติ เช่น รัสเซีย สหรัฐฯ ประเทศแถบยุโรป อิสราเอล และเกาหลีใต้” เวเซมาน เผย
แม้สถิติการนำเข้าอาวุธในตะวันออกกลางจะเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกาตาร์ซึ่งนำเข้าอาวุธเพิ่มขึ้นถึง 245% ทว่าอิหร่านยังมีส่วนแบ่งการนำเข้าเพียง 1.2% ของภูมิภาค เนื่องจากมาตรการห้ามเคลื่อนย้ายอาวุธ (arms embargo) ที่ยังบังคับใช้อยู่
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอิหร่านได้รับมอบระบบขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศ S-300 จากรัสเซียเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการนำเข้าอาวุธล็อตใหญ่ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2007
โมฮัมหมัด จาวัด ซารีฟ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน ได้ออกมาตอบโต้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ซึ่งสั่ง “ขึ้นบัญชี” อิหร่านฐานทดสอบขีปนาวุธเมื่อต้นปีนี้ โดยระบุว่า “เราใช้เงินแค่กระผีกเดียว” เมื่อเทียบกับวงเงินที่ประเทศอาหรับอื่นๆ สั่งซื้ออาวุธจากต่างประเทศ
ปีเตอร์ เวเซมาน นักวิจัยอาวุโสอีกคนหนึ่งของ SIPRI ชี้ว่า อุปสงค์อาวุธในตะวันออกกลางนั้นสวนทางกับราคาน้ำมันที่ตกต่ำลงเรื่อยๆ
“ประเทศเหล่านี้ยังคงสั่งซื้ออาวุธเพิ่มขึ้นในปี 2016 ทั้งที่ราคาน้ำมันตกต่ำ เพราะเชื่อว่าอาวุธคือเครื่องมือที่จะใช้จัดการความขัดแย้งในภูมิภาคได้”
จีนยังคงเป็นผู้ส่งออกอาวุธเบอร์ต้นๆ ของโลกด้วยมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้น 6.2% เมื่อเทียบกับตัวเลข 3.8% ในช่วงปี 2007-2011 ขณะที่เยอรมนีส่งออกอาวุธลดลง 36% ในช่วงเวลาเดียวกัน
แอลจีเรียเป็นประเทศผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา
ลูกค้ารายใหญ่ 3 อันดับแรกของสหรัฐฯ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และตุรกี โดยริยาดนั้นยังถือเป็นตลาดใหญ่ของอังกฤษซึ่งได้จำหน่ายอาวุธเกือบครึ่งหนึ่งให้แก่ราชอาณาจักรแห่งนี้
“สหรัฐฯ ส่งออกอาวุธหลักๆ ไปยัง 100 ประเทศทั่วโลก... โดยมีเครื่องบินขับไล่ติดขีปนาวุธร่อนและขีปนาวุธนำวิถี และระบบป้องกันขีปนาวุธอันทันสมัย เป็นสินค้าออกที่สำคัญ” โอด เฟลอรองต์ ผู้อำนวยการโครงการค่าใช้จ่ายด้านอาวุธและการทหารของ SIPRI ระบุ