ข่าวการลอบสังหารพี่ชายต่างมารดาของผู้นำ “คิม จองอึน” ทำให้ปมขัดแย้งในตระกูลคิมแห่งรัฐคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือกลายเป็นที่โจษจันไปทั่วโลก ท่ามกลางการชี้นิ้วกล่าวโทษจากหลายฝ่ายว่าปฏิบัติการปลิดชีพอันแสนโหดเหี้ยมนี้เป็น “ใบสั่งตาย” จากผู้นำเกาหลีเหนือโดยตรง
หากย้อนหลังกลับไปในรัฐพิธีศพของอดีตผู้นำ “คิม จองอิล” เมื่อปี 2011 จะเห็นได้ชัดว่าการหายตัวไปของบุตรชายคนโตอย่าง “คิม จองนัม” ผู้ซึ่งตามประเพณีควรจะรับหน้าที่เป็นประธานในพิธีศพของบิดา นับเป็นสัญญาณชี้ชัดว่าเขากับคณะผู้ปกครองเกาหลีเหนือแทบจะตัดขาดความสัมพันธ์กันแล้วอย่างสิ้นเชิง
ทายาทแกะดำของอดีตผู้นำโสมแดงใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในต่างประเทศ โดยเดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างมอสโก เจนีวา ปักกิ่ง ปารีส และมาเก๊า ก่อนจะมาพบจุดจบอันน่าสยองที่สนามบิน KLIA2 ชานกรุงกัวลาลัมเปอร์ในเช้าวันจันทร์ที่ 13 ก.พ. โดยสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติเกาหลีใต้ระบุว่า เขาถูก “พิษ” จากนักฆ่าหญิง 2 คนที่รับคำสั่งมาจากเปียงยาง
ตำรวจระบุว่า ขณะที่ คิม จองนัม กำลังรอขึ้นเครื่องบินจากมาเลเซียไปยังมาเก๊า เขาถูกใครบางคนเอื้อมมือมาจับใบหน้าจากทางด้านหลัง จากนั้นก็รู้สึกมึนงง และเดินไปขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของสนามบิน ก่อนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา
กล้องวงจรปิดสามารถจับภาพใบหน้าหญิงชาวเอเชียสวมเสื้อยืดสกรีนคำว่า LOL ที่ตำรวจเชื่อว่าเป็นหนึ่งในทีมฆ่า และต่อมาในเย็นวันพุธ (15) ตำรวจมาเลเซียก็ได้แถลงข่าวการจับกุมหญิงต้องสงสัยเมื่อเวลา 08.20 น. ที่อาคาร Terminal 2 ซึ่งเป็นจุดสังหาร โดยหญิงคนนี้ถือหนังสือเดินทางเวียดนามระบุชื่อ Doan Thin Hoang อายุ 29 ปี และมีใบหน้าตรงกับผู้ต้องสงสัยที่กล้องวงจรปิดบันทึกได้
หลังจากนั้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง ตำรวจมาเลเซียก็ได้จับกุมหญิงต้องสงสัยรายที่ 2 ซึ่งถือพาสปอร์ตอินโดนีเซีย เมื่อเวลาประมาณ 02.00 น.ตามเวลาท้องถิ่นวันพฤหัสบดี (16)
จองนัม เคยถูกคาดหมายว่าจะเป็นทายาทสืบทอดอำนาจปกครองเกาหลีเหนือต่อจากบิดาของเขา แต่สุดท้ายก็หมดความสำคัญไป หลังจากที่เขาก่อเรื่องอื้อฉาวด้วยการถือพาสปอร์ตปลอมเข้าไปเที่ยวสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ในญี่ปุ่น เมื่อปี 2001
เขารอดชีวิตจากการถูกลอบสังหารมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2012 และรู้สึกหวาดกลัวจนต้องส่งจดหมายไปถึงน้องชายเพื่ออ้อนวอนขอชีวิต “กรุณาถอนคำสั่งลงโทษฉันกับครอบครัวด้วย... เราไม่รู้จะหนีไปไหนแล้ว ทางเดียวที่จะรอดก็ต้องฆ่าตัวตายเท่านั้นเอง”
แหล่งข่าวในรัฐบาลเกาหลีใต้ระบุว่า อีเมลที่ จองนัม ส่งกลับบ้านผ่านทางสถานทูตเกาหลีเหนือถูกหน่วยข่าวกรองโสมขาวแฮ็กมาได้ โดยมีอยู่ฉบับหนึ่งที่เขาแสดงความน้อยเนื้อต่ำใจที่น้องชายไม่ยอมส่งเงินไปให้เขาใช้ หลังจากที่บิดาเสียชีวิตลง
มีรายงานเมื่อปี 2012 ว่า คิม จองนัม ถูกลากตัวออกมาจากโรงแรมหรูในมาเก๊า เนื่องจากไม่มีเงิน 15,000 ดอลลาร์จ่ายค่าที่พัก
ลี บยุง โฮ ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองเกาหลีใต้ เผยต่อสมาชิกรัฐสภาว่า คิม จองอึน ออก “คำสั่งยืนยัน” ให้สายลับตามปลิดชีพพี่ชายต่างมารดาของเขา ทั้งที่ จองนัม แทบจะไร้อิทธิพลทางการเมืองในบ้านเกิด และไม่มีแนวโน้มที่จะเป็นภัยคุกคามต่อน้องชายของเขาเลย
ชอง ซองชาง นักวิเคราะห์จากสถาบันคลังความคิดเซจอง (Sejong) ระบุว่า หากมีการพิสูจน์ได้ว่าเกาหลีเหนือเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของ คิม จองนัม เปียงยางอาจถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชี “รัฐที่สนับสนุนการก่อการร้าย” หลังจากที่เคยถูกขึ้นบัญชีมาแล้วครั้งหนึ่งจากกรณีสายลับโสมแดงซุกระเบิดไว้ในกระเป๋าสัมภาระบนสายการบินโคเรียนแอร์ เที่ยวบิน 858 จนเป็นผลให้เครื่องบินลำนี้ระเบิดกลางอากาศเหนือมหาสมุทรอินเดีย เมื่อปี 1987
“การสังหาร คิม จองนัม ทำให้ผู้นำคิมหมดเสี้ยนหนามก็จริง แต่ขณะเดียวกันก็จะทำให้เกาหลีเหนือถูกโดดเดี่ยวมากขึ้น และอาจกระทบความสัมพันธ์กับจีนซึ่งให้ความคุ้มกันแก่ คิม จองนัม มาโดยตลอด” ชอง กล่าว
ไมเคิล แมดเดน ผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีเหนือในสหรัฐฯ ยังไม่ปักใจเชื่อว่าผู้นำคิมจะเป็นคนออกคำสั่งปลิดชีพพี่ชาย เพราะวิธีการเช่นนี้อาจทำให้เขาถูกมองว่ากำลังสร้าง “อาณาจักรแห่งความกลัว” (reign of terror) ซึ่งจะบั่นทอนฐานอำนาจของเขาเอง และอาจสร้างความไม่พอใจต่อจีนและมาเลเซียซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเกาหลีเหนือ
นักวิเคราะห์ต่างชาติมักคาดเดาว่า หนุ่มเพลย์บอยร่างท้วมที่มีจีนหนุนหลังผู้นี้อาจได้ก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่แทน คิม จองอึน หากระบอบเผด็จการเกาหลีเหนือล่มสลาย อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญในจีนกลับไม่มั่นใจว่า คิม จอง นัม ได้รับความคุ้มกันเป็นพิเศษจากปักกิ่งจริงหรือไม่
“คณะผู้ปกครองจีนไม่เคยคาดหวังว่าชายคนนี้จะกลับมามีอิทธิพลทางการเมืองได้” เฉิง เสี่ยวเหอ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเท มหาวิทยาลัยเหรินหมิน ให้สัมภาษณ์ “ถ้าจีนต้องการเก็บ คิม จองนัม ไว้เป็นตัวเลือกผู้ปกครองเกาหลีเหนือ เขาจะต้องได้รับการคุ้มกันอย่างดีที่สุด แต่การลอบสังหารคราวนี้แสดงให้เห็นว่าเขาไม่ได้รับความคุ้มกันใดๆ เลย”
ด้าน จาง เป่าฮุย ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อเอเชียแปซิฟิกศึกษา มหาวิทยาลัยหลิงหนานในฮ่องกง ระบุว่า เหตุที่ คิม จอง นัม สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยในมาเก๊าเป็นเพราะว่า “มาเก๊าคือส่วนหนึ่งของจีน และมีความปลอดภัยในตัวของมันเองอยู่แล้ว”
ชั่วชีวิตของ คิม จองนัม เรียกว่าต้องทนอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ มาตลอด โดย ซุง แฮ-ริม มารดาของเขาซึ่งเป็นนักแสดงชื่อดัง ถูกผู้นำ คิม จองอิล บังคับให้หย่ากับสามีเก่า และมาอยู่กินกับตนอย่างลับๆ
ลี ฮัน-ยัง ญาติคนหนึ่งซึ่งลี้ภัยไปเกาหลีใต้เมื่อปี 1982 เล่าว่า คิม จองอิล รักบุตรชายคนแรกของเขามาก เขาเคยพา จอง นัม ไปนั่งที่โต๊ะทำงานและพูดว่า “วันหนึ่งลูกก็จะได้มานั่งออกคำสั่งที่นี่” ทว่าอดีตประธานาธิบดีคิม อิลซุง ผู้เป็นปู่ของ จอง นัม กลับไม่ยอมรับในตัวสะใภ้ดาราและหลานชาย
“พ่อเก็บเรื่องที่ท่านอยู่กินกับแม่ไว้เป็นความลับสุดยอด เพราะแม่เคยแต่งงานมาแล้ว และเป็นดาราภาพยนตร์ชื่อดังในยุคนั้น ผมก็เลยไม่มีโอกาสออกจากบ้านไปมีเพื่อนฝูงเหมือนอย่างคนอื่นเขา” คิม จองนัม ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวญี่ปุ่นซึ่งนำเรื่องราวของเขาไปเขียนลงหนังสือเมื่อปี 2012
“ความโดดเดี่ยวในวัยเด็กทำให้ผมกลายเป็นอย่างทุกวันนี้ คือเลือกที่จะมีเสรีภาพ”
เขายังวิจารณ์น้องชายว่าเป็นแค่ “หุ่นเชิด” และเตือนว่า “หากไม่มีการปฏิรูปและให้เสรีภาพแก่ประชาชน การล่มสลายทางเศรษฐกิจจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน... และผมก็ไม่แน่ใจว่าคนที่ผ่านการฝึกอบรมภาวะผู้นำเพียง 2 ปีจะปกครองประเทศได้”