xs
xsm
sm
md
lg

ยอดส่งออกดันจีดีพีญี่ปุ่นปีที่แล้วโต 1% ชี้ความเสี่ยงสำคัญปีนี้คือ “นโยบายทรัมป์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>ผู้คนเดินอยู่ในถนนสายหนึ่งของย่านกินซ่า ย่านช็อปปิ้งชื่อดังของกรุงโตเกียว เมื่อวันอาทิตย์ (12 ก.พ.)  ทั้งนี้ตามข้อมูลเศรษฐกิจที่รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยในวันจันทร์ (13)  จีดีพีของแดนอาทิตย์อุทัยปีที่แล้วเติบโตในอัตรา 1%   เนื่องจากยอดส่งออกและการลงทุนด้านเงินทุนที่เติบโตแกร่งกล้า ขณะที่การใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงซบเซา </i>
เอเจนซีส์ - เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัว 1% ในปีที่ผ่านมา จากยอดส่งออกและการลงทุนด้านเงินทุนที่เติบโตแกร่งกล้าและสามารถชดเชยการใช้จ่ายภายในที่ยังคงซบเซา อย่างไรก็ดี ตัวเลขนี้ไม่มีแนวโน้มคลายความกังวลเกี่ยวกับการต่อสู้กับภาวะเงินฝืดและภาวะการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยปัจจัยเสี่ยงสำหรับปีนี้คือมาตรการกีดกันการค้าจากคณะบริหารทรัมป์ และความไม่แน่นอนในภาวะเศรษฐกิจโลก รวมทั้งความผันผวนในตลาดการเงิน

สำนักคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นแถลงเมื่อวันจันทร์ (13 ก.พ.) ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) มีการเติบโตต่อเนื่อง 4 ไตรมาสติดกัน ซึ่งถือว่ายาวนานที่สุดนับจากปี 2013 ทว่า ตัวเลขรวมตลอดทั้งปียังต่ำกว่าที่ทำได้ในปี 2015 ที่ 1.2%

ปัจจัยกระตุ้นสำคัญในปีที่ผ่านมาคือมาตรการใช้จ่ายของรัฐบาล และการอ่อนค่าของเงินเยนที่ช่วยส่งเสริมการส่งออก แม้ผู้บริโภคญี่ปุ่นยังรัดเข็มขัดแน่นก็ตาม

อิสึมิ เดวาเลียร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเมอร์ริล ลินช์ เจแปน ซีเคียวริตี้ส์ ลงความเห็นว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังฟื้นตัวโดยอาศัยการขับเคลื่อนจากการส่งออกเป็นหลัก ขณะที่การบริโภคของเอกชนยังอ่อนแอ

เศรษฐกิจญี่ปุ่นเผชิญปัญหาเงินฝืดมานานหลายปี ซึ่งทำให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายเพื่อรอให้สินค้าราคาถูกลงหรือเพียงแค่เก็บหอมรอมริบไว้เฉยๆ ความกดดันจึงตกหนักกับภาคธุรกิจ

ความเคลือบแคลงในนโยบาย “อาเบะโนมิกส์” ของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ นับวันยิ่งชัดเจนขึ้น ค่าที่นโยบายนี้ซึ่งผสมผสานระหว่างการผ่อนคลายทางการเงินสุดขีด การใช้จ่ายของภาครัฐ และการลดความล่าช้าในการดำเนินการของหน่วยงานราชการ ไม่สามารถเยียวยาภาวะการเติบโตเปราะบาง ส่วนอัตราเงินเฟ้อก็ยังต่ำกว่าเป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้ส่งออกได้อานิสงส์จากการอ่อนค่าของเงินเยน โดยนับจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว สกุลเงินญี่ปุ่นอ่อนตัวลงราว 10% เมื่อเทียบดอลลาร์ เนื่องจากเทรดเดอร์เดิมพันว่า แผนการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานและการลดภาษีของทรัมป์จะหนุนเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ให้เดินหน้า และกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น

ทั้งนี้ ระหว่างไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ญี่ปุ่นส่งออกเพิ่มขึ้น 2.6%

ขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจดูเหมือนมีความมั่นใจมากขึ้นจากการที่การใช้จ่ายด้านเงินทุนขยับขึ้น 0.9% หลังจากลดลงในไตรมาสที่ 3

ตรงข้ามกับการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่คิดเป็นสัดส่วนเกินกึ่งหนึ่งของจีดีพีญี่ปุ่น ซึ่งวูบลงเนื่องจากภาวะเงินเยนอ่อนทำให้ต้นทุนการนำเข้าพุ่งขึ้น จึงอาจบีบให้การใช้จ่ายหดตัวลงอีก

มาร์เซล ไทเลียนต์ จากแคปิตอล อิโคโนมิกส์ คาดว่า ปลายปีนี้เงินเยนจะอ่อนค่าแตะระดับ 130 เยนต่อดอลลาร์ จากขณะนี้ที่เคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 113 เยนต่อดอลลาร์ ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าแพงขึ้นและบ่อนทำลายกำลังซื้อของภาคครัวเรือน

นอกจากนี้ แนวโน้มการปัดฝุ่นลัทธิกีดกันการค้าของทรัมป์ยังเพิ่มความกังวลเกี่ยวกับทิศทางการเติบโตของแดนปลาดิบ

แม้ในระหว่างสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้นำสหรัฐฯ ที่ให้การต้อนรับอาเบะอย่างดี ไม่ได้วิจารณ์เรื่องญี่ปุ่นใช้นโยบายเยนอ่อนเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรมเหมือนที่เคยโจมตีอย่างรุนแรง พร้อมขู่ตอบโต้ก่อนหน้านี้ ทว่า นักวิเคราะห์สงสัยว่า ช่วงเวลาดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ของทั้งคู่จะยาวนานแค่ไหน

โยชิมาสะ มารุยามะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอสเอ็มบีซี นิกโก้ ซีเคียวริตี้ส์ ขานรับว่า การประชุมสุดยอดทรัมป์-อาเบะช่วงสุดสัปดาห์ที่ฟลอริดาไม่ได้บ่งชี้ว่า ทรัมป์เปลี่ยนจุดยืนในการเจรจากับคู่ค้าภายใต้แนวคิดที่ว่า การขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่รับไม่ได้

แม้แต่โนบูเทรุ อิชิฮาระ รัฐมนตรีเศรษฐกิจญี่ปุ่น ยังไม่แน่ใจเต็มร้อยกับแนวโน้มข้างหน้า โดยกล่าวว่า เศรษฐกิจแดนซามูไรจะยังคงฟื้นตัวในระดับพอประมาณ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังต้องจับตาความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก รวมทั้งความผันผวนในตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด


กำลังโหลดความคิดเห็น