ซีเอ็นเอ็น - หนูน้อยชาวอินเดียที่ลืมตาดูโลกพร้อมอวัยวะเพศ 2 อันและมี 4 ขา เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคม เตรียมได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้ หลังแพทย์ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดช่วยเหลือ จากการเปิดเผยของโรงพยาบาลในวันพฤหัสบดี (9 ก.พ.)
เด็กชายไม่เปิดเผยชื่อรายนี้เกิดมาพร้อมกับอาการที่เรียกว่า โพลีมีเลีย (Polymelia) ภาวะพิการแต่กำเนิดที่ไม่พบเห็นบ่อยนัก โดยมีแขนขาหรืออวัยวะส่วนเกินอื่นๆ เพิ่มขึ้นมา
คณะแพทย์ของโรงพยาบาลนารายานา เฮลท์ ซิตี เล่าถึงความยุ่งยากซับซ้อนของเคสนี้ให้พวกผู้สื่อข่าวฟังระหว่างการแถลงข่าวในวันพฤหัสบดี (9 ก.พ.) ว่า “นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก และไม่เลือกว่าคุณจะยากดีมีจน” คำกล่าวของดอกเตอร์ ซันเจย์ ราว กุมารศัลยแพทย์อาวุโสของโรงพยาบาลแห่งนี้ ที่ใช้ดำเนินการผ่าตัด
สำหรับเด็กหลายขา (Polymelia) เป็นโรคทางพันธุกรรม มีสาเหตุจากความผิดปกติทางโครโมโซม สภาวะเช่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อตัวอ่อนพัฒนาเป็นฝาแฝดที่เชื่อมโยงร่างกายกัน แต่หนึ่งในฝาแฝดหยุดเจริญเติบโต ทว่า ยังคงพัฒนาเป็นแขนขาหรืออวัยวะส่วนเกินและยังติดอยู่กับฝาแฝดอีกคน “ซึ่งนี่คือเคสที่เกิดขึ้นกับเด็กชายในบังคาลอร์” ดอกเตอร์ราวกล่าว โดยเรียกมันว่า “แฝดปรสิต”
ดอกเตอร์ราวเผยว่า การผ่าตัดอันยุ่งยากซับซ้อนเกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กระบวนการซึ่งต้องใช้ทีมงานคณะแพทย์ พยาบาล และผู้เชี่ยวชาญ กว่า 20 คน
จนถึงปัจจุบันยังไม่ทราบชัดเจนว่าจำนวนของเคสโพลีมีเลียหรือเป็นไปได้ที่จะเป็นโรคโพลีมีเลียนั้นมีมากน้อยแค่ไหน แต่ดอกเตอร์ราวบอกว่า มันถือเป็นเรื่องไม่ปกติ โดยเคสล่าสุดเป็นเพียงแค่เคสที่ 4 ที่โรงพยาบาลแห่งนี้เข้าจัดการในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ในนั้นรวมถึงเคสของเด็กหญิงลักษมี ทัตมา ซึ่งลืมตาดูโลกในรัฐพิหาร พร้อมแขน 4 แขน และขา 4 ขา
เรื่องราวของทัตมาเรียกความสนใจได้อย่างกว้างขวาง ด้วยผู้คนจากทั่วสารทิศต่างหลั่งไหลไปที่บ้านของเธอ โดยเชื่อว่าหนูน้อยรายนี้เป็นพระแม่ลักษมีกลับชาติมาเกิด
ในส่วนของเคสล่าสุด เด็กชายถือกำเนิดเมื่อวันที่ 21 มกราคม ที่ศูนย์สาธารณสุขชนบทของรัฐบาลในหมู่บ้านปูลาดินนี ตั้งอยู่ในรัฐกรณาฏกะ
ทั้งนี้ แม้ว่าการคลอดเป็นไปอย่างราบรื่น แต่พอคณะแพทย์ทราบว่าหนูน้อยลืมตาดูโลกพร้อมกับอวัยวะส่วนเกิน ก็ตระหนักว่าเด็กชายรายนี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลทางการแพทย์เป็นพิเศษในทันที
จากนั้นหนูน้อยก็ถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลท้องถิ่นแห่งหนึ่ง ก่อนถูกส่งต่อพร้อมกับพ่อแม่มายังโรงพยาบาลนารายานา ที่อยู่ห่างออกไป 320 กิโลเมตร หนึ่งวันหลังจากคลอด
คาดหมายว่าหนูน้อยจะได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า อย่างไรก็ตาม เด็กยังต้องได้รับการดูแลต่อเนื่องเป็นระยะ ในนั้นรวมถึงทำศัลยกรรมตกแต่ง ซึ่งทางโรงพยาบาลนารายานา เฮลท์ ซิตี จะช่วยรักษาโดยไม่คิดค่าบริการใดๆ “ยังเหลือขั้นตอนเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับประเด็นศัลยกรรมตกแต่ง แต่เขาจะมีชีวิตในวัยเด็กเหมือนปกติทั่วไป” ดอกเตอร์ราวกล่าว