xs
xsm
sm
md
lg

ใกล้แล้ว สภาล่างเห็นชอบให้อำนาจนายกฯ อังกฤษเริ่มกระบวนการ “เบร็กซิต”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ แห่งอังกฤษ
รอยเตอร์/MGR Online - นายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ เมื่อวันพุธ (8 ก.พ.) ได้รับการเห็นชอบจากสภาล่างของรัฐสภาในการประกาศใช้มาตรา 50 สำหรับถอนสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป เอาชนะความพยายามของบรรดา ส.ส.ฝักใฝ่ยุโรป ที่หวังพ่วงเงื่อนไขในแผนของเธอที่จะเริ่มกระบวนการเจรจาถอนตัวในวันที่ 31 มีนาคม

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงมติ 494 ต่อ 122 เสียง เห็นชอบร่างกฎหมายมอบสิทธิแก่ เมย์ ในการประกาศใช้มาตรา 50 สำหรับเบร็กซิต สิ้นสุดศึกอภิปรายที่เข้มข้นนานหลายวัน และจากนี้ไปร่างกฎหมายฉบับนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาสูง ซึ่งเมย์ไม่ได้ครองเสียงข้างมาก ก่อนบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

ชัยชนะครั้งนี้ถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญในการเดินหน้าสู่การเริ่มต้นการเจรจา 2 ปีกับอียู ที่คาดหมายว่าจะเต็มไปด้วยความยุ่งยากซับซ้อนในประเด็นต่างๆ อย่างเช่น การค้า คนเข้าเมือง และความมั่นคง ซึ่งจะกำหนดบทบาทของสหราชอาณาจักรใหม่ในเวทีโลก “เราได้เห็นการลงมติครั้งประวัติศาสตร์ในคืนนี้” เดวิด เดวิส รัฐมนตรีเบร็กซิตกล่าว

หลังจากรอดพ้นการก่อขบถเล็กๆ น้อยๆ ภายในพรรคคอนเซอร์เวทีฟของเมย์ ที่คุกคามอำนาจของเธอและยุทธศาสตร์ในการเจรจาถอนตัว ในที่สุดร่างกฎหมายก็ผ่านความเห็นชอบโดยไม่มีการแก้ไขใดๆ และเป็นไปตามกรอบเวลา

ความคืบหน้าดังกล่าวเพิ่มความคาดหมายว่าร่างกฎหมายนี้จะผ่านความเห็นชอบในชั้นสภาสูง (สภาขุนนาง) ที่มาจากการแต่งตั้ง ด้วยความราบรื่นพอๆ กัน เมื่อครั้งที่มันเข้าสู่การพิจารณาอย่างเร็วที่สุดในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ขณะที่รัฐบาลต้องการให้กระบวนการทางกฎหมายเสร็จสิ้นก่อนวันที่ 7 มีนาคม

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพฤศจิกายน ศาลสูงในกรุงลอนดอนตัดสินว่ารัฐบาลสหราชอาณาจักรจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาเสียก่อน ในการเริ่มต้นกระบวนการขอถอนตัวออกจากการเป็นรัฐสมาชิกของสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งคำพิพากษานี้สร้างความสับสนซับซ้อนให้แก่แผน “เบร็กซิต” ของเมย์

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนรู้สึกดีใจกับคำพิพากษาดังกล่าว เนื่องจากจำนวนมากกำลังมองว่าฝ่ายนิติบัญญัติจะลดทอนน้ำหนักของนโยบายต่างๆ ในเรื่องนี้ของรัฐบาล และทำให้มีความเป็นไปได้น้อยลงที่จะเกิด “ฮาร์ด เบร็กซิต” (hard Brexit) หรือการออกจากอียูแบบแข็งขันจริงจัง ซึ่งมองกันว่าจะก่อให้เกิดความติดขัดวุ่นวายของเศรษฐกิจ


กำลังโหลดความคิดเห็น