รอยเตอร์ - รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังพิจารณาประกาศให้กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน (IRGC) เป็นองค์กรก่อการร้าย
เจ้าหน้าที่ซึ่งออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ระบุว่า รัฐบาลได้ปรึกษาหารือหน่วยงานต่างๆ เกี่ยวกับข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งอาจทำให้กองกำลัง IRGC ถูกคว่ำบาตรเช่นเดียวกับบุคลากรและหน่วยงานอื่นๆ ที่โดนไปแล้วก่อนหน้า
IRGC ถือเป็นหน่วยงานความมั่นคงที่มีอำนาจสูงสุดในอิหร่าน ทั้งยังมีอิทธิพลอย่างสูงต่อระบบเศรษฐกิจและการเมืองในสาธารณรัฐอิสลามแห่งนี้
บทลงโทษนี้อาจจะออกมาในรูปคำสั่งบริหารให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาขึ้นบัญชี IRGC เป็นองค์กรก่อการร้าย แต่ก็ยังไม่แน่ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะลงนามรับรองคำสั่งเช่นนี้หรือไม่
อิหร่านยืนกรานมาโดยตลอดว่าไม่เคยสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายใดๆ ขณะที่ทำเนียบขาวก็ยังปฏิเสธที่จะให้ความเห็น
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รอยเตอร์รายงานว่า เจ้าหน้าที่อเมริกันกำลังถกเถียงว่าควรจะประกาศให้กลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) เป็นองค์กรก่อการร้ายหรือไม่ แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลทรัมป์จะเลื่อนพิจารณาเรื่องนี้ออกไปอย่างไม่มีกำหนด
การตราหน้า IRGC ซึ่งเป็นกองกำลังและสถาบันการเมืองที่ทรงอิทธิพลสูงสุดในอิหร่านเป็นกลุ่มก่อการร้ายอาจยิ่งโหมกระพือความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ซึ่งวอชิงตันและชาติพันธมิตรอาหรับกล่าวหาว่าอิหร่านได้ยื่นมือเข้าไปแทรกแซง นอกจากนี้ยังอาจเป็นอุปสรรคต่อการทำสงครามปราบปรามกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในอิรัก ซึ่งนักรบชีอะห์ที่อิหร่านหนุนหลังมีบทบาทสำคัญยิ่งในการช่วยกวาดล้างพวกนักรบสุหนี่หัวรุนแรง
สัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลทรัมป์ได้ประกาศคว่ำบาตรบุคคลและบริษัทของอิหร่านเพื่อตอบโต้ที่เตหะรานยิงทดสอบขีปนาวุธพิสัยกลาง ซึ่งทำเนียบขาวระบุว่าเป็นแค่มาตรการ “ขั้นเริ่มต้น” เท่านั้น
เมื่อปี 2007 กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ขึ้นบัญชีดำหน่วยรบพิเศษคุดส์ (Quds) ของอิหร่านฐาน “สนับสนุนลัทธิก่อการร้าย” และ “เป็นหน่วยงานหลักที่อิหร่านใช้ดำเนินนโยบายสนับสนุนผู้ก่อการร้ายและกลุ่มก่อความไม่สงบ”
อย่างไรก็ตาม หาก IRGC ถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีก่อการร้ายอาจส่งผลกระทบรุนแรงกว่ามาก โดยเฉพาะต่อข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์ที่อิหร่านทำร่วมกับสหรัฐฯ และมหาอำนาจอีก 5 ประเทศเมื่อปี 2015
วัตถุประสงค์ในการขึ้นบัญชีดำ IRGC ก็เพื่อโน้มน้าวต่างชาติไม่ให้เข้าไปลงทุนในอิหร่าน เนื่องจาก IRGC มีบทบาทเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหลายด้าน เช่น การขนส่ง และน้ำมัน เป็นต้น
เจ้าหน้าที่อาวุโสสหรัฐฯ เปิดเผยว่า แทนที่วอชิงตันจะฉีกข้อตกลงนิวเคลียร์ทิ้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่แม้แต่อิสราเอลและซาอุดีอาระเบียก็ยังไม่เห็นด้วย ทำเนียบขาวอาจใช้วิธีคว่ำบาตรเพื่อลงโทษที่อิหร่านหนุนหลังกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน, กบฏฮูตีในเยเมน, กองกำลังชีอะห์ในอิรัก, ชาวชีอะห์ที่ต่อต้านผู้ปกครองสุหนี่ในบาห์เรน รวมถึงโจมตีทางไซเบอร์ต่อซาอุดีอาระเบียและรัฐอ่าวอาหรับอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่คนเดิมเตือนว่า การคว่ำบาตร IRGC อาจกระตุ้นให้นักการเมืองชาตินิยมจัดในอิหร่านกลับมีอิทธิพลเข้มแข็งเหนือผู้นำสายกลางอย่างประธานาธิบดีฮัสซัน รอฮานี และทำให้พวกนักรบที่อิหร่านหนุนหลังอยู่หมดกำลังใจที่จะช่วยต่อสู้กับไอเอส หรือแม้กระทั่งวางแผนแก้แค้นทหารอเมริกัน