รอยเตอร์ - รัฐมนตรีกลาโหมอเมริกัน จิม แมตทิส ระบุขณะเยือนญี่ปุ่นในวันเสาร์ (4 ก.พ.) ว่า ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่สหรัฐฯ จะต้องมีการเคลื่อนไหวทางทหารขนาดใหญ่ๆ ในทะเลจีนใต้เพื่อขับเคี่ยวกับพฤติการณ์ยืนกรานแข็งกร้าวของจีนในอาณาบริเวณดังกล่าว ถึงแม้เขายังคงวิพากษ์วิจารณ์ปักกิ่งอย่างรุนแรงว่า “ได้ลดทอนทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจของชาติต่างๆ ในภูมิภาคนี้”
“ณ เวลานี้เรายังมองไม่เห็นเลยว่ามีความจำเป็นใดๆ สำหรับความเคลื่อนไหวทางทหารอย่างขนานใหญ่” แมตทิสกล่าวเช่นนี้ในการแถลงข่าวปิดท้ายการเยือนญี่ปุ่นของเขาที่กรุงโตเกียว พร้อมกับย้ำว่าควรต้องโฟกัสที่การดำเนินการทางการทูตมากกว่า
เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ระหว่างที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ไปให้ปากคำเพื่อขอการอนุมัติรับรองการดำรงตำแหน่งจากวุฒิสภาอเมริกัน เขาแถลงว่าไม่ควรยินยอมปล่อยให้จีนเข้าไปยังเกาะเทียมต่างๆ ในทะเลจีนใต้ที่ปักกิ่งถมแนวปะการังก่อสร้างขึ้นมา ต่อจากนั้นทำเนียบขาวยังแถลงสำทับว่าจะคุ้มครองปกป้อง “ดินแดนระหว่างประเทศ” ในน่านน้ำทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์แห่งนั้น
ทว่าสหรัฐฯ จะ “ไม่ยินยอม” ให้จีนเข้าถึงเกาะเทียมเหล่านี้ด้วยวิธีใด รวมทั้งพร้อมจะใช้มิติทางการทหารด้วยหรือไม่ เรื่องนี้ยังคงไม่มีความกระจ่างชัดเจน
นักวิเคราะห์บางรายมองว่า คำพูดของทิลเลอร์สัน ตลอดจนคำแถลงจากทำเนียบขาว บ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะใช้การปฏิบัติการทางการทหาร หรือกระทั่งการใช้กองเรือรบเข้าทำการปิดล้อมสกัดกั้น
การปฏิบัติการเช่นนั้นย่อมมีความเสี่ยงที่จะเกิดการเผชิญหน้าด้วยอาวุธกับจีน ผู้เป็นมหาอำนาจทางทหารซึ่งติดอาวุธนิวเคลียร์อย่างน่าเกรงขามมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนั้น แดนมังกรยังมีฐานะเป็นชาติเจ้าของระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดซึ่งถูกทรัมป์กล่าวหาเล่นงานว่ากำลังโจรกรรมตำแหน่งงานไปจากชาวอเมริกัน
อย่างไรก็ตาม ท่าทีของแมตทิสที่โตเกียวคราวนี้บ่งชี้ให้เห็นว่าสหรัฐฯ เวลานี้ยังไม่ได้มีการพิจารณาที่จะดำเนินการปฏิบัติการทางทหารขนาดใหญ่
“สิ่งที่เราต้องทำก็คือต้องใช้ความพยายามทั้งหมดอย่างเต็มที่ ใช้ความพยายามทางการทูตเพื่อหาทางแก้ไขคลี่คลายสายการติดต่อสื่อสารในเรื่องนี้ พยายามรักษาสายการติดต่อสื่อสารในเรื่องนี้ให้เปิดกว้างไว้” แมตทิสกล่าวในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นปัญหานี้อย่างเต็มที่ที่สุดเท่าที่ได้เคยกระทำมาจนถึงเวลานี้
“แน่นอนทีเดียวว่าจุดยืนทางการทหารของเราควรเป็นสิ่งหนึ่งซึ่งเสริมความเข้มแข็งให้แก่พวกนักการทูตของเราในเรื่องนี้ ทว่าสำหรับตอนนี้ยังไม่มีความจำเป็นใดๆ ในขณะนี้ที่จะต้องมีการเคลื่อนกำลังทหารหรืออะไรทำนองนั้น เพราะสิ่งซึ่งน่าจะดีที่สุดก็คือการแก้ไขปัญหาโดยพวกนักการทูต”
อย่างไรก็ดี ในอีกด้านหนึ่ง แมตทิสก็กล่าววิพากษ์วิจารณ์พฤติการณ์แข็งกร้าวยืนกรานของจีนในทะเลจีนใต้
“จีนได้ลดทอนทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจของชาติต่างๆ ในภูมิภาคนี้ โดยดูเหมือนกำลังพยายามที่จะมีอำนาจวีโต้เหนือเงื่อนไขทางการทูต เงื่อนไขทางความมั่นคงและทางเศรษฐกิจของบรรดารัฐเพื่อนบ้านทั้งหลาย” เขากล่าว