การก้าวขึ้นนั่งบัลลังก์ทำเนียบขาวของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ก่อให้เกิดความวิตกกังวลกันอยู่มากในเอเชียว่าเขาจะนำสหรัฐอเมริกาเข้าประจันหน้าทางทหารกับจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทะเลจีนใต้ หรือไม่เขาก็อาจจะเปิด “สงครามการค้า” กับแดนมังกร
ความห่วงใยเช่นนี้เนื่องมาจากถ้อยคำโวหารอันดุเดือดเผ็ดร้อนที่ทรัมป์ใช้ในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และกระทั่งเมื่อได้ชัยชนะและสาบานตัวเข้ารับตำแหน่งแล้ว เขาก็ยังคงแสดงท่าทีขึงขังตั้งแง่ต่อปักกิ่งไม่สร่างซา
ระหว่างการหาเสียง เขาพุ่งเป้าโจมตีแดนมังกรว่าจงใจปั่นค่าเงินหยวนให้ต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อให้สินค้าจีนได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดโลก ทำให้สินค้าอเมริกันสู้ไม่ได้แม้กระทั่งในตลาดสหรัฐฯ เอง เขาพร่ำพูดเช่นนี้โดยไม่แยแสต่อคำอธิบายของพวกนักเศรษฐศาสตร์ และกระทั่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่ว่าเรื่องจีนปั่นค่าเงินนั้นเป็นเรื่องเก่าเป็นความจริงเมื่อหลายๆ ปีก่อน แต่ไม่ใช่ในเวลานี้แล้ว
ถึงแม้เมื่อเขาเข้ารับตำแหน่ง ทรัมป์ไม่ได้ทำตามที่เคยให้สัญญาไว้ในตอนรณรงค์หาเสียงที่ว่าจะประกาศตั้งแต่วันแรกที่ขึ้นเป็นประธานาธิบดีเลยว่าจีนเป็นชาตินักปั่นเงิน ซึ่งจะเปิดทางให้ใช้มาตรการลงโทษเอากับสินค้าจีนที่นำเข้าอเมริกา โดยที่เขาเคยพูดว่าต้องการให้จัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นในอัตรา 45% กระนั้นทรัมป์ก็ยังกล่าวย้ำแสดงท่าทีข่มขู่จะเดินหน้าเรื่องนี้ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่ามันจะส่งผลด้านกลับทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันต้องซื้อสินค้าในราคาแพงขึ้น อีกทั้งยังอาจถูกแดนมังกรตอบโต้ด้วยการไม่ซื้อสินค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะพวกเครื่องบินจากบริษัทโบอิ้ง และผลผลิตทางการเกษตร
ไม่แต่เฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ ในทางการเมืองและการทูต ทรัมป์ยังสร้างความขุ่นเคืองให้ปักกิ่งไม่ขาดสายตั้งแต่ยังเป็นแค่ว่าที่ประธานาธิบดี เมื่อเขารับโทรศัพท์อวยพรแสดงความยินดีที่ชนะเลือกตั้งจากประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน ของไต้หวัน
ครั้นเมื่อถูกท้วงติงว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นสิ่งที่ละเมิดประเพณีปฏิบัติของบรรดาประธานาธิบดีและว่าที่ประธานาธิบดีอเมริกันทั้งหลาย นับตั้งแต่ที่วอชิงตันตัดสัมพันธ์กับไทเปและหันมาสถาปนาความสัมพันธ์ขั้นปกติกับปักกิ่งเมื่อปี 1979 โดยที่สหรัฐฯ ยอมรับในหลักการ “จีนเดียว” นั่นคือถือว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นตัวแทนแต่เพียงผู้เดียวของประเทศจีน และไต้หวันก็เป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน ดังนั้นประมุขประเทศของสหรัฐฯ จึงไม่ควรมีการติดต่อโดยตรงกับผู้นำของไต้หวัน ที่ปักกิ่งถือว่าเป็นมณฑลกบฏของตน
ปรากฏว่าทรัมป์ไม่เพียงตอบโต้ว่าไม่เห็นเป็นไร การไม่รับโทรศัพท์อวยพรเสียอีกกลับเป็นพฤติกรรมที่ไร้มารยาท เขายังไปไกลถึงขั้นระบุว่าไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องยึดนโยบายจีนเดียว และเขาต้องการใช้เรื่องนี้มาเป็นหมากต่อรองอีกด้วย โดยหากจะให้สหรัฐฯ ในยุคของเขารับรองเรื่องจีนเดียวต่อไป ปักกิ่งก็ควรต้องอ่อนข้อยินยอมให้ประโยชน์ในเรื่องอื่นๆ แก่วอชิงตันเป็นการแลกเปลี่ยน เป็นต้นว่า เรื่องการค้า
ทางการจีนแสดงปฏิกิริยาต่อท่าทีเช่นนี้ของทรัมป์ด้วยการยืนยันว่า “หลักการจีนเดียว” เป็นเรื่องอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศจีน จึงเป็นสิ่งซึ่งไม่สามารถนำมาต่อรองกันได้ และถัดจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งกับคณะบริหารทรัมป์ก็อยู่ในบรรยากาศอันเกิดความขุ่นข้องหมองใจระหว่างกันมากขึ้น
ความตึงเครียดของทั้งสองประเทศดูจะยกระดับขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง เมื่อ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ซึ่งทรัมป์เสนอชื่อจะแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของเขา ไปให้ปากคำระหว่างขอการอนุมัติรับรองการแต่งตั้งจากวุฒิสภาสหรัฐฯ เมื่อกลางเดือนมกราคม แล้วเขาถูกซักถามว่าจะทำอย่างไรกับเรื่องที่จีนแสดงท่าทีแข็งกร้าวในการขยายดินแดนในทะเลจีนใต้ ด้วยการถมแนวปะการังสร้างเป็นเกาะเทียมขึ้นมาหลายเกาะ จากนั้นยังสร้างสนามบินและติดตั้งระบบป้องกันทางทหารต่างๆ ขึ้นบนเกาะเหล่านั้น
“ที เร็กซ์” ทิลเลอร์สัน ตอบว่า สหรัฐฯ จะต้องส่งสัญญาณที่ชัดเจนให้จีนยุติการสร้างเกาะเทียม และจะไม่ยินยอมให้จีนเข้าไปยังเกาะเทียมเหล่านั้นอีกต่อไป!
อันที่จริงสหรัฐฯ ในยุคคณะบริหารประธานาธิบดี บารัค โอบามา ก็แสดงท่าทีคัดค้านการแผ่อำนาจอิทธิพลและการสร้างเกาะเทียมของแดนมังกรในทะเลจีนใต้ และถึงกับวางแผนกำหนดยุทธศาสตร์ “ปักหมุดเอเชีย” ขึ้นมาด้วยจุดมุ่งหมายที่จะทำการปิดล้อมจีน ทว่าความเคลื่อนไหวซึ่งใกล้เคียงมากที่สุดที่อาจจะทำให้เกิดการเผชิญหน้าในทางทหารกับแดนมังกรยังคงจำกัดอยู่เพียงแค่การส่งเรือรบและเครื่องบินรบออกไปเฉียดใกล้พวกเกาะเทียมของจีน เพื่อเป็นการสำแดง “เสรีภาพในการเดินเรือและการเดินอากาศ”
แต่การที่จะ “ไม่ยินยอม” ให้จีนเข้าไปยังเกาะเทียมเหล่านี้อีกต่อไปนั้น ถ้าสหรัฐฯ จะปฏิบัติการให้เป็นผลจริงๆ ย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องส่งกองเรือรบเครื่องบินรบไปทำการปิดล้อมไม่ให้เรือหรือเครื่องบินของจีนเข้าไป และการกระทำเช่นนี้คือการประกาศทำสงครามอย่างเต็มขั้นนั่นเอง
ทิลเลอร์สันนั้นไม่ได้แจกแจงรายละเอียดว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อสำแดงการ “ไม่ยินยอม” ดังกล่าว ท่ามกลางการคาดเดาของพวกผู้สังเกตการณ์ว่านี่อาจจะเป็นการใช้กลเม็ดแบบที่ทรัมป์ชื่นชอบ นั่นคือข่มขู่คุกคามกันให้ตึงเครียด เพื่อให้ฝ่ายตนได้ผลดีที่สุดในเวลาเปิดเจรจาต่อรอง
อย่างไรก็ดี จีนตอบโต้ด้วยการยืนกรานว่าเกาะเทียมเหล่านี้อยู่ในอำนาจอธิปไตยของตน ขณะที่สื่อของทางการระบุว่าถ้าสหรัฐฯ จะขัดขวาง “ไม่ยินยอม” ก็ต้องทำสงครามกันเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีรายงานที่ไม่มีการยืนยันว่าปักกิ่งกำลังเคลื่อนย้ายพวกขีปนาวุธข้ามทวีปของตนให้เข้าสู่ระยะซึ่งสามารถยิงไปถึงสหรัฐฯ ได้
ถึงแม้พวกผู้เชี่ยวชาญและนักสังเกตการณ์ทั้งหลายส่วนใหญ่ยังมองว่าวอชิงตันกับปักกิ่งกำลัง “เล่นเกม” เพื่อสร้างความได้เปรียบสำหรับการต่อรอง มากกว่าต้องการเข้าทำศึกสู้รบกันจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อ จิม แมตทิส รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ไปพูดระหว่างการเยือนญี่ปุ่นในวันเสาร์ (4 ก.พ.) ที่ผ่านมา โดยแม้เขาวิจารณ์จีนอย่างแรงๆ แต่ก็ย้ำว่าในเวลานี้สหรัฐฯ ยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มทหารเข้าไปอย่างมากมายในทะเลจีนใต้ และเน้นว่าจุดโฟกัสตอนนี้ยังควรอยู่ที่การดำเนินการทางการทูต
ทว่า ด้วยการที่ทรัมป์ชอบใช้วิธีที่ เคอร์รี บราวน์ นักวิจัยด้านเอเชียของ ชาแธม เฮาส์ หน่วยงานคลังสมองในอังกฤษ บอกกับหนังสือพิมพ์ “ดิ อินดีเพนเดนซ์” ว่าเป็น “วิธีการแบบมุ่งยั่วยุและก่อให้เกิดความปั่นป่วนโกลาหล” ก็ทำให้เกิดความใจหายใจคว่ำว่าสหรัฐฯ กับจีนอาจจะเกิดการปะทะกันทางทหารขึ้นมาจนได้ โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้ ถึงแม้น่าจะอยู่ในลักษณะการปะทะแบบประปราย ไม่ถึงขั้นทำศึกใหญ่กันก็ตามที
สงวน พิศาลรัศมี