xs
xsm
sm
md
lg

InClip: “JAL-ANA” ยอมบินส่งผู้โดยสาร 7 ชาติมุสลิมทรัมป์แบนเข้าอเมริกา-ดูเตอร์เตไม่สบอารมณ์หนัก “ยังไม่ตั้งทูตประจำวอชิงตัน” แถมเรียกปินส์ในสหรัฐฯ กลับบ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - บ่ายวันเสาร์ (4 ก.พ.) บริษัทสายการบินญี่ปุ่น JAL และบริษัทสายการบิน ANA ตัดสินใจประกาศอนุญาตให้ผู้โดยสารจาก 7 ประเทศมุสลิมที่ถูกคำสั่งแบนของผู้นำสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นเครื่องบินเข้าอเมริกาได้อีกครั้ง หลังจากศาลแขวงสหรัฐฯ ออกคำสั่งคุ้มครอง ด้านประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ โรดริโก ดูเตอร์เต ประกาศเรียกให้พลเรือนฟิลิปปินส์ที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมายกลับประเทศทันที พร้อมประกาศจะยังไม่แต่งตั้งเอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. คนใหม่เพราะยังไม่สบอารมณ์

เจแปนไทมส์ สื่อญี่ปุ่นรายงานเมื่อวานนี้ (4 ก.พ.) ว่า บริษัทสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ส JAL และบริษัทออลนิปปอนแอร์เวย์ส ANA ออกแถลงการณ์ตัดสินใจในช่วงบ่ายวันเสาร์ (4 ก.พ.) อนุญาตให้ผู้โดยสารจาก 7 ชาติมุสลิม ได้แก่ อิรัก, ซีเรีย, อิหร่าน, ลิเบีย, โซมาเลีย, ซูดาน และเยเมน สามารถขึ้นโดยสารเครื่องบินของบริษัทสายการบินเดินทางเข้าอเมริกาได้ หลังจากศาลแขวงสหรัฐฯ มีคำสั่งคุ้มครอง

โดยก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามในคำสั่งไม่อนุญาตให้พลเมืองจากทั้ง 7 ประเทศเข้าสหรัฐฯ เป็นเวลา 90 วัน

และนับตั้งแต่วันจันทร์ล่าสุด (31 ม.ค.) ซึ่งเป็นวันที่สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ IATA ได้ระบุข้อกำหนดการเดินทางเข้าสหรัฐฯ ทำให้บริษัทสายการบินสัญชาติญี่ปุ่นทั้ง 2 แห่งปฏิเสธที่จะให้ผู้โดยสารจาก 7 ประเทศที่ได้รับผลกระทบขึ้นเครื่อง เว้นแต่ผู้โดยสารเหล่านี้มีกรีนการ์ด หรือวีซ่าทางการทูต

เจแปนไทมส์รายงานต่อว่า หลังจากวันศุกร์ที่มีคำสั่งของศาลแขวงสหรัฐฯ ในรัฐวอชิงตันออกมาให้หยุดการบังคับใช้คำสั่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ชั่วคราว ซึ่งถูกในวันที่ 27 ม.ค. ทำให้บริษัทสายการบินญี่ปุ่นทั้ง JAL และ ANA ตัดสินใจถามกลับไปยังเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และบริษัททั้งสองได้รับการยืนยันตอบกลับมาว่า ***ผู้โดยสารที่เดินทางด้วยพาสปอร์ตจากชาติมุสลิมเป้าหมาย 7 ประเทศ ซึ่งรวมไปถึงอิหร่าน ในขณะนี้สามารถเดินทางเข้าอเมริกาได้แล้ว***

แต่อย่างไรก็ตาม ในวันเสาร์ (4 ก.พ.) กลับพบว่ายังมีผู้โดยสาร 2 คนตกลงใจที่จะล้มเลิกการเดินทาง หลังจากที่ได้รับการปฏิเสธจาก JAL ในตอนแรกไม่ให้ขึ้นเครื่อง

ทั้งนี้ สถานการณ์แบนการเดินทางเข้าอเมริกา และปัญหาผู้อพยพของประธานาธิบดีทรัมป์ยังส่งผลต่อไปยังฟิลิปปินส์ และทำให้ผู้นำฟิลิปปินส์ออกมาประกาศให้พลเมืองฟิลิปปินส์ที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมายเดินทางกลับประเทศทันที

โดยสื่อกัล์ฟนิวส์รายงานเมื่อวานนี้ (4 ก.พ.) ว่า ประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เต ได้ออกมาเรียกร้องพลเมืองฟิลิปปินส์ในต่างแดนว่า “หากพวกคุณไม่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ที่นั่น หรือหากว่าพวกคุณอยู่ในประเทศนั้นนานเกินกำหนด ให้เดินทางออกนอกประเทศทันที เพราะหากพวกคุณถูกจับขึ้นมา ผมไม่แม้แต่ยกนิ้วหัวแม่มือขึ้นเพื่อที่จะช่วยเหลือ”

และในแถลงการณ์ยังประกาศต่อว่า “ในขณะนี้ฟิลิปปินส์ไม่มีเอกอัครราชทูตประจำในสหรัฐฯ และมาจนถึงวินาทีนี้เรายังไม่มีเอกอัครราชทูตที่จะส่งไปประจำในอเมริกา และผมไม่มีความรู้สึกต้องการที่จะส่งไปในเวลานี้”

สื่อกัล์ฟนิวส์รายงานต่ออีกว่า Migrante กลุ่มองค์กรช่วยเหลือคนงานฟิลิปปินส์ที่อาศัยเกินระยะเวลาในต่างประเทศ ที่เรียกว่า OFWs ซึ่งมีอยู่ทั่วโลก ได้ออกมาเดินขบวนในกรุงมะนิลา พร้อมกับประกาศตอบโต้คำแถลงของดูเตอร์เตว่า “ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์สมควรที่ต้องแถลงต่อคนร่วม 300,000 คนที่อาศัยอย่างผิดกฎหมายในสหรัฐฯ ว่าจะช่วยเหลือคนเหล่านี้ได้อย่างไร”

และในการประท้วง Migrante กล่าวต่อว่า ดูเตอร์เตควรต้องตอบคำถามนี้ต่อประชาชนชาวฟิลิปปินส์ที่เลือกเขามาในปี 2016

ในขณะเดียวกัน อดีตคณะรัฐมนตรีฟิลิปปินส์ได้ออกมาเรียกร้องให้ผู้นำมะนิลาแต่งตั้งเอกอัครราชทูตไปประจำยังสหรัฐฯ ในทันที

โดยอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ อัลเบิร์ต เดล โรซาริโอ (Albert del Rosario) ออกมาให้ความเห็นว่า “ปัญหานี้สมควรที่จะได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะการไม่แต่งตั้งเอกอัครราชทูตของประเทศไปประจำ (ในสหรัฐฯ) อาจถูกตีความในทางลบ และเป็นการบั่นทอนต่อความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีของทั้งสองชาติได้”

ในขณะที่อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ และอดีตทูตถาวรฟิลิปปินส์ประจำสหรัฐฯ ลอโร บาจา( Lauro Baja) ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “ซึ่งมันจะดูเหมือนว่าพวกเขา (ในอเมริกา) จะเป็นมิตรกับชาวฟิลิปปินส์มากขึ้น หากว่ามีตัวแทนจากฟิลิปปินส์อย่างเป็นทางการประจำอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.”

ซึ่งสื่อกัล์ฟนิวส์รายงานว่า ในปัจจุบันนี้เจ้าหน้าที่การทูตอาวุโส แพทริก เชาโซโต (Patrick Chuasoto) ทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าสถานทูตฟิลิปปินส์ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

RT สื่อรัสเซียรายงานเพิ่มเติมในเรื่องนี้ว่า อย่างไรก็ตาม ดูเตอร์เตไม่ออกมาอธิบายว่า เหตุใดเขาจึงไม่คิดที่จะส่งเอกอัครราชทูตคนใหม่ไปประจำสหรัฐฯ ในเวลานี้ ซึ่งเป็นระยะเวลายาวนานถึง 7 เดือนแล้วที่ฟิลิปปินส์ไม่มีเอกอัครราชทูตเป็นตัวแทนในอเมริกา

ที่ผ่านมาในอดีต สื่อรัสเซียชี้ว่าดูเตอร์เตพยายามที่จะแต่งตั้งเอกอัครราชทูตคนใหม่ไปประจำสหรัฐฯ 2 ถึง 3 ครั้ง แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่าคนเหล่านี้กลับมีเหตุผลที่ต่างกันไปในการปฏิเสธการเข้ารับทำหน้าที่สำคัญ เป็นต้นว่า เขาเคยต้องการที่จะแต่งตั้งอธิบดีกรมพิธีการทูต มาร์เซียโน เปย์นอร์ (Marciano Paynor) แต่กลับพบว่าเปย์นอร์ไม่สามารถเข้ารับตำแหน่งได้ เพราะเขาต้องรับผิดชอบการจัดเตรียมการประชุม ASEAN และยังทำให้ตำแหน่งยังคงว่างต่อไป

ทั้งนี้ มีความเชื่อว่าการเข้ามารับตำแหน่งใหม่ของทรัมป์จะช่วยสานความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานระหว่างฟิลิปปินส์กับสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นในสมัยอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามาได้ แต่กลับกลายเป็นว่าในช่วงปลายเดือนมกราคม ผู้นำฟิลิปปินส์ได้ออกมากล่าวหาสหรัฐฯ ว่ามีความพยายามจะสร้างคลังแสงถาวรสำหรับที่เก็บยุทโธปกรณ์ของกองทัพสหรัฐฯ ในฟิลิปปินส์ และได้เตือนทรัมป์ว่าความพยายามเช่นนั้นจะเป็นการบ่อนทำลายข้อตกลงความมั่นคงของทั้ง 2 ชาติ

และในต้นสัปดาห์นี้พบว่าดูเตอร์เตออกมาสนับสนุนทรัมป์ในคำสั่งห้ามการเดินทางเข้าอเมริกา ซึ่งเป็นคำสั่งที่ไม่กระทบต่อฟิลิปปินส์ ซึ่งถึงแม้ว่าเขาจะประกาศว่าจะไม่ช่วยชาวฟิลิปปินส์ที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมายหากถูกจับกุมก็ตาม




กำลังโหลดความคิดเห็น