เอเจนซีส์ - เหล่าบริษัทสัญชาติอเมริกัน ซึ่งรวมถึงผู้ส่งออกรายใหญ่อย่าง "เจเนอรัล อิเลกทริค" และ "โบอิ้ง" ได้ออกมาประกาศก่อตั้งแนวร่วมในวันพฤหัสบดี (2 ก.พ.) เพื่อให้การหนุนหลังแผนของพรรครีพับลิกัน ที่จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทุกชนิด โดยระบุว่า นั่นเป็นการสนับสนุนการจ้างงานชาวอเมริกันและสินค้าที่ผลิตโดยอเมริกัน
กลุ่มดังกล่าวที่ประกอบด้วยบริษัทมากกว่า 25 แห่ง และตั้งชื่อว่า "แนวร่วมผู้ผลิตอเมริกัน" (American Made Coalition) มีบริษัทชื่อดังหลายแห่งยืนยันเข้าร่วม อาทิ ดาว เคมีคอล , เอลี ลิลลี แอนด์ โค , ไฟเซอร์ , ออราเคิล คอร์ป ฯลฯ
การเปิดตัวกลุ่มแนวร่วมดังกล่าวเป็นเหมือนการขีดเส้นใต้เน้นย้ำให้เห็นถึงการแบ่งพรรคแบ่งพวกที่มีมากขึ้นของบริษัทอเมริกา เกี่ยวกับข้อเสนอของรีพับลิกัน ที่ให้ลดการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลลงมาอยู่ที่ 20 เปอร์เซ็นต์ จากเดิม 35 เปอร์เซ็นต์ โดยแยกรายได้การส่งออก ออกจากรายได้ที่ต้องเสียภาษี และกำหนดให้จัดเก็บภาษี 20 เปอร์เซ็นต์สำหรับการนำเข้า
ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เคยส่งสัญญาณเกี่ยวกับเรื่องภาษีนำเข้าไปแล้ว ซึ่งทางรีพับลิกันอาจเจอกับงานยากในวุฒิสภา กับคำถามที่ว่ามันอาจจะทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเกินควรสำหรับธุรกิจและผู้บริโภคชาวอเมริกัน
บริษัทหลายแห่งที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าอย่างมาก อาทิ ธุรกิจค้าปลีกอย่าง "ทาร์เก็ต คอร์ป" และ "เบสต์ บาย" พากันบอกว่า การเก็บภาษีชายแดนแบบใหม่นั้นจะส่งผลอย่างมากในเรื่องประโยชน์จากการลดภาษีนิติบุคคล แก่ผู้ส่งออกอย่างโบอิ้งและบริษัทอื่นๆ ที่ทำธุรกิจภายในประเทศล้วนๆ ต่างก็ได้รับประโยชน์กันถ้วนหน้า
"ทุกวันนี้แรงงานและธุรกิจอเมริกันไม่อาจแข่งขันกับบริษัทต่างชาติ เพราะระบบภาษีที่ล้าสมัยและไม่ยุติธรรม ระบบภาษีที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นอุดหนุนการนำเข้าสินค้าต่างชาติแบบไม่เป็นธรรม" จอห์น เกนต์เซล โฆษกของแนวร่วมฯ กล่าว
บริษัทหลายแห่งที่เข้าแนวร่วมนี้ อาทิ โบอิ้ง , เจเนอรัล อิเลกทริค ต่างก็เคยประสบความสำเร็จในการก่อตั้งกลุ่มของตนเองเมื่อปี 2015 เพื่อช่วยปกป้อง "ธนาคารนำเข้า-ส่งออก" อันเป็นโครงการเงินกู้ที่รัฐบาลให้การหนุนหลัง ซึ่งช่วยเหลือให้ผู้ซื้อต่างชาติสามารถซื้อสินค้าส่งออกของอเมริกา
ก่อนหน้านี้ สมาคมผู้นำอุตสาหกรรมค้าปลีก ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทและสมาคมการค้ากว่า 120 แห่ง เพิ่งจะเปิดตัวแนวร่วมของพวกเขาไปเมื่อวันพุธ เพื่อต่อต้านข้อเสนอการเก็บภาษีแบบใหม่ของพรรครีพับลิกันที่รู้จักกันในชื่อ "การปรับภาษีชายแดน" (border adjustment tax)
"การปรับภาษีชายแดนนั้นเป็นภัย ทั้งยังไม่เคยมีการทดลองใช้ และอาจทำให้งานในธุรกิจค้าปลีกอเมริกาตกอยู่ในความเสี่ยง รวมถึงยังบีบให้ผู้บริโภคต้องจ่ายมากขึ้นถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ในการซื้อของใช้จำเป็นสำหรับครอบครัว" แซนดี้ เคนเนดี้ ประธานกลุ่มแนวร่วมค้าปลีกกล่าว
ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจกลั่นน้ำมัน รวมถึงผู้ผลิตรถยนต์ของต่างชาติ อาทิ โตโยต้า มอร์เตอร์ นั้นกำลังพยายามล็อบบี้รัฐสภาสหรัฐฯ ด้วยเกรงว่าภาษีนำเข้าก้อนโตอาจจะส่งผลร้ายต่อยอดขายและกำไร รวมถึงทำให้เสียเปรียบคู่แข่งที่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำในอเมริกา
จากการรายงานของรอยเตอร์ในสัปดาห์นี้ เบสต์บายเคยส่งใบปลิวนำเสนอข้อมูลไปให้แก่บรรดา ส.ส.สหรัฐฯ โดยอ้างว่าเป็นการวิเคราะห์ล่วงหน้า ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากการเก็บภาษีนำเข้า 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะทำให้ตัวเลขรายได้ 1 พันล้านดอลลาร์ต่อปีที่บริษัทคาดการณ์ไว้ กลายเป็นขาดทุน 2 พันล้านดอลลาร์ต่อปี