xs
xsm
sm
md
lg

องค์การนิรโทษฯ ชี้พฤติกรรมล่าสังหารผู้ค้ายาเสพติดของ “ตำรวจปินส์” อาจเข้าข่ายก่อ “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International - AI) ชี้การที่ตำรวจฟิลิปปินส์ล่าสังหารผู้ต้องสงสัยค้ายาเสพติดหลายพันคน หรือว่าจ้างบุคคลอื่นให้ทำแทนก็ตาม อาจเป็นการกระทำที่เข้าข่ายก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ

รายงานเอไอซึ่งสรุปจากกระบวนการสอบสวนเชิงลึกในสงครามยาเสพติดของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ยังอ้างถึงอาชญากรรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางโดยฝีมือตำรวจ นอกเหนือไปจากการฆ่าโดยปราศจากการไต่สวน (extrajudicial killing) ซึ่งเหยื่อส่วนใหญ่มักจะเป็นคนยากจน

“เมื่อได้รับคำสั่งจากผู้บัญชาการระดับสูงสุด ตำรวจและนักฆ่าเหล่านี้ก็จะออกไปสังหารผู้ที่ต้องสงสัยว่าค้าหรือเสพยาเสพติด แม้จะแทบไม่มีหลักฐานยืนยันก็ตาม” รอว์ยา ราเกห์ ที่ปรึกษาอาวุโสของเอไอ ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี

“จากการตรวจสอบ เราพบว่าการสังหารผู้คนโดยปราศจากการไต่สวนเหล่านี้เป็นไปอย่างกว้างขวาง จงใจ และเป็นระบบ ดังนั้นจึงอาจเข้าข่ายก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ”

เอไอ กล่าวหาว่าตำรวจฟิลิปปินส์ยิงสังหารประชาชนที่ไร้ทางสู้ สร้างหลักฐานเท็จ จ้างนักฆ่าไปสังหารคนติดยา รวมถึงขโมยทรัพย์สินจากผู้ตายและญาติ

ตำรวจบางนายรับเงินค่าจ้างจากผู้บังคับบัญชาให้ออกไปฆ่า และเหยื่อที่ถูกสังหารบางคนอายุเพียง 8 ขวบเท่านั้น

“ตำรวจพวกนี้ทำตัวไม่ต่างจากอาชญากรที่พวกเขาควรจะใช้กฎหมายปราบปราม” รายงานที่เอไอเผยแพร่วันนี้ (1 ก.พ.) ระบุ

ดูเตอร์เต ชนะศึกเลือกตั้งผู้นำฟิลิปปินส์ด้วยคะแนนเสียงถล่มทลายเมื่อปีที่แล้ว โดยสัญญาว่าจะกวาดล้างยาเสพติดให้หมดไปจากสังคมภายใน 6 เดือน

เขาเคยพูดว่าจะสังหารอาชญากรให้ได้ถึง 100,000 คน และจะเอาศพเหล่านั้นไปโยนทิ้งอ่าวมะนิลาเพื่อเป็นอาหารเลี้ยงปลาให้อ้วน
ร่างของชายคนหนึ่งที่ถูกตำรวจยิงเสียชีวิตในกรุงมะนิลา เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ที่ผ่านมา
ดูเตอร์เต เริ่มประกาศสงครามกวาดล้างอาชญากรรมทันทีที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อ 7 เดือนก่อน

สถิติอย่างเป็นทางการของรัฐบาลระบุว่า ตำรวจได้กระทำวิสามัญฆาตกรรมอาชญากรไปแล้ว 2,555 คน ส่วนอีกเกือบ 4,000 คนถูกฆ่าโดยไม่ทราบทั้งสาเหตุและคนลงมือ

ดูเตอร์เต เรียกร้องหลายครั้งให้ตำรวจกำจัดทั้งผู้ค้าและผู้เสพยา และยอมรับเมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้วว่า ตนเองก็เคยฆ่าคนสมัยที่ยังเป็นนายกเทศมนตรีเมืองดาเวา

3 เดือนก่อนหน้านั้น ผู้นำฟิลิปปินส์พูดว่าเขา “มีความสุขที่จะฆ่า” คนติดยาให้ได้ถึง 3 ล้านคน และยังเปรียบเทียบแคมเปญของตนเองกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์

เอไอ ระบุว่า ดูเตอร์เต ยั่วยุให้ตำรวจเข่นฆ่าคนจน และศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court - ICC) ควรเข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ หากทางการฟิลิปปินส์ยังไม่ล้มเลิกนโยบาย
เอไอได้เข้าไปตรวจสอบกรณีการเสียชีวิตของเหยื่อ 59 คน และพบว่าส่วนใหญ่ถูกฆ่าด้วยระบบศาลเตี้ย

ในหลายๆ กรณี พยานและญาติยืนยันกับเอไอว่า ผู้ตายไม่มีอาวุธและไม่ได้ขัดขืนการจับกุม แต่ตำรวจก็ยังไม่ไว้ชีวิต จากนั้นก็เอาปืนและยาเสพติดไปยัดให้คนตายเพื่อ “ยึด” เป็นหลักฐาน

ผู้เห็นเหตุการณ์คนหนึ่งเล่าถึงกรณีของ เกเนอร์ รอนดินา เหยื่อวัย 38 ปี ซึ่งเมื่อตำรวจบุกเข้าไปที่บ้านของเขาในเมืองเซบู เขาก็พูดทันทีว่า “ผมยอมมอบตัวครับ ผมจะมอบตัว”

รอนดินา ได้คุกเข่าลงและยกมือขึ้นทั้งสองข้างเพื่อแสดงถึงการยอมจำนน แต่ตำรวจก็ยังลั่นกระสุนสังหาร

เมื่อครอบครัวของเขากลับมาที่บ้านในอีก 6 ชั่วโมงต่อมา ก็พบว่าคอมพิวเตอร์แล็ปท็อป นาฬิกาข้อมือ และเงินสดของผู้ตายหายไปจนเกลี้ยง

ตำรวจอ้างว่า รอนดินา มีปืน และพวกเขาจำเป็นต้องยิงเพื่อป้องกันตนเอง ซึ่งเป็นทั้งวิธีการและข้ออ้างที่เจ้าหน้าที่รัฐมักจะใช้ในการทำสงครามยาเสพติด เอไอระบุ

กำลังโหลดความคิดเห็น