xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ โปแลนด์ระบุจะไม่อนุญาตให้ CIA เข้าไปเปิด “คุกลับ” อีก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - รัฐบาลโปแลนด์ยืนยันวานนี้ (26 ม.ค.) จะไม่อนุญาตให้สหรัฐฯ เข้ามาใช้พื้นที่เปิดเรือนจำลับขังนักโทษก่อการร้ายอีก หลังมีกระแสข่าวว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจจะมีคำสั่งฟื้นคุกลับซีไอเอในต่างแดน หรือที่เรียกกันว่า “black sites”

นายกรัฐมนตรีเบียตา ซิดโล แห่งโปแลนด์ ระบุว่า “ไม่มีการยื่นข้อเสนอ และไม่มีโอกาส” ที่จะหารือเรื่องดังกล่าว “แน่นอน” หลังจากผู้สื่อข่าวถามว่า วอร์ซอยินดีที่จะให้สหรัฐฯ กลับเข้าไปใช้พื้นที่ตั้งคุกลับอีกหรือไม่

ทั้งโปแลนด์ซึ่งเป็นสมาชิกนาโตและลิทัวเนียต่างไม่เคยยอมรับอย่างเป็นทางการว่าอนุญาตให้สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) เข้าไปเปิดคุกลับเพื่อใช้คุมขังและสอบสวนผู้ต้องหาก่อการร้าย หลังเกิดเหตุวินาศกรรมนิวยอร์กเมื่อวันที่ 11 กันยายน ปี 2001

แม้กฎหมายรัฐธรรมนูญโปแลนด์จะห้ามการทรมาน แต่อดีตประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ควาสนิวสกี ก็ออกมายอมรับเมื่อปี 2014 ว่า โปแลนด์เป็นที่ตั้งคุกลับแห่งหนึ่งของซีไอเอ ขณะที่วุฒิสภาสหรัฐฯ รายงานว่า เรือนจำแห่งนี้มีการใช้เทคนิคทรมานเพื่อรีดความจริงจากผู้ต้องหาอัลกออิดะห์ด้วย

ประธานาธิบดีทรัมป์ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันพุธ (25) ว่า วิธีกรอกน้ำให้สำลัก (waterboarding) ตลอดจนเทคนิคสอบสวนอื่นๆ ที่เข้าข่ายทรมานและถูกห้ามโดยกฎหมายนั้น “ใช้ได้ผลแน่นอน” แต่เขายกให้เป็นหน้าที่ของซีไอเอและกระทรวงกลาโหมตัดสินใจว่าควรจะรื้อฟื้นโครงการนี้หรือไม่

คุกลับเหล่านี้เคยถูกใช้เป็นที่กักขังผู้ต้องหาใน “สงครามก่อการร้าย” ของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช หลังเหตุวินาศกรรม 9/11 ทว่าถูกปิดตัวลงอย่างเป็นทางการในสมัยของอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา

ประเทศอื่นๆ ที่เคยถูกใช้เป็นสถานที่ตั้งคุกลับของซีไอเอ ได้แก่ ลิทัวเนีย โรมาเนีย อัฟกานิสถาน และไทย

เทคนิคการสอบสวนแบบเข้มข้น (enhanced interrogation techniques) ในคุกลับซีไอเอนั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักไปทั่วโลก แม้แต่ โอบามา และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ก็ยังประณามว่าเป็นการทรมานที่ป่าเถื่อนเกินไป


กำลังโหลดความคิดเห็น