รอยเตอร์ - ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ อาจสั่งให้มีการทบทวนเพื่อฟื้นฟูโครงการส่งผู้ต้องหาก่อการร้ายไปคุมขังไว้ในคุกลับต่างแดน หรือที่เรียกกันว่า “black site” ซึ่งมีการใช้เทคนิคสอบสวนที่ป่าเถื่อนถึงขั้น “ทรมาน” เจ้าหน้าที่อเมริกัน 2 คนเผยวานนี้ (25 ม.ค.)
คุกลับเหล่านี้เคยถูกใช้เป็นที่กักขังผู้ต้องหาใน “สงครามก่อการร้าย” ของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช หลังเกิดเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน ปี 2001 ทว่าถูกปิดตัวลงอย่างเป็นทางการในสมัยของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา
การนำกลยุทธ์ต่อต้านก่อการร้ายในสมัย บุช กลับมาใช้ ซึ่งรวมถึงการเปิดคุกลับและใช้เทคนิคสอบสวนที่กฎหมายระหว่างประเทศระบุว่าเป็นการ “ทรมาน” นั้น อาจจะยิ่งทำให้สหรัฐฯ ถูกโดดเดี่ยวจากมิตรประเทศซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการปราบปรามกลุ่มติดอาวุธอย่างอัลกออิดะห์ และรัฐอิสลาม (ไอเอส)
สำเนาเอกสารฉบับร่างที่หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์นำมาเผยแพร่ ระบุว่า แหล่งข่าวทั้งสองคนคาดว่า ทรัมป์ อาจจะเซ็นคำสั่งบริหารในอีก 2-3 วันข้างหน้า เพื่อให้มีการตั้งคณะกรรมการระดับสูงทบทวนว่า “สมควรหรือไม่ที่จะรื้อฟื้นโครงการสอบสวนผู้ก่อการร้ายต่างชาติระดับแกนนำนอกดินแดนของสหรัฐฯ” และจะให้สำนักงานสอบสวนกลาง (ซีไอเอ) กำกับดูแลคุกลับเหล่านั้นหรือไม่
ฌอน สไปเซอร์ โฆษกรัฐบาลทรัมป์ ยืนยันว่า เอกสารฉบับร่างนั้นไม่ใช่เอกสารของทำเนียบขาว
ในความเป็นจริงแล้ว เอกสารที่วอชิงตันโพสต์เผยแพร่ดูเหมือนเนื้อหาจะขาดหายไปหลายส่วน ซึ่งแปลว่าอาจจะไม่มีฉบับสมบูรณ์ที่พร้อมให้ ทรัมป์ ลงนามก็เป็นได้
ด้าน พอล ไรอัน ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็ออกมาระบุเช่นกันว่า เอกสารฉบับนี้ไม่ได้ถูกเขียนขึ้นโดยรัฐบาลทรัมป์
“ผมเข้าใจว่ามันอาจจะถูกร่างโดยใครบางคนที่เคยทำงานในทีมเปลี่ยนผ่าน แต่ไม่ได้อยู่ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน และนี่ไม่ใช่เอกสารของรัฐบาลอย่างแน่นอน” ไรอัน ให้สัมภาษณ์ต่อสถานีโทรทัศน์ MSNBC
ผู้ช่วยของโอบามา เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า นโยบายห้ามทรมานผู้ต้องหา และความพยายามในการปิดเรือนจำกวนตานาโมในคิวบา ช่วยให้สหรัฐฯ ได้รับความร่วมมือจากหลายๆ ประเทศในโลกอาหรับเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย
เทคนิคการสอบสวนแบบเข้มข้น (enhanced interrogation techniques) ในคุกลับซีไอเอ ซึ่งรวมถึงการกรอกน้ำให้สำลัก (waterboarding) ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักไปทั่วโลก แม้แต่ โอบามา และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ก็ยังประณามว่าเป็นการทรมานที่ป่าเถื่อนเกินไป
เจ้าหน้าที่หลายคนระบุว่า ประชาคมข่าวกรองและกองทัพสหรัฐฯ ก็ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะฟื้นฟูโครงการนี้ขึ้นมา
“ท่านประธานาธิบดีจะเซ็นคำสั่งบริหารอะไรก็ได้ตามใจ แต่กฎหมายก็คือกฎหมาย เราจะไม่มีวันนำการทรมานกลับมาสู่สหรัฐอเมริกาอีก” ส.ว.จอห์น แม็กเคน ซึ่งเคยลิ้มรสการถูกทรมานสมัยที่เป็นเชลยศึกในสงครามเวียดนาม แถลง
ประเทศที่เคยถูกใช้เป็นสถานที่ตั้งคุกลับของซีไอเอ ได้แก่ โปแลนด์ ลิทัวเนีย โรมาเนีย อัฟกานิสถาน และไทย
เมื่อปี 2006 ประธานาธิบดีบุช ได้สั่งให้ยุติการใช้เทคนิคสอบสวนแบบเข้มข้น และปิดคุกลับทั้งหมด โดยเหลือไว้ที่กรุงคาบูลเพียงแห่งเดียวเท่านั้น
ทรัมป์ เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอบีซีนิวส์เกี่ยวกับการสอบสวนนักโทษด้วยวิธีกรอกน้ำให้สำลักว่า “ผมจะฟังความเห็นของ ไมค์ ปอมเปโอ (ผู้อำนวยการซีไอเอ) และ เจมส์ แมททิส (รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม) และทีมงานของผม ถ้าพวกเขาเห็นว่าไม่ควรทำก็โอเค แต่ถ้าพวกเขาอยากจะทำ ผมก็จะเดินหน้าต่อไปจนสำเร็จ”