เอเจนซีส์ - เมื่อวานนี้ (24 ม.ค.) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ใช้วันที่ 2 ในทำเนียบขาวออกคำสั่งให้โครงการท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอเมริกันสุดฉาว โครงการท่อส่งน้ำมันคีย์สโตน XL ไปป์ไลน์ และโครงการระบบท่อส่งดาโกตา DAPL ที่ถูกหยุดไว้ชั่วคราวในสมัยโอบามา กลับมาดำเนินการต่อ โดยอ้างว่าเป็นสร้างงานในสหรัฐฯ ท่ามกลางการประท้วงจากอเมริกันอินเดียนแดงเจ้าของพื้นที่และกลุ่มเคลื่อนไหวอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั้งสองฟากฝั่งสหรัฐฯ
RT รายงานเมื่อวานนี้ (24 ม.ค.) ว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ แถลงหลังการลงนามคำสั่งให้เดินหน้าโครงการระบบท่อส่งดาโกตา DAPLให้เริ่มต้นการก่อสร้างต่อไปว่า “การก่อสร้างจะต้องไปตามข้อตกลงและเงื่อนไขของสหรัฐฯ” โดยได้ให้ตัวอย่าง เป็นต้นว่า สิ่งจำเป็นสำหรับการก่อสร้างต้องเป็นสิ่งที่ผลิตในอเมริกาเท่านั้น
ทั้งนี้ ในสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา ก่อนหน้านี้ ผู้นำสหรัฐฯ ได้ประกาศให้หยุดโครงการก่อสร้างไว้ชั่วคราวเนื่องมาจากความวิตกถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
และในการลงนามคำสั่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เรียกว่า “presidential memoranda” ที่ทรัมป์ลงนามในวันอังคาร (24 ม.ค.) รวมไปถึงการเร่งกระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และเร่งกระบวนการตรวจสอบจำนวนมากที่ต้องใช้เวลาสำหรับการอนุมัติการผลิตภายในประเทศ
โดยในจุดนี้ ทรัมป์ได้ชี้ว่า “กระบวนการตรวจสอบสำหรับการอนุมัติการผลิตนั้นเป็นอุปสรรคสำคัญในการเดินหน้าในประเทศแห่งนี้ไปแล้ว”
และในส่วนคำสั่งของทรัมป์ที่ลงนามในวันอังคาร (24 ม.ค.) สื่อรัสเซียชี้ว่า เป็นคำสั่งที่ต่างออกไปจากคำสั่งทางบริหารของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เรียกว่า executive orders แต่เป็นคำสั่งที่เรียกว่า presidential memoranda ซึ่งอยู่ในลำกับที่ต่ำกว่าคำสั่ง executive orders แต่ทว่ามีผลบังคับเท่ากัน และยังมีความคล่องตัวมากกว่า เป็นต้นว่า ไม่ต้องลงในรายละเอียดค่าการก่อสร้างเป็นต้น หรือการต้องระบุถึงหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ซึ่งจะเป็นผู้รับคำสั่งประธานาธิบดีนี้
โดยโฆษกทำเนียบขาวคนใหม่ ฌอน สไปเซอร์ (Sean Spicer) ได้อ้างต่อบรรดานักข่าวทำเนียบขาวว่า ถึงอย่างไรโครงการระบบท่อส่งดาโกตา DAPL ก้าวไหน้าไปกว่า 93% แล้ว และอีกทั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีความตั้งใจที่จะนั่งหารือกับทุกฝ่ายที่เกียวข้องรวมไปถึง ชนเผ่าอินเดียแดงเนชัน และจะเจรจาเพื่อให้ได้ข้อตกลงที่ดีที่สุด
การลงนามคำสั่งรื้อโครงการสิ่งแวดล้อมฉาวยักษ์ใหญ่ 2 โครงการนี้สร้างเสียงประณามจากกลุ่มนักอนุรักษ์และกลุ่มอเมริกันพื้นเมือง โดยพบว่าในช่วงบ่ายวันอังคาร (24 ม.ค.) ในขณะในช่วงค่ำ พบว่ามีกลุ่มผู้ประท้วงรวมตัวในเมืองลอสแองเจลิส เมืองซีแอตเติล และเมืองนิวยอร์ก ซิตี
โดยพบว่าในย่านดาวน์ทาวของเมืองซีแอตเติล มีผู้ประท้วงรวมตัวกันราว 1,000 คน รวมตัวการประท้วงฉุกเฉินในคืยวันอังคาร (24 ม.ค.) อ้างอิงจาก KIRO ซึ่งพบว่าผู้ประท้วงจำนวนมากมีเป้าหมายการประท้วงไปที่ธนาคารเวลส์ฟาร์โกจากการที่ธนาคารแห่งนี้สนับสนุนด้านการเงินให้กับโครงการระบบท่อส่งดาโกตา DAPL ในขณะที่พบว่ามีคนจำนวนหลายสิบคนออกมาตะโกนแสดงความไม่เห็นด้วยบริเวณสำนักงานรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ในเวสต์วูด (Westwood) ลอสแองเจลิส
ด้านเดฟ อาร์เชมโบ ที่ 2 (Dave Archambault II) ประธานชนเผ่าอินเดียนแดงเนชัน สแตนดิง ร็อก ซูส์ (the Standing Rock Sioux Tribe) ได้ประกาศว่า “ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทรัมป์จำเป็นต้องเคารพต่อสนธิสัญญาที่ตกลงไว้กับชนเผ่า และต้องทำให้โครงการท่อส่งนั้นำมันและก๊าซธรรมชาตินั้นเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมและสมเหตุสมผลต่อทุกฝ่าย”
และเสริมต่อว่า “อเมริกันทุกคนต่างตระหนักในเรื่องนี้ดีว่า เส้นทางการเดินของระบบท่อส่งน้ำมันโครงการนี้นั้นถูกเปลี่ยนอย่างไม่เหมาะสม โดยมีทิศทางมุ่งหน้าเข้าสู่พื้นที่ของอินเดียเนชันของเราโดยปราศจากการได้รับอนุญาตจากเรา”
อาร์เชมโบ ที่ 2 ยังกล่าวเตือนต่อว่า ไม่เพียงที่โครงการระบบท่อส่งดาโกตา DAPL จะละเมิดในสิทธิภายใต้สนธิสัญญา แต่ยังรวมไปถึงการรั่วออกมาจากระบบท่อส่งนั้นยังส่งผลกระทบต่อการปนเปื้อนแหล่งน้ำสำคัญที่ทั้งชนเผ่าและชาวอเมริกันอีก 17 ล้านคนที่อาศัยอยู่ปลายน้ำต้องได้รับความเดือดร้อน