รอยเตอร์ - นายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ ของสหราชอาณาจักร ต้องรอให้รัฐสภาลงมติเสียก่อน จึงจะสามารถเริ่มต้นการนำประเทศออกจากสหภาพยุโรป (อียู) อย่างเป็นทางการได้ ศาลสูงสุดของสหราชอาณาจักรประกาศคำตัดสินในวันนี้ (24 ม.ค.) เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้พวกสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งคัดค้านแผน “เบร็กซิต” ของเธอ สามารถวางแผนการเพื่อการแก้ไขเปลี่ยนแปลง
คณะผู้พิพากษาศาลสูงสุดของสหราชอาณาจักรตัดสินด้วยคะแนนเสียงข้างมาก 8 ต่อ 3 ว่า เมย์ไม่สามารถที่จะใช้อำนาจฝ่ายบริหารที่เรียกขานกันว่า “พระราชอำนาจ” เพื่อแจ้งขอใช้สิทธิตามมาตรา 50 แห่งสนธิสัญญาลิสบอน ของอียู และเริ่มต้นการเจรจารายละเอียดในการแยกตัวจากอียูให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 2 ปี
“การลงประชามตินั้นมีความสำคัญทางการเมืองอย่างใหญ่หลวง ทว่า พระราชบัญญัติของรัฐสภาซึ่งกำหนดให้จัดการลงประชามติขึ้นมา ไม่ได้ระบุว่า ผลลัพธ์ที่ออกมาควรจะเป็นอย่างไร” เดวิด นูเบอร์เกอร์ ประธานของศาลสูงสุดกล่าวในคำพิพากษา
“ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงใดๆ ในกฎหมายฉบับนี้เพื่อให้บังเกิดผลตามประชามติ จึงต้องกระทำโดยผ่านเพียงหนทางเดียวตามที่รัฐธรรมนูญสหราชอาณาจักรเปิดทางไว้ให้ นั่นก็คือ ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติของรัฐสภา”
อย่างไรก็ดี คณะผู้พิพากษาศาลสูงสุดได้ขจัดสิ่งที่อาจกลายเป็นอุปสรรคขวางกั้นอย่างสำคัญประการหนึ่ง ให้แก่ทางรัฐบาลสหราชอาณาจักร นั่นคือคำตัดสินคราวนี้ระบุด้วยว่า เมย์สามารถเริ่มต้นกระบวนการ “เบร็กซิต” ได้ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากสภานิติบัญญัติของเขตการปกครองต่างๆ ที่ได้รับมอบอำนาจจากสหราชอาณาจักร นั่นคือ รัฐสภาของสกอตแลนด์, เวลส์, และไอร์แลนด์เหนือ
เมย์เพิ่งแถลงว่า เธอตั้งใจที่จะใช้สิทธิตามมาตรา 50 ก่อนสิ้นเดือนมีนาคมนี้ ทว่า จากคำพิพากษาคราวนี้หมายความว่า ถึงเวลานี้เธอจะต้องรีบเสนอกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้เข้าไปให้รัฐสภาสหราชอาณาจักรพิจารณาอย่างเร่งด่วนเสียก่อน จึงจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้
ในคำพิพากษาคราวนี้ ศาลสูงสุดระบุว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวนี้ ซึ่งคาดหมายกันว่าน่าที่จะเสนอต่อรัฐสภาได้ในปลายสัปดาห์นี้หรือในสัปดาห์หน้า สามารถที่จะเป็นกฎหมายที่มีเนื้อหาสั้นมากๆ ก็ได้
การที่รัฐบาลต้องเสนอเป็นกฎหมายเข้าสภาเช่นนี้ ย่อมหมายถึงการเปิดโอกาสให้พวกสมาชิกสภาสามัญได้เข้าตรวจสอบกระบวนการ “เบร็กซิต” โดยที่เสียงส่วนใหญ่ของพวกเขานั้นต่างต้องการให้ประเทศอยู่ในอียูต่อไป กระนั้นก็ตาม เจเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคเลเบอร์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านใหญ่ที่สุดแถลงว่า พวกเขาจะไม่ขัดขวางเบร็กซิต ทว่า จะพยายามแก้ไขเปลี่ยนแปลงร่างกฎหมายฉบับที่รัฐบาลจะเสนอเข้ามา
อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนรายงานว่า น่าจะมี ส.ส. ของพรรคเลเบอร์ถึง 80 คนไม่ฟังเสียงของคอร์บิน และโหวตคัดค้านการใช้สิทธิตามมาตรา 50 ขณะที่พรรคลิเบอรัลเดโมแครต ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านที่มีขนาดเล็กลงมาบอกว่า จะคัดค้านเบร็กซิต ยกเว้นแต่ในข้อตกลงสุดท้ายจะมีการยินยอมให้จัดการลงประชามติเป็นครั้งที่ 2
เวลาเดียวกัน ยังมีพรรคสกอตติชเนชั่นแนล ซึ่งมี ส.ส.54 คน ที่บอกว่าจะผลักดันให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงร่างกฎหมายนี้ในประเด็นสำคัญๆ ถึง 50 ประเด็น
ทว่า จำนวน ส.ส. ที่คัดค้านเบร็กซิตเหล่านี้ ยังถือเป็นสัดส่วนไม่มากในสภาสามัญ ซึ่งเป็นสภาล่างของสหราชอาณาจักรที่มีสมาชิกทั้งสิ้น 650 คน และไม่น่าที่จะหยุดยั้งหรือกระทั่งชะลอตารางเวลาในการถอนตัวจากอียูของเมย์ได้
สำหรับสภาสูงของรัฐสภาสหราชอาณาจักร ซึ่งก็คือสภาขุนนางนั้น ก็สามารถขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงร่างกฎหมายที่รัฐบาลจะเสนอเข้ามานี้ได้ ทว่า พวกรัฐมนตรีของเมย์มีความมั่นใจว่า สมาชิกสภาขุนนางซึ่งเข้าสภาได้ เนื่องจากได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนนางโดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง จะไม่พยายามขัดขวางไม่ให้สหราชอาณาจักรออกไปจากอียู ในเมื่อมันเป็นผลจากการลงประชามติของประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงทั่วประเทศ
ทางด้านเมย์เองก็แสดงความมั่นใจว่า คำตัดสินของศาลสูงสุดคราวนี้ ไม่ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเส้นทางของเบร็กซิต
“ประชาชนชาวสหราชอาณาจักรโหวตที่จะออกจากอียู และรัฐบาลก็จะทำตามคำตัดสินของพวกเขา นั่นคือใช้สิทธิตามมาตรา 50 ตามที่ได้วางแผนเอาไว้ ภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้” โฆษกของเธอแถลง
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เมย์เพิ่งแถลงอธิบายจุดยืนต่างๆ ของเธอสำหรับการเจรจากับฝ่ายอียู โดยเธอให้สัญญาว่าการตัดขาดอย่างชัดเจนจากอียู จะเป็นส่วนหนึ่งของแผนการรวม 12 ข้อ ของการโฟกัสเพื่อทำข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศและดินแดนต่างๆ ทั่วโลก อันเป็นการกำหนดเส้นทางเดินซึ่งเรียกขานกันว่า “ฮาร์ด เบร็กซิต” ที่ไม่มีความพยายามจะต่อรองขอรักษาสายสัมพันธ์สำคัญๆ บางประการกับอียูเอาไว้
ทั้งนี้ ยังคงมีนักลงทุนบางส่วน และพวกที่สนับสนุนการรณรงค์เรียกร้องให้ “อยู่ต่อ” วาดหวังว่า บรรดาสมาชิกรัฐสภา ซึ่งส่วนข้างมากต่างแสดงท่าทีต้องการให้ประเทศอยู่ในอียูต่อไปกันทั้งนั้น จะกดดันบังคับให้เมย์หาทางทำข้อตกลงซึ่งให้ความสำคัญลำดับต้นๆ แก่การที่สหราชอาณาจักรยังคงสามารถเข้าถึงตลาดร่วมยุโรป ซึ่งประกอบด้วย ประชากร 500 ล้านคนต่อไปอีก หรือหากเป็นไปได้ก็หาทางสกัดกั้นเบร็กซิตเสียเลย