รอยเตอร์ - รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศวานนี้ (23 ม.ค.) ว่าจะไม่ยอมให้จีนเข้ายึดครองหมู่เกาะในน่านน้ำสากลของทะเลจีนใต้ ซึ่งสื่อแดนมังกรเคยออกมาเตือนแล้วว่า วอชิงตันคงต้องเตรียมทำ “สงคราม” กับจีนด้วย
ตลอดหลายปีมานี้ วอชิงตันแสดงจุดยืนอย่างระมัดระวังต่อการอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนในเอเชีย ทว่าคำแถลงจาก ฌอน สไปเซอร์ โฆษกทำเนียบขาวเมื่อวานนี้ (23) นับเป็นสัญญานเตือนว่า นโยบายดังกล่าวกำลังจะเปลี่ยนไปหลังจากที่ ทรัมป์ ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสหรัฐฯ
“สหรัฐฯ จะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเราในภูมิภาคนั้น” สไปเซอร์ ให้คำตอบ เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ทรัมป์ เห็นด้วยหรือไม่กับคำพูดของว่าที่รัฐมนตรีต่างประเทศ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ที่ระบุว่า จีนไม่สมควรได้รับอนุญาตให้เข้าไปใช้ประโยชน์จากเกาะเทียมที่พวกเขาสร้างขึ้นในทะเลจีนใต้
“ประเด็นสำคัญก็คือ หมู่เกาะเหล่านั้นอยู่ในน่านน้ำสากล และไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของจีนอย่างสมบูรณ์ใช่หรือไม่ ถ้าเป็นอย่างนั้นเราก็ต้องป้องกันมิให้ดินแดนสากลถูกยึดครองโดยประเทศใดประเทศหนึ่ง”
คำพูดที่ ทิลเลอร์สัน ตอบข้อซักถามของวุฒิสภาเพื่อผ่านกระบวนการรับรอง (confirmation hearing) เมื่อวันที่ 11 ม.ค. สร้างความเดือดดาลต่อปักกิ่ง จนหนังสือพิมพ์โกลบัลไทม์สของจีนถึงกับลงบทบรรณาธิการขู่ว่า สหรัฐฯ ต้องเตรียมตัวทำสงคราม หากคิดจะปิดกั้นไม่ให้จีนเข้าไปยังเกาะเทียมที่พวกเขาสร้างทางวิ่งเครื่องบิน และติดตั้งระบบอาวุธเอาไว้เรียบร้อยแล้ว
คณะกรรมการวุฒิสภาได้ถาม ทิลเลอร์สัน ว่า เขาสนับสนุนให้สหรัฐฯ แสดงจุดยืนแข็งกร้าวกับจีนมากขึ้นหรือไม่ ซึ่ง ทิลเลอร์สัน ก็ตอบว่า “เราต้องส่งสัญญาณที่ชัดเจนไปยังจีนว่า 1) การถมทะเลสร้างเกาะเทียมต้องยุติลง และ 2) พวกคุณจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปยังหมู่เกาะเหล่านั้น”
อดีตซีอีโอบริษัทน้ำมัน เอ็กซ์ซอน โมบิล ไม่ได้ระบุว่าสหรัฐฯ จะขัดขวางไม่ให้จีนเข้าไปใช้ประโยชน์จากเกาะเทียมได้อย่างไร แต่นักวิเคราะห์มองว่า คำพูดของ ทิลเลอร์สัน รวมถึง สไปเซอร์ บ่งบอกว่าสหรัฐฯ อาจใช้ปฏิบัติการทางทหาร หรือแม้กระทั่งส่งเรือเข้าไปปิดกั้นหมู่เกาะ ซึ่งมีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะก่อให้เกิดสงครามระหว่างสองมหาอำนาจนิวเคลียร์
สไปเซอร์ ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า สหรัฐฯ จะใช้มาตรการบีบบังคับจีนเมื่อไหร่ โดยกล่าวแต่เพียงว่า “ผมคิดว่าต่อไปเราคงจะมีข้อมูลมากกว่านี้”
ทิลเลอร์สัน เพิ่งจะผ่านการรับรองจากคณะกรรมการวุฒิสภาด้วยคะแนนเฉียดฉิวเมื่อวานนี้ (23) และคาดว่าคงจะได้มติรับรองจากวุฒิสภาเต็มคณะ เพื่อเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คนใหม่