xs
xsm
sm
md
lg

วิชาใหม่จาก‘มหาวิทยาลัยทรัมป์’: วิธีโกงเลือกตั้ง 101

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: วิลเลียม เดอบุยส์

New From Trump University: Election Rigging 101
By William deBuys
19/01/2017

โดนัลด์ ทรัมป์ พูดเอาไว้ถูกต้อง การเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันคราวนี้มีการวางแผนโกงกันอย่างมโหฬาร เพื่อทำให้เขากลายเป็นฝ่ายได้เปรียบ โดยที่มีการกระทำกันใน 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่ การก่อวินาศกรรมทางไซเบอร์โดยฝ่ายรัสเซีย, การเข้าแทรกแซงในช่วงใกล้ถึงวันเลือกตั้งของผู้อำนวยการเอฟบีไอ, และความพยายามอย่างเป็นระบบของพรรครีพับลิกันที่จะกีดกันขัดขวางไม่ให้พลเมืองซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยออกมาใช้สิทธิลงคะแนนเสียง

โดนัลด์ ทรัมป์ พูดเอาไว้ถูกต้องแม่นยำที่สุด การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯมีการวางแผนโกงกันอย่างมโหฬาร แต่สิ่งที่ทรัมป์ผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงก็คือ ความไม่ชอบมาพากลคราวนี้ไม่ใช่มีความมุ่งหมายที่จะทำให้เขาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ หากแต่ทำให้เขากลายเป็นฝ่ายได้เปรียบ การคบคิดชักใยกันครั้งนี้มีรูปแบบอันใหญ่โตมโหฬารรวม 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่ การก่อวินาศกรรมทางไซเบอร์โดยฝ่ายรัสเซีย, การเข้ามาแทรกแซงของสำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ (เอฟบีไอ), และความพยายามอย่างเป็นระบบของพรรครีพับลิกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมลรัฐที่ผู้ออกเสียงไม่ได้ปักใจเลือกพรรคใดพรรคหนึ่งอย่างชัดเจน หรือที่เรียกกันว่า สวิง สเตท (swing state) ที่จะกีดกันขัดขวางไม่ให้พลเมืองอเมริกันที่เป็นชนส่วนน้อยออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ทั้งหมดเหล่านี้รวมๆ กันแล้ว ก่อให้เกิดผลอย่างเกินพอที่จะหันเหปรับเปลี่ยนผลการเลือกตั้งให้เอนเอียงไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่ทรัมป์ และนำเอาผู้สมัคร (ที่เป็นตัวแทนของพรรคการเมืองใหญ่) ซึ่งมีคุณสมบัติย่ำแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐแห่งนี้ เข้าสู่ทำเนียบขาวได้สำเร็จ

พวกเชียร์ทรัมป์ที่ทำตัวเป็น “เกรียนทางอินเทอร์เน็ต” (internet troll) และตัวทรัมป์เองต่างปฏิเสธไม่ยอมรับเรื่องนี้โดยอ้างว่าเป็นการปล่อยข่าวของพวกที่เชียร์คลินตันซึ่งพ่ายแพ้แล้วแต่ยังคงไม่ยอมรับว่าแพ้ ทว่าสำหรับใครก็ตามซึ่งมีความใส่ใจอย่างจริงจังถึงความสำคัญของการดำเนินการแบบประชาธิปไตยแล้ว การโจมตีซึ่งกระทำต่อกระบวนการทางการเมืองที่เป็นหลักเป็นแกนของประเทศชาติของเราเช่นนี้ ย่อมเท่ากับเป็นการคุกคามต่อการดำรงคงอยู่ของประเทศชาตินั่นเอง ต่อไปนี้ขอให้เรามาพิจารณาแต่ละด้านของการแทรกแซงการเลือกตั้งเหล่านี้กันในรายละเอียด

ใช้การฟิชชิ่ง: อาวุธทีเด็ดแห่งสงครามข้อมูลข่าวสาร

สมมุติว่าในตอนเช้าวันหนึ่ง คุณได้รับอีเมลจากบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตของคุณ แจ้งให้คุณทราบว่าได้เกิดปัญหารั่วไหลทางด้านความปลอดภัยอย่างหนึ่งขึ้นมา ซึ่งทำให้ข้อมูลของคุณตกอยู่ในอันตราย คุณได้รับคำแนะนำให้เปลี่ยนพาสส์เวิร์ดของคุณเสียใหม่ในทันที เพื่อให้สามารถจัดการแก้ไขตามความเร่งด่วนของสถานการณ์ อีเมลที่แจ้งเตือนฉบับนั้นมีลิงก์ซึ่งต่อไปยังเพจที่คุณสามารถเปลี่ยนพาสส์เวิร์ดใหม่ ด้วยความหงุดหงิดวุ่นวายใจ คุณก็ทำตามที่ได้รับคำแนะนำ พร้อมกับวาดหวังว่าคุณได้ลงมือทำสิ่งต่างๆ อย่างรวดเร็วเพียงพอที่จะป้องกันหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความหายนะ

ขอแสดงความยินดีด้วยครับ: คุณเปลี่ยนพาสส์เวิร์ดใหม่สำเร็จแล้ว เพจดังกล่าวแจ้งให้คุณทราบอย่างนี้ ทว่าขอโทษทีเถอะ ในความเป็นจริงแล้วคุณก็ได้ส่งพาสส์เวิร์ดใหม่ไปให้แก่พวกแฮกเกอร์ ซึ่งเป็นผู้ที่ส่งคำเตือนเรื่องมีปัญหารั่วไหลด้านความปลอดภัยไปให้คุณตั้งแต่ทีแรก เรื่องทั้งหมดเป็นการหลอกลวงกันทั้งสิ้น กโลบายประเภทนี้มีชื่อเรียกกันว่า “ฟิชชิ่ง” (phishing) วิธีการเช่นนี้แหละที่ทำให้บัญชีอีเมลของ จอห์น โพเดสตา (John Podesta) ประธานทีมงานรณรงค์หาเสียงของฮิลลารี คลินตัน ถูกเจาะถูกแฮก พวกผู้ช่วยของเขาเสียรู้และตกเป็นเหยื่อของผู้ประสงค์ร้าย

ยังมีวิธีการอย่างอื่นๆ อีก พวกทำการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต หรือ “ฟิชเชอร์” (phisher) อาจส่งข้อเสนออันกำกวมมีปริศนาจำนวนหลายสิบชิ้นไปถึงพวกลูกจ้างพนักงานขององค์การแห่งหนึ่งภายในระยะเวลาเป็นหลายๆ สัปดาห์ ข้อความแต่ละชิ้นมีลิงก์ไปยังข้อมูลข่าวสารที่เสริมเติมเพิ่มขึ้นมาอีก และในทันทีที่ใครสักคนหนึ่งในชั่วขณะที่รู้สึกเบื่อหน่ายหรือสับสน เกิดไปคลิกลิงก์ดังกล่าวเข้า ไชโย แปลงร่าง แฮกเกอร์เข้าไปข้างในเครื่องคอมพิวเตอร์ของบุคคลคนนั้นได้แล้ว มีเสรีที่จะปล่อยเวิร์มไปทั่วทั้งเครือข่ายซึ่งคอมพิวเตอร์เครื่องนั้นต่อเชื่อมอยู่ นี่ก็คือวีธีการที่พวกแฮกเกอร์สามารถเข้าไปในประดาเครื่องคอมพิวเตอร์ของคณะกรรมการแห่งชาติพรรคเดโมแครต (Democratic National Committee หรือ DNC) และดาวน์โหลดไม่เพียงแค่อีเมลต่างๆ หากแต่ยังพวกเอกสารการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ ตลอดจนข้อมูลข่าวสารปิดลับอย่างอื่นๆ อีกด้วย

มาถึงตอนนี้ไม่มีใครอีกแล้วนอกเหนือจากพวกดื้อรั้นสุดๆ ในกลุ่มที่เชียร์ทรัมป์ ตลอดจนอาจจะรวมถึงตัวทรัมป์เองด้วย (เขาพูดอะไรเยอะแยะมากมายที่ขัดแย้งกันเองเกี่ยวกับเรื่องนี้ จนกระทั่งเป็นการลำบากที่จะบอกว่าจริงๆ แล้วเขามีความเชื่ออย่างไรกันแน่) ซึ่งยังคงปฏิเสธไม่ยอมรับว่าพวกแฮกเกอร์เหล่านี้เป็นคนของรัสเซีย และออกปฏิบัติการภายใต้การชี้นำอย่างเป็นทางการในบางรูปลักษณ์ กระทั่งเป็นไปได้ว่าได้รับการชี้แนะจากผู้ทรงอำนาจระดับสูงในวังเครมลิน รวมไปถึงประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ยิ่งกว่านั้น สิ่งที่ชัดเจนมากก็คือวัสดุต่างๆ ที่ถูกแฮกถูกโจรกรรมไปเหล่านี้ ได้ถูกใช้เพื่อช่วยเหลือทรัมป์และสร้างความเสียหายให้แก่คลินตัน นี่คือข้อสรุปอย่างไร้ข้อกำกวมกังขาในรายงานฉบับหนึ่งของประชาคมข่าวกรองแห่งชาติ(National Intelligence Community) ซึ่งเผยแพร่ออกมาในวันที่ 6 มกราคม โดยเป็นรายงานที่เป็นตัวแทนแห่งข้อสรุปร่วมกันของสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ), เอฟบีไอ, และสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Agency) โดยที่ข้อสรุปร่วมดังกล่าวเน้นย้ำว่า: “เป้าหมายของรัสเซียคือการบ่อนทำลายความศรัทธาของสาธารณชนที่มีต่อกระบวนการทางประชาธิปไตยของสหรัฐฯ, ใส่ร้ายป้ายสี (อดีต) รัฐมนตรี (ต่างประเทศ) คลินตัน, และสร้างความเสียหายแก่เธอโดยทำให้เห็นไปว่าไม่น่าที่จะเลือกเธอ อันเป็นการลดโอกาสความเป็นไปได้แห่งการได้เป็นประธานาธิบดีของเธอ เรายังประเมินต่อไปอีกว่า ปูตินและรัฐบาลรัสเซียนั้นไปไกลถึงขั้นต้องการอย่างชัดเจนให้ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์มีโอกาสเป็นผู้ชนะมากกว่า เรามีความเชื่อมั่นอย่างสูงในการวินิจฉัยเหล่านี้”

การเข้าสอดแทรกเหล่านี้ ไม่ได้อยู่ในรูปลักษณ์ของการแทรกแซงบ่อนทำลายอย่างโจ่งแจ้งใดๆ ทั้งสิ้น มันไม่ได้โจ๋งครึ่มอย่างการเข้าควบคุมในทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้เครื่องจักรอุปกรณ์ออกเสียง (ซึ่งใช้กันอยู่ในหลายๆ เขตเลือกตั้งในสหรัฐฯ) แสดงผลในทางที่ต้องการปรารถนา ตลอดจนการหาทางเปลี่ยนแปลงผลการนับคะแนน ขณะเดียวกันพวกแฮกเกอร์รัสเซียเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้คอมพิวเตอร์บันทึกผลการนับคะแนนเสียใช้การไม่ได้ อย่างที่พวกเขาเคยทำในยูเครนเมื่อปี 2014 ทว่าพวกเขาก็สามารถบรรลุผลด้วยวิธีที่ด้อยกว่านั้นนิดหน่อย ในโลกของเราที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารอันท่วมท้นเฉกเช่นทุกวันนี้ เสียงรัวกลองที่ได้ยินเพียงแผ่วๆ เหมือนเสียงในฉากหลัง ก็สามารถที่จะมีอำนาจฤทธิ์เดชได้พอๆ กับเสียงรัวกลองที่เราได้ยินจะๆ จากกลางเวที ฝ่ายรัสเซียและเหล่าพันธมิตรของพวกเขา โดยที่ในบางส่วนผ่านเว็บไซต์จอมแฉ “วิกิลีกส์” (WikiLeaks) ด้วย ได้นำเอาส่วนเด็ดๆ ที่สุดจากวัสดุที่โจรกรรมมาได้ มาใส่แพกเกจทยอยปล่อยเผยแพร่ออกไปตลอดระยะเวลาหลายเดือนระหว่างฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วง และพวกสื่อมวลชนด้านข่าวก็กลืนกินมันลงไปอย่างสนุกสนาน

ความสกปรกโสโครกต่างๆ ภายในพรรคเดโมแครตที่พวกเขาเผยแพร่ แสดงให้เห็นว่า เด็บบี้ วาสเซอร์มาน ชุลซ์ (Debbie Wasserman Schultz) ประธานของคณะกรรมการแห่งชาติพรรคเดโมแครต ไม่ได้วางตัวเป็นกลางอย่างที่ควรจะเป็น แต่เชียร์ ฮิลลารี คลินตัน ให้เอาชนะ เบอร์นี แซนเดอร์ส สิ่งที่ติดตามมาก็คือ วาสเซอร์มาน ชุลซ์ ยื่นใบลาออก และสาธารณชนก็ถูกปล่อยให้จมอยู่กับสาร (message) ที่ว่า คณะกรรมการแห่งชาติพรรคเดโมแครตนั้นทั้งเชื่อถือไม่ได้และอยู่ในสภาพปั่นป่วนเสียกระบวน –และจริงๆ แล้ว ภายหลังการจากไปของผู้เป็นประธาน ความปั่นป่วนเสียกระบวนย่อมเป็นสิ่งซึ่งต้องเกิดขึ้นตามมา ต่อมาเมื่อมีอีเมลฉบับอื่นๆ ถูกเผยแพร่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโปเดสตาและผู้ร่วมงานจำนวนมาก มีความสงสัยไม่แน่ใจเกี่ยวกับการตัดสินใจต่างๆ ของมิสซิสคลินตัน สาร (message) ซึ่งอ้อยอิ่งอยู่ในความคิดของสาธารณชนก็คือ แม้กระทั่งพวกผู้ช่วยใกล้ชิดที่สุดของเธอก็ยังมีความข้องใจสงสัยเกี่ยวกับตัวเธอ โดยไม่สนใจหรอกว่าในองค์กรหรือการคบหาสมาคมใดๆ ก็ตามที การวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างตรงไปตรงมาเมื่อได้พบเจอะเจอกันนั้นย่อมเป็นสิ่งปกติธรรมดา

สิ่งที่ฝ่ายรัสเซียกระทำนั้นมีมากกว่าแค่การโจรกรรมข้อมูลข่าวสารจากคอมพิวเตอร์ พวกเขายังเที่ยวหว่านโปรยให้เกิดรายงานข่าวผิดๆ ขึ้นมา ทั้งด้วยการบงการรู้เห็นของภาครัฐแดนหมีขาว (ตามรายงานการประเมินของประชาคมข่าวกรองแห่งชาติ) และทั้งที่ปราศจากการบงการรู้เห็นดังกล่าว ข้อสรุปประการหนึ่งของวงการธุรกิจปล่อยข่าวปลอมก็คือ ท่ามกลางการแข่งขันกันอย่างดุเดือดในการหลอกล่อให้ผู้มีเข้ามาคลิกไลค์กันเยอะๆ เพื่อจะได้นำไปอ้างอิงหาโฆษณานั้น มีแต่เว็บไซต์และข้อเขียนซึ่งพุ่งเป้าโน้มน้าวพวกขวาจัดเท่านั้นจึงสามารถทำเงินทำทองได้ การเผยแพร่ข่าวเมคข่าวเท็จเพื่อเชียร์ ฮิลลารี คลินตัน หรือ เบอร์นี แซนเดอร์ส ไม่ได้ให้อะไรตอบแทนกลับมาแก่บัญชีรายรับของพวกแฮกเกอร์อิสระไร้สังกัด ซึ่งกำลังปฏิบัติการอยู่ในแวดวงที่ได้กลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมห้องแถวอย่างใหม่ที่สุดของโลกแห่งผู้พูดภาษารัสเซียไปแล้ว เห็นได้ชัดเจนเลยว่า การทำให้คนเราหยุดคิดอ่านเชิงวิพากษ์วิจารณ์เอาไว้เป็นการชั่วคราว (หรือกระทั่งทำให้หยุดคิดอ่านแบบนี้อย่างสมบูรณ์ไปเลย) นั้น สามารถกระทำได้ง่ายกว่าในหมู่ผู้คนซึ่งประกาศตัวว่าเป็นผู้เกลียดพวกเสรีนิยมและรักทรัมป์

การเป็นคนประเภทที่ถูกหลอกต้มได้ง่ายๆ เช่นนี้ สามารถกลายเป็นอันตรายมากยิ่งกว่าเพียงแค่อันตรายทางการเมืองเท่านั้นด้วยซ้ำ เรื่องนี้มีตัวอย่างให้เห็นอย่างชัดเจนในเดือนธันวาคม 2016 เมื่อ เอดการ์ เวลช์ (Edgar Welch) แห่งเมืองซาลิสเบอรี (Salisbury) มลรัฐนอร์ทแคโรไลนา บุกพรวดพราดเข้าไปใน “โคเมตปิงปอง” (Comet Ping Pong) ร้านพิซซ่าซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนคอนเนตทิคัต แอวานิว (Connecticut Avenue) ในกรุงวอชิงตัน และลูกค้าส่วนใหญ่เป็นพ่อแม่และลูกๆ เวลช์ถือทั้งปืนพกและปืนไรเฟิลสังหารเข้าไปร้านดังกล่าวนี้และยิงไปหลายนัด เขาอธิบายในเวลาต่อมาว่าเขาตั้งใจที่จะ “ทำการสอบสวนด้วยตนเอง” เกี่ยวกับรายงานข่าวที่มีการแชร์กันไปแชร์กันมาทั่วทั้งอินเทอร์เน็ตโดยยืนยันว่า ฮิลลารี คลินตัน และ จอห์น โปเดสตา เป็นหัวโจกแก๊งลักพาเด็กและใช้ร้านดังกล่าวเป็นที่ทำการ โชคยังดีที่เหตุการณ์นี้ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บอะไร

ข่าวเท็จที่หลอกต้มคนที่ไม่ค่อยรู้เหนือรู้ใต้อย่าง เอดการ์ เวลช์ ข่าวนี้ เริ่มต้นปรากฏขึ้นในอินเทอร์เน็ตครั้งแรกตอนปลายเดือนตุลาคม ก่อนวันเลือกตั้งไม่นานนัก และแพร่หลายไปบนแพลตฟอร์มสื่อสังคมหลายสื่อ ทั้ง ทวิตเตอร์, เรดดิต, เฟซบุ๊ก, และอื่นๆ แล้วก็มียูสเซอร์คลิกเข้าไปดูจากนั้นก็ส่งต่อกันไปเรื่อยๆ นับเป็นล้านๆ ครั้ง ในหมู่ผู้ที่กระตือรือร้นในการรีทวิตข้อความไร้สาระประเภทนี้ (ไม่ใช่เฉพาะเรื่องร้านโคเมตปิงปองเท่านั้น) ก็คือ พลโท (เกษียณอายุ) ไมเคิล ฟลินน์ (Michael Flynn) ผู้ซึ่งทรัมป์แต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของเขา อันเป็นตำแหน่งซึ่งในอดีตที่ผ่านมามีข้อเรียกร้องว่าผู้เข้ามานั่งเก้าอี้ตัวนี้สมควรที่จะมีความตรงไปตรงมาสักเล็กๆ น้อยๆ ถ้าไม่ถึงขนาดเรียกร้องว่าต้องมีความซื่อสัตย์ (อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานชัดเจนว่าบุตรชายของฟลินน์ เป็นผู้ที่โปรโมตข่าวปลอมเรื่องร้านโคเมตให้แพร่หลายกว้างขวางไปในสื่อสังคม)

มันก็เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไปในอินเทอร์เน็ตในเวลานี้ อาวุธทีเด็ดของการกล่าวจริงครึ่งหนึ่งเท็จครึ่งหนึ่ง กำลังลบเลือนความเหนือล้ำกว่าของข่าวจริง ลงท้ายแล้ว ข่าวเท็จที่ได้รับความเชื่อถือสืบเนื่องจากความเกียจคร้าน ขาดการประเมินหาเหตุหาผล ก็ถูกแปลงให้กลายเป็นข้อความสั้น หรือ มีม (meme) นานาชนิด ที่ถูกเผยแพร่ต่อๆ ไปอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็น ฮิลลารีคือจอมขี้โกง, ผู้อพยพคืออาชญากร, มุสลิมคือผู้ก่อการร้าย ภายในโลกดังกล่าวนี้ การมุสาไร้ความสัตย์อย่างเรื้อรังของทรัมป์กลายเป็นสิ่งที่มองกันไม่เห็น นี่แหละคือ การสร้างแบรนด์ในทางการเมือง, การโฆษณา, และการนิยามโปรดักต์ ในยุคศตวรรษที่ 21 มันเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่พวกนักโฆษณาประชาสัมพันธ์มือฉมังเรียกกันว่า “การยึดเรื่องเล่าเอาไว้ให้ได้” (seizing the narrative) ยิ่งคุณยึดเรื่องเล่าเอาไว้ให้อยู่ในฝ่ายของคุณได้มากเท่าไร ก็ทำให้พวกปรปักษ์ของคุณประสบความยากลำบากในการเล่าเรื่องของพวกเขาเองมากขึ้นเท่านั้น ความจริงกลายเป็นสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เลย

การปล่อยข่าวปลอมของพวกรัสเซีย, การโจรกรรมอีเมล, และการปล่อยให้เอกสารต่างๆ ไหลออกมาสู่ภายนอก สิ่งเหล่านี้ไล่งับการรณรงค์หาเสียงของพรรคเดแครตชนิดกัดไม่ปล่อย สิ่งเหล่านี้เหมือนกับพวกแมลงบินตัวจิ๋วที่ทั้งกัดเจ็บ และคอยส่งเสียงหึ่งๆ ไม่หยุดไม่ว่าคลินตันจะไปที่ไหน สิ่งเหล่านี้หันเหความสนใจของสื่อและสาธารณชนให้ออกไปจากบรรดาบาปที่จริงจังยิ่งกว่านักหนาของทรัมป์ และกลายเป็นแรงหนุนเสริมให้แก่ประดามีมซึ่งเขาและตัวแทนของเขาตะโกนป่าวร้องออกมาในทุกๆ โอกาส สิ่งเหล่านี้เป็นเสมือนวิธีฆ่าให้ตายด้วยการตัดเฉือนซ้ำไปซ้ำมาเป็นพันๆ ครั้ง นี่แหละคือสิ่งที่เป็นภูมิหลัง จากนั้นแล้ว เจมส์ โคมีย์ (James Comey) ก็ก้าวเข้ามาบริเวณกลางเวที

นี่คือการแตกแถว

ในวันที่ 28 ตุลาคม เพียง 11 วันก่อนหน้าวันเลือกตั้ง โดยที่มีการดำเนินการให้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าแล้วด้วยซ้ำไปในหลายๆ รัฐ โคมีย์ได้ส่งจดหมายฉบับหนึ่งของพวกผู้นำรัฐสภา ระบุว่า “สืบเนื่องจากคดีที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันคดีหนึ่ง เอฟบีไอจึงเพิ่งทราบว่ามีอีเมลอยู่จำนวนหนึ่งซึ่งดูเหมือนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการสอบสวน” เรื่องที่ฮิลลารี คลินตัน ใช้เซิร์ฟเวอร์ส่วนตัวในการจัดการกับอีเมลช่วงที่เธอเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ช่างเป็นความหายนะเสียจริงๆ ที่โคมีย์บอกว่าอีเมลซึ่งพบใหม่เหล่านี้อยู่ในคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งซึ่งอดีต ส.ส.แอนโธนี ไวเนอร์ (Anthony Weiner) ผู้ตกเป็นข่าวฉาวโฉ่อยู่แล้ว ใช้ร่วมกันกับ ฮูมา อาเบดิน (Huma Abedin) ภรรยาของเขาที่เป็นผู้ช่วยของคลินตัน ในเวลานั้น โคมีย์ไม่ได้มีหมายค้นสำหรับตรวจสอบอีเมลเหล่านี้ หรือมีความคิดใดๆ ว่าอีเมลพวกนี้มีเนื้อหาเจาะจงอย่างไรบ้าง การออกจดหมายของเขาคราวนี้นับว่าเป็นการล่วงละเมิดกระบวนวิธีปฏิบัติที่ใช้กันมานานของกระทรวงยุติธรรมซึ่งเอฟบีไอสังกัดอยู่ รวมทั้งขัดแย้งกับคำแนะนำโดยตรงจากรัฐมนตรียุติธรรม ลอเรตตา ลินช์ (Loretta Lynch)

การเดินหมากแบบแตกแถวของโคมีย์คราวนี้ หากกล่าวกันอย่างให้ความเห็นอกเห็นใจมากที่สุดก็คงพูดได้เพียงว่า เขาเกิดความรู้สึกฟุ้งซ่านเกี่ยวกับความสำนึกในหน้าที่ของการทำให้สาธารณชน และที่พิเศษยิ่งไปกว่านั้นก็คือ บรรดาสมาชิกรัฐสภาสังกัดพรรครีพับลิกัน ได้รับทราบเกี่ยวกับพัฒนาการต่างๆ ของการสอบสวนที่ตัวเขาเองได้ประกาศไปเมื่อเกือบ 4 เดือนก่อนหน้านั้นว่ามีความกระจ่างจนปิดคดีได้แล้ว สำหรับการตีความในแบบดำมืดกว่านั้นก็คือ เขาทิ้งระเบิดลูกนี้ของเขาด้วยความตั้งใจที่จะช่วยเหลือการรณรงค์หาเสียงของทรัมป์ ซึ่งถ้าหากเป็นจริงตามนี้ ก็เท่ากับว่าเขากระทำความผิดละเมิด “รัฐบัญญัติแฮตช์” (Hatch Act) และทำให้เขามีคุณสมบัติที่จะได้พำนักกันนานๆ ในสถานที่ซึ่งคลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่เขาเคยกล่าวโทษฟ้องร้องมา เราอาจจะไม่มีวันทราบถึงแรงจูงใจเต็มๆ ของเขาเลย ทว่ามีข่าวลือว่าเขาจะนำเสนอสิ่งที่มีในลักษณะเป็นคำแถลงในบางรูปแบบภายหลังพิธีสาบานตัวเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์

หากตัดเรื่องแรงจูงใจออกไปก่อน สิ่งที่บังเกิดขึ้นก็คือ จดหมายฉบับนี้ของโคมีย์กลายเป็นระเบิดที่สำแดงฤทธิ์เดชสะท้านสะเทือนไปทั่วทั้งภูมิทัศน์การเลือกตั้งในระยะท้ายๆ ก่อนถึงวันลงคะแนน สื่อมวลชนต่างเสนอข่าวเรื่องนี้กันสุดเหยียดอย่างที่คาดหมายกันได้อยู่แล้ว ตัวทรัมป์เองก็เช่นเดียวกัน เขาประกาศด้วยภาษาถ้อยคำอึกทึกใหญ่โตอย่างเคยๆ ว่า “เรื่องนี้ใหญ่กว่าคดีวอเตอร์เกตอีก” และแล้วเครื่องปั่นข่าวก็เดินหน้าต่อไปจากตรงนั้น คะแนนของคลินตันในผลโพลสำนักต่างๆ ตกฮวบ ต่อมาในวันที่ 5 พฤศจิกายน โคมีย์ได้ออกจดหมายตามมาอีกฉบับหนึ่ง ในนั้นเขายอมรับว่า เอ้อ ครับ ขุมทรัพย์อีเมลพวกนั้นไม่ได้เพิ่มอะไรใหม่เลยให้แก่การสอบสวนที่หยุดพักไปก่อนหน้านี้ การยอมรับในชั่วโมงท้ายๆ เช่นนี้แทบไม่ได้ช่วยซ่อมแซมความเสียหายที่บังเกิดขึ้นกับคลินตันแล้ว และบางทีในทางเป็นจริงอาจจะมีแต่เพิ่มความเจ็บปวดให้ลึกลงไปอีกเท่านั้น ด้วยการทำให้เรื่องนี้ยังคงตกเป็นข่าว และยังคงตอกย้ำความระแวงสงสัยที่ผู้ออกเสียงจำนวนมากมีความรู้สึกต่อเธอ

เนต ซิลเวอร์ (Nate Silver) กล่าวไว้ที่ ไฟฟ์เธอร์ตี้เอต (FiveThirtyEight) โดยชี้ว่าความหวือหวาของเรื่องนี้อาจทำให้คลินตันสูญเสียคะแนนในผู้ออกเสียงไปได้ถึง 3% ทีเดียว และคำนวณว่าหลังจากถูกลูกระเบิดของโคมีย์บอมบ์ใส่แล้ว อัตราความน่าจะเป็นที่เธอจะชนะได้เป็นประธานาธิบดีก็ตกวูบลง 16% เขาเสนอด้วยว่าจดหมายของโคมีย์ยังอาจมีผลในทางส่งอิทธิพลต่อการแข่งขันเลือกตั้งอย่างอื่นๆ ซึ่งจัดขึ้นพร้อมกับการลงคะแนนเลือกประธานาธิบดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการต่อสู้อันสำคัญมากเพื่อเข้าควบคุมวุฒิสภา ทางด้านสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomburg) รายงานตัวเลขที่น่าตื่นเต้นยิ่งกว่านั้น โดยพบว่าคะแนนที่คลินตันนำอยู่ 12% ได้ลดวูบลงมาเหลือเพียงตัวเลขหลักเดียว ทำให้การแข่งขันอยู่ในสภาพที่โดยสาระแล้วทั้งคู่เข้าสู่เส้นชัยพร้อมๆ กัน

ฌอน แมคเอลวี (Sean McElwee) และเพื่อนร่วมงานของเขาที่ “ว็อกซ์” (Vox) ได้สืบค้นเจาะลึกถึงผลของ “โคมีย์ เอฟเฟกต์” (Comey Effect) และพบว่า การออกมาของผู้อำนวยการเอฟบีไอผู้นี้ มีความเกี่ยวข้องกันโดยตรงกับคะแนนที่ต่ำลงอย่างแรงของคลินตันทั้งในโพลระดับทั่วประเทศและโพลระดับมลรัฐ และอาจจะมีผลต่อการที่ทรัมป์ได้เสียงพุ่งพรวดขึ้นมา โดยเฉพาะในหมู่ผู้คนที่เรียกกันว่า “พวกตัดสินใจช้า” ซึ่งหมายถึงผู้คนที่ตัดสินใจว่าจะเลือกใครต่อเมื่อถึงเวลาที่พวกเขากำลังจะไปเลือกตั้งแล้ว ยิ่งกว่านั้น การพุ่งพรวดดังกล่าวนี้น่าที่จะได้รับอิทธิพลอย่างมากจากภาวะ “พีค” อย่างน่าตื่นตะลึงในการรายงานข่าวเชิงลบเกี่ยวกับคลินตัน โดยรวมศูนย์อยู่ที่อีเมลของเธอ ทั้งนี้ในสัปดาห์สุดท้ายของการรณรงค์หาเสียง ปรากฏว่าในการเสนอข่าวทั้งหมดเกี่ยวกับคลินตันนั้น มีถึง 37% เป็นข่าวซึ่งเกี่ยวข้องกับ “เรื่องอื้อฉาว” สูงลิ่วกว่าที่เคยเป็นมาในระยะหลายๆ เดือนก่อนหน้านั้น

สิ่งเหล่านี้เป็นตัวเลขสถิติที่มีอำนาจมาก ในการเลือกตั้งคราวนี้ ผู้ที่ออกไปใช้สิทธิเลือกผู้สมัครที่ได้คะแนนมากที่สุด 2 รายนี้ มีจำนวนเกือบๆ 129 ล้านคน ดังนั้น 3%จึงเท่ากับเสียง 3.87 ล้านเสียงทีเดียว ยิ่งเมื่อเอาตัวเลขนี้บวกเข้ากับ 2.86 ล้านเสียงซึ่งคลินตันแซงหน้าทรัมป์ในคะแนนป็อปปูลาร์โหวต (popular vote) ด้วยแล้ว คุณก็จะได้ส่วนต่างของชัยชนะซึ่งสูงกว่าคะแนนตอนที่โอบามามีชัยเหนือรอมนีย์เมื่อปี 2012 ถึงกว่า 1.5 ล้านเสียง แล้วคลินตันยังจะต้องได้ชัยชนะอย่างใหญ่โตในเรื่องคะแนนเสียงคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) อีกด้วย ผู้คนจะต้องพูดกันถึงชัยชนะแบบถล่มทลายทีเดียว

ในความเป็นจริงที่ปรากฏออกมา การที่ทรัมป์มีชัยในเรื่องคะแนนเสียงคณะผู้เลือกตั้งนั้น เป็นสิ่งที่ตัดสินกันด้วยเสียงโหวตรวมแล้วน้อยกว่า 100,000 เสียงในประดารัฐ สวิง สเตท อย่าง เพนซิลเวเนีย, มิชิแกน, และวิสคอนซิน คุณสามารถที่จะขบคิดพิจารณาตัวเลขเหล่านี้ในหนทางต่างๆ กันเป็นจำนวนมาก แต่ถ้าจดหมายของโคมีย์เป็นตัวที่ทำให้ทรัมป์ได้เสียงโหวตเพียงแค่ 2% ในรัฐเหล่านี้แล้ว นั่นย่อมหมายความว่าถ้าไม่มีจดหมายดังกล่าว คลินตันจะต้องเป็นผู้มีชัยในทั้ง 3 มลรัฐนี้ และก็ชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีด้วย

อันที่จริงแล้วการเลือกตั้งมักเกิดเรื่องบังเอิญขึ้นมาเสนอ มีเรื่องราวแปลกๆ ประหลาดๆ เกิดขึ้นอยู่เรื่อย เป็นต้นว่า ในปี 1960 ริชาร์ด นิกสัน ซึ่งตอนนั้นเป็นรองประธานาธิบดี และเป็นผู้สมัครของพรรครีพับลิกัน ทำเข่าของตัวเองกระแทกเข้ากับประตูรถ ในเวลาไม่กี่นาทีก่อนที่จะมีการโต้วาทีถ่ายทอดสดทางทีวีครั้งแรกระหว่างเขากับ จอห์น เอฟ. เคนเนดี ผู้สมัครของพรรคเดโมแครต เขาเพิ่งผ่านการผ่าตัดเข่าข้างนั้นมาเพื่อต่อสู้กับการติดเชื้อแบคทีเรีย และความเจ็บปวดจากอาการบวมของการกระแทก ส่งผลกลายเป็นตัวบั่นทอนให้ผลงานการโต้วาทีของเขาออกมาไม่ดีเท่าที่ควร (นักวิเคราะห์การเมืองพูดกันมากว่า การที่เขาทำได้แย่กว่าในการโต้วาทีคราวนั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นิกสันพ่ายแพ้ต่อเคนเนดี –ผู้แปล)

มีสุภาษิตคำพังเพยเก่าในภาษาอังกฤษบทหนึ่งบอกว่า เพราะตะปูตัวหนึ่งของเกือกม้าหลุดไป จึงทำให้เกือกม้าหลุด เพราะเกือกม้าหลุดไป จึงทำให้เสียม้า จากนั้นก็ทำให้เสียคนขี่ สร้างความเสียหายต่อๆ ไปเรื่อยๆ และมากขึ้นๆ เรื่อยๆ สรุปก็คือความสูญเสียที่ดูเล็กน้อย ทำให้สูญเสียสิ่งที่ใหญ่ขึ้นๆ ต่อไปเรื่อยๆ ทว่าการที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงคนหนึ่งมีพฤติการณ์เข้าแทรกแซงประเด็นปัญหาที่เป็นเรื่องร้อนแรงทางการเมืองอย่างชัดเจนที่สุด ในช่วงจังหวะเวลาที่กำลังถึงขีดสูงสุดของการรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เรื่องอย่างนี้ไม่เคยมีแบบอย่างมาก่อนในประวัติศาสตร์อเมริกัน แม้เมื่อเปรียบเทียบกับความบังเอิญต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาในการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ เรื่องนี้ก็มีผลกระทบกระเทือนเกินเลยไปไกลกว่ากันมาก

การกดขี่ผู้มีสิทธิลงคะแนน

เมื่อราวปีหนึ่งหรือ 2 ปีที่แล้ว คุณเคยได้รับไปรษณียบัตรฉบับหนึ่งจากทางเจ้าหน้าที่รับผิดชอบการเลือกตั้ง ซึ่งมีเนื้อหาขอให้คุณยืนยันที่อยู่ในปัจจุบันของคุณบ้างหรือเปล่า? ผมเองเคยได้รับ ไปรษณียบัตรเหล่านี้มีต้นกำเนิดมาจากความเคลื่อนไหวที่ใช้ชื่อว่า “โอเปอเรชั่น ครอสส์เช็ค” (Operation Crosscheck ยุทธการสอบทาน) เรื่องนี้คนที่เป็นเจ้าของไอเดีย คือ คริส โคบาค (Kris Kobach) สมาชิกพรรครีพับลิกันผู้มีตำแหน่งเป็นเลขาธิการแห่งรัฐ (secretary of state) ของรัฐแคนซัส ทั้งนี้ในยุทธการดังกล่าวมี 27 มลรัฐเข้าร่วมมือประสานงานกันเพื่อเปิดโปงพลเมืองซึ่งไปลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งซ้ำซ้อนในหลายๆ รัฐ เรื่องเช่นนี้เป็นเรื่องธรรมดามากที่เกิดขึ้นมาได้ เพราะมีน้อยคนนักที่จะใส่ใจไปแจ้งยกเลิกการลงทะเบียนในที่เก่า เมื่อพวกเขาย้ายจากมลรัฐหนึ่งไปยังอีกรัฐหนึ่ง ดังนั้น การที่จะเปิดยุทธการครอสส์เช็ค ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา ๆ ไม่ร้ายแรงอะไรใช่ไหม?

แต่มันไม่ใช่อย่างนั้นหรอก อย่างที่ เกร็ก พาลาสต์ (Greg Palast ) พูดรายละเอียดเอาไว้ในนิตยสารโรลลิ่งสโตน (Rolling Stone ) ฉบับเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว การกำจัดกวาดล้างรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงคราวนี้มีความบกพร่องผิดพลาดในเชิงระเบียบวิธีในการดำเนินการ และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือพวกที่ถูกตัดสิทธิไปนั้นจำนวนมากเลยเป็นผู้ออกเสียงซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย

บ่อยครั้งทีเดียวที่การนำเอารายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งของหลายๆ มลรัฐมาสอบทานกันนั้น ผลที่ออกคือชื่อต้น กับ ชื่อท้าย (นามสกุล) เหมือนกัน แต่ละเลยไม่สนใจเทียบชื่อกลาง ตลอดจนคำต่อท้ายทั้งหลาย อย่างเช่น จูเนียร์ หรือ ซีเนียร์ ผลลัพธ์ก็คือ นามสกุลที่มีผู้ใช้ซ้ำกันมากๆ เป็นต้นว่า โจนส์, วอชิงตัน, การ์เซีย, อะไรทำนองนี้ ปรากฏชื่อต้นและนามสกุลที่ซ้ำ ๆ กันนั้นมีอยู่เป็นจำนวนมากมาย เจตนาความตั้งใจของโครงการนี้อยู่ที่เรื่องการป้องกันไม่ให้เกิดการใช้สิทธิโหวตหลายครั้ง อันเป็นรูปแบบของการฉ้อโกงของทางฝ่ายผู้ออกเสียง ซึ่งพวกฝ่ายขวามักชอบป่าวร้องกล่าวหาว่ามีประพฤติปฏิบัติกันอย่างกว้างขวาง ทว่ากลับไม่มีใครเลยที่ค้นพบหลักฐานหนักแน่นเป็นเรื่องเป็นราว (อย่างที่นิวยอร์กไทมส์รายงานเอาไว้ในช่วงการเลือกตั้งปี 2016 ว่า ไม่พบหลักฐานสำคัญใดๆ เลยในเรื่องผู้ออกเสียงทุจริตฉ้อโกง หรืออะไรทำนองนั้น) อย่างไรก็ดี ประเด็นปัญหาว่ามีการหลอกลวงแบบคนเดียวใช้สิทธิหลายหนนี้ ก็ถูกนำมาใช้เป็นม่านควันสำหรับการดำเนินการเพื่อจำกัดสิทธิการออกเสียง ซึ่งเป็นการตัดสิทธิของคนยากคนจน, นักศึกษา, และชนกลุ่มน้อยทั้งหลาย ที่มักโหวตให้พรรคเดโมแครต ไม่ให้มีโอกาสได้ใช้สิทธิของพวกเขา

อย่างที่ พาลาสต์ ชี้เอาไว้ให้เห็น ในบรรดานามสกุลที่มีผู้ใช้กันอย่างมากมายที่สุด 100 นามสกุลนั้น มีถึง 85 นามสกุลทีเดียวซึ่งเป็นนามสกุลของประชาชนคนยากคนจนจำนวนมากมาย เขาชี้ต่อไปว่า “ถ้านามสกุลของคุณคือวอชิงตัน (Washington) มันก็มีโอกาสอยู่ 89% ที่คุณจะเป็นคนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกา ถ้านามสกุลของคุณคือเฮอร์นานเดซ (Hernandez) มีโอกาสอยู่ 94% ที่คุณจะเป็นคนฮิสปานิก ถ้านามสกุลของคุณคือคิม (Kim) ก็มีโอกาสอยู่ 95% ที่คุณจะเป็นคนเชื้อสายเอเชีย”

โอเปอเรชั่น ครอสส์เช็ค ได้ส่งรายชื่อที่มีซ้ำกันจำนวน 7.2 ล้านรายชื่อ ไปให้ 28 รัฐซึ่งเข้าร่วมตั้งแต่ตอนแรก (ในเวลาต่อมา มลรัฐออริกอนได้ถอนตัวออกไป เมื่อพวกเจ้าหน้าที่ของรัฐตระหนักรับรู้ถึงขนาดขอบเขตความบกพร่องผิดพลาดของยุทธการคราวนี้) จากนั้นมลรัฐเหล่านี้ซึ่งเกือบทั้งหมดมีชาวพรรครีพับลิกันเป็นเลขาธิการแห่งรัฐ ก็จะจัดการกับเรื่องนี้ไปตามที่พวกเขาเห็นสมควร ทำให้มีการตัดผู้ออกเสียงราวๆ 1.1 ล้านคนออกจากรายชื่อของพวกเขา ตัวอย่างเช่น รัฐเวอร์จิเนียได้ตัดชื่อกว่า 41,000 ชื่อออกจากทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยระบุว่าเป็นพวกที่ “ไม่มีความเคลื่อนไหว” (inactive) ไม่นานนักก่อนการเลือกตั้ง ในหลายๆ กรณี ทางผู้มีอำนาจของมลรัฐจะจัดส่งไปรษณียบัตรที่เขียนข้อความกำกวมด้วยตัวอักษรเล็กๆ ไปถึงผู้ออกเสียง แบบเดียวกับฉบับที่ตัวผมได้รับมา

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า นักศึกษาและผู้ออกเสียงฐานะยากจนจำนวนมาก ซึ่งโยกย้ายจากอพาร์ตเมนต์หนึ่งไปยังอีกอพาร์ตเมนต์หนึ่งอยู่บ่อยครั้ง ไม่เคยที่จะได้รับไปรษณียบัตรของพวกเขา และเมื่อพวกเขาไม่ได้ตอบกลับไป ชื่อของพวกเขาในทะเบียนการเลือกตั้งก็ถูกยกเลิก ครอสส์เช็คให้รายชื่อที่ถูกกำจัดออกไปว่ามี 449,922 ชื่อ จากการกระทำเช่นนี้ มีผู้คนเหล่านี้เป็นจำนวนเท่าใดที่ถูกตัดสิทธิในการโหวตไปเลย? มีจำนวนเท่าใดที่ไปออกเสียงเลือกตั้งทว่าไม่สามารถใช้สิทธิได้? เรื่องเหล่านี้ไม่มีใครทราบชัดเจน ทว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเรียกร้องให้ต้องทำการสอบสวนอย่างยืนยาวในเชิงรุก

ยังมีอย่างน้อย 14 มลรัฐซึ่งเพิ่มความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้นให้แก่ปัญหาต่างๆ อันเกิดจากโอเปอเรชั่น ครอสส์เช็ค เป็นต้นว่า คิดค้นกำหนดอุปสรรคความยุ่งยากอย่างใหม่ๆ เพิ่มเติมต่อผู้ออกเสียง เช่น ยกเลิกไม่ให้มีการใช้สิทธิออกเสียงล่วงหน้าในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์, การลดชั่วโมงเปิดให้โหวตของหน่วยเลือกตั้ง, และการกำหนดให้ใช้เอกสารประจำตัวเฉพาะที่มีภาพถ่ายติดอยู่เท่านั้น ในวิสคอนซิน ปรากฏว่ากฎหมายใหม่ว่าด้วยเอกสารประจำตัวของผู้ออกเสียง ผ่านออกมาบังคับใช้ได้พร้อมกับคำมั่นสัญญาที่ว่าแผนกยานยนต์ของมลรัฐจะออกเอกสารประจำตัวที่เหมาะสมให้แก่ผู้ที่ไม่ได้ขับขี่ยานยนต์ด้วยภายในเวลา 6 วันทำการนับตั้งแต่ยื่นคำร้อง ทว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏออกมาจริงๆ นั้น กระบวนการนี้มักใช้เวลาระหว่าง 6 ถึง 8 สัปดาห์ แม้กระทั่งคำสั่งของศาลสหรัฐฯแห่งหนึ่ง (ซึ่งออกมาหลังพบว่ามีผู้ออกเสียงสูงถึง 300,000 คนทีเดียวน่าจะได้รับความกระทบกระเทือนจากเรื่องนี้) ก็ยังลมเหลวไม่อาจเร่งรัดระบบราชการที่อึดอาดของวิสคอนซินได้

ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน จำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในวิสคอนซินซึ่งทรัมป์ชนะไปโดยนำคลินตัน 22,748 เสียงนั้น อยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี ตัวเลขนี้ลดลงไปถึง 13% ทีเดียวในเมืองมิลวอกี (Milwaukee) สถานที่ซึ่งผู้ออกเสียงชาวผิวดำของรัฐแห่งนี้พำนักอาศัยกันมากที่สุด ไม่ต้องสงสัยเลยว่าปัญหาส่วนหนึ่งย่อมอยู่ที่ว่าผู้สมัครคนสำคัญๆ ไม่ได้เป็นที่นิยมชื่นชอบ ทว่าการหยุดยั้งไม่ให้ผู้ออกเสียงได้ไปใช้สิทธิก็มีบทบาทอันสำคัญด้วย อย่างที่ อารี เบอร์แมน (Ari Berman) แห่ง เดอะ เนชั่น (The Nation) ชี้เอาไว้ว่า การดำเนินการอย่างแข็งขันเพื่อบั่นทอนสร้างความท้อใจในหมู่พลเมืองที่เป็นคนยากจนและชนกลุ่มน้อยไม่ให้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งนั้น (ไม่เฉพาะที่วิสคอนซิน หากแต่ยังปรากฏอยู่ในรัฐเวอร์จิเนีย, นอร์ทแคโรไลนา, และรัฐอื่นๆ อีกหลายแห่ง) ไมต้องสงสัยเลยว่าคือเรื่องราวที่ยังมีการรายงานข่าวกันน้อยเกินไป ประจำปี 2016

วิลเลียม เดอบุยส์ เป็นนักเขียนและนักอนุรักษ์ธรรมชาติ เขาเขียนหนังสือมาแล้ว 7 เล่มซึ่งมีเนื้อหาตั้งแต่เป็นบันทึกความทรงจำและชีวประวัติ ไปจนถึงประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อมและการศึกษาเกี่ยวกับสถานที่ หนังสือเล่มล่าสุดของเขา คือ The Last Unicorn: A Search for One of Earth’s Rarest Creatures ซึ่งได้รับยกย่องจาก คริสเตียน ไซแอนซ์ มอนิเตอร์ ว่าเป็น 1 ใน 10 หนังสือสารคดีที่สุดของปี 2015 เขาเป็นนักเขียนประจำคนหนึ่งของ ทอมดิสแพตซ์

(ข้อเขียนนี้เก็บความจากต้นฉบับภาษาอังกฤษใน ทอมดิสแพตช์ http://www.tomdispatch.com/)


กำลังโหลดความคิดเห็น