xs
xsm
sm
md
lg

จีดีพีอาเซียนจะพุ่งแซงอังกฤษปีนี้ หลัง‘เบร็กซิต’ทำเงินปอนด์ดิ่งหนัก

เผยแพร่:   โดย: โจฮัน ไนลันเดอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atmes.com)

Asean GDP all set to surpass the UK this year after Brexit
By Johan Nylander
10/01/2017

การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งในภูมิภาคอาเซียนชี้บ่งชัดเจนว่าระบบเศรษฐกิจของกลุ่มภูมิภาคแห่งนี้จะขยายใหญ่ขึ้นแซงหน้าอังกฤษได้ภายในปี 2017 โดยมีการพยากรณ์กันอย่างกว้างขวางว่าขณะที่จีดีพีของอาเซียนในปีนี้ จะเติบใหญ่ขยายตัวด้วยอัตราที่คึกคักมากขึ้นกว่าเมื่อปีก่อนหน้า แต่จีดีพีของอังกฤษจะขยายตัวด้วยอัตราที่อ่อนลง เพราะได้รับผลกระทบร้ายกาจจากการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป ที่เรียกกันว่า เบร็กซิต

การอ่อนตัวรุนแรงของค่าเงินปอนด์สเตอร์ริ่งซึ่งตกอยู่ในทิศทางขาลงและดำดิ่งต่อเนื่อง นับจากที่การโหวตเบร็กซิตมีผลออกมาว่าชาวอังกฤษออกเสียงลงประชามติให้ประเทศถอนตัวจากสหภาพยุโรป (อียู) นั้น จะนำไปสู่สภาพการณ์ใหม่ คือ ระบบเศรษฐกิจของกลุ่มอาเซียนอาจพุ่งแซงหน้าอังกฤษได้ภายในปีปัจจุบัน

คุณราจิฟ บิสวาส ประธานคณะนักเศรษฐศาสตร์ด้านเอเชียแปซิฟิกประจำหน่วยงาน IHS Global Insight เขียนในคำแถลงเมื่อวันจันทร์ (16) ว่ากลุ่มสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ได้รับการพยากรณ์ว่าจะมีอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ 4.6% ในปี 2017 โดยจะเป็นหนึ่งในระบบเศรษฐกิจโลกที่มีอัตราเติบโตสูงสุดของโลก

ทั้งนี้ กลุ่มสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 10 ชาติ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมาร์ ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม โดยมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งนานัปการ อาทิ การรวมตัวกันในทางเศรษฐกิจในรูปของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC

จีดีพีรวมของ 10 ชาติสมาชิกอาเซียนได้รับการคาดหมายว่าจะไต่ระดับขึ้นแตะระดับ 2.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกาในปี 2017 จากที่เคยทำสถิติไว้ 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกาในปี 2016 ซึ่งหากเป็นจริงตามนั้น ขนาดของจีดีพีรวมแห่งอาเซียนจะใหญ่กว่าระบบเศรษฐกิจของอังกฤษ ฝรั่งเศส และอินเดีย อีกทั้งจะมีขนาดเท่ากับสองเท่าของระบบเศรษฐกิจออสเตรเลีย ข้อมูลเหล่านี้ปรากฏอยู่ในข้อเขียนของคุณราจิฟ ซึ่งระบุไว้ว่าระบบเศรษฐกิจของอังกฤษถูกพยากรณ์ว่าจะหดตัวลงเหลือ 2.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกาในปีนี้ จากสถิติเดิมที่เคยทำไว้ ณ ระดับ 2.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกาในปี 2016

ในการนี้ ประธานคณะนักเศรษฐศาสตร์ด้านเอเชียแปซิฟิกประจำหน่วยงาน IHS Global Insight เขียนด้วยว่าถ้าไม่มีปัจจัยเรื่องค่าเงินปอนด์ตกต่ำย่ำแย่หนักเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา อังกฤษจะยังสามารถรักษาสถานภาพความเป็นระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่โตกว่าอาเซียนไปได้เรื่อยๆ

ทั้งนี้ เงินปอนด์อ่อนค่าหนักเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์มาโดยตลอดนับจากที่มีการโหวตกันในอังกฤษเมื่อเดือนมิถุนายน 2016 ให้อังกฤษละออกจากสหภาพยุโรป โดยที่ผ่านมา อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินปอนด์สเตอร์ริงกับเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาย่ำแย่ลงแตะระดับต่ำสุดนับจากปี 1985 กันเลยทีเดียว

“ก่อนหน้ากรณีเบร็กซิต อัตราเติบโตโดยเฉลี่ยของอาเซียนถูกมองว่าจะส่งผลให้ขนาดของจีดีพีอาเซียนขยายใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งว่าในท้ายที่สุดก็จะสามารถแซงหน้าจีดีพีอังกฤษได้สำเร็จในราวปี 2022” คุณราจิฟเขียนไว้ในคำแถลงที่เป็นการเผยแพร่ข่าวสารทางอีเมล์

“กระนั้นก็ตาม การอ่อนตัวรุนแรงของเงินปอนด์อังกฤษหลังกรณีการโหวตเบร็กซิตได้ทำให้เหตุการณ์ตามคำพยากรณ์อาจจะเป็นจริงเร็วขึ้น โดยจีดีพีอาเซียนจะโตแซงหน้าจีดีพีอังกฤษได้ในปี 2017 โดยเป็นผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงิน เมื่อมีการเปรียบเทียบมูลค่าจีดีพีของนานาประเทศในโหมดของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ”

ข้อสังเกตข้างต้นนี้มีเครื่องสนับสนุนที่น่าพิจารณาอย่างยิ่งคือ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (16) นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ แห่งสหราชอาณาจักรกล่าวว่าอังกฤษเผชิญอยู่กับเบร็กซิตอันหนักหน่วง ซึ่งกดดันให้เงินปอนด์ถดถอยดิ่งลงไปได้อีก

ด้านนักเศรษฐศาสตร์ก็แสดงความเห็นในทิศทางละม้ายกัน รายงานผลสำรวจความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ที่ปรากฏอยู่ในรายงานประจำปีของไฟแนนเชียลไทมส์ นำเสนอว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของอังกฤษจะอ่อนมากในปี 2017 รายได้ครัวเรือนจะถูกบีบคั้นจากปัจจัยเงินเฟ้อซึ่งจะเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ภาคธุรกิจจะประวิงเวลาไว้ ไม่รีบตัดสินใจทำการลงทุน สืบเนื่องจากความไม่มั่นใจต่อผลที่จะตามมากับการถอนตัวจากสหภาพยุโรป

ทั้งนี้ 45% ของนักเศรษฐศาสตร์ 122 รายที่ตอบแบบสำรวจให้ตัวเลขประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของอังกฤษว่าจะอ่อนตัวจากสถิติที่ทำไว้ ณ 2.1% ในปี 2016 สู่ระดับประมาณ 1.1% - 1.5% เท่านั้นภายในปี 2017นี้ โดยเป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินปอนด์ซึ่งจะดึงให้ปัญหาเงินเฟ้อพุ่งสูง ขณะที่ค่าจ้างแรงงานมีแนวโน้มว่าจะขยับขึ้นเพียงเล็กน้อย ในการนี้ ความเห็นส่วนใหญ่จะระบุว่าแม้ค่าเงินปอนด์อ่อนตัวยวบยาบจะส่งผลดีแก่ภาคส่งออก กระนั้นก็ตาม ปัจจัยบวกหมวดนี้จะไม่สามารถเอาชนะผลกระทบด้านลบจากปัญหาเงินเฟ้อและปัญหาค่าจ้างแรงงานได้

รายงานผลสำรวจความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ฉบับเดียวกันนี้นำเสนอด้วยว่า นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากคาดว่าปัญหาการว่างงานจะทวีความรุนแรง เพราะภาคธุรกิจจะต้องพยายามเข้มงวดมากขึ้นในเรื่องต้นทุนภายในช่วงที่เผชิญอยู่กับความไม่แน่นอนถึงอนาคตของประเทศเมื่อแยกตัวออกจากอียู และปัจจัยเดียวกันนี้ก็น่าจะส่งผลกดดันความมั่นใจที่จะลงทุนทางธุรกิจด้วย

นอกจากนั้น นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่พยากรณ์ว่าแรงกดดันจากปัจจัยทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้จะทำให้ผู้บริโภคเองก็จะยั้งมือในการจับจ่ายใช้สอย และมูลค่าการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคถือเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจอังกฤษมาตลอดหลายปีนี้

ด้านศูนย์ปฏิรูปยุโรป หรือ the Centre for European Reform ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน ก็มองแนวโน้มเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรไว้อย่างน่าหดหู่เช่นกัน

คุณไซม่อน ทิลฟอร์ด รองผู้อำนวยการศูนย์ปฏิรูปยุโรป กล่าวไว้เมื่อปลายปีที่แล้วว่า “ในด้านของอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยต่อหัว อังกฤษแสดงผลงานได้ละม้ายกับฝรั่งเศส ซึ่งเป็นชาติที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกับอังกฤษ คือภาวะล้มเหลวทางเศรษฐกิจ”

นอกจากนั้น แม้อังกฤษจะมีความเข้มแข็งหลายด้าน เช่นตลาดแรงงานมีความยืดหยุนสูงมากเพียงพอที่จะทำให้ปัญหาการว่างงานไม่พุ่งกระฉูดร้ายกาจ แต่อังกฤษไม่ใช่ระบบเศรษฐกิจที่มีแรงดึงดูดโดดเด่นเมื่อเทียบกับประเทศยุโรปอื่นๆ โดยตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น ผลกระทบจากเบร็กสิตจะเร่งให้ความอ่อนแอที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน ทวีความรุนแรงขึ้นมาก

ในทางกลับกัน สถานการณ์ของอาเซียนมีวี่แววแนวโน้มดูดีกว่ามาก โดยอาเซียนได้รับการพยากรณ์ว่าจะสามารถเดินหน้าขึ้นได้เรื่อยๆ คุณราจิฟกล่าว โดยระบุว่าในราวปี 2027 เศรษฐกิจของกลุ่มอาเซียนจะขึ้นแซงหน้าเศรษฐกิจอังกฤษ

เศรษฐกิจอาเซียนยังได้ตัวช่วยสำคัญหลายหมวด อาทิ คำสั่งซื้อที่ยังคึกคักเข้มแข็งจากสหรัฐอเมริกา การท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวกันอย่างต่อเนื่องด้วยกองทัพนักท่องเที่ยวจีน อานิสงส์จากความริเริ่มของทางการปักกิ่งว่าด้วย ‘One Belt, One Road’ หรือก็คือ เส้นทางสายไหมเส้นทางใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 และการบริโภคในภาคเอกชนที่เพิ่มสูงขึ้น

คุณราจิฟชี้ประเด็นไว้ว่า “บรรษัทข้ามชาติสารพัดรายของโลก ตลอดจนเหล่านักลงทุนที่แห่เข้ามาหาโอกาสทางการตลาดในเอเชีย มักจะมองข้ามภูมิภาคอาเซียน แล้วไปกระตุกตัวอยู่ในระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดอย่างจีนและญี่ปุ่น”

“ด้วยขนาดของประชากรซึ่งรวมกันมากกว่า 600 ล้านราย และด้วยรายได้ครัวเรือนที่ขยายขึ้นอย่างรวดเร็วภายในประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีจำนวนประชากรหนาแน่น อาทิ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส๋ และเวียดนาม ตลาดอาเซียนจึงได้รับความคาดหมายว่าจะเติบใหญ่ขยายตัวได้รวดเร็วที่สุดในรอบหนึ่งทศวรรษหน้า”

ยิ่งกว่านั้น ประธานคณะนักเศรษฐศาสตร์ด้านเอเชียแปซิฟิกประจำหน่วยงาน IHS Global Insight ยังชี้ด้วยว่าภูมิภาคแห่งนี้จะได้อานิสงส์สำคัญอย่างยิ่งจากความก้าวหน้ามากมายในด้านข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน ในเวลาเดียวกัน การเปิดเสรีในภาคบริการก็จะเดินหน้าพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องและกลายเป็นแม่เหล็กสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างพลังทางเศรษฐกิจและขับเคลื่อนให้จีดีพีของอาเซียนเติบใหญ่ขยายตัวได้อย่างคึกคักเข้มแข็ง

โจฮัน ไนลันเดอร์ เป็นผู้สื่อข่าวอิสระชาวสวีเดนที่ตั้งฐานอยู่ในฮ่องกง โดยมุ่งทำข่าวเกี่ยวกับจีนและเอเชีย ผลงานของเขาได้รับการเผยแพร่อยู่บ่อยครั้งทาง ซีเอ็นเอ็น, ฟอร์บส์, เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์, นิกเกอิเอเชียนรีวิว, อัลจาซีรา, เอเชียไทมส์, และ ดาเกนส์ อินดัสตรี (Dagens Industri) หนังสือพิมพ์รายวันทางธุรกิจชั้นนำของสวีเดน เขาจบการศึกษาปริญญาโทเอ็มบีเอจากมหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์ก และเป็นผู้เขียนหนังสือด้านการบริหารที่ได้รับรางวัลมาแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น