xs
xsm
sm
md
lg

4 จุดที่กำลังจะเกิดวิกฤตซึ่ง ‘ประธานาธิบดีทรัมป์’ ต้องรับมือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ไมเคิล ที. แคลร์

Escalation Watch: Four Looming Flashpoints Facing President Trump
By Michael T. Klare
17/01/2017

คาดหมายได้ว่าไม่กี่เดือนหลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขาน่าจะต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศขนาดใหญ่อย่างน้อยก็สักครั้งหนึ่ง โดยพื้นที่ซึ่งดูเหมือนจะมีความเสี่ยงสูงเป็นพิเศษ ได้แก่ เกาหลีเหนือ, ทะเลจีนใต้, ภูมิภาคทะเลบอลติก, และตะวันออกกลาง

ภายในเวลาไม่กี่เดือนที่เข้ารับตำแหน่งหน้าที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ น่าที่จะต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศขนาดใหญ่สักครั้งหนึ่งหรือกระทั่งมากกว่านั้น โดยเป็นไปได้ว่าจะส่งผลทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะมีการเผชิญหน้ากันด้วยอาวุธนิวเคลียร์อย่างรุนแรงยิ่งขึ้น ทั้งนี้นับตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลงเป็นต้นมา ไม่มีผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯคนไหนที่จะต้องประสบกับจุดอันอาจจะเกิดวิกฤตและมีความเสี่ยงที่จะลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งรุนแรงกว้างขวาง อย่างมากมายขนาดนี้มาก่อนเลย แท้ที่จริงแล้วสถานการณ์ที่จะเกิดวิกฤตการณ์ในหลายๆ จุดระเบิดเปรี้ยงปร้างขึ้นมาเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ได้ก่อตัวบ่มเพาะกันมาระยะหนึ่งแล้ว ทว่ามาถึงเวลานี้ลางร้ายดูเหมือนกำลังชัดเจนมากขึ้นเป็นพิเศษ สืบเนื่องจากการที่ทรัมป์ประกาศคำมั่นสัญญาว่าจะนำเอากำลังทหารของอเมริกันออกมาใช้อย่างรวดเร็วเมื่อต้องเจอกับภัยคุกคามที่จะเกิดการละเมิดล่วงล้ำใดๆ ของต่างชาติขึ้นมา เนื่องจากมีความเสี่ยงอยู่อย่างมากมายเช่นนี้เอง จึงไม่ใช่เรื่องตื่นตูมเกินเลยไปหรอกที่จะเดินหน้าเพิ่มระดับการเฝ้าจับจ้องอย่างถาวร คอยติดตามระแวดระวังจุดร้อนใหญ่ๆ ทั้งหลายในทั่วโลก เพื่อดูว่ามีสัญญาณใดๆ ของการปะทุตัวขึ้นมาอย่างชัดเจนหรือไม่ ด้วยความวาดหวังว่าหากสามารถเตือนภัยล่วงหน้ากันได้ตั้งแต่เนิ่นๆ (และการโวยวายคัดค้านซึ่งจะต้องเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการเตือนภัย) อาจสามารถช่วยให้หลีกเลี่ยงความวิบัติหายนะได้

พิจารณาดูโลกของเราในทุกวันนี้ มีพื้นที่อยู่ 4 พื้นที่ซึ่งดูเหมือนจะมีความเสี่ยงสูงเป็นพิเศษที่จะเกิดวิกฤตและความขัดแย้งขึ้นมาอย่างฉับพลัน ได้แก่ เกาหลีเหนือ, ทะเลจีนใต้, ภูมิภาคทะเลบอลติก, และตะวันออกกลาง พื้นที่เหล่านี้แต่ละแห่งได้เคยเป็นสถานที่ซึ่งเกิดการปะทะกันมาหลายต่อหลายครั้งแล้วในอดีตที่ผ่านมา และปัจจุบันทุกๆ แห่งก็อยู่ในภาวะอัดแน่นพร้อมที่จะระเบิดตูมตามออกมาตั้งแต่ช่วงต้นๆ ในวาระแห่งการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์

ทำไมตอนนี้เราจึงมองเห็นวิกฤตการณ์ที่กำลังทำท่าอาจจะเกิดขึ้นได้อย่างมากมายเช่นนี้? ระยะเวลานี้มีความแตกต่างผิดแผกไปจากช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านประธานาธิบดีครั้งก่อนๆ จริงๆ หรือ?

เป็นความจริงทีเดียวที่ว่าการผันผ่านจากคณะบริหารของประธานาธิบดีอเมริกันคนหนึ่งไปสู่คณะบริหารของประธานาธิบดีอเมริกันอีกคนหนึ่ง อาจจะกลายเป็นระยะเวลาแห่งความไม่แน่นอนของโลก เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าอเมริกานั้นมีความสำคัญอย่างเหนือล้ำกว่าชาติใดๆ ในเรื่องกิจการของโลก และพวกมหาอำนาจที่เป็นคู่แข่งขันทั้งหลายย่อมมีความโน้มเอียงโดยธรรมชาติที่จะลองทดสอบนิสัยใจคอความกล้าตัดสินใจของผู้นำใหม่ของสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยประการอื่นๆ อีกซึ่งทำให้ชั่วขณะเวลานี้มีความน่าวิตกห่วงใยเป็นพิเศษ เป็นต้นว่า การที่ระเบียบโลกกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงในรูปร่างลักษณะ, บุคลิกภาพของผู้นำคนสำคัญๆ ของโลก, และการปรับเปลี่ยนในแนวความคิดหลักนิยมทางการทหารซึ่งทำให้ต้องมองสถานการณ์ไปในทางร้าย

ขณะที่สหรัฐฯกำลังมีการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองครั้งสำคัญอยู่นี้เอง พื้นพิภพของเราโดยภาพรวมก็กำลังอยู่ในภาวะเช่นนั้นเหมือนกัน ระบบที่มีอภิมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวซึ่งก็คือสหรัฐอเมริกา ที่ดำรงคงอยู่เรื่อยมาในโลกยุคหลังสงครามเย็น ในที่สุดแล้วก็กำลังเปิดทางให้แก่ระเบียบโลกแบบที่มีหลายขั้วอำนาจ ถ้าหากไม่ไปถึงขั้นเกิดการแบ่งแยกยิบย่อยไปมากขึ้นเรื่อยๆ ในโลกที่กำลังเปลี่ยนไปดังกล่าว สหรัฐฯต้องแบ่งปันฐานะแห่งการเป็นศูนย์กลางความสนใจกับผู้เล่นสำคัญรายอื่นๆ เป็นต้นว่า จีน, รัสเซีย, อินเดีย, และอิหร่าน พวกนักรัฐศาสตร์เตือนให้เราระลึกว่า บ่อยครั้งทีเดียวที่ระยะเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านทั้งหลายกลายเป็นระยะเวลาแห่งการแตกหักวุ่นวายด้วย เนื่องจากมหาอำนาจที่เป็นฝ่าย “สถานะเดิม” (status quo) (ในกรณีนี้ก็คือสหรัฐอเมริกา) พยายามรักษาฐานะแห่งความเป็นผู้ครอบงำของพวกเขา ด้วยการเข้าต่อสู้ต้านทานการท้าทายจากเหล่า “รัฐที่ต้องการแก้ไขเปลี่ยนแปลง” (revisionist) ซึ่งกำลังหาทางเปลี่ยนแปลงสมการทางอำนาจของโลกเสียใหม่ โดยปกติแล้ว เรื่องนี้อาจก่อให้เกิดสงครามตัวแทนและการทะเลาะวิวาทประเภทอื่นๆ ในบรรดาพื้นที่ซึ่งมีการช่วงชิงกันอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น โดยกรณีทำนองนี้ที่เกิดขึ้นในช่วงเร็วๆ นี้ก็คือในซีเรีย, ภูมิภาคบอลติก, และทะเลจีนใต้

ตรงนี้เองที่บุคลิกภาพของพวกผู้นำคนสำคัญๆ เข้ามาแสดงบทบาทในสมการ กล่าวคือ ในยุคของประธานาธิบดีบารัค โอบามา นั้น ถึงแม้มีการเข้าทำสงครามตามที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย แต่โดยอารมณ์ความรู้สึกแล้ว เขาไม่ได้มีความโน้มเอียงที่จะตอบโต้ด้วยวิธีใช้กำลังต่อวิกฤตการณ์และการยั่วยุในต่างแดนทุกๆ ครั้ง รวมทั้งแสดงให้เห็นความหวั่นเกรงที่จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันกับสงครามในต่างแดนอย่างที่สหรัฐฯกำลังทำอยู่ในอิรักและอัฟกานิสถาน เพิ่มมากขึ้นอีก พวกที่คอยวิพากษ์วิจารณ์โอบามา ซึ่งรวมถึงโดนัลด์ ทรัมป์ ด้วย พากันแสดงความไม่พอใจด้วยความขมขื่นโดยระบุว่าจุดยืนเช่นนี้มีแต่จะยิ่งกระตุ้นส่งเสริมให้พวกศัตรูคู่ปรับต่างแดนยกระดับเกมของพวกเขาเท่านั้น เพราะแน่ใจเสียแล้วว่าสหรัฐฯได้สูญเสียความมุ่งมั่นตั้งใจของตนในการต่อสู้ตอบโต้การยั่วยุ แต่สำหรับในคณะบริหารทรัมป์ อย่างที่ “เดอะโดนัลด์” (The Donald) ได้ประกาศเอาไว้ระหว่างการรณรงค์หาเสียงในปีที่แล้ว เหล่าศัตรูคู่ปรับของอเมริกาควรต้องระวังตัวให้ดี ควรต้องคาดหมายเอาไว้ได้เลยว่าจะต้องเจอกับการตอบโต้อย่างหนักหน่วงสาหัสยิ่งกว่านักหนา ตัวอย่างเช่น เมื่อถูกตั้งคำถามในเดือนกันยายนปีที่แล้ว ถึงเหตุการณ์ในอ่าวเปอร์เซียซึ่งพวกเรือปืนลำเล็กเคลื่อนที่เร็วของอิหร่าน แล่นเข้าเฉียดใกล้เหล่าเรือรบอเมริกันในลักษณะคุกคามข่มขู่ เขาก็ให้คำตอบตามแบบฉบับว่า “เมื่อพวกเขาแล่นวนล้อมเรือพิฆาตอันสวยงามของเราด้วยเรือกระจอกๆ ของพวกเขา และแสดงท่าทีอย่างนี้ ... ไม่ควรที่จะปล่อยให้พวกเขาทำเช่นนั้นหรอก จะต้องยิงพวกเขาให้ออกไปจากน่านน้ำตรงนั้นทีเดียว”

ถึงแม้ทรัมป์มีท่าทีต่อรัสเซีย ในลักษณะที่แตกต่างตรงกันข้ามกับที่ใช้กับอิหร่าน โดยเขาให้คำมั่นสัญญาที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างแดนอินทรีกับแดนหมีขาว ทว่ามันก็ไม่มีทางหลบหนีจากข้อเท็จจริงที่ว่า วลาดิมีร์ ปูตินนั้นมีความเรียกร้องต้องการที่จะฟื้นฟูอำนาจบารมีความรุ่งโรจน์อย่างอภิมหาอำนาจที่ประเทศของเขาได้สูญเสียไปนมนานแล้ว และนี่อาจนำไปสู่การเผชิญหน้ากับพวกมหาอำนาจนาโต้ ซึ่งก็จะทำให้ประธานาธิบดีคนใหม่ของอเมริกาผู้นี้ต้องตกอยู่ในฐานะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก สำหรับในส่วนของเอเชีย ทรัมป์พูดอยู่บ่อยครั้งว่ามีความตั้งใจที่จะลงโทษจีนสำหรับสิ่งที่เขามองว่าใช้วิธีปฏิบัติในทางการค้าแบบมุ่งสร้างความเสียหายให้แก่ชาติอื่นๆ จุดยืนเช่นนี้เป็นอันรับประกันได้ว่าจะนำไปสู่การปะทะกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งตั้งเป้าหมายที่จะฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ของประเทศของเขา สภาวการณ์เช่นนี้ ยิ่งเพิ่มความเป็นไปได้ที่จะเกิดการเผชิญหน้ากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทะเลจีนใต้ที่กำลังมีการแข่งขันช่วงชิงกันอยู่แล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งปูตินและสี ต่างกำลังเผชิญความยากลำบากทางเศรษฐกิจในบ้านเกิดของพวกเขา และกำลังเล็งมองว่าการออกไปเผชิญภัยในต่างแดน เป็นหนทางหนึ่งซึ่งสามารถหันเหความสนใจของสาธารณชนให้ออกไปจากผลประกอบการภายในประเทศที่กำลังออกมาน่าผิดหวัง

เฉพาะเพียงแค่ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้เท่านั้น ก็สามารถทำให้มั่นใจได้ว่าช่วงขณะเวลานี้คือช่วงขณะที่อาจเกิดวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศขึ้นมาได้ แต่ยังมีอะไรบางอย่างมากขึ้นไปอีกซึ่งทำให้ดูมีอันตรายเพิ่มขึ้นจริงๆ ได้แก่การที่รัสเซียและอีกหลายๆ ประเทศกำลังมีความเชื่อมั่นมากขึ้นทุกที ต่อยุทธศาสตร์ที่ว่าการนำเอาอาวุธนิวเคลียร์ออกมาใช้เสียแต่เนิ่นๆ จะสามารถแก้ไขชดเชยความเสียเปรียบจากการที่พวกเขามีแสนยานุภาพ “ตามแบบแผน” (conventional นั่นคือกำลังอาวุธที่ไม่ใช่นิวเคลียร์) ไม่เพียงพอ

สำหรับสหรัฐฯ เนื่องจากมีแสนยานุภาพตามแบบแผนเหนือล้ำกว่าชาติอื่นๆ อย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้อยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องขบคิดใช้อาวุธนิวเคลียร์ ยกเว้นแต่เพียงเอามาเป็น “การป้องปราม” ไม่ให้ถูกมหาอำนาจผู้เป็นศัตรูเปิดการโจมตีด้วยนิวเคลียร์ก่อน อันเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากมากๆ อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม สำหรับรัสเซียนั้น เนื่องจากขาดแคลนหนทางที่จะทำการแข่งขันด้วยเงื่อนไขที่เสมอภาคเท่าเทียมกับกับฝ่ายตะวันตกในเรื่องอาวุธตามแบบแผน ขณะเดียวกันก็กำลังรู้สึกว่าถูกคุกคามจากวิธีการที่นาโต้ระดมรับชาติสมาชิกใหม่ๆ จนเคลื่อนเข้าประชิดกับพรมแดนของแดนหมีขาวหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ เวลานี้จึงกำลังมีเสียงเรียกร้องให้เป็นฝ่ายนำเอาอาวุธนิวเคลียร์ “ทางยุทธวิธี” ออกมาใช้ก่อน เพื่อเป็นการสยบกำลังของฝ่ายศัตรูที่แข็งแกร่งกว่า ภายใต้แนวความคิดหลักนิยมทางทหาร (military doctrine) ล่าสุดของรัสเซีย เวลานี้หน่วยสู้รบสำคัญๆ กำลังได้รับการฝึกและประกอบอาวุธในลักษณะที่จะนำเอาอาวุธดังกล่าวนี้มาใช้เมื่อมองเห็นสัญญาณแรกของความพ่ายแพ้ปราชัยที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะใช้เพื่อเป็นการแบล็กเมล์พวกประเทศศัตรูให้ยอมจำนน หรือใช้เพื่อทำลายล้างพวกเขาจริงๆ ก็ตามที

นอกเหนือจากหลักนิยมทางทหารดังกล่าวนี้แล้ว รัสเซียยังได้พัฒนาขีปนาวุธนำวิถีรุ่นใหม่ที่สามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ นั่นคือ รุ่น “อิสคานเดอร์” (Iskander) (เป็นรุ่นถัดจากขีปนาวุธ “สกั๊ด” Scud ซึ่งมีชื่อเสียงไม่ค่อยดีหลังจากถูกใช้โดยซัดดัม ฮุสเซน ในการโจมตีอิหร่าน, อิสราเอล, และซาอุดีอาระเบีย) และนำเอามาติดตั้งประจำการแล้วที่คาลินินกราด (Kaliningrad) ดินแดนผืนเล็กๆ ของรัสเซียซึ่งไม่ได้อยู่ติดกับแผ่นดินใหญ่แดนหมีขาว แต่สอดแทรกอยู่หว่างกลางโปแลนด์และลิทัวเนีย ทางด้านโลกตะวันตก เพื่อตอบโต้กับเรื่องนี้พวกนักยุทธศาสตร์ของนาโต้กำลังถกเถียงหารือกันถึงวิธีการที่จะสาธิตให้เห็นอย่างทรงพลังยิ่งขึ้น ว่าฝ่ายตะวันตกก็มีสมรรถนะของตนเองในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีในยุโรป ตัวอย่างเช่นด้วยการนำเอาเครื่องบินทิ้งระเบิดที่สามารถปล่อยอาวุธนิวเคลียร์ได้เข้ามาอวดโฉมให้มากขึ้นในการซ้อมรบของนาโต้ครั้งต่อๆ ไปในอนาคต ผลที่เกิดขึ้นก็คือ “กำแพงไฟทำหน้าที่คอยหยุดยั้ง” (firebreak) ซึ่งเป็นกำแพงในทางทฤษฎีที่เคยเชื่อกันว่าจะทำให้มีการยับยั้งชั่งใจไม่ให้สงครามใช้อาวุธแบบแผน แผ่ลามยกระดับไปสู่สงครามนิวเคลียร์ได้นั้น เวลานี้ดูเหมือนกลายเป็นแนวกำแพงที่หดเล็กลงทุกที และคุณก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ว่าทุกๆ วิกฤตการณ์ซึ่งมีรัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์เข้าเกี่ยวข้องด้วย ล้วนมีศักยภาพที่จะลุกลามกลายเป็นวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ได้ทั้งสิ้น

ด้วยความตระหนักคาดคำนึงถึงเรืองเช่นนี้ คราวนี้ขอให้เรามาพิจารณาถึงจุดร้อนฉ่าที่ทำท่าจะมีอันตรายมากที่สุด 4 จุด ซึ่งคณะบริหารของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่อาจจะต้องเผชิญ

เกาหลีเหนือ

การที่เกาหลีเหนือกำลังเร่งยกระดับการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธนำวิถีพิสัยไกลอยู่ในเวลานี้ อาจจะกลายเป็นการท้าทายระดับระหว่างประเทศอันใหญ่โตอย่างแรกสุดซึ่งคณะบริหารทรัมป์ต้องเข้ามาจัดการรับมือ ในระยะไม่กี่หลังมานี้ ฝ่ายเกาหลีเหนือดูเหมือนว่าประสบความคืบหน้าได้อย่างเป็นเนื้อเป็นหนังทีเดียว ในการผลิตขีปนาวุธดังกล่าวและในการออกแบบสร้างหัวรบนิวเคลียร์ลูกเล็กๆ สำหรับติดตั้งเอาไว้ในขีปนาวุธเหล่านี้ ในปี 2016 โสมแดงได้ดำเนินการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ใต้ดิน 2 ครั้ง (ถือเป็นครั้งที่ 4 และครั้งที่ 5 ของเกาหลีเหนือ นับตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา) นอกจากนั้นยังทำการทดสอบระบบขีปนาวุธต่างๆ หลายหลากอีกหลายๆ ครั้ง ในวันที่ 20 กันยายน โสมแดงยังได้ทดสอบเครื่องยนต์จรวดที่มีกำลังสูง ซึ่งนักสังเกตการณ์บางรายเชื่อว่าน่าจะสามารถนำมาใช้งานในท่อนแรกของขีปนาวุธนำวิถีข้ามทวีป (intercontinental ballistic missile หรือ ICBM) ได้ และสักวันหนึ่งขีปนาวุธข้ามทวีปของโสมแดงก็อาจจะมีสมรรถนะถึงขั้นปล่อยหัวรบนิวเคลียร์เข้าใส่ซีกตะวันตกของสหรัฐอเมริกา

คิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือที่ดูคุ้มดีคุ้มร้ายเอาแน่เอานอนไม่ได้ ได้พูดซ้ำๆ มาหลายหนแล้วถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของเขาที่จะมีอาวุธนิวเคลียร์เอาไว้ในครอบครอง และที่จะมีความสามารถในการใช้อาวุธเหล่านี้เพื่อโจมตีพวกศัตรูคู่ปรับของเขา ซึ่งก็รวมถึงสหรัฐฯด้วย ภายหลังการทดสอบขีปนาวุธอย่างต่อเนื่องเป็นชุดเมื่อฤดูใบไม้ผลิปีที่แล้ว เขาแถลงยืนยันว่าประเทศของเขาควรที่จะยกระดับเพิ่มพูนกำลังอาวุธนิวเคลียร์ของตนอย่างต่อเนื่องต่อไป “ทั้งในด้านคุณภาพและในด้านปริมาณ” พร้อมกันนั้นเขาเน้นย้ำว่า “มีความจำเป็นที่จะต้องทำให้พวกหัวรบนิวเคลียร์ซึ่งติดตั้งประจำการเพื่อการป้องกันประเทศชาติ อยู่ในสภาพเตรียมพร้อมอยู่เสมอ เพื่อให้สามารถยิงได้ไม่ว่าในขณะใด” เขาบอกต่อไปอีกว่า นี่อาจหมายความถึงการใช้อาวุธเหล่านี้ “ในลักษณะที่เป็นฝ่ายเปิดการโจมตีก่อน” (preemptive attack) ต่อมาในวันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคมปีนี้ คิมพูดย้ำอีกถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของเขาที่จะใช้ปฏิบัติการทางนิวเคลียร์ในลักษณะเป็นฝ่ายเปิดการโจมตีก่อนในอนาคตข้างหน้า รวมทั้งระบุด้วยว่าในเร็วๆ นี้ประเทศของเขาจะดำเนินการทดสอบขีปนาวุธนำวิถีข้ามทวีป

ประธานาธิบดีโอบามานั้น ตอบโต้เกาหลีเหนือด้วยการประกาศใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งพยายาม (โดยได้รับความสำเร็จอย่างจำกัดเท่านั้น) ที่จะชักชวนจีน ผู้เป็นพันธมิตรสำคัญยิ่งของเปียงยาง ให้ใช้อิทธิพลบารมีทางการเมืองและทางเศรษฐกิจของตนในการชักนำคิมให้เข้าสู่การเจรจาเพื่อปลดอาวุธนิวเคลียร์ แต่ทั้งหมดเหล่านี้ดูเหมือนไม่ได้ก่อให้เกิดความแตกต่างอะไรขึ้นมาแม้แต่น้อยนิด ซึ่งก็หมายความว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะต้องเผชิญกับเกาหลีเหนือที่มีเขี้ยวเล็บเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และอาจจะมีศักยภาพในการนำเอาขีปนาวุธนำวิถีข้ามทวีปซึ่งสามารถใช้งานได้จริงออกสู่สนาม ภายในระยะเวลาไม่กี่ปีข้างหน้า

ทรัมป์จะตอบโต้ต่อภัยอันตรายนี้อย่างไร? ดูเหมือนมีทางเลือกอยู่ 3 ทางที่เขาอาจนำมาใช้ได้ กล่าวคือ 1. ใช้วิธีการใดก็ตามทีให้สามารถโน้มน้าวเกลี้ยกล่อมจีนให้บังคับเปียงยางยอมทอดทิ้งการเสาะแสวงหาอาวุธนิวเคลียร์ 2. เจรจาทำข้อตกลงลดอาวุธกับคิมโดยตรง กระทั่งมีความเป็นไปได้ที่จะหารือต่อรองกันแบบเจอหน้ากันด้วย หรือ 3. เข้าโจมตีเล่นงานเกาหลีเหนือเสียเลย ในลักษณะที่เป็นฝ่ายลงมือกระทำการโจมตีก่อน (โดยมีข้อสมมุติฐานว่า เป็นการใช้อาวุธที่ไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์) ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อทำลายสมรรถนะทางด้านนิวเคลียร์และทางด้านการผลิตขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ

การประกาศใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตรเพิ่มมากขึ้นและการพูดจากับจีนนั้น แลดูน่าระแวงสงสัยว่ามันก็จะเหมือนๆ กับวิธีการซึ่งโอบามาเคยใช้อยู่ ขณะเดียวกันการที่จะได้รับความร่วมมือจากจีน ไม่ต้องสงสัยเลยว่าย่อมหมายถึงการต้องตอบแทนด้วยการยอมผ่อนผันประนีประนอมในเรื่องการค้าหรือเรื่องทะเลจีนใต้ (สำหรับคนอย่างทรัมป์แล้ว การประนีประนอมในทั้งสองเรื่องนี้ไม่ว่าเรื่องไหนก็ตามที ย่อมก่อให้เกิดความรู้สึกว่าคือการยินยอมอ่อนข้ออย่างน่าอับอายทั้งสิ้น) นอกจากนั้น แม้กระทั่งว่าเขาตัดสินใจบากหน้าขอให้ประธานาธิบดีสี มาเป็นคู่หูคอยช่วยเหลือ มันก็ไม่เป็นที่ชัดเจนอยู่ดีว่าเปียงยางจะยินยอมพร้อมใจด้วย สำหรับเรื่องการพูดจาโดยตรงกับคิมนั้น ทรัมป์เคยแสดงท่าทีออกมาแล้วว่า เขาไม่คิดวางตัวเหมือนประธานาธิบดีอเมริกันทุกๆ คนในอดีตที่ผ่านมา ตรงกันข้ามเขากลับมีความยินดีพรักพร้อมสำหรับเรื่องนี้ “ผมจะไม่มีปัญหาเลยในการพูดจาหารือกับเขา” ทรัมป์เคยบอกกับรอยเตอร์ตั้งแต่เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ว่าแต่ว่าจริงๆ แล้วเขาจะเสนออะไรให้เกาหลีเหนือเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับการยุบเลิกคลังแสงนิวเคลียร์? กองทหารสหรัฐฯจะถอนตัวออกไปจากเกาหลีใต้กระนั้นหรือ? การเลือกหนทางแก้ไขใดๆ ในลักษณะเช่นนั้น ย่อมจะทำให้ประธานาธิบดีอเมริกันถูกมองว่าเป็นคนหลอกต้มง่ายเหลือเกิน (ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้เลยสำหรับใครก็ตามที่คำขวัญสำคัญที่เที่ยวป่าวร้องอยู่ตลอดเวลาคือ “ทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง” “Make America Great Again”)

นี่ทำให้เหลืออีกเพียงทางเลือกเดียว นั่นก็คือการเปิดฉากเข้าโจมตีก่อน ตัวทรัมป์เองดูเหมือนแสดงการยอมรับทางเลือกนี้อยู่เป็นนัยๆ เช่นกัน ในข้อความหนึ่งที่เขาทวิตเมื่อเร็วๆ นี้ (ทวิตเตอร์ดังกล่าวของทรัมป์มีข้อความว่า “เกาหลีเหนือเพิ่งเน้นย้ำว่า ตนอยู่ในขั้นตอนท้ายๆ ของการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ที่มีศักยภาพยิงไปถึงส่วนต่างๆ ของสหรัฐฯได้ เรื่องอย่างนี้จะต้องไม่ให้มันเกิดขึ้น!”) พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เขาเปิดกว้างสำหรับทางเลือกในการใช้กำลังทหาร ซึ่งเคยถูกบอกปัดกันมาในอดีตเนื่องจากเห็นกันว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะจุดชนวนให้เกิดการตอบโต้อย่างไม่อาจคาดทำนายได้จากเกาหลีเหนือ โดยรวมถึงการยกพลเข้ารุกรานเกาหลีใต้ (และเป็นไปได้ว่าจะเข้าโจมตีกองทหารสหรัฐฯที่ประจำการอยู่ในแดนโสมขาวด้วย) ซึ่งจะต้องก่อให้เกิดความวิบัติหายนะอย่างฉับพลันและรุนแรง ภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้ แล้วยังปรากฏว่าไม่เฉพาะแต่ตัวคิม จองอึนเท่านั้น หากแต่โดนัลด์ ทรัมป์ด้วย ต่างฝ่ายเป็นคนที่ไม่อาจคาดเดาทำนายได้ ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องจัดเกาหลีเหนือให้เป็นจุดอันตรายระดับโลก ในประเภทที่ต้อง “แจ้งเตือนภัยอันตรายสูงสุด” ในขณะที่ยุคใหม่เริ่มต้นขึ้นมา

ทะเลจีนใต้

สำหรับจุดวิกฤตที่มีอันตรายมากที่สุดอันดับถัดมาหรือครับ? ก็การพิพาทช่วงชิงที่ดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อเข้าควบคุมพื้นที่น่านน้ำซึ่งรายล้อมด้วยจีน, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, และเกาะบอร์เนียว ที่เรียกขานกันว่าทะเลจีนใต้ นั่นไงครับ ในเวลานี้จีนเที่ยวหยิบยกความผูกพันแต่ครั้งโบราณที่ตนมีอยู่กับเกาะต่างๆ ในน่านน้ำทะเลจีนใต้ เพื่ออ้างกรรมสิทธิ์เกือบจะทั่วทั้งอาณาบริเวณนี้ โดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนทางทะเลแห่งชาติของตน อย่างไรก็ตาม เกาะเหล่านี้บางเกาะก็ถูกอ้างสิทธิครอบครองโดยบรูไน, มาเลเซีย, เวียดนาม, และฟิลิปปินส์ ด้วยเช่นกัน สำหรับสหรัฐฯถึงแม้ตัวเองไม่ได้เรียกร้องดินแดนใดๆ ในภูมิภาคแถบนี้ แต่ก็ได้ทำสนธิสัญญาป้องกันกับฟิลิปปินส์เอาไว้ รวมทั้งพึ่งพาอาศัยช่องทางผ่านเข้าออกอย่างเสรีตลอดทั่วพื้นที่นี้ เพื่อเคลื่อนขบวนเรือรบของตนจากฐานทัพต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก ไปยังเขตสู้รบทั้งหลายในตะวันออกกลาง และแน่นอนทีเดียวว่าสหรัฐฯมองตนเองว่าเป็นมหาอำนาจที่มีอำนาจอิทธิพลมากกว่าใครเพื่อนในแปซิฟิก รวมทั้งวางแผนการเพื่อรักษาฐานะเช่นนี้ให้ดำรงคงอยู่ไปเรื่อยๆ

ในอดีตที่ผ่านมา จีนได้เคยเกิดปะทะกับพวกมหาอำนาจท้องถิ่นเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์เหนือเกาะต่างๆ ในทะเลจีนใต้มาแล้วเหมือนกัน แต่การพิพาทเหล่านั้นมีลักษณะเป็นการช่วงชิงกันเป็นเกาะๆ ไป ทว่าในช่วงหลังๆ มานี้แดนมังกรพยายามหาทางควบคุมเกาะเหล่านี้ทั่วทั้งหมด ในการดำเนินการให้เป็นไปตามกระบวนการดังกล่าวนี้ ส่วนหนึ่งซึ่งจีนกระทำก็คือการเริ่มต้นถมทะเลและปรับปรุงพวกเกาะเล็กเกาะน้อยตลอดจนแนวปะการังในความควบคุมของตนให้กลายเป็นฐานทัพทางทหาร มีการสร้างลานบินให้เครื่องบินขึ้นลงได้ และติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ เรื่องนี้ทำให้ถูกประท้วงคัดค้านจากเวียดนามและฟิลิปปินส์ ซึ่งอ้างสิทธิเหนือเกาะเล็กๆ เหล่านี้บางแห่ง และก็จากสหรัฐฯซึ่งยืนกรานว่าความเคลื่อนไหวเช่นนี้ของจีนเป็นการละเมิด “เสรีภาพในการเดินเรือ” ผ่านน่านน้ำระหว่างประเทศของกองทัพเรือของตน

ประธานาธิบดีโอบามานั้นตอบโต้ต่อความเคลื่อนไหวอย่างยั่วยุในทะเลจีนใต้ของแดนมังกร ด้วยการออกคำสั่งให้พวกเรือรบสหรัฐฯออกตรวจการณ์ลาดตระเวนในบริเวณประชิดใกล้กับเกาะต่างๆซึ่งจีนกำลังเสริมกำลังทางทหาร อย่างไรก็ดี สำหรับทรัมป์แล้ว การกระทำเช่นนี้ยังเป็นการตอบโต้ที่น้อยนิดเกินไป “จีนกำลังเอาเราไปหยอกล้อ” เขาพูดเช่นนี้กับ เดวิด แซงเกอร์ (David Sanger) แห่งนิวยอร์กไทมส์ เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว “พวกเขากำลังทำเช่นนั้นอยู่เมื่อพวกเขากำลังก่อสร้างสิ่งต่างๆ ในทะเลจีนใต้ พวกเขาไม่ควรที่จะทำอย่างนั้นหรอก แต่พวกเขานะไม่มีความเคารพในประเทศของเรา พวกเขาไม่มีความเคารพในประธานาธิบดีของเรา” เมื่อถูกถามว่าเขาเตรียมพร้อมที่จะใช้กำลังทหารเพื่อต้อนรับการสร้างสมแสนยานุภาพของจีนใช่หรือไม่ ทรัมป์ก็ตอบว่า “อาจจะ”

ทะเลจีนใต้อาจกลายเป็นเวทีแห่งการทดสอบตั้งแต่เนิ่นๆ ทั้งในการทดสอบคำมั่นสัญญาของทรัมป์ที่ว่าจะต่อสู้กับสิ่งซึ่งเขามองว่าเป็นพฤติการณ์การค้าแบบมุ่งทำร้ายชาติอื่นของจีน และทั้งเป็นการทดสอบความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวของฝ่ายปักกิ่งในการต้านทานการข่มเหงรังแกของวอชิงตัน เมื่อเดือนที่แล้ว ทหารเรือจีนได้ยึดเอาโดรนตรวจการณ์ใต้สมุทรของอเมริกันลำหนึ่งไป ที่บริเวณใกล้ๆ กับแนวปะการังแห่งหนึ่งของพวกเขา ผู้สังเกตการณ์จำนวนมากทีเดียวตีความความเคลื่อนไหวคราวนั้นว่าเป็นการตอบโต้การที่ทรัมป์ตัดสินใจรับโทรศัพท์แสดงความยินดีจาก ไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีของไต้หวัน ไม่นานนักหลังจากที่เขาชนะการเลือกตั้ง ท่าทีเช่นนั้นของทรัมป์ อันถือว่าแตกต่างอย่างตรงกันข้ามจากการประพฤติการปฏิบัติของประธานาธิบดีอเมริกันทั้งหลายในช่วงหลังๆ มานี้ ได้ถูกปักกิ่งซึ่งยืนยันว่าไต้หวันไม่ได้เป็นประเทศอิสระแต่เป็นมณฑลกบฏของตน มองว่าคือการที่ทรัมป์จงใจหยามหยันจีน ถ้าหากทรัมป์ดำเนินการเคลื่อนไหวอะไรมากไปกว่านี้เพื่อยั่วแหย่หรือลงโทษจีนในแนวรบด้านเศรษฐกิจแล้ว มันก็อาจส่งผลทำให้เกิดการท้าทายกันเพิ่มมากขึ้นในทะเลจีนใต้ เป็นการเปิดทางความเป็นไปได้ที่จีนจะเกิดการปะทะกับกองกำลังทางอากาศและทางนาวีของสหรัฐฯในภูมิภาคแถบนี้

ทั้งหมดนี้ก็น่ากังวลห่วงใยเพียงพออยู่แล้ว ทว่าลู่ทางโอกาสที่จะเกิดการปะทะกันในทะเลจีนใต้ยังเพิ่มพูนขึ้นอีกเป็นอันมากเมื่อวันที่ 11 มกราคม โดยต้องขอบคุณการแสดงความคิดเห็นของ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน (Rex Tillerson) อดีตซีอีโอของบริษัทเอ็กซ์ซอนโมบิล และว่าที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในระหว่างที่เขาให้ปากคำเพื่อขอให้วุฒิสภารับรองการแต่งตั้งเขาเข้าสู่ตำแหน่งอันสำคัญนี้ ทั้งนี้เขาพูดขณะไปปรากฏตัวต่อหน้าคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯในวันนั้นว่า “เรากำลังจะต้องส่งสัญญาณที่ชัดเจนไปถึงจีนว่า ประการแรก การสร้างเกาะจะต้องยุติ และประการที่สอง การเข้าไปถึงเกาะเหล่านี้ของพวกคุณ ก็จะไม่ได้รับอนุญาตอีกต่อไป” เนื่องจากฝ่ายจีนไม่น่าที่จะยอมทอดทิ้งเกาะเหล่านั้น (ซึ่งพวกเขาพิจารณาเห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งแห่งดินแดนในอธิปไตยของพวกเขาด้วยซ้ำ) เพียงเพราะทรัมป์กับทิลเลอร์สันสั่งพวกเขาให้ทำเช่นนั้น ดังนั้น “สัญญาณ” เพียงประเภทเดียวของฝ่ายสหรัฐฯ ที่จะมีน้ำหนักใดๆ ขึ้นมาได้ ก็คือจะต้องเป็นการปฏิบัติการทางทหารเท่านั้น

การประจันหน้ากันเช่นนั้นจะอยู่ในรูปแบบใด และจะนำไปสู่อะไร? ในจุดนี้ยังไม่มีใครตอบได้อย่างมั่นอกมั่นใจ ทว่าทันทีที่ความขัดแย้งเช่นนั้นเริ่มต้นขึ้นแล้ว ช่องทางสำหรับการเคลื่อนไหวยักย้ายถ่ายเทก็น่าจะมีจำกัดอย่างยิ่ง ความพยายามของสหรัฐฯที่จะปฏิเสธไม่ให้จีนเข้าสู่เกาะเหล่านั้นอาจจะเกิดขึ้นได้ในหลายรูปลักษณ์ ตั้งแต่การปิดล้อมทางนาวี ไปจนถึงการโจมตีทางอากาศและทางขีปนาวุธต่อสถานที่ทางทหารซึ่งสร้างขึ้นบนเกาะเหล่านั้น และกระทั่งการจมเรือรบของจีนเสียเลย มันเป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการคาดเดาว่าถึงขนาดนั้นแล้วปักกิ่งยังจะหลีกเลี่ยงไม่ตอบโต้ด้วยมาตรการแก้เผ็ดต่างๆ และแล้วต่อจากนั้นเมื่อมีความเคลื่อนไหวอย่างหนึ่ง มันก็อาจส่งผลติดพันทำให้เกิดความเคลื่อนไหวอีกอย่างหนึ่ง ต่อเนื่องยกระดับขึ้นไปเรื่อยๆ กระทั่งในฉับพลันนั้นเองประเทศที่ต่างก็ติดอาวุธนิวเคลียร์ทั้งสองอาจจะพบว่า พวกเขาเองกำลังอยู่ตรงขอบเหวของการทำสงครามอย่างเต็มขั้น ด้วยเหตุฉะนี้จึงต้องถือว่าจุดนี้เป็นจุดล่อแหลมร้อนแรงของโลกที่ต้องเตือนภัยอันตรายอย่างสูงเป็นอันดับที่ 2

อาณาบริเวณทะเลบอลติก

ถ้าหากฮิลลารี คลินตัน ได้รับเลือกตั้ง ผมจะต้องยกให้ภูมิภาครอบๆ ทะเลบอลติก ขึ้นสู่อันดับแรกสุดในรายการจุดที่อาจเกิดวิกฤตร้ายแรงของผมทีเดียว เนื่องจากพื้นที่แถบนี้เองคือจุดซึ่งมีความเป็นไปได้มากที่สุด ที่ วลาดิมีร์ ปูติน จะใช้เป็นช่องทางสำหรับส่งความเป็นศัตรูของเขาไปถึงเธอโดยเฉพาะเจาะจง และไปถึงโลกตะวันตกวงกว้างโดยรวมๆ ทั้งนี้เป็นเพราะแถบบอลติกนี้เอง คือพื้นที่ซึ่งกองกำลังของนาโต้ (NATO ย่อมาจาก North Atlantic Treaty Organization องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ) เคลื่อนเข้าไปลึกที่สุดในบรรดาดินแดนของอดีตสหภาพโซเวียตทั้งหลาย (โดยที่ทั้งลัตเวีย, เอสโตเนีย, และลิทัวเนีย 3 สาธารณรัฐในบอลติกที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต เวลานี้ต่างเป็นสมาชิกของนาโต้) เชื่อกันด้วยว่าประเทศเหล่านี้มีความอ่อนแอเป็นพิเศษในการรับมือกับสงครามประเภทที่เรียกว่า “สงครามลูกผสม” (“hybrid” warfare ซึ่งมีทั้งการปฏิบัติการแบบลับๆ , การรณรงค์ปล่อยข้อมูลข่าวสารลวง, การโจมตีทางไซเบอร์, และอื่นๆ ทำนองนี้) ทว่าสงครามประเภทนี้กลับเป็นสิ่งที่รัสเซียเคยนำออกมาใช้ได้อย่างสมบูรณ์แบบมาแล้วในแหลมไครเมียและในยูเครน จากการที่โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังให้คำมั่นสัญญาที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์กับมอสโก เวลานี้จึงมีความเป็นไปได้ลดน้อยลงไปมาก ที่ปูตินจะเปิดฉากการโจมตีทำศึกสงครามในลักษณะดังกล่าว ถึงแม้ฝ่ายรัสเซียยังคงสร้างเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ทรัพย์สินทางทหารของพวกตน (รวมถึงสมรรถนะในการสู้รบทำสงครามนิวเคลียร์) ในภูมิภาคแถบนี้ต่อไปไม่หยุดยั้ง ด้วยเหตุนี้ จึงยังไม่สามารถบอกปัดเด็ดขาดไปเลย เกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะขึ้นมาใหม่ในอนาคตข้างหน้า

ภัยอันตรายในแถบบอลติกนั้น เกิดขึ้นจากภูมิศาสตร์, ประวัติศาสตร์, และนโยบาย สาธารณรัฐริมทะเลบอลติกทั้ง 3 แห่งนี้เพิ่งได้รับเอกราชภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 ทุกวันนี้พวกเขาเป็นสมาชิกทั้งของสหภาพยุโรปและของนาโต้ มี 2 ประเทศในจำนวนนี้ คือ เอสโตเนีย และลัตเวีย มีพรมแดนติดต่อกับแผ่นดินใหญ่ของรัสเซีย ขณะที่ลิทัวเนียและโปแลนด์ที่อยู่ใกล้ๆ กัน มีพรมแดนรายล้อมดินแดนผืนเล็กๆ ของรัสเซียที่มีชื่อว่าคาลินินกราด จากการที่พวกเขาเป็นสมาชิกของนาโต้ ในทางทฤษฎีแล้วพวกเขาจึงเป็นเหมือนหัวสะพานสำหรับให้ฝ่ายตะวันตกใช้ ในเวลาที่จะทำการรุกรานรัสเซีย ถ้าหากฝ่ายตะวันตกต้องการทำเช่นนั้น ในทางกลับกัน ด้วยตรรกะอย่างเดียวกันนี้ กองทัพขนาดเล็กจิ๋วของสาธารณรัฐทั้ง 3 ก็อาจถูกกองทัพรัสเซียที่เหนือชั้นกว่ากันเยอะ พิชิตได้อย่างง่ายดาย และนั่นจะทำให้ชาติสมาชิกนาโต้อื่นๆ ต้องตัดสินใจว่าจะเข้าต่อกรกับรัสเซียหรือไม่และเข้าต่อกรในลักษณะไหน ในเมื่อรัสเซียโจมตีเพื่อนสมาชิกของพวกตนเช่นนี้แล้ว

ภายหลังจากรัสเซียเข้าไปแทรกแซงในยูเครนตะวันออก ซึ่งเท่ากับเป็นการสาธิตให้เห็นทั้งความมุ่งมั่นตั้งใจและความสามารถของมอสโกในการเข้าสู้รบทำสงครามลูกผสมเพื่อเล่นงานรัฐเพื่อนบ้านรายหนึ่งในยุโรปแล้ว พวกชาติมหาอำนาจนาโต้ก็ตัดสินใจที่จะเพิ่มการปรากฏตัวของกองกำลังส่วนหน้าของทางองค์การในพื้นที่แถบบอลติก จากการประชุมซัมมิตที่กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ เมื่อเดือนมิถุนายน 2016 ชาติสมาชิกนาโต้ตกลงให้จัดตั้งกองทหารระดับกองพันเสริมกำลังและมีทหารที่มาจากหลายๆ ชาติ (reinforced multinational battalion) จำนวน 4 กองพัน โดยให้ไปประจำการในโปแลนด์และ 3 สาธารณรัฐบอลติก รัสเซียมองเรื่องนี้ว่ามันคือสัญญาณเตือนภัยแสดงถึงอันตรายของการละเมิดคำมั่นสัญญาที่ฝ่ายตะวันตกให้ไว้กับมอสโกภายหลังการสิ้นสุดของสงครามเย็น ที่ว่า จะไม่มีกองกำลังนาโต้ใดๆ ไปตั้งประจำการอย่างถาวรในดินแดนของอดีตสหภาพโซเวียต ทางฝ่ายนาโต้พยายามเบี่ยงเบนการต่อว่าต่อขานเช่นนี้ของฝ่ายรัสเซีย ด้วยการยืนกรานว่าเนื่องจากทั้ง 4 กองพันนี้จะหมุนเวียนเข้าๆ ออกๆ จากภูมิภาคดังกล่าว ดังนั้นจึงไม่อาจถือได้ว่านี่เป็นการเข้าไปประจำการอย่าง “ถาวร” แต่ถึงอย่างไรเมื่อพิจารณาตามทัศนะมุมมองของมอสโกแล้ว ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ของนาโต้ถือเป็นภัยคุกคามอันร้ายแรงอย่างหนึ่งต่อความมั่นคงของรัสเซีย และด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องชอบธรรมสมเหตุสมผลที่จะรัสเซียจะชุมนุมกำลังทหารของตนในจำนวนทัดเทียมกัน ในพื้นที่ใกล้ๆ อาณาบริเวณดังกล่าว

นอกเหนือจากอันตรายอันมองเห็นได้ชัดเจนของการที่ทั้งนาโต้และรัสเซียต่างฝ่ายต่างสร้างสมกำลังทหารดังกล่าวนี้แล้ว ความเสี่ยงที่เพิ่มเติมขึ้นมาอีก ก็คือการที่พวกเขาต่างฝ่ายต่างดำเนินการ “ฝึกซ้อม” ทางทหาร โดยบ่อยครั้งกระทำอยู่ในพื้นที่ประชิดใกล้เคียงกันและกันด้วย ตัวอย่างเช่น เมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว นาโต้จัดการซ้อมรบที่ใช้ชื่อรหัสว่า “อนาคอนดา 2016” (Anaconda 2016) ในโปแลนด์และลิทัวเนีย การซ้อมรบคราวนั้นถือว่าเป็นการเคลื่อนพลในลักษณะเช่นนี้ครั้งใหญ่โตที่สุดในภูมิภาคแถบนี้นับตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลงเป็นต้นมาทีเดียวนอกจากนั้นส่วนหนึ่งของการฝึกซ้อมคราวนั้น กองกำลังนาโต้ยังได้เคลื่อนจากโปแลนด์ข้ามไปยังลิทัวเนีย นี่ก็เป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความสามารถของพวกเขาที่จะเข้าปิดล้อมดินแดนคาลินินกราด ซึ่งย่อมเป็นสาเหตุทำให้เกิดความวิตกอย่างล้ำลึกขึ้นในมอสโก ไม่เพียงเท่านั้น ในระหว่างการซ้อมรบทางนาวีที่เกี่ยวข้องกันของนาโต้ ในบริเวณทะเลบอลติก ปรากฏว่าเครื่องบินรัสเซียหลายลำได้บินเฉียดห่างเพียงไม่กี่ฟุตจากเรือรบอเมริกันที่ชื่อ ยูเอสเอส โดนัลด์ คุก (USS Donald Cook) จนเกือบจะกลายเป็นการยั่วยุให้เกิดเหตุการณ์ยิงต่อสู้กัน ซึ่งอาจเป็นชนวนนำไปสู่การประจันหน้ากันอย่างเป็นอันตรายยิ่งขึ้น

ทันทีที่ทรัมป์ขึ้นสู่อำนาจแล้ว ปูตินจะผ่อนคลายการกดดันที่เขากำลังกระทำต่อพวกรัฐบอลติกหรือไม่? ทรัมป์จะตกลงเห็นชอบหรือไม่สำหรับการยกเลิกหรือลดขนาดกองกำลังของสหรัฐฯและนาโต้ซึ่งประจำการอยู่ที่นั่นเพื่อแลกเปลี่ยนตอบแทนการโอนอ่อนของฝ่ายรัสเซียในประเด็นปัญหาอื่นๆ? คำถามเช่นนี้จะอยู่ในความคิดของผู้คนจำนวนมากในยุโรปตะวันออกในช่วงหลายๆ เดือนต่อจากนี้ไป มีเหตุผลที่เราจะทำนายคาดการณ์ว่า มันจะมีช่วงระยะเวลาที่ค่อนข้างสงบเรียบร้อยทีเดียว ในระหว่างที่ปูตินทดสอบความมุ่งมั่นตั้งใจของทรัมป์ ในเรื่องที่จะสานความสัมพันธ์อย่างใหม่กับมอสโก ทว่าความเครียดเค้นที่อยู่เบื้องลึกลงไปทั้งหลายจะยังดำรงอยู่ ตราบเท่าที่พวกรัฐบอลติกยังคงเป็นสมาชิกนาโต้และรัสเซียมองเรื่องนี้ว่าคือภัยคุกคามต่อความมั่นคงของตน ดังนั้นจึงควรขีดเส้นใต้ภูมิภาคแถบนี้ว่ามีความเสี่ยงสูงเป็นอันดับ 3 ในบรรดาจุดที่อาจเกิดวิกฤตทั้งหลายของทั่วโลก

ตะวันออกกลาง

ตะวันออกกลางถือเป็นพื้นที่หนึ่งซึ่งอันตรายมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดวิกฤตการณ์มานานแล้ว ตัวอย่างเช่น เมื่อตอนที่ประธานาธิบดีโอบามาขึ้นรับตำแหน่งนั้น เขาตั้งความหวังที่จะยุติเรื่องที่สหรัฐฯเข้าพัวพันทำสงครามอยู่ในอิรักและอัฟกานิสถาน ทว่าจวบจนถึงทุกวันนี้ทหารสหรัฐฯก็ยังคงกำลังสู้รบอยู่ในทั้งสองประเทศ คำถามก็คือ ภาพเช่นนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในระยะหลายๆ เดือนต่อจากนี้?

เมื่อพิจารณาจากการที่ภูมิภาคตะวันออกกลาง มีประวัติศาสตร์อันสลับซับซ้อนยุ่งเหยิง และมีศักยภาพที่จะสร้างเซอร์ไพรซ์อย่างที่ได้เคยสาธิตให้เห็นกันมาหลายครั้งหลายคราแล้ว การทำนายคาดการณ์ใดๆ ก็ตามทีจึงควรที่จะระบุคำเตือนให้ใช้คำทำนายกันอย่างระมัดระวังเอาไว้ด้วย ทรัมป์นั้นสัญญาเรื่อยมาว่าจะเพิ่มระดับการทำสงครามต่อต้านปราบปรามพวกไอซิส (ISIS ชื่อย่ออีกชื่อหนึ่งของกลุ่ม “รัฐอิสลาม” Islamic State หรือ ไอเอส) ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าจำเป็นที่จะต้องระดมเพิ่มกองทหารอเมริกันทั้งอากาศ, เรือ, และบก เข้าประจำการในภูมิภาคแถบนี้ให้มากขึ้นอีก ในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว เขาเคยพูดถึงกลุ่มรัฐอิสลามเอาไว้ว่า “ผมจะบอมบ์พวกมันให้ขี้แตกขี้แตนทีเดียว” ดังนั้นจึงควรคาดหมายว่าจะมีการถล่มโจมตีทางอากาศใส่สถานที่ต่างๆ ซึ่งพวกไอซิสยึดครองอยู่อย่างดุเดือดเข้มข้นยิ่งขึ้น, และนั่นย่อมนำไปสู่การที่พลเรือนจะต้องบาดเจ็บล้มตายสูงขึ้น, มีผู้อพยพพากันกระเสือกกระสนหนีสงคราม, และเกิดการปะทะกันอย่างดุเดือดยิ่งขึ้นระหว่างชาวชีอะห์กับชาวสุหนี่ ในขณะที่ไอซิสต้องคลายการควบคุมดินแดนในทางกายภาพ และหวนกลับไปทำสงครามในสไตล์สงครามจรยุทธ์ เป็นที่แน่ใจได้เลยว่าพวกเขาจะต้องตอบโต้แสดงออกด้วยการโจมตีแบบผู้ก่อการร้ายเพิ่มมากขึ้น โดยมุ่งที่พวกเป้าหมาย “อ่อน” (soft) ซึ่งก็คือเป้าหมายที่เป็นพลเรือนทั้งหลายในประเทศที่อยู่ใกล้เคียงอย่างอิรัก, จอร์แดน, และตุรกี รวมทั้งในสถานที่ซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปด้วย ไม่มีใครทราบหรอกว่าเรื่องทั้งหมดนี้จะออกมาอย่างไร แต่ก็อย่าได้ประหลาดใจเลยถ้าหากความรุนแรงของผู้ก่อการร้ายมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น และเป็นอีกครั้งหนึ่งซึ่งวอชิงตันค้นพบว่าตนเองกำลังถูกดึงลากลงลึกไปทุกที ในหล่มโคลนอันกว้างขวางไร้จุดสิ้นสุดของภูมิภาคมหาตะวันออกกลาง (Greater Middle East) และแอฟริกาเหนือ

แน่นอนทีเดียว คำถามซึ่งมีความสำคัญยิ่งกว่าข้ออื่นใดก็คือ โดนัลด์ ทรัมป์ จะประพฤติปฏิบัติอย่างไรต่ออิหร่าน เขากล่าวย้ำครั้งแล้วครั้งเล่าว่าเขาคัดค้านข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ลงนามโดยสหรัฐฯ, สหภาพยุโรป, รัสเซีย, และจีน พร้อมกับยืนกรานว่าถ้าเขาไม่ฉีกข้อตกลงนี้ทิ้งไปเลย ก็จะต้องให้มีการเปิดเจรจาทำข้อตกลงนี้กันใหม่ ทว่ามันยากเหลือเกินที่จะจินตนาการว่าการเจรจากันใหม่จะเกิดขึ้นมาได้ ในเมื่อผู้ร่วมลงนามรายอื่นๆ ต่างแสดงความพออกพอใจต่อข้อตกลงกันทั้งนั้น และสาละวนหาทางทำธุรกิจกับอิหร่าน ดังนั้นการเปิดเจรจากันใหม่ใดๆ ก็จะต้องเดินหน้าไปโดยปราศจากฝ่ายต่างๆ เหล่านี้ ขณะเดียวกัน แม้กระทั่งทางฝ่ายสหรัฐฯเอง ก็มีนักยุทธศาสตร์จำนวนมากที่มองเห็นคุณค่าของข้อตกลงฉบับนี้ เนื่องจากมีเนื้อหาลิดรอนทางเลือกในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านเป็นเวลาอย่างน้อยที่สุด 10 ปี ดังนั้นจึงดูไม่น่าเป็นไปได้ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงนิวเคลียร์ฉบับนี้

ในอีกด้านหนึ่ง ทรัมป์ยังอาจถูกกดดันจากพวกผู้ร่วมงานใกล้ชิดของเขา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากบุคคลที่เขาเลือกให้เป็นที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งก็คือ ไมเคิล ฟลินน์ (Michael Flynn) นายทหารปลดเกษียณยศพลโท ผู้ขึ้นชื่อลือชาในเรื่องความเกลียดกลัวอิหร่าน และการพูดจาโผงผาง) ให้หาทางเล่นงานอิหร่านจากด้านอื่นๆ เรื่องนี้อาจเกิดขึ้นมาได้ในรูปแบบต่างๆ กัน เป็นต้นว่า การยกระดับมาตรการลงโทษคว่ำบาตรอิหร่าน, การเพิ่มความช่วยเหลือที่ให้แก่ซาอุดีอาระเบียในสงครามที่ซาอุดีอาระเบียมุ่งปราบปรามชนกลุ่มน้อยชาวฮูตีในเยเมนซึ่งหนุนหลังโดยอิหร่าน, หรือการโจมตีเล่นงานพวกตัวแทนของอิหร่านในตะวันออกกลาง ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการกระทำแบบนี้จะเร่งให้เตหะรานทำการเคลื่อนไหวตอบโต้ และจากตรงนั้นเองวงจรของการไต่ระดับสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ก็อาจนำไปยังทิศทางต่างๆ จำนวนหนึ่ง ทว่าทั้งหมดล้วนแต่มีอันตรายมาก เป็นต้นว่า การเข้าปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ, อิสราเอล, หรือซาอุดีอาระเบีย ดังนั้นเราจึงควรทำเครื่องหมายระบุให้ภูมิภาคนี้เป็น 1 ใน 4 พื้นที่ซึ่งมีความเสี่ยงจะเกิดวิกฤต และถอนหายใจลึกๆ สักเฮือกหนึ่ง

เฝ้าจับตามองให้ดี

เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม ในขณะที่โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่ง นาฬิกาจะพรักพร้อมเดินติ๊กต๊อกในแต่ละภูมิภาคที่มีความเสี่ยงสูงเหล่านี้ ไม่มีใครทราบว่าแห่งไหนจะเป็นแห่งแรกที่ปะทุขึ้นมา หรือจะเกิดอะไรขึ้นบ้างเมื่อมันปะทุขึ้นมาจริงๆ แล้ว ทว่าหากเราเกิดสามารถหลบหลีกหนีพ้นไปได้อย่างน้อยสักแห่งหนึ่งหรือกระทั่งมากกว่านั้นอีก ก็อย่าเพิ่งเกิดความไว้วางใจขึ้นมาว่า จะไม่มีวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศครั้งใหญ่ๆ เกิดขึ้นในอนาคตอันไม่ไกลจากนี้อย่างแน่นอนแล้ว

เมื่อพิจารณาถึงส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องแล้ว เป็นเรื่องจำเป็นทีเดียวที่เราจะต้องคอยเฝ้าภูมิภาคทุกๆ แห่งเหล่านี้อย่างใกล้ชิด เพื่อมองหาสัญญาณของสิ่งที่อาจจุดชนวนให้เกิดมหาหายนะภัยอันร้ายแรงใหญ่โต ตลอดจนเพื่อมองหาสัญญาณของการตอบโต้อย่างรุนแรงเกินเหตุตามแบบฉบับชาวทรัมป์ (และเมื่อถึงตอนนั้น ก็ได้เวลาที่จะลุกขึ้นมาส่งเสียงประท้วงคัดค้านกันให้ดังๆ) การคอยฉายไฟสปอตไลต์ส่องดูจุดอันตรายที่อาจก่อให้เกิดวิกฤตทั้ง 4 แห่งเหล่านี้ อาจจะเป็นงานที่ไม่ได้ใหญ่โตเอิกเกริกอะไรมากมาย แต่อย่างน้อยที่สุดมันก็เป็นสิ่งที่เราสามารถกระทำได้ เพื่อพยายามหลีกเลี่ยงให้พ้นจากวันโลกาวินาศ

ไมเคิล ที. แคลร์ เป็นอาจารย์ทางด้านการศึกษาสันติภาพและความมั่นคงของโลก (peace and world security studies) อยู่ที่ วิทยาลัยแฮมป์เชียร์ (Hampshire College) เป็นผู้เขียนบทความให้เว็บไซต์ ทอมดิสแพตช์ (www.tomdispatch.com) อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งเป็นผู้เขียนหนังสือหลายเล่ม โดยเล่มล่าสุดคือเรื่อง The Race for What's Left นอกจากนั้นภาพยนตร์สารคดีที่สร้างขึ้นโดยอิงอาศัยหนังสือเรื่อง Blood and Oil ของเขา สามารถหาได้ที่มูลนิธิ มีเดีย เอยูเคชั่น ฟาวน์เดชั่น (Media Education Foundation) สามารถติดตามเขาทางทวิตเตอร์ได้ที่ Twitter at @mklare1.

(ข้อเขียนนี้เก็บความจากต้นฉบับภาษาอังกฤษใน ทอมดิสแพตช์ http://www.tomdispatch.com/)


กำลังโหลดความคิดเห็น