xs
xsm
sm
md
lg

‘ฟินเทค’บูมเปรี้ยงปร้างพาให้‘จีน’โจนเข้าสู่ ‘สังคมไม่ใช้เงินสด’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โจฮัน ไนลันเดอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

‘China going cashless thanks to fintech boom
By Johan Nylander
30/12/2016

ธุรกิจให้บริการทางการเงินด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยีใหม่ๆ กำลังเติบโตขยายตัวด้วยความรวดเร็วอย่างเหลือเชื่อในแดนมังกร ผู้บริโภคชาวจีนกำลังใช้เงินสดน้อยลง และยังคงไม่ค่อยใช่บัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต แต่กระโจนพรวดข้ามไปสู่การชำระเงินโดยใช้โทรศัพท์มือถือเลยทีเดียว นอกจากนั้นยังกำลังใช้มือถือในการทำธุรกรรมทางการเงินอื่นๆ อีกมากมาย การเฟื่องฟูอย่างพุ่งพรวดของ “ฟินเทค” เช่นนี้ เป็นการสร้างแรงบีบคั้นกดดันหนักหน่วงต่อพวกธนาคารแบบเดิมๆ

ขณะยืนอยู่ในแถวรอซื้อกาแฟที่ร้านสตาร์บัคแห่งหนึ่งในย่านดาวน์ทาวน์ของเมืองเซินเจิ้น จู่ๆ ผมก็เกิดตระหนักขึ้นมาว่าคนที่ยืนอยู่ข้างหน้าผมนั้นไม่มีใครเลยสักคนที่ควักเงินสดออกมาจ่ายค่าสินค้า ไม่ใช่ครับ พวกเขาก็ไม่ได้จ่ายด้วยบัตรเครดิตแต่อย่างใด ในความเป็นจริงแล้ว ผมมองไม่เห็นลูกค้าสักคนเดียวที่กำลังถือกระเป๋าสตางค์ในเวลาที่พวกเขาชำระเงิน ตรงกันข้าม พวกเขาเพียงแค่ยกโทรศัพท์มือถือของพวกเขาไปอยู่เหนือเครื่องอ่าน จากนั้นก็มีเสียง “บีฟ” เป็นอันเรียบร้อย ลาเต้แก้วนั้นเป็นของพวกเขาแล้ว

“ลูกค้าของร้าน แทบไม่มีใครเลยที่ยังใช้เงินสดกันอยู่” ลิลี่ หลี่ (Lily Li) ผู้จัดการร้านกาแฟแห่งนี้กล่าวยืนยัน พร้อมกับพูดต่อไปว่า กว่า 80% ของการชำระเงินทั้งหมดในร้านกาแฟนี้ เป็นการจ่ายผ่านโทรศัพท์มือถือ

ทว่ามันไม่ใช่แค่เครือข่ายร้านค้าระดับโลกอย่างสตาร์บัคเท่านั้นหรอกครับที่เสนอบริการชำระเงินด้วยอุปกรณ์เคลื่อนที่ หรือ “เอ็ม-เพย์เมนต์” ในเซินเจิ้น หนึ่งในนครที่มีเทคโนโลยีก้าวไกลที่สุดของประเทศจีนแห่งนี้ เพียงแค่เดินออกไปยังริมถนนสายนั้นเอง ผู้หญิง 2 คนกำลังขายบะหมี่จากแผงเล็กๆ ในช่วงชั่วโมงเร่งรีบยามเช้า ท่ามกลางไอน้ำเดือดที่ลอยโขมงขึ้นมาจากหม้อต้มใบใหญ่ และกลิ่นของเครื่องเทศเผ็ดร้อน ผมสามารถได้ยินเสียงดังบีฟของมือถือที่กำลังสแกนผ่านเครื่องอ่านคิวอาร์โค้ด (QR code) ของแผงแห่งนี้อยู่เป็นระยะ

ขณะที่ในประเทศตะวันตกจำนวนมาก การชำระเงินในระบบดิจิตอลส่วนใหญ่ทีเดียวเป็นการจ่ายด้วยบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต แต่สำหรับพวกลูกค้าในประเทศจีนแล้ว พวกเขากระโจนพรวดจากการจ่ายด้วยเงินสด ข้ามไปสู่การจ่ายด้วยมือถือโดยตรงเลย

ประเทศนี้มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนถึงกว่า 710 ล้านราย มากกว่าผู้ใช้ในสหรัฐฯและยุโรปรวมกันเสียอีก และปรากฏว่าอัตราส่วนของการใช้ประโยชน์ด้วยการชำระเงินทางออนไลน์ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่นั้นอยู่ในระดับ 57.7% พูดกันเป็นภาษาง่ายๆ ก็คือ ในจำนวนผู้คนที่ออนไลน์ใช้อินเทอร์เน็ตกันนั้น กว่าครึ่งหนึ่งกำลังใช้สมาร์ทโฟนของพวกเขาชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ โดยส่วนใหญ่ที่สุดชำระผ่านบริการอาลีเพย์ (Alipay) ของค่ายอาลีบาบา หรือไม่ก็ใช้บริการของวีแชต (WeChat) ทั้งนี้ตามรายงานที่นำออกเผยแพร่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2016 ของบริษัทที่ปรึกษา เอิร์นสต์ แอนด์ ยัง (Ernst & Young) และ ดีบีเอส (DBS) ธนาคารใหญ่ของสิงคโปร์ [1]

“ผมจำไม่ค่อยได้เสียแล้วว่าครั้งสุดท้ายที่ผมใช้กระเป๋าสตางค์นะมันเมื่อไหร่กันแน่” ม่อเฟย เฉิน (Mofei Chen) กล่าว เขาเป็นผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ มันนีย์ บาซาร์ (Money Bazaar) แพลตฟอร์มเพื่อการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแบบเพียร์ทูเพียร์ (peer-to-peer currency exchange platform)

เขาเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ประกอบการรุ่นใหม่จำนวนมาก ในอุตสาหกรรมบริการทางการเงินระบบดิจิตอลของจีน ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาเดินหน้าไปอย่างอึกทึกครึกโครม ทั้งนี้รายงานของเอิร์นสต์แอนด์ยัง/ดีบีเอส ฉบับที่อ้างถึงข้างต้นระบุว่า จีนได้กระโจนพรวดไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งกลายเป็นศูนย์กลางแห่งการคิดค้นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีด้านการเงิน หรือ “ฟินเทค” (financial technology หรือ fintech)และการนำเอานวัตกรรมด้านนี้มาประยุกต์ใช้ไปแล้ว อย่างชนิดไร้ข้อโต้แย้งใดๆ โดยกำลังแซงหน้าทั้งลอนดอน, นิวยอร์ก, ซิลิคอนแวลลีย์, สิงคโปร์, ฮ่องกง, ตลอดจนศูนย์ฟินเทคระดับโลกแห่งอื่นๆ อย่างชนิดทิ้งห่างไปไกลโข

“ชาวต่างประเทศน้อยคนนักที่ตระหนักรับรู้ว่า ฟีเจอร์ในการชำระเงินอย่างใหม่ๆ และบริการทางการเงินแบบโมบายล์ในประเทศจีนนั้น จริงๆ แล้วมันพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและก้าวไกลแค่ไหนแล้ว” เฉินบอก

ความเป็นจริงในขณะนี้มีอยู่ว่า “ยูนิคอร์น” (unicorn) ซึ่งหมายถึงบริษัทระดับสตาร์ตอัปที่มีมูลค่าเกินกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯนั้น เมื่อดูกันที่ยูนิคอร์นทางด้านฟินเทคแล้ว ปรากฏว่าพวกที่มีมูลค่ามากที่สุดของโลก 4 แห่งแรกล้วนแต่เป็นบริษัทสตาร์ตอัปสัญชาติจีน โดยแห่งใหญ่ที่สุดได้แก่ แอนต์ ไฟแนนเชียล (Ant Financial) ซึ่งเป็นกิจการด้านอีคอมเมิร์ซของยักษ์ใหญ่อาลีบาบา และมีมูลค่าในระดับ 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับอันดับ 2 คือ ลูแฟกซ์ (Lufax) กิจการปล่อยกู้แบบเพียร์ทูเพียร์ ที่ได้รับการตีราคาว่ามีมูลค่า 18,500 ล้านดอลลาร์ จากนั้นจึงตามมาด้วย เจดี ไฟแนนซ์ (JD Finance) กิจการร่วมทุนระหว่าง เจดี เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ กับ เทนเซนต์ (Tencent) ยักษ์ใหญ่ทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีมูลค่า 7,000 ล้านดอลลาร์ แล้วอันดับ 4 จึงเป็น Qufenqi กิจการชำระเงินแบบผ่อนเป็นงวด ที่มีมูลค่า 5,900 ล้านดอลลาร์

จีนยังเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของโลกสำหรับบิตคอยน์ (Bitcoin) [2] โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2016 ธุรกรรมของการใช้สกุลเงินดิจิตอลนี้ถึงราว 42% ทีเดียวเกิดขึ้นในแดนมังกร ทั้งนี้ตามรายงานของ ไชนาไลซิส (Chainalysis)

การพุ่งพรวดขึ้นมาอย่างแรงและเร็วของบริการฟินเทคต่างๆ เช่นนี้ กำลังเพิ่มเรื่องปวดหัวสาหัสขึ้นเรื่อยๆ ให้แก่บรรดาธนาคารแบบเดิมๆ ซึ่งถูกทิ้งห่างอย่างเจ็บปวดเอาไว้เบื้องหลัง ในการแข่งขันกันเพื่อช่วงชิงธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และวิธีชำระเงินรูปแบบใหม่ๆ ทั้งนี้ธุรกิจใหม่ๆ เหล่านี้ พวกแบงก์แบบเก่าๆ ไม่ค่อยได้มีเอี่ยว พวกมันถูกครอบงำโดยประดายักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ต เป็นต้นว่า อาลีเพย์ ของอาลีบาบา ซึ่งกวาดมาร์เก็ตแชร์ไปได้มากกว่า 50% ทีเดียว รายอื่นที่รองลงมา คือ วีแชต วอลเล็ต (WeChat Wallet) ของ เทนเซนต์ ที่อิงอยู่กับบริการเมสเซจจิ้งตอบโต้กันได้ทันทีทันควันอันได้รับความนิยมอย่างสูงของตน (Tencent QQ), และ ไป่ตู้ (Baidu) ซึ่งเน้นเด่นเรื่องเสิร์ชเอนจิ้น ทำนองเดียวกับกูเกิล

บริษัทเทคโนโลยีรายยักษ์เหล่านี้ยังต่างกำลังทุ่มลงทุนอย่างหนักในบริษัทสตาร์ตอัปรายย่อมๆ ลงมา เพื่อเกาะติดเข้าให้ถึงบริการทางการเงินใหม่ๆ รุ่นต่อๆ ไป เป็นต้นว่า เทคโนโลยีบล็อกเชน (blockchain technology) ที่ใช้โดยบิตคอยน์, และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence)

ยักษ์ใหญ่สัญชาติจีนเหล่านี้ยังมีความได้เปรียบ จากการที่รัฐบาลตั้งข้อจำกัดควบคุมต่างๆ ทำให้คู่แข่งขันจากต่างชาติเข้ามาในตลาดแดนมังกรได้อย่างจำกัด ทว่าเวลาเดียวกันนั้น แอปป์ชำระเงินของบริษัทจีนกลับกำลังแพร่หลายออกไปในต่างแดน หลักๆ เลยก็ในตลาดเอเชียอื่นๆ เป็นต้นว่า ฮ่องกง และญี่ปุ่น

ในอีกด้านหนึ่ง ระบบการธนาคารของจีนยังอยู่ในสภาพค่อนข้างด้อยพัฒนา ประชากรวัยผู้ใหญ่ของจีนทุก 1 ใน 5 ยังคงไม่มีบัญชีธนาคาร ขณะที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมถึงราว 80% ทีเดียว ยังคงไม่ได้รับการบริการจากพวกแบงก์อย่างที่ควรจะเป็น [3] ตรงกันข้ามกับพวกกิจการการเงินทางเลือกรายใหม่ๆ ซึ่งสามารถเสนอบริการต่างๆ ที่ดีกว่ากันมากทีเดียว รวมทั้งสร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้า, คิดค่าธรรมเนียมต่ำกว่า, และติดกรอบระบบราชการน้อยกว่า

“ผมแทบไม่ได้ใช้บัญชีธนาคารตามปกติของผมแล้ว เงินเดือนของผมเข้ามาทางอาลีเพย์ และผมก็จับจ่ายใช้สอยออกไปมากที่สุดโดยใช้แอปป์ตัวนี้เช่นกัน พวกเขายังเสนออัตราดอกเบี้ยที่ดีกว่าพวกแบงก์ธรรมดาด้วย” เป็นคำกล่าวของ แอลเลน อี๋ว์ (Allen Yu) ซึ่งจบปริญญาเอกทางคณิตศาสตร์ และกำลังดำเนินกิจการที่ใช้ชื่อว่า เอ็มเจแอล (MJL) ซึ่งให้บริการเลือกสรรหุ้นที่ควรซื้อแก่ลูกค้า โดยอิงอยู่กับการวิเคราะห์เชิงปริมาณ “ถ้าผมต้องการกู้ยืมเงิน ผมก็จะใช้แพลตฟอร์มแบบเพียร์ทูเพียร์ ไม่ใช่ไปกู้แบงก์”

เอเชียไทมส์ไปสัมภาษณ์ เฉิน และ อี๋ว์ ที่ “ซิมพลี เวิร์ก” (SimplyWork) [4] ออฟฟิศสำนักงานแบบหลายๆ รายเข้ามาใช้ร่วมกัน ซึ่งตั้งอยู่ภายในหนึ่งในอุทยานไฮเทคบรรยากาศคึกคักของเซินเจิ้น ที่นี่พวกบริษัทสตาร์ตอัปด้านฟินเทค ผสมผเสกลมกลืนเข้ากับประดากิจการด้านอีคอมเมิร์ซและพวกกองทุนเวนเจอร์แคปิตอล เราสามารถมองเห็นผู้ประกอบการวัยหนุ่มสาวหลายรายกำลังเอนตัวอยู่บนโซฟาโดยที่มีแล็ปท็อปวางอยู่ตรงพุง ขณะที่คนอื่นๆ กำลังสนทนากันอย่างมีชีวิตชีวาภายในกลุ่มเล็กๆ บริเวณพื้นเกลื่อนไปด้วยของเล่นและสเก็ตบอร์ด ส่วนพวกสุนัขเลี้ยงและแมวเลี้ยงขนฟูปุกปุยกำลังเล่นกันอยู่ใต้โต๊ะ บรรยากาศเต็มไปด้วยความกระตือรือร้นและความริเริ่มสร้างสรรค์

“พวกกิจการเทคโนโลยีกำลังบูม เทคโนโลยีทางการเงินได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในทุกๆ ด้านของชีวิตไปแล้ว” อี๋ว์ บอก

กระนั้น เหล่าบริษัทเทคโนโลยีด้านการเงินของจีนยังคงเผชิญปัญหาท้าทายเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับพวกผู้ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ เป็นต้นว่า รัฐบาลกำลังเข้าควบคุมอินเทอร์เน็ตแน่นหนาขึ้นเรื่อยๆ โดยที่มีการเซนเซอร์และการควบคุมตัวบุคคลเพิ่มขึ้นมากในระยะไม่กี่ปีหลังมานี้ นับเป็นการคุกคามนวัตกรรมและการพัฒนาไอเดียใหม่ๆ [5] ทั้งนี้ต้องขอบคุณขบวนแถวของบริการทางการเงินดิจิตอลรูปแบบใหม่ๆ เหล่านี้ด้วย เพราะทำให้เป็นเรื่องสะดวกง่ายดายขึ้นมากสำหรับพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่จะทำการสอดแนมก้าวก่ายล่วงล้ำอย่างใหญ่โตมโหฬาร

สำนักข่าวแฟคต์ไวร์ (FactWire) ที่ตั้งฐานอยู่ในฮ่องกง เปิดเผยในเดือนธันวาคมว่า แอปป์ชำระเงินผ่านมือถือของจีน 5 เจ้า ได้แก่ วีแชต, เถาเป่า (Taobao), เถาเป่า เวิลด์ (Taobao World), อาลีเพย์, และ ทีมอลล์ (Tmall) ล้วนแต่มีการบันทึกข้อมูลข่าวสารอันอ่อนไหวที่ผู้ใช้เก็บเอาไว้ในอุปกรณ์มือถือของพวกเขา และสามารถใช้เพื่อการแกะรอยและการติดตามกิจกรรมส่วนบุคคลต่างๆ ได้ [6]

ในเวลาเดียวกัน พวกทุจริตคดโกงก็กำลังเบียดแทรกเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้ เมื่อปีที่แล้ว มีกิจการปล่อยกู้แบบเพียร์ทูเพียร์ราว 900 รายทีเดียวซึ่งเจ๊งหงายท้องไปในประเทศจีน โดยที่เจ้าของบางรายคือผู้ที่เชิดเงินหนีหาย [7] พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบได้ดำเนินการปราบปรามกวาดล้างไปเสียหลายราย และนำเอากฎระเบียบอันเข้มงวดยิ่งขึ้นเข้ามาใช้ เป็นต้นว่า ห้ามใช้แพลตฟอร์ตบิตคอยน์ เพื่อหยุดยั้งไม่ให้มีการนำเอาสกุลเงินตราดิจิตอลนี้มาใช้เพื่อการลักลอบขนเงิน

นอกจากนั้น ถึงแม้มีเงินทุนเวนเตอร์แคปิตอลไหลเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมนี้ แต่เฉินบอกว่าการโน้มน้าวชักชวนพวกนักลงทุนกำลังกลายเป็นเรื่องยากลำบากมากขึ้นกว่าในอดีตเสียแล้ว “พวกเขาแสดงท่าทียึดหลักเหตุผลมากขึ้นในเวลานี้ เงินทุนแบบชอบเสี่ยงจำนวนมากทีเดียวได้สูญหายไปแล้วระหว่างช่วงตลาดหุ้นตกฮวบเมื่อปีที่แล้ว” เขากล่าว

นอกจากปัญหาต่างๆ เหล่านี้แล้ว อุปสรรคใหญ่อีกประการหนึ่งก็คือเทคโนโลยีนี้ยังไม่ใช่ว่าไว้วางใจได้เสมอไป ระหว่างการสาธิตให้เห็นประสิทธิภาพของแอปป์ชำระเงินผ่านมือถือ เฉินบอกว่าจะจ่ายเงินซื้อกาแฟให้ผมถ้วยหนึ่งจากเครื่องขายกาแฟอัตโนมัติเครื่องหนึ่ง ปรากฏว่าหลังจากจ่ายเงินด้วยโทรศัพท์มือถือของเขาและเลือกกดปุ่มเอากาแฟเอสเปรสโซแล้ว สิ่งที่ออกมากลับไม่ใช่กาแฟ หากแต่เป็นนม

“โอ้ นี่น่าอับอายขายหน้ามาก” เขากล่าว แต่ก็รีบหาคำอธิบาย “ดูนี่สิ เครื่องขายนี่มาจากเยอรมนีนั่นเอง!”

ข้อเท็จจริงน่ารู้เกี่ยวกับฟินเทคในประเทศจีน

**เวลานี้จีนเป็นบ้านเกิดของ “ยูนิคอร์น” (บริษัทเทคโนโลยีที่พวกนักลงทุนตีมูลค่าสูงเกิน 1,000 ล้านดอลลาร์) 8 ราย จากยูนิคอร์นฟินเทคในทั่วโลกซึ่งมีทั้งสิ้น 27 ราย

**ณ เดือนมิถุนายน 2016 จีนมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ 710 ล้านราย ทำให้อัตราส่วนการเข้าถึงออนไลน์อยู่ที่ 51.7% จากระดับ 1.8% ในปี 2000 และ 8.5% ในปี 2005 ด้วยฝีก้าวเช่นนี้ อีกไม่ช้าไม่นานจีนก็จะไล่ทันอเมริกาเหนือซึ่งอัตราส่วนการเข้าถึงออนไลน์อยู่ที่ 89% และยุโรปซึ่งอยู่ที่ 73.9%

**จีนเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซด้านค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดและพัฒนาที่สุดของโลกไปเรียบร้อยแล้ว โดยมีส่วนอยู่ถึง 47% ของยอดขายค้าปลีกผ่านช่องทางดิจิตอลของทั่วโลก ทั้งนี้เป็นผลจากการที่มีตลาดค้าปลีกภายในประเทศอันใหญ่โตมโหฬาร ทว่าระบบเศรษฐกิจดิจิตอลอยู่ในสภาพปิด ไม่ค่อยต้อนรับคู่แข่งขันจากภายนอก

**โทรศัพท์มือถือสมาร์ตโฟนกำลังกลายเป็นอุปกรณ์เข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ใช้กันอย่างแพร่หลายกว้างขวางทั่วถึง โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2016 มีผู้คนจำนวน 656 ล้านคน หรือราว 92.5% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในแดนมังกร กำลังเข้าออนไลน์ผ่านอุปกรณ์เชื่อมต่อประเภทนี้ ทั้งนี้โดยมีแรงขับด้านจากการพัฒนาเครือข่ายให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแบบไร้สายได้ในเมืองใหญ่ๆ ทั้งหลาย ในลักษณะของโครงการ “สมาร์ต ซิตี้” (Smart City) และ “ไวร์เลส ซิตี้” (Wireless City)

**บุคคลที่กำลังชำระเงินในระบบออนไลน์ด้วยอุปกรณ์เคลื่อนที่ ทะลุหลัก 358 ล้านรายในตอนสิ้นปี 2015 เพิ่มขึ้น 64.5% จากช่วงปีก่อนหน้านั้น การพุ่งพรวดเช่นนี้ยังคงเกิดขึ้นทั้งๆ ที่กำลังมีความกังวลกันมากขึ้นเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยของกิจกรรมทางการเงินโมบายล์เหล่านี้ ทั้งนี้อัตราส่วนการใช้ประโยชน์จากการชำระเงินระบบออนไลน์ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่อยู่ที่ 57.7%

**การธนาคารแบบโมบายล์ยังคงขยายตัวอย่างระเบิดเปรี้ยงปร้าง โดยที่มีการทำธุรกรรม 6,300 ล้านครั้ง คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 29.3 ล้านล้านหยวน (4.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในไตรมาสสองของปี 2016


ที่มา: รายงานเรื่อง The Rise of FinTech in China, by Ernst & Young and DBS (https://www.finextra.com/finextra-downloads/newsdocs/china-fintech-lowres.pdf)

หมายเหตุ

[1] ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.finextra.com/finextra-downloads/newsdocs/china-fintech-lowres.pdf
[2] ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.nytimes.com/2016/07/03/business/dealbook/bitcoin-china.html
[3] ดูรายละเอียดได้ที่ https://letstalkpayments.com/china-is-home-to-the-largest-fintech-unicorns-in-the-world/
[4] ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.simplywork.cn/
[5] ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.economist.com/news/briefing/21711902-worrying-implications-its-social-credit-project-china-invents-digital-totalitarian
[6] ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.hongkongfp.com/2016/12/10/five-chinese-mobile-payment-apps-record-users-sensitive-information/
[7] ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.forbes.com/sites/jnylander/2016/03/17/why-chinas-property-rally-has-reached-a-tipping-point-2/#286d257a2e53

โจฮัน ไนลันเดอร์ เป็นผู้สื่อข่าวอิสระชาวสวีเดนที่ตั้งฐานอยู่ในฮ่องกง โดยมุ่งทำข่าวเกี่ยวกับจีนและเอเชีย ผลงานของเขาได้รับการเผยแพร่อยู่บ่อยครั้งทาง ซีเอ็นเอ็น, ฟอร์บส์, เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์, นิกเกอิเอเชียนรีวิว, อัลจาซีรา, เอเชียไทมส์, และ ดาเกนส์ อินดัสตรี (Dagens Industri) หนังสือพิมพ์รายวันทางธุรกิจชั้นนำของสวีเดน เขาจบการศึกษาปริญญาโทเอ็มบีเอจากมหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์ก และเป็นผู้เขียนหนังสือด้านการบริหารที่ได้รับรางวัลมาแล้ว

หมายเหตุผู้แปล
เอเชียไทมส์ยังได้นำเสนอข้อเขียนอีกชิ้นหนึ่งของ โจฮัน ไนลันเดอร์ เช่นเดียวกัน มีเนื้อหาพูดถึงยักษ์ใหญ่การท่องเที่ยวของจีนที่กำลังเล็งจะอาศัยนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการเงินจากบริษัทสตาร์ตอัปแห่งหนึ่งในเมืองเซินเจิ้น เพื่อขยายตลาดเพิ่มรายรับกันอย่างมโหฬาร จึงขอเก็บความนำมาเสนอเพิ่มเติมเอาไว้ในที่นี้:

‘บริษัททัวร์ยักษ์จีนเล็งใช้ ‘ฟินเทค’จาก‘สตาร์ตอัปในเซินเจิ้น’เพื่อขยายกิจการ
โดย โจฮัน ไนลันเดอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

‘China tourism giant eyes fintech boost from Shenzhen startup
By Johan Nylander
30/12/2016

สังคมผู้บริโภคของประเทศจีนเวลานี้กำลังเกิดกระแสพุ่งพรวดขยายตัวใน 2 ด้านหลักๆ ด้วยกัน ได้แก่ การใช้จ่ายซึ่งหนุนหลังโดยสินเชื่อ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ใช้ก่อน จ่ายทีหลัง และดีมานด์ความต้องการที่จะเดินทางท่องเที่ยวในต่างแดน มีบริษัทสตาร์ตอัปด้านฟินเทค (fintech ย่อจาก financial technology เทคโนโลยีทางด้านการเงิน) ซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองเซินเจิ้นรายหนึ่ง เปิดบริการใหม่ที่มุ่งรวม 2 กระแสนี้เข้าด้วยกัน

บริษัทฟินเทครายนี้มีชื่อว่า Lin Bao You (http://www.linbaoyou.com/) เปิดทางให้ผู้บริโภคสามารถจองแพกเกจเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศโดยผ่านออนไลน์ แพกเกจดังกล่าวมีหมดทั้งเที่ยวบินไปกลับ, โรงแรมที่พัก, และการไปชมสถานที่ต่างๆ เที่ยวกันเสร็จสรรพแล้วค่อยมาจ่ายเงินทีหลังโดยผ่อนชำระเป็นรายเดือน

ธุรกิจด้านนี้ทาง Lin Bao You ได้พันธมิตรที่เป็นหนึ่งในบริษัททัวร์รายใหญ่ที่สุดของแดนมังกร นั่นคือ ไชน่า คอมฟอร์ต แทรเวิล กรุ๊ป (China Comfort Travel Group หรือ CCT เว็บไซต์ทางการคือ http://www.cct.cn) ซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงปักกิ่ง

“พฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวในหมู่คนหนุ่มสาวทุกวันนี้ มีความแตกต่างไปจากคนรุ่นก่อนๆ ที่อายุสูงวัยกว่า พวกเขาไม่ต้องการที่จะเก็บหอมรอมริบให้เพียงพอก่อนแล้วค่อยเดินทาง พวกเขาตัดสินใจกันรวดเร็วปรูดปราด และต้องการไปกันตอนนี้เลย” ฌอน กวน (Sean Guan) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Lin Bao You บอก

ตลาดสำหรับบริการต่างๆ ทางด้านฟินเทคกำลังเติบโตขยายตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็ว (ดูรายละเอียดได้ที่ http://ati.ms/WwUyDd) และเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ก็กำลังสร้างความบีบคั้นกดดันต่อพวกแบงก์รุ่นเก่าๆ อย่างมากมายมหาศาล ในเมื่อบรรดาผู้บริโภคต่างหันมาหาวิธีการชำระเงินซึ่งสะดวกสบายกว่า เป็นต้นว่า บริการอาลีเพย์ แบะ วีแชต วอลเล็ต ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังกำลังกู้ยืมเงินผ่านบริการด้านฟินเทคกันอีกด้วย

กวนเล่าว่า Lin Bao You สามารถเข้าถึงเงินทุนเป็นจำนวน 500 ล้านหยวนทีเดียว สำหรับการปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้า

นอกจากบริษัทแห่งใหม่นี้แล้ว เขายังเป็นผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอของ เฉียน ต้า เหริน (Qian Da Ren) บริษัทให้บริการเลือกสรรหุ้นแก่ลูกค้าซึ่งได้รับความนิยมสูงที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศจีน โดยที่มีสมาชิกบอกรับและจ่ายค่าบริการราว 800,000 รายทีเดียวในตอนขึ้นถึงช่วงพีคเมื่อปีที่แล้ว

จากการที่เอเชียไทมส์ไปสัมภาษณ์กวน ณ สำนักงานของ Lin Bao You ซึ่งตั้งอยู่ภายในหนึ่งในอุทยานไฮเทคอันคึกคักของเมืองเซินเจิ้น เขาเล่าว่า CCT ตั้งเป้าที่จะทำรายรับเพิ่มขึ้นถึง 40% ในทันทีที่สามารถให้บริการนี้ผ่านสาขาต่างๆ หลายพันแห่งทั่วประเทศจีน ตลอดจนผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ทางด้านสื่อสังคม ทั้งนี้ CCT มีฐานะเป็นผู้ลงทุนรายหนึ่งใน Lin Bao You ขณะที่ผู้ลงทุนสำคัญอีกรายหนึ่งได้แก่กองทุนเวนเจอร์แคปิตอล Zhong Ye Xing Rong

CCT ในปัจจุบันขายแพกเกจทัวร์ได้ปีละประมาณ 10,000 ล้านหยวน (1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) อยู่แล้ว โดยที่ 54% ของรายรับมาจากทริปในต่างแดน กวนบอก เขากล่าวต่อไปว่า CCT ซึ่งเป็นกิจการหนึ่งในเครือของรัฐวิสาหกิจ เป่ยจิง ทัวริซึม กรุ๊ป (Beijing Tourism Group) มีแผนการจะเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นภายในเวลา 2 ถึง 3 ปีข้างหน้า เอเชียไทมส์ได้ติดต่อสอบถามเรื่องนี้ไปยัง CCT ผ่านทางอีเมล์ แต่ยังไม่ได้รับคำตอบอะไรในเวลาที่นำข้อเขียนชิ้นนี้ออกเผยแพร่

“เราตั้งเป้าไปที่พวกนักเดินทางวัยหนุ่มสาวซึ่งต้องการไลฟ์สไตล์ที่มีคุณภาพ พวกเขามีความสามารถในการใช้จ่าย แต่ก็มีความสามารถในการชำระคืนสินเชื่อด้วย” กวน กล่าว

แล้วจะทำอย่างไรถ้าคนที่ซื้อแพกเกจทัวร์ไปแล้ว เกิดเบี้ยวไม่ยอมจ่ายเงินขึ้นมา? เวลานี้การใช้จ่ายโดยอาศัยสินเชื่อกำลังบูมมากในประเทศจีน จนกระทั่งพวกนักวิเคราะห์หวั่นเกรงกันว่าอาจนำไปสู่ภาวะหนี้สินส่วนบุคคลกระโจนพุ่งทะลุฟ้า สืบเนื่องจากการใช้จ่ายเกินตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนรุ่นหนุ่มสาว

กวนอธิบายว่า เรื่องหนี้เสียเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจอย่างหนึ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่เขากล่าวอย่างมองโลกในแง่ดีต่อไปว่า เรื่องนี้ก็อาจกลายเป็นแหล่งที่มาของรายได้แหล่งหนึ่ง นั่นคือบริษัทสามารถขาย “บัญชีดำ” ของผู้คนที่ไม่ยอมชำระเงินคืนพวกสถาบันการเงิน และในทำนองเดียวกัน เขายังสามารถที่จะขายบัญชีรายชื่อลูกค้าที่มีคุณภาพได้ด้วย

มองกันในระดับโลกแล้ว เวลานี้นักเดินทางระหว่างประเทศทุก 1 ใน 10 คนทีเดียวเป็นผู้ที่มาจากประเทศจีน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจำนวนคนจีนซึ่งเดินทางไปต่างแดน เพิ่มขึ้นมากว่าเท่าตัวเป็นกว่า 120 ล้านคน ทั้งนี้ตามข้อมูลของสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งชาติของจีน (China National Tourist Office) ไม่เพียงเท่านั้น คาดหมายกันว่าตัวเลขนี้ยังจะขยับขึ้นไปเกือบๆ เท่าตัวอีกครั้งภายในปี 2025 นั่นคือไปอยู่ที่ 220 ล้านคน พวกนักท่องเที่ยวจีนเหล่านี้ใช้จ่ายในต่างแดนคิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นราว 215,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปีที่แล้ว สูงขึ้น 53% จากปี 2014 รายงานฉบับหนึ่งของสภาการเดินทางและท่องเที่ยวโลก (World Travel & Tourism Council) ระบุเอาไว้เช่นนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น