xs
xsm
sm
md
lg

InClips : ยุโรปเซ็ง เทเรซา เมย์ ขู่แบล็กเมล “ให้อังกฤษเป็นเกาะสวรรค์หลบภาษี” หอการค้าเยอรมันกร้าว “แดนผู้ดีเลือกที่จะทำตัวเองอ่อนแอ” ปธ.ยุโรปทวีตสวน “พร้อมเจรจาหลังเห็นมาตรา 50”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - หลังจากที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เทเรซา แมย์ ออกแถลงการณ์แผนการจัดการ BREXIT ต่อประชาชนอังกฤษเมื่อวานนี้ (17 ม.ค.) ล่าสุดผู้นำทั่วยุโรป รวมไปถึง โดนัลด์ ทัสค์ ประธานคณะมนตรียุโรปออกมาชี้ว่า Hard BREXIT ส่งผลร้ายต่ออังกฤษมากกว่าการที่ยังคงเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่อไป และทางยุโรปจะเริ่มต้นการเจรจาหลังจากที่ทางลอนดอนได้เริ่มต้นใช้มาตรา 50 แล้ว ในขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงชาติสมาชิกยุโรปต่างตั้งข้อสงสัยในคำมั่นสัญญาของเมย์ ว่าจะทำตามได้ทั้งหมดจริงหรือ โดยเฉพาะในกรอบเงื่อนเวลา และโกลบอล อังกฤษ หรืออังกฤษในเวทีโลกนอกยุโรป ส่วนหอการค้าและอุตสาหกรรมเยอรมันฟันธง การแยกตัวของอังกฤษจากตลาดเดียวยุโรปและสหภาพศุลกากรจะกระทบต่อการขยายตัวทางการค้าระหว่างเยอรมันและอังกฤษอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะอังกฤษเลือกที่จะทำให้ตัวเองอ่อนแอ และปัญหาระบบภาษีอังกฤษทำให้นักการทูตยุโรป และสมาชิกรัฐสภายุโรปประกาศ “อังกฤษแบล็กเมลพันธมิตร ปล่อยให้เกาะอังกฤษกลายเป็นที่หลบภัยทางภาษี”

หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษ รายงานเมื่อวานนี้ (17 ม.ค.) ว่า หลังจากการประกาศแผนการจัดการปัญหา BREXIT ของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เทเรซา เมย์ แล้ว บรรดาผู้นำในสหภาพยุโรป รวมไปถึงชาติสมาชิกทั้ง 27 ประเทศ และบรรดาหอการค้า และนักธุรกิจต่างๆออกมาแสดงควาามพอใจที่รับรู้ถึงสิ่งที่ลอนดอนจะกระทำต่อไป

อย่างไรก็ตาม สื่ออังกฤษชี้ว่า บรรดาคนเหล่านี้ยังมีน้ำเสียงที่แสดงความไม่พอใจต่ออังกฤษที่ได้ลงมติประกาศลาออก ซึ่งต่างออกมาชี้ว่า อังกฤษจะต้องได้รับผลกระทบจาก Hard BREXIT มากกว่าการที่ยังคงอยู่ร่วมเป็นสมาชิกอียูต่อไป ซึ่งประธานคณะมนตรียุโรป โดนัลด์ ทัสค์ ได้กล่าวผ่านทวีตเตอร์ว่า “กระบวนการที่น่าเศร้าต้องเกิดขึ้น ในช่วงเวลาแห่งความสับสนระหว่างความจริงและความฝัน แต่อย่างน้อยเป็นที่น่ายินดีในการประกาศที่ออกมาชัดเจนเกี่ยวกับ BREXIT อียู 27 ชาติที่เป็นหนึ่งเดียวพร้อมที่จะเจรจาหลังจากเริ่มต้นใช้มาตรา 50 แล้ว”

ด้านหอการค้าและอุตสาหกรรมเยอรมนี โฟลกเกอร์ ไทรอาร์ (Volker Treier) ได้ออกมาประกาศที่เป็นทางการน้อยกว่า โดยชี้อย่างตรงไปตรงมาว่า การลาออกของอังกฤษจากตลาดเดียวยุโรปและสหภาพศุลกากร จะส่งกระทบอย่างมากต่อการทำธุรกิจระหว่างอังกฤษและเยอรมัน “โดยที่ไม่ต้องสงสัย Hard BREXIT จะจำกัดโอกาสในการเติบโตของทั้งสองฝั่งช่องแคบ แต่คาดว่าในส่วนของอังกฤษ เชื่อว่าจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจรุนแรงกว่า” ไทรอาร์แถลง และกล่าวต่อว่า “อังกฤษเลือกเองที่จะทำให้ตัวเองมีความอ่อนแอลงในความสามารถการดึงดูดทางธุรกิจ”

เดอะการ์เดียนยังรายงานต่อว่า สำหรับในชาติต่างๆทั่วยุโรปต่างตั้งคำถามถึงความสามารถของเมย์ในการทำตามคำมั่นที่ได้ให้ไว้กับประชาชนอังกฤษ ในการทำให้อังกฤษเป็นชาติการค้าระดับโลก โดยหนึ่งในนั้นคือ Alain Lamassoure สมาชิกรัฐสภายุโรปจากพรรคการเมืองฝรั่งเศสกลางขวาได้กล่าวให้ความเห็นว่า “อังกฤษเลือกที่จะจมตัวเองลง”

โดยเขากล่าวว่า “เป็นที่แน่ชัดว่า ผลประโยชน์ของอังกฤษคือผู้ซื้อร่วม 500 ล้านคนที่อยู่ในยุโรป ไม่ใช่แค่พลังซื้อ 65 ล้านคน กระจุกตัวเฉพาะในอังกฤษอย่างแน่นอน และเมื่อเมย์จำเป็นต้องเจรจาต่อรองทางการค้ากับยักษ์ใหญ่เช่น จีน สิ่งที่เธอจะเสนอให้ได้คือ พลังซื้อ 65 ล้านคนของพลเมืองทั่วเกาะอังกฤษ ซึ่งถือเป็นการฆ่าตัวตายทางธุรกิจและเศรษฐกิจ”

ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลอิตาลีได้แสดงความสงสัยในแถลงการณ์การจัดการ BREXIT ของเมย์ ที่อ้างว่า ต่อไปอังกฤษจะเป็น โกลบัล อังกฤษ หรืออังกฤษในเวทีโลกนอกยุโรป หลังจากการลาออกจากความเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปแล้ว ที่อังกฤษจะยังคงแข็งแกร่งได้ต่อไปหรือ เหมือนเช่นแต่ก่อนในขณะที่ยังคงอยู่ภายใต้ปีกของอียู “ขอให้โชคดีกับการเป็นโกลบอลอังกฤษ” แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่อิตาลีให้ความเห็น

ด้านตัวแทนทีมเจรจา BEXIT ของรัฐสภายุโรปได้กล่าวหาเทเรซา เมย์ ว่าข้อเสนอของเมย์เป็นเสมือนการทำร้ายพลเมืองอังกฤษ โดยในแถลงการณ์ของเมย์ ระบุว่า “เธอไม่เชื่อว่า ยุโรปจะทำร้ายผู้ส่งออกเยอรมัน เกษตรกรชาวฝรั่งเศส และชาวประมงของสเปน ในความพยายามที่จะตอบโต้อังกฤษในข้อตกลงที่ออกมาเพื่อลงโทษ”

อย่างไรก็ตาม เดอะการ์เดียนรายงานว่า Javier Garat ประธานกลุ่มประมงยุโรป Europêche ซึ่งเป็นตัวแทนสมาชิกของชาวประมงจำนวน 80,000 คนทั่วยุโรป ได้ออกมาระบุว่า ข้อตกลงที่มีผลประโยชน์ร่วมนั้นย่อมเป็นสิ่งที่ปรารถนา แต่ทว่าดูเหมือนชาวประมงอังกฤษเลือกที่จะยอมสูญเสียมากกว่าที่เพื่อนชาวประมงจากชาติอื่นๆทั้งหมด หากว่าเกิดสิ่งที่เลวร้ายขึ้นมา”

“เมื่อกล่าวถึงการส่งออก พบว่า 68% ของผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำอังกฤษถูกส่งเข้ามาในยุโรป และส่วนใหญ่จากทั้งหมดมาอยู่ที่สเปน” Garat กล่าว และแถลงต่อว่า “และหากจะมีใครต้องสูญเสียในตลาด คนนั้นจะต้องเป็นอังกฤษ”

ด้าน Thomas Prouza รัฐมนตรียุโรปของสาธารณรัฐเชกได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า “สิ่งที่เมย์ประกาศจะทำให้สำเร็จดูเป็นสิ่งที่น่าท้าทาย” แต่ก็กล่าวเสริมว่า “การค้าเสรีแบบไม่มีข้อจำกัดเท่าที่จะทำได้ ในขณะที่ต้องการควบคุมการเข้าเมืองแบบเบ็ดเสร็จ อยากทราบว่ามีข้อแลกเปลี่ยนอะไรที่อังกฤษยอมแลกกับความต้องการเหล่านี้”

ซึ่ง Prouzaได้ให้สัมภาษณ์กับเดอะการ์เดียนถึงแถลงการณ์ BREXIT ของนายกรัฐมนตรีอังกฤษในวันอังคาร (17 ม.ค.) ว่า “เป็นนโยบายการเมืองภายในประเทศที่ประกาศถึง สิ่งที่อังกฤษจะได้จากโต๊ะการเจรจา โดยไม่อธิบายถึงสิ่งที่ทางอังกฤษจะต้องแลกในการได้สิ่งเหล่านี้”

รัฐมนตรียุโรปของสาธารณรัฐเช็กระบุว่า “ในมือหนึ่ง ดูเหมือนว่าเธอประกาศว่า อังกฤษยังต้องการเป็นส่วนหนึ่งของระบบศุลกากรสหภาพยุโรป แต่ในขณะเดียวกัน เมย์ชี้ว่า เธอต้องการให้อังกฤษมีนโยบายการเจรจาการค้าเป็นของตัวเองต่อประเทศอื่นๆ ทั่วโลก”

และเสริมต่อว่า “และนั่นเป็นสิ่งที่ยาก และอีกทั้งยังไม่ยอมเปิดเผยในรายละเอียดที่สำคัญในการที่จะจัดการต่อสิทธิของพลเมืองยุโรปที่ในขณะนี้อาศัยอยู่ภายในประเทศอังกฤษอย่างไร และข้อตกลงใดที่จะมีการบรรลุเพื่อจะเป็นหลักประกันต่อพลเมืองอังกฤษที่อาศัยอยู่ในประเทศต่างๆ ในยุโรป”

และกล่าวต่อว่า “ผมคาดหวังว่าจะเห็นการออกมาให้รายละเอียดมากกว่านี้เกี่ยวกับสถานภาพของประชาชนชาวยุโรปที่อาศัยและทำงานในอังกฤษซึ่งปัจจุบันนี้ได้ทำการเสียภาษีให้ และเมื่อเร็วๆ นี้เท่าที่จำได้ พบว่ามีข้อเสนอจากบริษัทอังกฤษจำนวนหนึ่งที่ออกมาไม่กี่เดือนมานี้ในการจัดทำรายชื่อชาวต่างชาติที่พวกเขาได้ว่าจ้าง ซึ่งคนเหล่านี้ต่างกังวลไม่เฉพาะว่า อาจจะเกิดอันตรายทางร่างกายจากการถูกลอบทำร้าย แต่ยังอาจส่งผลถึงความมั่นคงทางอาชีพของคนเหล่านั้น ซึ่งบรรยากาศเช่นนี้ถือเป็นเรื่องน่าอันตราย

เดอะการ์เดียนรายงานว่า หน่วยงานต่างๆของสหภาพยุโรปปฏิเสธที่จะเริ่มต้นการเจรจา BREXIT กับอังกฤษจนกว่าจะเห็นการเริ่มต้นใช้มาตรา 50 แล้ว ซึ่งทัสค์ที่ได้รับรายงานสรุปจากแถลงการณ์ของเมย์ มีกำหนดหารือกับผู้นำอังกฤษในวันอังคาร (17 ม.ค.)

ในขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี ฟรางค์ วอลเตอร์ สไตน์เมเออ Frank-Walter Steinmeier ออกมาแสดงความยินดีในแถลงการณ์จัดการปัญหา BREXIT ของเมย์ว่าทำให้ทุกสิ่งดูมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และในประเด็นที่อังกฤษต้องการพันธมิตรร่วมไปในทางที่สร้างสรรค์ ความเป็นเพื่อน และมิตรภาพที่แข็งแกร่งกับอียู ล้วนแล้วแต่ถือว่าเป็นสิ่งดี สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกับอิตาลี โปแลนด์ และไอร์แลนด์ที่ยินดีต่อแถลงการณ์ที่ออกมา

ในส่วนของไอร์แลนด์ที่ใกล้ชิดกับอังกฤษ ชี้ว่าทางไอร์แลนด์มีความยินดีต่อพันธสัญญาที่เมย์ได้ให้ไว้ในการที่จะยังคงข้อตกลงช่องทางการเดินทาง” the pre-EU common travel area” ระหว่างอังกฤษและไอร์แลนด์ไว้ และเธอได้รับปากว่า จะไม่มีการเห็นการตั้งด่านควบคุมพรมแดนเกิดขึ้นระหว่างไอร์แลนด์เหนือ และสาธารณรัฐไอร์แลนด์อย่างแน่นอน

แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนมีเสียงเตือนอย่างแข็งกร้าวออกมาจากฝั่งฝรั่งเศส เช่น Sylvie Goulard สมาชิกรัฐสภายุโรปจากพรรคลิเบอรัลฝรั่งเศส ได้ชี้ว่า จากแถลงการณ์ดูเหมือนว่า เมย์กำลังแบล็กเมลเพื่อนชาติยุโรปอื่นๆ โดยเธอกล่าวว่า ดูเหมือนนายกรัฐมนตรีหญิงอังกฤษกำลังต้องการข่มขู่ ด้วยการประกาศว่า จะทำให้อังกฤษกลายเป็นเกาะแห่งภาษีอัตราต่ำ ซึ่งก็เท่ากับเป็นการประกาศแบล็กเมล

“การแบล็กเมล์พันธมิตรไม่ถือว่าเป็นสิ่งดี” Goulard กล่าว และชี้แจงว่า “ในแถลงการณ์ ปัญหาเกี่ยวกับระบบภาษีดูเหมือนเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างที่สุด และจากที่ดิฉันรู้ อังกฤษเป็นสมาชิกของ OECD และยังมีพันธสัญญา…ที่จะไม่ทำให้เกิดการสนับสนุนการเลี่ยงภาษีเกิดขึ้น”

จากแถลงการณ์เกี่ยวกับภาษีของเมย์ทำให้หนึ่งในนักการทูตที่ได้เข้าร่วมฟังแถลงการณ์สดในตึก แลงคาสเตอร์ เฮาส์ (Lancaster House) ซึ่งอยู่ภายในกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ ได้ตะโกนขึ้นมาในระหว่างแถลงการณ์ว่า “หากคุณต้องการที่ขายจิตวิญญาณของตัวเอง ทำให้ตัวเองแน่ใจก่อนว่ามีสิ่งที่จะเสนอขาย” และอีกคนได้กล่าวถึงปัญหาเงื่อนเวลาว่า “ดูเหมือนจะสับสนผิดที่ผิดทาง” และกล่าวต่อว่า “นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้กล่าวว่า อังกฤษอ้างว่าร่วมเป็นหนึ่งในอารยะธรรมยุโรปร่วมกับพวกเรา แต่กลับส่งสัญญาณที่ดูเหมือนเป็นการข่มขู่ว่า จะเปลี่ยนให้อังกฤษเป็น “ที่หลบภัยทางภาษี” ในเงื่อนไขที่ต่ำกว่าทั่วทั้งยุโรป”







กำลังโหลดความคิดเห็น