xs
xsm
sm
md
lg

'เศรษฐี8ราย'มีเงินเท่า'คนครึ่งโลก' ประชาชนไม่ไว้ใจผู้นำรัฐ-ธุรกิจ-สื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจฟฟ์ เบซอส ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์แอมะซอน (ซ้าย), มหาเศรษฐี บิลล์ เกตส์ และ มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก
เอเจนซีส์ - อภิมหาเศรษฐีเพียงแค่ 8 คน ไล่ตั้งแต่ บิลล์ เกตส์ ไปจนถึง ไมเคิล บลูมเบิร์ก มีทรัพย์สินรวมกันเทียบเท่ากับประชากรยากจนถึง 3,600 ล้านคน หรือ “ครึ่งโลก” เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมทางรายได้ “ที่กำลังแบ่งแยกสังคม” องค์กรเพื่อการกุศล “ออกซ์แฟม”ระบุในรายงานซึ่งนำออกเผยแพร่ ณ การประชุม “เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม” เมืองดาวอส ในวันจันทร์ (16 ม.ค.) ขณะเดียวกันยังมีรายงานอีกฉบับหนึ่งแจกจ่ายในงานเดียวกัน ชี้ว่าความเหลื่อมล้ำนี้ ได้ทำให้ผู้คนลดความความไว้วางใจในสถาบันต่างๆ ลงอย่างฮวบฮาบ

ออกซ์แฟม ระบุในรายงานล่าสุดของตนว่า ช่องว่างระหว่างซูเปอร์ริชกับคนยากไร้ในปีนี้ยิ่งห่างไกลออกไปกว่าเมื่อปีที่แล้วเป็นอย่างมาก และเตือนว่า หากบรรดาผู้นำประเทศดีแต่พ่นนโยบาย แต่ไม่ลงมือแก้ปัญหาจริง กระแสความไม่พอใจของประชาชนต่อความเหลื่อมล้ำนี้จะเติบโตต่อเนื่องและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สั่นสะเทือนเลื่อนลั่นแบบเดียวกับชัยชนะในการเลือกตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ และการลงประชามติให้อังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือ “เบร็กซิต” เมื่อปีที่แล้ว

วินนี บยานยิมา ผู้อำนวยการบริหารออกซ์แฟม อินเตอร์เนชันแนล ที่จะเข้าร่วมประชุมในงานเวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรัม (ดับเบิลยูอีเอฟ) ที่จัดขึ้นในเมืองดาวอสของสวิตเซอร์แลนด์ระหว่างวันที่ 17-20 นี้ กล่าวว่า เป็นความจริงที่น่าชิงชังที่ทรัพย์สินมากมายมหาศาลอยู่ในมือคนเพียงไม่กี่คน ขณะที่ประชากรโลก 1 ใน 10 เอาชีวิตรอดด้วยรายได้วันละไม่ถึง 2 ดอลลาร์

“ความเหลื่อมล้ำกำลังกักขังคนนับร้อยล้านในกับดักความยากจน ซึ่งทำให้สังคมของเราแตกแยกและบ่อนทำลายประชาธิปไตย” บยานยิมากล่าว

ในรายงานฉบับของปีที่แล้ว ออกซ์แฟมบอกว่า อภิมหาเศรษฐีร่ำรวยที่สุดในโลก 62 คน มีทรัพย์สินรวมกันมากกว่าคนครึ่งโลก แต่จากข้อมูลที่ได้มาใหม่ โดยเฉพาะการกระจายรายได้ในอินเดียและจีนล่าสุดทำให้ต้องมีการแก้ไขผลการคำนวณเสียใหม่สำหรับปีนี้ นั่นก็คือซูเปอร์ริชแค่ 8 คนแรกเท่านั้น ก็ครอบครองความมั่งคั่งเท่ากับคนจนที่สุด 3,600 ล้านคนแล้ว

ทั้งนี้ออกซ์แฟมใช้ข้อมูลจากตารางอภิมหาเศรษฐีพันล้านดอลลาร์ของนิตยสารฟอร์บส์ที่เผยแพร่ในเดือนมีนาคม 2016 และข้อมูลใหม่ที่เครดิต สวิส ธนาคารสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ รวบรวมขึ้นมา โดยในการจัดอันดับของฟอร์บส์นั้น บิลล์ เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ เป็นคนรวยที่สุดในโลกด้วยทรัพย์สินมูลค่าสุทธิ 75,000 ล้านดอลลาร์ รองลงมาตามอันดับ ได้แก่ อามันซิโอ ออร์เตกา มหาเศรษฐีสเปนผู้ก่อตั้งแบรนด์แฟชั่น อินดิเท็กซ์, วอร์เรน บัฟเฟตต์ พ่อมดการเงิน, คาร์ลอส สลิม เฮลู นักธุรกิจเม็กซิโก, เจฟฟ์ เบซอส นายใหญ่อะเมซอน, มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้สร้างเฟซบุ๊ก, แลร์รี เอลลิสันแห่งออราเคิล, และไมเคิล บลูมเบิร์ก อดีตนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กอยู่อันดับ 8

รายงานยังระบุว่า ขณะที่แรงงานจำนวนมากไม่ได้เงินเดือนขึ้น บรรดาซูเปอร์ริชกลับมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 11% นับจากปี 2009 เฉพาะเกตส์นั้นมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นถึง 50% หรือ 25,000 ล้านดอลลาร์นับจากประกาศลาออกจากไมโครซอฟท์ในปี 2006 และทั้งที่เขาบริจาคเงินจำนวนมากให้สังคมก็ตาม

ออกซ์แฟมยังเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำผ่านมาตรการ อาทิ ขึ้นภาษีคนรวยและภาษีรายได้ เพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อรับประกันว่า แรงงานจะได้รับค่าตอบแทนอย่างเหมาะสมและคนรวยไม่เลี่ยงภาษี ขณะที่บรรดาผู้นำธุรกิจต้องยึดมั่นในการจ่ายภาษีในสัดส่วนที่เป็นธรรม

เล่ห์เหลี่ยมการเลี่ยงภาษีของพวกมีอันจะกินถูกตีแผ่เป็นข่าวครึกโครมเมื่อปีที่แล้วในรายงาน “ปานามา เปเปอร์ส” หรือแฟ้มข้อมูลมากมายมหาศาลที่รั่วออกมาและแฉรายละเอียดบัญชีออฟชอร์ที่เหล่าคนรวยใช้ซุกทรัพย์สิน

แมกซ์ ลอว์สัน ที่ปรึกษาด้านนโยบายของออกซ์แฟมสำทับว่า โลกกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่เศรษฐีพันล้านจ่ายภาษีน้อยกว่าพนักงานทำความสะอาด

ขณะเดียวกัน ในงานประชุมที่ดาวอส ยังมีการเผยแพร่รายงานอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งจัดทำโดยอิเดลแมน หนึ่งในบริษัทการตลาดใหญ่ที่สุดของโลก บ่งแสดงให้เห็นว่า ความเหลื่อมล้ำในลักษณะนี้ทำให้ผู้คนมีความไว้วางใจในสถาบันต่างๆ ลดลงฮวบฮาบ นับจากวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2008

จากการสำรวจความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่างกว่า 33,000 คนใน 28 ประเทศผ่านระบบออนไลน์ในช่วงระหว่างวันที่ 13 ตุลาคมถึง 16 พฤศจิกายนปีที่แล้ว อิเดลแมนพบว่า ความไว้วางใจในรัฐบาล, ภาคธุรกิจ, สื่อ, และแม้กระทั่งองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) โดยความน่าเชื่อถือของประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) ตกต่ำเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ผู้นำรัฐบาลเป็นกลุ่มที่ได้รับความไว้วางใจน้อยที่สุด

รายงานที่มีชื่อว่า “ทรัสต์ บาโรมิเตอร์”ประจำปี 2017 ของอิเดลแมนพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 53% เชื่อว่า ระบบปัจจุบันน่าผิดหวังเนื่องจากปราศจากความยุติธรรมและแทบไม่มีหวังสำหรับอนาคต มีเพียง 15% เท่านั้นที่ยังเชื่อมั่นกับระบบ

ริชาร์ด อิเดลแมน ประธานและซีอีโอของบริษัทการตลาดแห่งนี้ ชี้ว่า สถิติที่น่าช็อกที่สุดจากผลการศึกษานี้คือ ครึ่งหนึ่งของประชากรที่มีรายได้สูง เรียนจบปริญญาตรี และมีความรู้ เชื่อว่าระบบปัจจุบันใช้ไม่ได้ผล เขายังบอกว่า นัยของวิกฤตความไว้วางใจทั่วโลกลึกล้ำและส่งผลกว้างขวาง โดยเริ่มต้นนับจากภาวะถดถอยครั้งใหญ่ในปี 2008 การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและโลกาภิวัตน์ยิ่งทำให้ความไว้วางใจของผู้คนที่มีต่อสถาบันต่างๆ เสื่อมทรุดลง ซึ่งผลที่ตามมาคือกระแสเชี่ยวกรากของลัทธิประชานิยมและชาตินิยมเมื่อมวลชนตัดสินใจชิงอำนาจคืนจากเหล่าชนชั้นนำ

อิเดลแมนชี้ให้เห็นว่า “การแจ้งเกิดของห้องสะท้อนเสียงของสื่อ” ที่ตอกย้ำความเชื่อส่วนบุคคลควบคู่ไปกับการปิดกั้นความคิดเห็นที่ขัดแย้ง โหมกระพือ “วงจรความไม่ไว้วางใจ” ได้อย่างไร โดยอ้างอิงผลสำรวจที่พบว่า เสิร์ชเอนจิ้นได้รับความไว้วางใจในฐานะเครื่องมือค้นข้อมูลมากกว่าบรรณาธิการข่าวด้วยคะแนน 59 ต่อ 41%

อิเดลแมนเสริมว่า การขาดความไว้วางใจในสื่อนำไปสู่ปรากฏการณ์ข่าวปลอม และการที่นักการเมืองออกมาสื่อสารกับมวลชนโดยตรง พร้อมแนะนำว่า ธุรกิจอาจช่วยยกระดับความไว้วางใจด้วยการแจ้งข่าวการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรอย่างโปร่งใสและซื่อสัตย์กับพนักงาน ปรับปรุงทักษะและจ่ายค่าตอบแทนให้แก่พนักงานอย่างเป็นธรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น