เอเจนซีส์/MGR ออนไลน์ - หลังจากเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำแคนาดา ยอมยื่นใบลาออกจากตำแหน่งต้นเดือนมกราคมนี้ ล่าสุดบรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างออกมายืนยันแผน “ทรัมป์” สั่งปลดทูตสหรัฐฯ ใน 80 ประเทศทั่วโลกภายใต้ประธานาธิบดีโอบามา รวมไปถึงอังกฤษ จีน เยอรมนี และกลิน ที เดวีส์ (Glyn T. Davies) เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อภูมิภาคที่อ่อนไหวของโลกที่อาจมีบางประเทศลุกขึ้นมาลองของท้าทายอำนาจใหม่ของวอชิงตัน
NBC NEWS รายงานเมื่อวานนี้ (15 ม.ค.) ในขณะที่ใกล้ถึงวันพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนที่ 45 ของโดนัลด์ ทรัมป์ เข้าไปทุกที ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันศุกร์นี้ (20) แต่ทว่าจากการรายงานของโทรอนโต สตาร์ สื่อแคนาดา วันที่ 6 ม.ค.ล่าสุดชี้ว่า บรูซ เฮย์แมน (Bruce Heyman) เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำแคนาดา ที่ถูกแต่งในสมัยประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา ปี 2014 ได้ยื่นจดหมายลาออกจากตำแหน่ง และจะมีผลบังคับใช้ในวันศุกร์ (20) นี้
สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่ววงการทูตอเมริกัน และยังสามารถยืนยันการรายงานข่าวจากสื่อ MSN ที่ชี้ว่า ทีมงานจัดการเปลี่ยนผ่านอำนาจของทรัมป์ ได้สั่งการให้ทูตสหรัฐฯทั่วโลกที่ถูกแต่งตั้งภายใต้รัฐบาลพรรคเดโมแครตของโอบามา ต้องลาออกจากตำแหน่งภายในวันพิธีสาบานตน
สื่อสหรัฐฯ NBC NEWS รายงานว่า ผลจากคำสั่งนี้คาดว่า จะมีผลกระทบต่อเอกอัครราชทูตอเมริกาใน 80 ประเทศทั่วโลก เช่น ทูตสหรัฐฯ ประจำจีน ญี่ปุ่น อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย อังกฤษ เยอรมนี และทั่วยุโรป รวมไปถึงแคนาดา นิวซีแลนด์ และประเทศไทย
โดยพบว่าในส่วนของไทย MGR ออนไลน์ พบว่า เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กลิน ที. เดวีส์ (Glyn T. Davies) ประจำราชอาณาจักรไทย ถูกแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีโอบามา และได้เข้าสาบานตนรับตำแหน่งวันที่ 14 ก.ย. 2015 ซึ่งเมื่อดูตามประวัติบนเว็บไซต์สถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยแล้ว พบว่าก่อนหน้านี้ เดวีส์เคยดำรงตำแหน่งเป็นตัวแทนกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านนโยบายเกาหลีเหนือ ซึ่งเขาดำรงตำแหน่งนี้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2012 - พฤศจิกายน 2014 ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งถูกส่งมาประจำที่ไทยโดยโอบามาในปีถัดมา
นอกเหนือจากการโพสต์ภาพถ่ายคู่กับอดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย คริสตี เคนนีย์ ผ่านทางแอ็กเคานต์ทวิตเตอร์ของตัวเองแล้ว เดวีส์กล่าวโดยเปิดเผยว่า “เป็นเพื่อนรู้จักกันมาร่วม 30 ปีกับที่ปรึกษาเคนนีย์”
และยังพบว่าเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยรายนี้ ได้เคยโพสต์แสดงความยินดีต่อว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ในวันที่ 9 พ.ย ถึงชัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการโพสต์ที่เกิดขึ้น 1 วันหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปสหรัฐฯ ในวันที่ 8 พ.ย. 2016 แต่อย่างไรก็ตาม MGR ออนไลนส์ไม่พบว่า เดวีส์จะโพสต์ส่งสัญญาณผ่านทางทวิตเตอร์ประกาศการลาออกจากตำแหน่งเหมือนเช่น เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำแคนาดา เฮย์แมน ที่ได้แถลงผ่านทวิตเตอร์ จากการรายงานของโตรอนโต สตาร์ โดยในขณะนั้น (จากการรายงานในวันที่ 6 ม.ค. 2016)
โดยเฮย์แมนได้แถลงว่า “จากการร้องขอ ผมได้ลาออกจากตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำแคนาดา ซึ่งจะมีผลใน 1/20 (วันที่ 20 ม.ค. 2017)นี้”
สื่อแคนาดายังรายงานเพิ่มเติมว่า การประกาศลาออกของเฮย์แมนนั้นเกิดขึ้นไม่นานหลังจากเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำนิวซีแลนด์ มาร์ก กิลเบิร์ต (Mark Gilbert) แถลงการณ์ผ่านทางทวิตเตอร์ไปยังรอยเตอรแสดงความจำนงยื่นใบลาออก โดยระบุว่า “ผมจะลาออกในวันที่ 20 ม.ค.นี้”
โดยในการรายงานของโทรอนโตสตาร์เมื่อต้นเดือนนี้ กิลเบิร์ตเปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า เป็นคำสั่งของทีมงานจัดการเปลี่ยนผ่านอำนาจทรัมป์ ได้ส่งผ่านทางเคเบิลการติดต่อทางการทูตของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ โดยลงนามในวันที่ 23 ธ.ค. 2016 สั่งการให้เอกอัครราชทูตสหรัฐฯทุกคนที่ถูกแต่งตั้งในสมัยโอบามาลาออกภายในวันพิธีสาบานตนประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งสื่อวิเคราะห์การเมืองสหรัฐฯอื่นๆ เช่น โพลิติโกชี้ว่า เท่ากับว่าเป็นการปิดกั้นไม่ให้ทูตเหล่านั้นใช้สิทธิ “ระยะเวลาแห่งเกียร์ติยศ” ได้
สื่อแคนาดาชี้ต่อว่า เอกอัครราชทูตกิลเบิร์ตได้ยืนยัน การรายงาน ที่ได้อ้างอิงมาจากแหล่งข่าวนักการทูตสหรัฐฯจากการรายงานหนังสือพิมพ์สหรัฐฯ นิวยอร์กไทม์ โดยชี้ว่า ข้อธรรมเนียมปฎิบัติจากรัฐบาลสหรัฐฯชุดก่อนหน้านี้ทั้งในฝั่งพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน อนุญาตให้เอกอัคคราชทูตสหรัฐฯในบางกรณี โดยเฉพาะในส่วนที่มีบุตรที่อยู่ในวัยชั้นเรียน ***สามารถยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ตั้งแต่สัปดาห์ ไปจนถึงเดือน***
แต่อย่างไรก็ตาม ในการรายงานของ VOA สื่อสหรัฐฯ ในวันที่ 6 ม.ค.เช่นกัน ทางแหล่งข่าวทีมงานการเปลี่ยนผ่านอำนาจทรัมป์อ้างว่า คำสั่งที่ออกมานี้เพื่อทำให้แน่ใจว่า ตัวแทนจากรัฐบาลประธานาธิบดีโอบามาในต่างประเทศจะลาออกจากตำแหน่งตามข้อกำหนดที่ได้วางไว้ และยืนยันว่าไม่มีความมุ่งร้ายซ่อนอยู่ในคำสั่งนี้ เพราะเป็นคำสั่งที่เจ้าหน้าที่ประจำทำเนียบขาวและสำนักงานรัฐบาลกลางสหรัฐฯต้องปฎิบัติตาม
โดยทาง VOA ชี้ว่า การที่ทรัมป์ออกคำสั่งให้ตัวแทนเอกอัคคราชทูตทั่วโลกใน 80 ประเทศลาออกพร้อมกัน*** แสดงให้เห็นถึงสัญญาณความพยายามที่จะทำลายนโยบายหลักทางต่างประเทศที่สำคัญในรอบ 8 ปีของโอบามา *** ซึ่งแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่การทูตสหรัฐฯ ได้เปิดเผยกับนิวยอร์กไทม์สว่า คำสั่งปลดทูตสหรัฐฯ ทำให้ชีวิตส่วนตัวของบรรดานักการทูตเหล่านั้นประสบกับความยุ่งยาก ที่พบว่ามีนักการทูตบางส่วนต้องรีบหาข้อตกลงพิเศษ และวีซ่า เพื่อสามารถอนุญาตให้คนเหล่านั้นยังคงสามารถอยู่ในประเทศได้ต่อไปเพื่อให้ลูกๆ ของพวกเขายังคงสามารถเข้าชั้นเรียนได้ตามปกติ
บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศสหรัฐฯได้ออกมาเปิดเผยกับ NBC NEWS ล่าสุดในวันอาทิตย์ (15) ว่า อันตรายอย่างร้ายแรงต่อคำสั่งการปลดทูตสหรัฐฯ ทั่วโลกพร้อมกัน นั้นทำให้เกิดความไม่แน่นอนเป็นระยะเวลาร่วมเดือนต่อจุดที่อ่อนไหวในบางพื้นที่ของโลก และกระทบตรงไปยังวอชิงตันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดย NBC NEWS ชี้ว่า ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ได้เตือนว่า จุดยืนของทรัมป์ในการที่ต้องการให้เอกอัครราชทูตที่ได้รับการแต่งตั้งจากทางการเมืองต้องออกจากตำแหน่ง โดยไม่มีข้อยกเว้น เกิดขึ้นในวันแรกของการเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์นั้นเสี่ยงที่ ***สหรัฐฯ จะถูกตัดช่องทางการสื่อสารทางตรงไปยังประธานาธิบดีสหรัฐฯ *** ในขณะที่รัฐสภาคองเกรสต้องอยู่กับกระบวนการที่ใช้ระยะเวลาในการแต่งตั้งผู้ที่จะมารับทำหน้าที่ต่อจากคนเหล่านั้น” นักวิเคราะห์ชี้
และกล่าวต่อว่า “คุณไม่ต้องการมีสถานการณ์ที่ประเทศต้องตกอยู่ในจุดที่ไม่มีช่องทางติดต่อโดยตรงไปยังประธานาธิบดีในระยะเวลาที่นานขนาดนั้นได้” จูลิแอน สมิธ (Julianne Smith) ผู้อำนวยการโครงการนโยบายรัฐและยุทธศาสตร์ (Strategy and Statecraft Program) ประจำธิงแทงก์ ศูนย์ความมั่นคงอเมริกาใหม่ที่มีฐานอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าวให้ความเห็น
สื่อสหรัฐฯ รายงานตรงกันกับหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สที่ว่า ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องกฎข้อบังคับที่ระบุว่า เอกอัครราชทูตที่ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำลังจะสิ้นสุดจากสมัยการดำรงตำแหน่ง จะต้องลาออกภายในสมัยสุดท้ายของประธานาธิบดีคนนั้น
แต่อย่างไรก็ตาม ถือเป็นเรื่องปฎิบัติทางพฤตินัยที่พบว่า มีนักการทูตสหรัฐฯบางส่วนใช้ระยะเวลาแห่งเกียรติยศ (grace period) ที่จะทำการลาออกจากตำแหน่งหลังจากนั้น โดยอาจจะยืดระยะเวลาออกไปเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน หลังจากพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่แล้ว NBC NEWS รายงาน
และหากว่า เอกอัคคราชทูตใน 80 ประเทศที่ถูกแต่งตั้งภายใต้รัฐบาลโอบามาต้องลาออกจากตำแหน่งพร้อมกันภายในเที่ยงวันศุกร์ (20) นี้จริง จะทำให้ตำแหน่งผู้ควบคุมสถานทูตสหรัฐฯในประเทศสำคัญทั่วโลก รวมไปถึงจีน ญี่ปุ่น ซาอุดีอาระเบีย และประจำหน่วยงานระหว่างประเทศ เป็นต้นว่า ประจำองค์การหน่วยงานปัญหาด้านสตรี จะต้องว่างลงพร้อมกันในทันที
ในขณะที่การเลือกผู้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ คนใหม่ต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาคองเกรส แต่ถึงแม้จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่พรรคการเมืองของทรัมป์คุมทั้งสองสภา แต่กระนั้นสื่อสหรัฐฯ เชื่อว่านักการทูตเหล่านี้ต้องใช้เวลาอย่างน้อยร่วมเดือนจึงจะได้รับการเห็นชอบ
และปัญหาสำคัญจะตกอยู่กับสถานทูตสหรัฐฯ ที่ไม่มีเอกอัครราชทูตประจำอยู่ชั่วคราว ซึ่งสื่อสหรัฐฯ ชี้ต่อว่า เมื่อในขณะที่ไม่มีเอกอัครราชทูตประจำอยู่ เจ้าหน้าที่ตำแหน่ง “the deputy mission chief” จะทำหน้าที่รักษาการแทน ที่รู้จักในนามอุปทูต (chargé d'affaires)
โดยสมิธกล่าวเตือนต่อว่า “หากเป็นประเทศอยู่ในระหว่างการมีความสัมพันธ์ไม่สู้ดีกับสหรัฐฯ ประเทศเหล่านี้อาจต้องเกิดปัญหาในการที่ไม่สามารถหาตัวแทนเจรจาด้วยได้” และกล่าวต่อว่า “บุคคลหมายเลขสองมักจะเป็นเจ้าหน้าที่การทูตอาวุโสที่มีประสบการณ์ แต่ในสถานการณ์ล่อแหลม ประเทศเหล่านี้ต้องการคนที่สามารถติดต่อสายตรงถึงประธานาธิบดีสหรัฐฯได้”
ทั้งนี้ DCM หรือ Deputy Chief ofMission อัครราชทูต ที่รู้จักในนามของบุคคลหมายเลข 2 ของสถานเอกอัครราชทูต
สมิธยังให้ความเห็นถึงการได้รับข้อมูลที่ขัดแย้ง ซึ่งอาจเป็นอันตรายทางความสัมพันธ์ทางการทูตว่า ถึงแม้ปัจจุบันนี้กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯสามารถส่งแถลงการณ์ของวอชิตันผ่านทางโซเชียลมีเดียได้ แต่ทว่าข้อความที่ส่งออกไปทั่วโลกนั้นย่อมแตกต่างจากข้อความที่ที่ต้องการส่งให้ในระดับบุคคล
และได้เตือนต่อว่า “สัญญาณที่สับสนอาจทำให้เกิดความไม่แน่นอน แต่เอกอัครราชทูตสามารถจะแก้ไขสถานการณ์คับขันเหล่านี้ได้และทำให้เรื่องสงบลง” และกล่าวต่อว่า “แต่หากไม่มีตัวแทนจากสหรัฐฯประจำอยู่ ประเทศเป้าหมายเหล่านี้อาจต้องถูกปล่อยให้อยู่กับการตีความจากแถลงการณ์ที่ส่งตรงมาจากวอชิงตันด้วยตัวเอง”
ทั้งนี้ ความเห็นในเรื่องความเสี่ยงต่อการไม่มีเอกอัคคราชทูตสหรัฐฯประจำนั้นได้รับการเห็นด้วยจาก ศาสตราจารย์ สกอตต์ ลูคาส (Scott Lucas) ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯประจำมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม อังกฤษ ที่ได้ออกมายืนยันเช่นกันว่า คำสั่งในการบังคับให้เอกอัคคราชทูตอเมริกันต้องลาออกพร้อมกันในวันเดียวกันนั้น ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่สุดอันตราย
โดยทางให้ความเห็นถึงทรัมป์ว่า “ดูเหมือนว่าจะเป็นไปในแนวทางที่ว่า ทางของผม หรือเส้นทางไฮย์เวย์ ที่เป็นไปในทิศทางที่ว่า เราเข้ากุมอำนาจ เราตั้งกฎใหม่ แต่ทว่าเป็นสิ่งที่กระทำแบบไม่ค่อยดีเท่าใดนัก”
ลูคาสกล่าวให้ความเห็นต่อถึงประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่อีกว่า และเหมือนกับการให้ความเห็นเกี่ยวกับหน่วยงานข่าวกรองสหรัฐฯของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเรื่องการแอกข้อมูลของรัสเซีย ทรัมป์ใช้วิธีการถอนรากถอนโคนต่อบรรดานักการทูต ซึ่งถือเป็นเรื่องเลวร้ายต่อขวัญกำลังใจ
“คุณกำลังมีว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ไม่ให้ความนับถือต่อเจ้าหน้าที่ผู้อยู่ในหน้าที่ปฎิบัติงาน” ลูคาสชี้
แต่อย่างไรก็ตาม NBC NEWS ระบุว่า ยังเป็นที่ยากจะคาดเดาว่า ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของทรัมป์จะมีปฎิกริยาเช่นใดต่อการที่ไม่มีเอกอัครราชทูตอเมริกาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในกรณีของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่ต่างหวาดวิตกต่อท่าทีของเกาหลีเหนือมาโดยตลอด ซึ่งทั้งสองชาตินี้จะไม่มีเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำชั่วคราว เหมือนเช่นเดียวกับที่จะเกิดขึ้นในประเทศจีน
โดย จูลิแอน สมิธ (Julianne Smith) ผู้อำนวยการโครงการนโยบายรัฐและยุทธศาสตร์ได้กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า “ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการไม่มีเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำอยู่ จะตกอยู่ในความมืด และอาจเลือกที่จะใช้ช่องว่างที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์โดยการเคลื่อนไหวอย่างหนึ่งอย่างใดที่สุ่มเสี่ยงต่อวอชิงตัน” และกล่าวต่อว่า “หากประเทศเหล่านั้นไม่ได้รับสัญญาณอย่างทันท่วงที บางทีประเทศเหล่านี้อาจใช้โอกาสนี้ทดสอบรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ก็เป็นได้”