เอเอฟพี - ว่าที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์สื่อชั้นนำของยุโรป ระบุนาโตเป็นองค์กรที่ “ล้าสมัย” พร้อมเผยแผนเจรจาต่อรองให้รัสเซียยอมลดอาวุธนิวเคลียร์เพื่อแลกกับการผ่อนคลายคว่ำบาตร
ทรัมป์ กล่าวชื่นชมที่อังกฤษตัดสินใจถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) และสนับสนุนให้วอชิงตันเจรจาข้อตกลงการค้ากับลอนดอนใหม่โดยเร็ว พร้อมกันนั้นยังประณามนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี ว่าตัดสินใจผิดพลาดอย่าง “หายนะ” ที่เปิดพรมแดนรับผู้อพยพ
“ผมเคยพูดไว้นานแล้วว่านาโตมีปัญหา” ทรัมป์ ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ไทม์สออฟลอนดอน และหนังสือพิมพ์บิลด์ซึ่งขายดีที่สุดในเมืองเบียร์
“ประการแรก มันล้าสมัย เพราะถูกก่อตั้งมาไม่รู้กี่ปีต่อกีปีแล้ว... ประการที่ 2 รัฐสมาชิกไม่ได้จ่ายเงินอุดหนุนตามอัตราที่พวกเขาสมควรจะจ่าย”
“ผมโดนวิจารณ์อย่างมากตอนที่พูดว่านาโตล้าสมัย.. มันล้าสมัยเพราะไม่สามารถจัดการกับปัญหาก่อการร้ายได้ ผมโดนถล่มเละอยู่ 2 วัน จากนั้นก็เริ่มจะมีคนกล่าวว่า ทรัมป์พูดถูก”
อย่างไรก็ดี ว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ยอมรับว่า “นาโตยังสำคัญกับผมมาก”
ระหว่างหาเสียงเมื่อปีที่แล้ว ทรัมป์ ระบุว่าเขาจะต้องคิดทบทวนเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือพันธมิตรนาโต หากงบประมาณที่สหรัฐฯ ใช้ป้องกันประเทศเหล่านั้น “ไม่ได้รับการจ่ายคืนอย่างสมเหตุสมผล”
คำพูดของทรัมป์ สร้างความตกตะลึงต่อบรรดารัฐนาโตในยุโรปตะวันออกซึ่งเกรงจะถูกรัสเซียรุกราน หลังจากที่มอสโกบุกยึดคาบสมุทรไครเมีย และแทรกแซงสงครามในยูเครนตะวันออกมาแล้ว
พล.อ.เจนส์ สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการนาโต เคยให้สัมภาษณ์หลังจากที่ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งว่า นาโตเป็นพื้นฐานของความมั่นคงสองฟากฝั่งแอตแลนติกมานาน “เกือบ 70 ปี” และจำเป็นต้องดำรงอยู่ต่อไปในห้วงเวลาที่โลกกำลังเผชิญภัยคุกคามใหม่ๆ
“นี่ไม่ใช่เวลาที่จะตั้งคำถามเรื่องการเป็นหุ้นส่วนระหว่างยุโรปและสหรัฐฯ “
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เรื่องงบประมาณกลายเป็นต้นเหตุความขัดแย้งภายในกลุ่มนาโตซึ่งมีรัฐสมาชิก 28 ประเทศ โดยสหรัฐฯ ในฐานะผู้สนับสนุนทางทหารรายใหญ่ที่สุดต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายถึงร้อยละ 70
เมื่อปี 2014 หลังจากที่รัสเซียเข้าแทรกแซงความขัดแย้งในยูเครน และเกิดวิกฤตการณ์ขึ้นทั้งในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ นาโตจึงได้กำหนดเกณฑ์ให้รัฐสมาชิกต้องใช้จ่ายงบด้านการทหารในสัดส่วน 2% ของจีดีพี หลังจากที่ใช้นโยบายตัดทอนงบกลาโหมกันมานานหลายปี
“มีเพียง 5 ประเทศเท่านั้นที่จ่ายงบประมาณในอัตราที่เหมาะสม แค่ 5 เท่านั้นเอง... ไม่มากเลย” ทรัมป์ระบุ
มหาเศรษฐีอสังหาริมทรัพย์วัย 70 ปีบอกกับเดอะไทม์สด้วยว่า เขามีแผนเจรจาทำข้อตกลงกับแดนหมีขาว โดยสหรัฐฯ จะผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรให้ หากมอสโกยอมลดอาวุธนิวเคลียร์
“พวกเขาคว่ำบาตรรัสเซีย แต่มาดูกันซิว่าเราจะสามารถทำข้อตกลงดีๆ กับรัสเซียได้บ้างหรือไม่ ผมคิดว่าควรจะมีการลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างเป็นรูปธรรม นั่นคือเงื่อนไขส่วนหนึ่ง” ทรัมป์ ซึ่งเคยเอ่ยปากชื่นชมประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ระบุ
“รัสเซียบอบช้ำมามากแล้วจากการถูกคว่ำบาตร แต่ผมมั่นใจว่าเราสามารถสร้างบางสิ่งบางอย่างที่คนจำนวนมากจะได้รับประโยชน์”
รัฐบาลบารัค โอบามา ได้ประกาศบทลงโทษหลายอย่างเพื่อแก้เผ็ดที่มอสโกเข้าไปหนุนหลังพวกกบฏในยูเครนตะวันออก อุ้มรัฐบาลซีเรีย รวมถึงทำสงครามไซเบอร์แทรกแซงเลือกตั้งสหรัฐฯ
ชาติยุโรปที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ก็ได้ประกาศคว่ำบาตรรัสเซียในปี 2014 จากปัญหายูเครนเช่นกัน ซึ่งมาตรการเหล่านั้นเพิ่งจะถูกต่ออายุเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. ที่ผ่านมา
สำหรับกรณีที่อังกฤษขอถอนตัวจากอียูนั้น ทรัมป์ ระบุว่า เบร็กซิต “จะกลายเป็นปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่ในที่สุด” และตนสนับสนุนให้สหรัฐฯ ทำข้อตกลงการค้าใหม่กับอังกฤษ ซึ่งจะ “ดีกับเราทั้งสองฝ่าย”
“เราจะพยายามทำเรื่องนี้ให้สำเร็จอย่างรวดเร็วและเรียบร้อย” ทรัมป์ ระบุ พร้อมยืนยันว่าจะนัดพบกับนายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ แห่งอังกฤษโดยเร็วที่สุด หลังจากสาบานตนเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 20 ม.ค.
ทรัมป์ ทำนายว่า “ประเทศอื่นๆ ก็จะขอถอนตัวในอนาคต” เนื่องจากอียูกำลังเผชิญแรงกดดันจากคลื่นผู้อพยพและผู้ลี้ภัยที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
“หากพวกเขาไม่ถูกบังคับให้ต้องรับผู้ลี้ภัยทั้งหมด ซึ่งมากมายเหลือเกิน และยังนำสารพัดปัญหาตามมาด้วย ผมเชื่อว่าวันนี้เราคงไม่มีเบร็กซิต นี่คือฟางเส้นสุดท้ายที่ตีอูฐจนหลังหัก”
ทรัมป์ ยังวิจารณ์นโยบายเปิดพรมแดนรับผู้อพยพไร้ทะเบียนของ แมร์เคิล ซึ่งทำให้เยอรมนีต้องเสี่ยงภัยด้านความมั่นคง
“ผมคิดว่ามีเรื่องหนึ่งที่เธอทำผิดพลาดอย่างหายนะ นั่นคือการรับผู้อพยพผิดกฎหมายเข้าประเทศ เธอรับหมดไม่ว่าพวกเขาจะเดินทางมาจากที่ไหน และก็ไม่มีใครรู้เลยว่าคนเหล่านั้นมาจากไหนกันบ้าง”
หลังจากติเตียนแล้ว ทรัมป์ ก็กล่าวลูบหลังตามเคยว่า เขายัง “มีความเคารพอย่างสูง” ในตัวผู้นำหญิงเมืองเบียร์
นโยบายเปิดพรมแดนให้ที่พักพิงแก่ชาวซีเรียที่หนีภัยสงคราม ส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยหลั่งไหลเข้าไปยังเยอรมนีมากถึง 890,000 คนในปี 2015
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขล่าสุดที่รัฐบาลเบอร์ลินแถลงเมื่อวันพุธที่แล้ว (11) พบว่าจำนวนผู้ลี้ภัยที่เข้ามาในปี 2016 ลดลงอย่างฮวบฮาบเหลือแค่ 280,000 คนเท่านั้น