xs
xsm
sm
md
lg

InClips: เรือผู้อพยพล่มกลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน สูญหายร่วม 100 นอกฝั่งลิเบีย – เยอรมันเตรียมส่งตัวผู้อพยพกลับกรีซเริ่มมีนาฯนี้ หลังสุดเฮ จำนวนผู้อพยพเข้าเมืองเบียร์ปี 2016 ลดฮวบเกินครึ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้มข่าว (การอพยพเข้ายุโรปปี 2016 )
เอเจนซีส์ – เกิดเหตุเรือผู้อพยพล่มในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน นอกชายฝั่งลิเบีย มีผู้สูญหายจำนวน 100 ราย ยามฝั่งอิตาลีแถลงล่าสุด กู้ศพผู้เสียชีวิตจากน้ำได้ 8 ศพ และช่วยผู้รอดชีวิตได้ 4 คน เชื่ออาจพบศพจำนวนมากกว่านี้เมื่อมีแสงสว่างมาถึง ในขณะที่ล่าสุดกระทรวงมหาดไทยเยอรมันประกาศจำนวนผู้อพยพเข้าประเทศปี 2016 ลดจำนวนลงเกินครึ่งเหลือแค่ 280,000 คนเมื่อเทียบกับ 600,000 คนในปี 2015 และได้ออกคำสั่งเริ่มการเนรเทศส่งตัวกลับผู้อพยพจากเยอรมันไปยังกรีซตั้งแต่วันที่ 15 มี.คที่จะถึงนี้

เอเจนซีส์ – บีบีซีรายงานเมื่อวานนี้(14 ม.ค)ว่า หน่วยงานยามฝั่งอิตาลีเชื่อว่า อาจมีจำนวนศพเหยื่อเรือผู้อพยพล่มมากกว่านี้เมื่อยามพระอาทิตย์ขึ้น หลังจากหน่วยงานยามฝั่งอิตาลีสามารถช่วยเหลือเหยื่อผู้รอดชีวิตจากน้ำได้ 4 คน และพบศพผู้เสียชีวิตแล้ว 8 ราย คาดอาจมีผู้สูญเสียจำนวนราว 100 คนหลังจากเรือผู้อพยพเกิดล่มนอกชายฝั่งลิเบียในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และการค้นหาเป็นไปด้วยความยากลำบากเนื่องมาจากไม่มีแสงสว่างเพียงพอในช่วงกลางคืน

สื่ออังกฤษรายงานว่า พบว่าเรือลำนี้คว่ำระหว่างอิตาลีและลิเบีย โดยจุดล่มห่างจากฝั่งลิเบียไปราว 50 กม. และมาจนถึงเวลานี้ยังไม่สามารถระบุถึงรายละเอียดของผู้อพยพที่อยู่บนเรือลำเกิดเหตุนี้ได้ว่าเป็นประชาชนจากชาติใดบ้าง

บีบีซีรายงานต่อว่า ในการค้นหายังได้รับความร่วมมือจากเรือรบฝรั่งเศส 1 ลำ เรือสินค้า 2 ลำและการสนับสนุนทางอากาศอย่างต่อเนื่อง

สื่ออังกฤษรายงานว่า จำนวนผู้อพยพเดินทางเข้ายุโรปทางบกลดลงอย่างน่าตกใจตั้งแต่ช่วงจำนวนสูงสุดของผู้อพยพที่เดินทางเข้าสู่ยุโรปนับตั้งช่วงปลายปี 2015 เป็นต้นมา แต่อย่างไรก็ตาม การเดินทางเข้าสู่ยุโรปทางทะเลยังคงเป็นที่นิยมอย่างต่อเนื่อง

โดยพบว่า ล่าสุดกระทรวงมหาดไทยเยอรมันได้ออกแถลงการณ์ถึงจำนวนผู้อพยพเข้าประเทศในปี 2016 ว่าอยู่ที่ 280,000 คนเมื่อเทียบกับ 600,000 คนในปี 2015 และทางรัฐมนตรีมหาดไทยเยอรมัน โทมัส เดอ ไมซ์ซิเออร์ (Thomas de Maiziere) ได้ออกคำสั่งเริ่มการเนรเทศส่งตัวกลับผู้อพยพจากเยอรมันไปยังกรีซตั้งแต่วันที่ 15 มี.คที่จะถึงนี้ บีบีซีรายงาน

โดยสื่อเยอรมัน DW รายงานในวันศุกร์(13 ม.ค)ว่า เยอรมันได้เริ่มต้นใช้นโยบายใหม่ ในการกลับคำสั่งการยกเลิกห้ามเนรเทศผู้อพยพกลับที่ถูกใช้มานานร่วม 6 ปี โดยพบว่ารัฐบาลเยอรมันมีแผนที่จะยกเลิกคำสั่งห้ามการเนรเทศตัวผู้อพยพกลับไปยังกรีซ ที่ได้มีการเริ่มออกคำสั่งในปี 2011 ก่อนหน้านั้น

มีรายงานว่า ไมซ์ซิเออร์ได้ทำเรื่องไปยังสำนักงานการลี้ภัยและอพยพเยอรมัน BAMF ในการยกเลิกคำสั่งห้ามการเนรเทศ โดยเริ่มต้นมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มี.คนี้เป็นต้นไป ในความพยายามที่เบอร์ลินต้องการสร้างระบบดับลิน (Dublin system)ในระบบโควตาการกระจายผู้อพยพของสหภาพยุโรป

DW ชี้ว่าระบบดับลินถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ยุค 90 ทิ่ออกแบบในการจัดการผู้อพยพที่ชี้ว่า ประเทศแรกที่ผู้อพยพเดินทางเข้าและได้ลงทะเบียนเพื่อขอรับการลี้ภัย จะต้องรับผิดชอบต่อตัวผู้อพยพนั้น แต่ทว่าระบบนี้ถูกมติระงับชั่วคราวโดยชาติสมาชิกยุโรป เมื่อศาลยุโรปด้านสิทธิมนุษยชนได้ออกคำพิพากษาในปี 2011 ชี้ว่าเบลเยียมและกรีซได้ละเมิดอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ในการส่งตัวผู้ลี้ภัยเชื้อชาติแอฟริกันกลับไปยังกรีซถึงแม้ว่าศูนย์กักันผู้อพยพกรีซจะมีปัญหาก็ตาม ซึ่งพบว่าในเวลาต่อมาผู้ลี้ภัยอัฟกันเหล่านั้นถูกปล่อยตัวออกมาจากค่ายผู้อพยพ และกลายเป็นคนจรจัดในกรีซปี 2009

ซึ่งในแถลงการณ์จากกระทรวงมหาดไทยเยอรมันไปยัง DW กระทรวงมหาดไทยเยอรมันชี้ว่า ทางกระทรวงจะยังคงให้การสนับสนุนเอเธนส์ก่อนหน้าที่จะมีการเริ่มกระบวนการส่งตัวกลับ และในแถลงการณ์ยังระบุต่อว่า ที่ผ่านมารัฐบาลเยอรมันได้ช่วยเหลือกรีซในการแบ่งเบาจำนวนผู้อพยพจากกรีซเข้าสู่เยอรมันจำนวน 500 คนต่อเดือนนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2016 เป็นต้นมา

และสำหรับตัวเลขผู้เดินทางเข้าเยอรมันในปี 2016 กระทรวงมหาดไทยเยอรมันแถลง จากการรายงานของบีบีซี พบว่า มีชาวซีเรียจำนวน 36% จากจำนวนทั้งหมดยื่นขอการลี้ภัย และตามมาด้วยพลเมืองชาวอัฟกัน ชาวอิรัก ชาวอัลเบเนีย ชาวอิหร่าน และชาวเอตเทรียนจากแอฟริกา และมีจำนวน 25,000 คนถูกส่งตัวกลับ ส่วนอีก 55,000 คนยอมสมัครใจเดินทางกลับบ้าน

ซึ่งจากจำนวน 695,733 คำขอการลี้ภัยในปีล่าสุด(2016) มีจำนวน 256,136 คำขอที่ได้รับการอนุมัติให้ได้รับสถานะผู้ลี้ภัย หรือราว 36.8% ภายใต้อนุสัญญาเจนีวา และอีก 153,700 คำขอได้รับการปกป้องแต่เป็นไปตามเงื่อนไข ซึ่งบีบีซีรายงานว่า สถานภาพของกลุ่มผู้อพยพเหล่านี้ สามารถอาศัยได้ในเยอรมันชั่วคราวเท่านั้น

ซึ่งสื่ออังกฤษชี้ว่า จำนวนตัวเลขผู้อพยพเข้าเยอรมันที่ลดลงเป็นผลดีกับเยอรมัน และทำให้เข้าใกล้จำกัดจำนวนภายใต้โควตา 200,000 คนต่อปีตามข้อเรียกร้องของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายเปิดประเทศขออังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมัน

ซึ่งสื่อเยอรมันชี้ว่า มาตรการใหม่นี้เป็นข้อเสนอที่มาจาก คณะกรรมาธิการยุโรป ในวันที่ 8 ธ.ค ที่ผ่านมา ที่สรุปว่าเอเธนส์ประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบผู้อพยพที่เชื่อถือได้เป็นไปตามที่ยุโรปได้วางไว้

และในจดหมายของรัฐมนตรีมหาดไทยเยอรมันที่ส่งไปยังคณะกรรมาธิการกิจการภายในเยอรมันประจำรัฐสภาเยอรมันลงวันที่ 30 ธ.ค 2016 ที่ทางสื่อ DW เห็นนั้น ระบุว่า ทางกระทรวงมหาดไทยได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเอเธนส์ที่ส่งสัญญาณว่า มีศักยภาพเพียงพอในการรับจำนวนผู้อพยพจำนวนเพิ่มมากกว่านี้ได้

แต่อย่างไรก็ตามพบว่า ผู้อพยพที่จะได้รับผลกระทบในมาตรการใหม่ของรัฐบาลเยอรมันคือผู้อพยพที่เดินทางเข้าเยอรมันหลังจากวันที่ 15 มี.ค ที่จะถึงนี้เท่านั้น และทางเอเธนส์ต้องให้หลักประกันว่า ผู้อพยพแต่ละคนที่ถูกส่งตัวกลับไปยังกรีซจะต้องมีพื้นที่อาศัยภายในศูนย์ผู้อพยพที่รัฐบาลเอเธนส์ได้จัดเตรียมไว้รอแล้ว และอีกทั้งกลุ่มที่อยู่ในความเสี่ยงง่าย เป็นต้นว่า กลุ่มผู้เยาว์ที่เดินทางเข้าเยอรมันเพียงคนเดียวจะได้รับการคุ้มครอง และไม่ต้องถูกส่งตัวกลับ DW รายงาน

บีบีซีรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันศุกร์(13 ม.ค)ยามฝั่งอิตาลีสามารถช่วยเหลือผู้อพยพ 550 คนที่พยายามเข้าสู่ยุโรปด้วยการข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งหน่วยงานแพทย์ไร้พรมแดนที่ร่วมปฎิบัติการได้เปิดเผยว่า สภาพผู้อพยพแออัดภายในเรือมนุษย์ โดยพบว่าในกรณีหนึ่งมีการพบผู้อพยพร่วม 123 คนต้องทนอยู่ภายในเรือแจวข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่ยากลำบาก

และ UNHCR รายงาน ผ่านการรายงานของรอยเตอร์ระบุว่า ในปี 2016 มีผู้อพยพเสียชีวิตในการจมน้ำร่วม 5,000 คนจากการพยายามข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเข้ายุโรป
ภาพจากแฟ้มข่าว (การอพยพเข้ายุโรปปี 2016 )




กำลังโหลดความคิดเห็น