รอยเตอร์ - บริษัท ทากาตะ คอร์ป ผู้ผลิตถุงลมนิรภัยสัญชาติญี่ปุ่น ตกลงที่จะยอมรับผิดฐานก่ออาชญากรรม และจ่ายค่าปรับ 1000 ล้านดอลลาร์ ให้แก่ทางการสหรัฐฯ เพื่อยุติการสอบสวนคดีถุงลมนิรภัยระเบิด ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ขับขี่รถยนต์เสียชีวิตอย่างน้อย 16 รายทั่วโลก
ทากาตะ ได้แถลงข้อตกลงยอมรับผิดเมื่อวานนี้ (13 ม.ค.) หลังจากอดีตผู้บริหารอาวุโส 3 คน ถูกอัยการในเมืองดีทรอยต์ตั้งข้อหาบิดเบือนผลการทดสอบเพื่อปกปิดความบกพร่องของระบบสูบลม (inflator) จนเป็นเหตุให้ต้องมีการเรียกคืนยานพาหนะครั้งมโหฬาร
กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ แถลงว่า ค่าระงับคดีที่ ทากาตะ จะต้องจ่ายนั้นแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ค่าปรับ 25 ล้านดอลลาร์, เงินกองทุนชดเชยเหยื่อ 125 ล้านดอลลาร์ ซึ่งครอบคลุมถึงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และอีก 850 ล้านดอลลาร์ที่จะจ่ายชดเชยให้ค่ายรถยนต์ที่ต้องมีการเรียกคืนยานพาหนะ
บริษัทซัปพลายเออร์รายนี้ยังต้องปฏิรูปองค์กรขนานใหญ่ ถูกทำทัณฑ์บน และมีหน่วยงานอิสระเข้ามาตรวจสอบการทำงานเป็นเวลา 3 ปี
ราคาหุ้นทากาตะขยับขึ้น 16.5% ในการซื้อขายที่ญี่ปุ่น หลังมีกระแสข่าวออกมาว่าบริษัทกำลังจะบรรลุข้อตกลงยุติคดีความในสหรัฐฯ ซึ่ง ทากาตะ เพียงแค่ยอมรับผิดข้อหาฉ้อโกงทางอิเล็กทรอนิกส์ (wire fraud) เท่านั้น
ข้อตกลงระงับคดีซึ่งจะต้องรอผู้พิพากษาศาลรัฐบาลกลางในเมืองดีทรอยด์ อนุมัติเสียก่อนนี้ จะช่วยให้ ทากาตะ ได้รับเงินสนับสนุนจากนักลงทุน เพื่อใช้ในการปฏิรูปโครงสร้าง และชำระหนี้สินต่างๆ อันเกิดจากความรับผิด
“ข้อตกลงยุติคดีถือเป็นก้าวสำคัญในการแก้ไขปัญหาถุงลมนิรภัยบกพร่อง และเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่บริษัททากาตะ” ชิเงฮิสะ ทากาดะ ประธาน และผู้บริหารทากาตะแถลง พร้อมระบุว่าบริษัท “รู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้งกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และพร้อมที่จะมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่”
กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เผยว่า ทากาตะเริ่มปกปิดความบกพร่องของระบบสูบลมตั้งแต่ปี 2000 และนำข้อมูลที่บิดเบือนเหล่านั้นไปเสนอต่อค่ายรถยนต์ เพื่อโน้มน้าวให้สั่งซื้อระบบสูบลมที่ไม่ได้มาตรฐาน
ทากาตะ ทำรายได้จากการจำหน่ายระบบสูบลมมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากนั้นผู้บริหารยังปลอมแปลงผลการทดสอบประสิทธิภาพของมันอีกด้วย
คณะลูกขุนใหญ่สหรัฐฯ ยังได้ฟ้องร้องอดีตผู้บริหารชาวญี่ปุ่น 3 รายของทากาตะ หลังใช้เวลาสืบคดีนานกว่า 2 ปี
ชินิจิ ทานากะ, ฮิเดโอะ นากาจิมะ และทสึเนโอะ ชิการาอิชิ ถูกฟ้องฐานฉ้อโกงทางอิเล็กทรอนิกส์และสมคบคิดก่ออาชญากรรม จากการนำ “รายงานบิดเบือน” มาล่อลวงให้ค่ายรถยนต์หลงซื้อ “ระบบสูบลมที่บกพร่อง ด้อยคุณภาพ ไม่ทำงานอย่างถูกต้อง และเป็นอันตราย”
บุคคลทั้งสามถูกพักงานตั้งแต่ปี 2015 และไม่ได้เป็นพนักงานของ ทากาตะ แล้วในขณะนี้
ความบกพร่องของระบบสูบลม ส่งผลให้ถุงลมนิรภัยกางออกอย่างรุนแรงเกินไป จนกระบอกสูบโลหะแตก และพ่นเศษโลหะมีคมปลิวกระจายออกมาใส่ร่างผู้ขับขี่และผู้โดยสาร
ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ประสบเหตุจากการชนที่ไม่รุนแรงนัก ซึ่งหากถุงลมนิรภัยไม่ทำงานผิดพลาด พวกเขาก็อาจไม่ตาย
จนถึงขณะนี้ มีผู้เสียชีวิต 11 ราย บาดเจ็บ 184 คนจากปัญหาถุงลมนิรภัยทากาตะระเบิดในสหรัฐฯ