เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่นเดินทางถึงกรุงมะนิลาแล้วในวันนี้ (12 ม.ค.) ถือเป็นผู้นำต่างชาติคนแรกที่ไปเยือนฟิลิปปินส์ หลังจากที่ โรดริโก ดูเตอร์เต เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อเดือน มิ.ย.ปีที่แล้ว
จุดมุ่งหมายในการเยือนของอาเบะ ก็เพื่อกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น หลังจากที่ ดูเตอร์เต เอาใจออกห่างจากสหรัฐฯ และหันไปสานไมตรีกับมหาอำนาจคู่แข่งอย่างจีนและรัสเซียแทน
หลังจากเยือนฟิลิปปินส์เป็นเวลา 2 วัน อาเบะ มีกำหนดเดินทางต่อไปยังออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม พร้อมด้วยคณะผู้แทนภาคธุรกิจญี่ปุ่น โดยหวังว่าการค้าและการลงทุนในภูมิภาคแถบนี้จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจแดนปลาดิบที่ถูกฉุดรั้งด้วยปัญหาความชราภาพ และอัตราการเกิดต่ำ
“ผมอยากจะแลกเปลี่ยนมุมมองในด้านความสัมพันธ์ทวิภาคี และสถานการณ์ในภูมิภาค รวมถึงหารือว่าเราทั้งสองชาติจะมีส่วนร่วมธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคได้อย่างไร” อาเบะกล่าวต่อสื่อมวลชนก่อนจะออกเดินทางไปยังกรุงมะนิลา
ดูเตอร์เต หมางเมินกับสหรัฐฯ ก็จริง แต่ยังเลือกที่จะรักษาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นทั้งชาติผู้บริจาคและคู่ค้ารายใหญ่
“ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ช่วยเหลือเรามากที่สุด” ดูเตอร์เต กล่าวขณะไปเยือนโตเกียวเมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว
คำพูดหวานหูนี้เป็นผลจากการที่ อาเบะ และรัฐบาลญี่ปุ่นไม่เคยปริปากวิจารณ์สงครามกวาดล้างอาชญากรรมในฟิลิปปินส์ ซึ่งจนถึงขณะนี้มีผู้ถูกสังหารโดยไม่ผ่านการไต่สวนไปแล้วมากกว่า 6,000 คน
ดูเตอร์เต เคยใช้คำว่า “ลูกกะหรี่” ด่าทอประธานาธิบดีบารัค โอบามา จนเป็นที่ฮือฮา เนื่องจากแค้นใจที่สหรัฐฯ ตำหนินโยบายปราบปรามอาชญากรว่าเป็นต้นเหตุให้เกิดการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง
แม้จะเดินทางไปเยือนต่างแดนมาแล้วหลายครั้งในฐานะผู้นำฟิลิปปินส์ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ ดูเตอร์เต จะได้รับบทเจ้าบ้านต้อนรับ อาเบะ ในฐานะประมุขรัฐคนแรกที่เดินทางมาเป็นแขกของเขา
กระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ระบุว่า อาเบะ และ ดูเตอร์เต จะพบกันที่ทำเนียบมาลากันยังในช่วงบ่ายวันนี้ (12) ก่อนที่ผู้นำญี่ปุ่นจะเดินทางต่อไปยังเมืองดาเวาบนเกาะมินดาเนา ซึ่งโตเกียวได้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนกระบวนการสันติภาพระหว่างรัฐบาลมะนิลากับกบฏมุสลิม ผ่านโครงการพัฒนาและแก้ไขปัญหาความยากจน
ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของฟิลิปปินส์ในปี 2015 โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงถึง 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามสถิติอย่างเป็นทางการของรัฐบาล
เนื่องจากกองทัพฟิลิปปินส์และหน่วยยามฝั่งยังขาดแคลนอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย มะนิลาจึงหวังจะได้รับการสนับสนุนจากญี่ปุ่น ซึ่งมีข้อพิพาททางทะเลอยู่กับจีนเช่นกัน
ญี่ปุ่นส่งมอบเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่ 2 ลำให้ฟิลิปปินส์ในปีที่แล้ว และจะให้ยืมเครื่องบินตรวจตราทางทะเลที่ญี่ปุ่นเคยใช้งานอยู่ด้วย นอกเหนือไปจากเรือยามฝั่ง 10 ลำที่โตเกียวรับปากจะยกให้ฟิลิปปินส์ตั้งแต่สมัยของอดีตประธานาธิบดีเบนิโญ อากีโน
ในขณะที่รัฐบาลอากีโนใช้วิธีฟ้องศาลระหว่างประเทศให้เข้ามาตัดสินเรื่องที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ ดูเตอร์เต กลับพยายามลดความบาดหมาง โดยหันมาเน้นเจรจาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และยังขอให้ปักกิ่งช่วยสนับสนุนการทำสงครามกวาดล้างยาเสพติดด้วย