xs
xsm
sm
md
lg

'อิหร่าน' สิ้น 'ฮาเชมี ราฟซานจานี' อดีตประธานาธิบดีผู้ทรงอิทธิพลบารมี

เผยแพร่:   โดย: ซามี มูบายเอด

<i>ผู้คนมากมายมหาศาลเข้าร่วมพิธีฝังศพอดีตประธานาธิบดีฮาเชมี ราฟซานจานี ของอิหร่าน ที่กรุงเตหะราน เมื่อวันอังคาร (10 ม.ค.) </i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Hashemi Rafsanjani: Iranian president and kingmaker
By Sami Moubayed
January 9, 2017

อาเชมี ราฟซานจานี รัฐบุรุษอาวุโสผู้มากอิทธิพลบารมีของอิหร่าน ถึงแก่อสัญกรรมในวัย 82 ปีเมื่อวันอาทิตย์ (8 ม.ค.) ที่ผ่านมา เขาเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญเบื้องหลังการก้าวขึ้นครองอำนาจของผู้นำชาวชีอะห์ในยุคสมัยใหม่ถึง 3 คนด้วยกัน

ครั้งหนึ่ง “ดิ อีโคโนมิสต์” (the Economist) นิตยสารรายสัปดาห์ชื่อดังของอังกฤษ เคยพูดถึง อาลี อัคบาร์ ฮาเชมี ราฟซานจานี (Ali Akbar Hashemi Rafsanjani) ว่าเป็น “คิงเมกเกอร์ผู้มากประสบการณ์ (veteran kingmaker) เขาเป็นเช่นนั้นจริงๆ เสียด้วย ตั้งแต่มีบทบาทช่วยเหลือให้ อยาโตลเลาะห์ รูโฮลเลาะห์ โคมัยนี (Ayatollah Ruhollah Khomeini) ขึ้นสู่อำนาจในช่วงการสถาปนาสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านขึ้นมาเมื่อปี 1979 การแสดงบทบาทอันสำคัญยิ่งในการเสนอชื่อ อยาโตลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี (Ayatollah Ali Khamenei) ผู้นำสูงสุด (supreme leader) คนปัจจุบันขึ้นสู่ตำแหน่งนี้ในอีก 10 ปีถัดมา

ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ราฟซานจานียังลงมือคัดเลือกด้วยตนเองให้ ฮาซาน นัสรัลเลาะห์ (Hasan Nasrallah) ก้าวขึ้นเป็นเลขาธิการของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) –ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เขาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญเบื้องหลังการขึ้นครองอำนาจของผู้นำชาวชีอะห์ที่ก่อให้เกิดการถกเถียงโต้แย้งกันมากที่สุดในยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่ถึง 3 คนด้วยกัน อย่างไรก็ดี เขากลับล้มเหลวเมื่อออกแรงใช้ความพยายามเพื่อให้ตัวเขาเองได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอิหร่านอีกคำรบหนึ่ง ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงครั้งเดียวด้วย แต่ถึง 2 ครั้ง 2 หนทีเดียว นั่นคือเมื่อปี 2005 และในปี 2013

อดีตประธานาธิบดีราฟซานจานีของอิหร่าน หนึ่งในคนท้ายๆ ของผู้ผ่านการปฏิวัติอิสลามเมื่อ 1979 ที่ยังมีชีวิตอยู่ บัดนี้ได้ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่งทางภาคเหนือของอิหร่านในวันอาทิตย์ที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา หลังจากล้มป่วยด้วยอาการโรคหัวใจ สิริอายุได้ 82 ปี ประธานาธิบดีฮาซาน รูฮานี (Hasan Rouhani) ได้ประกาศไว้อาลัยทั่วประเทศเป็นเวลา 3 วัน และหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ของภาครัฐได้อุทิศหน้ากระดาษหลายๆ หน้ากล่าวถึงช่วงชีวิตของบุรุษผู้นี้ ผู้ซึ่งถูกบรรยายว่า เป็นเสรีนิยมในทางเศรษฐกิจ, เผด็จการรวบอำนาจในทางการเมือง, และอนุรักษนิยมในทางปรัชญา ทั้งหมดรวมอยู่ภายในคนๆ เดียว เขามีความเป็นเสรีนิยมมากเกินกว่าที่จะเรียกขานว่าเป็นนักอนุรักษนิยม มีความเป็นอนุรักษนิยมมากเกินกว่าที่จะเรียกขานว่าเป็นนักเสรีนิยม เหล่านี้ทำให้เขากลายเป็นบุคคลที่หาได้ยากในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของอิหร่าน

ราฟซานจานีถือกำเนิดเมื่อปี 1934 ในครอบครัวของเกษตรกรปลูกถั่วพิสตาชิโอซึ่งมีฐานะมั่งคั่ง ณ หมู่บ้านกอห์รามาน (Ghahraman) ในจังหวัดเคอร์มาน (Kerman) ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของอิหร่าน เขาเข้าศึกษาที่สำนักเรียนศาสนาแห่งหนึ่งในเมืองกุม (Qam) ศูนย์กลางการศึกษาศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และถูกฟ้องร้องกล่าวโทษเนื่องจากทัศนะทางศาสนาของเขาในช่วงระบอบปกครองของพระเจ้าชาห์ เรซา ปาห์เลวี (Shah Reza Pahlavi) ซึ่งมุ่งแยกศาสนาออกจากรัฐ เมื่อทศวรรษที่ 1960 เขาเข้าสนับสนุนการปฏิวัติอิสลามปี 1979 และได้รับการโหวตให้เป็นประธานสภามัจลิส (Majlis รัฐสภา) ของอิหร่าน ระหว่างการเปิดประชุมสมัยแรกในปี 1980 ราฟซานจานีสามารถรักษาตำแหน่งนี้เอาไว้ได้ถึง 9 ปีเต็ม และกลายเป็นผู้จงรักภักดีคนหนึ่งของ อยาโตลเลาะห์ รูฮัลเลาะห์ โคมัยนี สถาปนิกของการปฏิวัติอิสลาม

เกือบตลอดทั้งทศวรรษที่ 1980 เขายังมีตำแหน่งเป็นรักษาการผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพอิหร่าน และแสดงบทบาทอันสำคัญยิ่งในการโน้มน้าวให้โคมัยนียินยอมหยุดยิงสงบศึกกับ ซัดดัม ฮุสเซน ในเดือนสิงหาคม 1988 เป็นการยุติสงครามอันโหดร้ายทารุณที่ทำกับอิรักอย่างยืดเยื้อถึง 8 ปี ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนของทั้งสองฝ่ายรวมแล้วราวๆ 1 ล้านคน

เมื่อโคมัยนีถึงแก่อสัญกรรมในเดือนมิถุนายน 1989 อาลี คาเมเนอี ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ได้รับการเลื่อนขึ้นไปเป็นผู้นำสูงสุด และราฟซานจานีก็ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสืบแทน เขากลายเป็นประธานาธิบดีคนที่ 4 ในประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐแห่งนี้ โดยครองตำแหน่งตั้งแต่ปี 1989 จนถึงปี 1997
<i>อาลี อัคบาร์ ฮาเชมี ราฟซานจานี รัฐบุรุษอาวุโสของอิหร่าน ผู้ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันอาทิตย์ (8 ม.ค.) ที่ผ่านมา  ภาพนี้ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2011</i>
ขณะนั่งเป็นประธานาธิบดี ราฟซานจานีเที่ยวเร่ขายนโยบาย “เศรษฐกิจมาก่อนเป็นอันดับแรก” โดยให้สัญญาที่จะนำเงินงบประมาณซึ่งหาได้มาใช้เพื่อการฟื้นฟูบูรณะประเทศชาติ หลังจากเสียงปืนในสงครามอิหร่าน-อิรักเงียบสงบลงแล้ว เขานิยมชมชอบระบบเศรษฐกิจตลาดเสรี และเรียกร้องให้ดำเนินการแปรรูปอุตสาหกรรมต่างๆ ที่รัฐครอบครองอยู่ นโยบายเช่นนี้ได้รับการยกย่องชมเชยจากพวกชนชั้นนำที่มีเงินทองของประเทศ ซึ่งมองเห็นเขาเป็นผู้ต่อขยายผลประโยชน์ต่างๆ ทางธุรกิจของคนเหล่านี้ ทว่าเขาไม่ได้รับความนิยมจากประชาชนวงกว้างไม่ว่าจะเป็นคนยากจนในเมืองใหญ่ หรือชาวบ้านในท้องถิ่นชนบท

พวกศัตรูของราฟซานจานีกล่าวหาเขาว่า หากำไรเข้าพกเข้าห่ออย่างหน้าเลือดท่ามกลางความสูญเสียของรัฐบาล –นี่เป็นการกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรม เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าเขาหาทรัพย์สินสร้างความมั่นคั่งขึ้นมาได้จากช่วงปีต้นๆ ในการทำธุรกิจก่อสร้างเมื่อทศวรรษที่ 1960 การที่ราฟซานจานีถูกกล่าวหาอย่างดังอึงคะนึงเช่นนี้ สืบเนื่องมาจากบุตรชายของเขาคนหนึ่งที่ชื่อ มูห์เซน (Muhsen) ได้รับสัมปทานก่อสร้างระบบรถไฟใต้ดินของกรุงเตหะราน (Tehran Metro) โดยเป็นข้อกล่าวหาซึ่งกลายเป็นข่าวหน้าแรกหนังสือพิมพ์ในยุคที่ มาห์มุด อาห์มาดิเนจาด (Mahmud Ahmadinejad) ปรปักษ์ทางการเมืองของเขานั่งตำแหน่งประธานาธิบดี

อันที่จริงแล้ว ตัวราฟซานจานีเองก็ได้นำพวกศัตรูทางการเมืองของเขาจำนวนมากเข้าสู่ลานประหาร เช่นเดียวกับกลุ่มผู้คนสีสันฉูดฉาดบาดตาบาดใจซึ่งเขาไม่ชอบ ซึ่งมีทั้งนักการศาสนาชาวชีอะห์, ชาวคอมมิวนิสต์, ชาวเคิร์ด, ผู้ค้ายาเสพติด, และผู้นับถือศาสนาบาไฮ เขาถูกกล่าวหาด้วยว่าใช้ทีมนักฆ่าออกไล่ล่าพวกศัตรูที่พำนักอยู่ในยุโรป ระหว่างไปเทศนาครั้งหนึ่ง ณ มหาวิทยาลัยเตหะราน (Tehran University) ราฟซานจานีกล่าวสนับสนุนการใช้กำลังเพื่อปราบปรามการเดินขบวนประท้วงของพวกนักศึกษา

ทว่าในอีกด้านหนึ่ง เขามุ่งแสวงหาหนทางที่จะลดความขัดแย้งกับพวกศัตรูของอิหร่าน เป็นต้นว่า เสนอที่จะช่วยเหลือซัดดัม ฮุสเซน ในการสร้างประเทศอิรักขึ้นมาใหม่ ภายหลังประสบความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับจากการรุกรานคูเวตในปี 1991แล้วถูกสหรัฐฯระดมกำลังนานาชาติเข้าปราบปรามขับไล่ เขายังพยายามที่จะเปิดช่องทางการติดต่อต่างๆ กับฝ่ายสหรัฐฯ ดังเช่น การเชื้อเชิญบริษัทน้ำมันอเมริกัน โคโนโค ฟิลิปส์ (Conoco Philips) ให้มาพัฒนาแหล่งน้ำมันแห่งหนึ่งของอิหร่าน ทว่าคำขอนี้ถูกปฏิเสธโดยประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน ของสหรัฐฯในเวลานั้น

การดำรงตำแหน่งทางการเมืองของราฟซานจานี ก็อุดมไปด้วยการถกเถียงโต้แย้ง ไม่น้อยไปกว่าช่วงเวลาที่เขาอยู่ในอำนาจเลย เป็นต้นว่า ในปี 2000 เขาได้เลือกตั้งเป็น ส.ส. คนหนึ่งของสภามัจลิสเดียวกันกับที่เขาเคยนั่งเป็นประธานอยู่เมื่อ 20 ปีก่อนหน้านั้น แต่แล้วเขากลับลาออกจากตำแหน่งก่อนวาระการสาบานตัว โดยบอกว่าเขาสามารถรับใช้ประเทศได้ดีกว่าด้วยศักยภาพด้านอื่นๆ

จากปี 2007 ถึงปี 2011 เขาได้รับเลือกให้เป็นประธานของสมัชชาผู้เชี่ยวชาญ (Assembly of Experts) ซึ่งมีอำนาจมากเพราะจะทำหน้าที่รับผิดชอบในการคัดสรรผู้นำสูงสุดคนใหม่ในกรณีที่ อาลี คาเมเนอี ถึงแก่อสัญกรรม เขายังได้ทำหน้าที่เป็นประธานของสถาบันแห่งหนึ่งของรัฐบาลซึ่งมุ่งแก้ไขประเด็นปัญหาทางนิติบัญญัติที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐสภา กับ คณะกรรมการผู้พิทักษ์ (Guardian Council) อันประกอบด้วยสมาชิก 12 คนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ทางด้านความมั่นคงแห่งชาติ เขาลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งในปี 2005 ทว่าปราชัยให้แก่อาห์มาดิเนจาด ครั้นถึงการเลือกตั้งคราวปี 2013 เมื่อเขาถูกสภาผู้พิทักษ์ตัดสินว่าขาดคุณสมบัติในการลงชิงชัย เขาก็หันมาทุ่มเทความสนับสนุนให้แก่ ฮาซาน รูฮานี ประธานาธิบดีอิหร่านคนปัจจุบัน

ในเรื่องกิจการอาหรับ ราฟซานจารีทำเอาพวกอนุรักษนิยมในอิหร่านตาเหลือกตาค้างกันทีเดียว เมื่อออกมาสนับสนุนแผนการริเริ่มในปี 2002 ซึ่งตัวตั้งตัวตีคือซาอุดีอาระเบีย อีกทั้งยื่นเสนอโดยมกุฎราชกุมารอับดัลเลาะห์ (Crown Prince Abdullah) ของซาอุดีอาระเบียในเวลานั้น แผนการดังกล่าวนี้มุ่งเรียกร้องให้อาหรับรวมกลุ่มกันสร้างสันติภาพกับอิสราเอล เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่อิสราเอลต้องยอมคืนดินแดนในซีเรียและเลบานอนที่แย่งยึดไปครอบครอง กระนั้นก็ตามที ก่อนหน้านั้นไปอีกเขาเคยแสดงความสนับสนุนการโจมตีแบบฆ่าตัวตายที่มุ่งเล่นงานอิสราเอล โดยเฉพาะในช่วงระหว่างการลุกฮือของชาวปาเลสไตน์ครั้งที่ 2 (second intifada) เมื่อปี 2000 รวมทั้งตั้งชื่อบุตรชายคนหัวปีของเขาว่า ยัสเซอร์ (Yasser) เพื้อเป็นการแสดงคารวะต่อ ยัสเซอร์ อาราฟัต (Yasser Arafat) อดีตผู้นำของชาวปาเลสไตน์

หนึ่งในบรรดาชัยชนะอันสำคัญของเขาซึ่งไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันกันนัก ได้แก่ การผลักดันให้ ฮาซาน นัสรัลเลาะห์ คนในอุปถัมภ์ของเขาผู้ที่เวลานั้นมีอายุเพียง 32 ปี ได้รับการยอมรับให้ก้าวขึ้นเป็นเลขาธิการของกองกำลังอาวุธฮิซบอลเลาะห์ ซึ่งตั้งฐานอยู่ในเลบานอน หลังจาก อับบาส อัล-มูซอวี (Abbas al-Musawi) หัวหน้าฮิซบอลเลาะห์คนก่อนถูกลอบสังหารในเดือนกุมภาพันธ์ 1992 ทั้งนี้นัสรัลเลาะห์สามารถเอาชนะพวกผู้สมัครคนอื่นๆ ที่ทั้งอายุมากกว่าและมีอาวุโสสูงกว่าในองค์การที่อิหร่านหนุนหลังอยู่แห่งนี้ รวมทั้งมีประสบการณ์ทางการเมืองและทางการทหารมากกว่าเขาด้วย

ชาวอิหร่านในปัจจุบันจำนวนมากทีเดียว อายุน้อยเกินกว่าที่จะจดจำช่วงปีที่อยู่ในอำนาจของราฟซานจานี แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงให้ความเคารพนับถือเขาถึงแม้มีช่องว่างช่วงห่างระหว่างวัยก็ตามที ส่วนหนึ่งเนื่องจากสำหรับชาวอิหร่านนับล้านๆ คนแล้ว ราฟซานจานีเป็นตัวคงที่เพียงตัวเดียวเท่านั้นในโลกที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พวกเขาต่อเชื่อมโยงใยชื่อและใบหน้าของราฟซานจานีเข้ากับความเป็นรัฐบุรุษที่พวกเขาสามารถไว้วางใจและก้าวเดินตามได้ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่กำลังขาดแคลนในอิหร่านทุกวันนี้

ด้วยวัยและประสบการณ์ของราฟซานจานี ทำให้เขามีฐานะที่สูงเด่นในสังคมของชาวอิหร่านปัจจุบัน ไม่ใช่เพียงแค่ในฐานะที่เป็นอดีตประมุขแห่งรัฐเท่านั้น แต่บางครั้งบางคราวเขาก็เป็นดังหนึ่ง “ปราชญ์ผู้ให้คำแนะนำอันเฉลียวฉลาด” คนหนึ่งของสาธารณรัฐอิสลามแห่งนี้ ขณะที่ผู้นำสูงสุด อาลี คาเมเนอี นั้นอยู่ในสภาพที่ห่างเหินเกินกว่าจะเข้ามีปฏิสัมพันธ์กับประชาชนคนสามัญธรรมดา ทว่าราฟซานจานีกลับดูเหมือนอยู่ในทุกหนทุกแห่งในระยะไม่กี่ปีหลังมานี้ เขาจะปรากฏตัวตามมัสยิด, แสดงปาฐกถาตามมหาวิทยาลัย, พูดคุยกับผู้คนวัยเยาว์ ยิ่งกว่านั้น เขาดูไม่เคยเกรงกลัวที่จะส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการปกครองของนักอนุรักษนิยมผู้ทำตัวเป็นอันธพาลใหญ่อย่างอาห์มาดิเนจาด ศัตรูผู้ซึ่งถูกคิงเมกเกอร์ผู้เฒ่าผู้นี้ตราหน้าว่าไร้ประสบการณ์และไร้วุฒิภาวะทางการเมือง

ซามี มูบายเอด เป็นนักประวัติศาสตร์ชาวซีเรีย และเป็นประธานผู้ก่อตั้งของมูลนิธิประวัติศาสตร์ดามัสกัส (The Damascus History Foundation) เขาเคยเป็นนักวิชาการคาร์เนกี (Carnegie scholar) และเป็นนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูส์, สกอตแลนด์

กำลังโหลดความคิดเห็น