ซีเอ็นเอ็น - แผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่กำลังแตกออกจากแอนตาร์กติกา และพวกเหล่านักวิทยาศาสตร์บอกว่ามันเป็นการแยกตัวของแผ่นน้ำแข็งครั้งใหญ่ที่สุดหนหนึ่งในประวัติศาสตร์
Project MIDAS ทีมวิจัยที่มีสำนักงานในสหราชอาณาจักรเผยว่ารอยร้าวดังกล่าวเกิดขึ้นบนลาร์เซน ซี (Larsen C) แผ่นน้ำแข็งอันยาวเหยียดทางตะวันตกของแอนตาร์กติกา และปัจจุบันเหลือพื้นที่อีกเพียง 20 กิโลเมตรเท่านั้นที่ยังยึดมันอยู่กับแผ่นดินของแอนตาร์กติกา
หากรอยร้าวดังกล่าวเกิดแตกออก มันจะก่อแผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่ราวๆ 5,000 ตารางกิโลเมตร หรือพอๆ กับรัฐเดลาแวร์ของสหรัฐฯ
เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เหล่านักวิจัยของ MIDAS รายงานว่ารอยร้าวในลาร์เซน ซี ยืดยาวออกไป 22 กิโลเมตร ในช่วงเวลา 6 เดือน และในเดือนธันวาคม อัตราการแยกของรอยร้าวยิ่งเพิ่มมากขึ้น โดยขยายตัวออกไปอีก 18 กิโลเมตร ภายในเวลาเพียงเดือนเดียว
แม้มันไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดแผ่นน้ำแข็งแตกตัวออกจากแอนตาร์กติกา แต่การแตกออกของลาร์เซน ซี จะก่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์อย่างมากต่อทวีปแห่งนี้
ขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์คาดว่าหากชั้นน้ำแข็งลาร์เซน ซี ละลายและพังถล่มลงมาในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า จะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นราว 10 เซนติเมตร
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกและอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้แผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ต้องละลายและแตกออก
อย่างไรก็ตามนักวิจัยระบุว่า เนื่องจากรอยแตกดังกล่าวเกิดขึ้นมาหลายทศวรรษ นักวิทยาศาสตร์จึงไม่มีหลักฐานมาสนับสนุนเรื่องนี้ ทำให้ยังไม่แน่ชัดว่าการแตกของแผ่นน้ำแข็งเกิดจากภาวะโลกร้อน หรือเป็นเหตุการณ์ทางภูมิศาสตร์ตามปกติกันแน่