เอเจนซีส์ - อินโดนีเซีย-ออสเตรเลียพยายามผ่อนคลายสถานการณ์ตึงเครียด รัฐมนตรีกลาโหมแดนจิงโจ้เผยเสียใจและให้สัญญาตรวจสอบประเด็นที่ทำให้เกิดความขัดแย้งกระทั่งสองประเทศต้องระงับความร่วมมือทางทหาร ขณะที่ผู้นำแดนอิเหนาสำทับว่า สัมพันธภาพสองชาติยังคงดีอยู่ พร้อมสั่งให้รัฐมนตรีกลาโหมและผู้บัญชาการทหารสอบสวนเรื่องนี้
วันพุธที่ผ่านมา (4) อินโดนีเซียและออสเตรเลียแถลงว่า มีการระงับความร่วมมือทางทหาร ซึ่งรวมถึงการซ้อมรบร่วม โครงการอบรมและแลกเปลี่ยนตั้งแต่เดือนที่แล้ว
ต่อมาในวันพฤหัสบดี (5) มาริส เพย์น รัฐมนตรีกลาโหมออสเตรเลีย แถลงว่า การสอบสวนเอกสารการฝึกอบรมที่พบในค่ายทหารแคมป์เบลในเมืองเพิร์ธ และเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดความขัดแย้งนี้ ใกล้ได้ข้อสรุปแล้ว และออสเตรเลียจะส่งผลการสอบสวนให้รัฐบาลและกองทัพอินโดนีเซีย พร้อมแสดงความเสียใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
รัฐมนตรีกลาโหมออสเตรเลียยังกล่าวว่า ขณะนี้ เอกสารการฝึกอบรมทั้งหมดได้รับการปรับปรุงให้มีความเหมาะสมด้านวัฒนธรรม และออสเตรเลียยอมรับอธิปไตยและบูรณภาพด้านดินแดนของอินโดนีเซียตามสนธิสัญญาลอมบ็อก ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างออสเตรเลียกับอินโดนีเซีย
เพย์นยังปฏิเสธข้อกล่าวหาของ พล.อ.กาต็อต นูร์มันต์โย ผู้บัญชาการทหารของอินโดนีเซีย โดยยืนยันว่า แคนเบอร์ราไม่ได้จ้องเกณฑ์ทหารที่มีความสามารถของอินโดนีเซียเข้ากองทัพออสเตรเลียระหว่างการฝึกแต่อย่างใด
สำหรับประเด็นเอกสารการอบรมที่เป็นปัญหานั้น กาต็อตเปิดเผยเมื่อวันพฤหัสฯ ว่า นายทหารอินโดนีเซียคนหนึ่งที่ถูกส่งไปเป็นครูฝึกที่เพิร์ธเป็นผู้พบเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว
บางส่วนบางตอนของเอกสารดังกล่าวระบุว่า ติมอร์ตะวันออกและปาปัวต้องประกาศเอกราช รวมทั้งเยาะเย้ยหลักการปัญจศีล ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นการดูหมิ่นกองทัพ ประเทศชาติ และแม้แต่อุดมคติของอินโดนีเซีย
ทั้งนี้ ปาปัวเป็นจังหวัดหนึ่งทางภาคตะวันออกของอินโดนีเซีย และที่ผ่านมามีการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนักเคลื่อนไหวนอกประเทศ ขณะที่ทางการอินโดนีเซียควบคุมดินแดนนี้อย่างเคร่งครัด และถือว่าความพยายามใดๆ ของรัฐบาลหรือองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ต่างชาติ เป็นการแทรกแซงกิจการของอินโดนีเซีย
.
.
กาต็อตเสริมว่า หลักสูตรดังกล่าวใช้กันมายาวนาน แต่ตอนนี้ถูกยกเลิกไปแล้ว และยังบอกอีกว่า ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด อนุมัติให้กองทัพระงับการฝึกอบรมร่วมกับออสเตรเลีย ขณะที่ความร่วมมือส่วนอื่นๆ กำลังได้รับการประเมินใหม่
ขณะเดียวกัน วิโดโดแถลงว่า ความสัมพันธ์กับออสเตรเลียขณะนี้ยังถือว่าดีอยู่
นอกจากนั้น โจฮัน บูดี โฆษกผู้นำแดนอิเหนายังเผยว่า วิโดโดสั่งการให้รัฐมนตรีกลาโหมและผู้บัญชาการกองทัพบรรยายสรุปสถานการณ์นี้เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ซึ่งอาจนำไปสู่ความตึงเครียด
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ทางทหารออสซี่-อิเหนาง่อนแง่นมาตลอด ออสเตรเลียระงับการซ้อมรบร่วมกับกองกำลังพิเศษของอินโดนีเซีย (โคปัสซุส) หลังจากโคปัสซุสถูกกล่าวหาว่า ละเมิดสิทธิมนุษยชนในติมอร์ตะวันออกเมื่อปี 1999 ขณะที่ดินแดนนี้เตรียมการประกาศเอกราช
สองประเทศฟื้นความสัมพันธ์ทางทหารอีกครั้งเพื่อร่วมกันต่อต้านการก่อการร้าย หลังเหตุระเบิดไนต์คลับบาหลีในปี 2002 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 202 คน ในจำนวนนี้มีชาวออสซี่ถึง 88 คน
ครั้งล่าสุดที่อินโดนีเซียระงับความสัมพันธ์ทางทหารคือในปี 2013 จากรายงานข่าวที่เปิดโปงว่า สายลับออสซี่ดักฟังโทรศัพท์ซูซิโล บัมบัง ยุทโธโยโน ประธานาธิบดีอิเหนาในขณะนั้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันพฤหัสฯ เจ้าหน้าที่ทั้งออสเตรเลียและอินโดนีเซียประสานเสียงว่า ความสัมพันธ์ระหว่างกันไม่ได้ชะงักงันเหมือนเมื่อ 4 ปีที่แล้ว
อนึ่ง แคนเบอร์ราต้องพึ่งพิงความช่วยเหลือจากจาการ์ตาในการบังคับใช้นโยบายต่อต้านการอพยพ ซึ่งครอบคลุมการส่งเรือผู้ต้องการลี้ภัยกลับ และเพย์นกล่าวว่า อินโดนีเซียไม่ได้แจ้งว่า มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ รวมถึงความร่วมมือในการจัดการกับกลุ่มหัวรุนแรง อาทิ กลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส)
.
.
.