xs
xsm
sm
md
lg

“ไฟเซอร์” โดนอังกฤษปรับเงินก้อนโต ฐานโก่งราคายา สูบเลือดสูบเนื้อผู้ป่วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - หน่วยงานของอังกฤษได้ทำการปรับเงินก้อนโตกับ “ไฟเซอร์” บริษัทยารายใหญ่ของโลกเป็นจำนวนเงิน 84.2 ล้านปอนด์ โทษฐานโก่งค่ายาโรคลมชัก (ลมบ้าหมู) มากกว่าปกติถึง 2,600 เปอร์เซ็นต์

หน่วยงานดูแลตลาดและการแข่งขันของอังกฤษ (CMA) ยังได้ทำการปรับเงิน “ฟลินน์ ฟาร์มา” ด้วยอีกบริษัทหนึ่ง เป็นจำนวนเงิน 5.2 ล้านปอนด์ สำหรับการโก่งราคายา “เฟนิโทอิน โซเดียม แคปซูล” สำหรับปรากฏการณ์ราคายาพุ่งสูงในปี 2012

คำสั่งของหน่วยงานดังกล่าวมีขึ้นท่ามกลางกระแสถกเถียงกัน เกี่ยวกับเรื่องของจริยธรรมในการคิดราคาแพงสำหรับยาเก่าที่ปิดสิทธิบัตรไปแล้ว ทำให้มีการผลิตกันได้แค่ไม่กี่บริษัท และมีการแข่งขันกันน้อย

เมื่อปีที่แล้วบริษัทยาอเมริกัน “ทูริง ฟาร์มาซูติคอล” เคยทำให้ผู้คนพากันไม่พอใจ ด้วยการโก่งราคายา “ดาราพริม” ซึ่งเป็นยาต้านการติดเชื้อ ที่มักใช้ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อาทิ ผู้ป่วยเอดส์ โดยปั่นราคาขึ้นไปสูงกว่าปกติถึง 5,000 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมเม็ดละ 13.5 ดอลลาร์ ไปอยู่ที่เม็ดละ 750 ดอลลาร์

สำหรับในกรณีของยา “เฟนิโทอิน โซเดียม แคปซูล” ที่อังกฤษมีการโก่งราคาชนิดแพ็ก 100 มิลลิกรัม จากราคาเดิม 2.83 ปอนด์ กลายเป็นราคาแพงลิบลิ่ว 67.50 ปอนด์ ในปี 2012 ก่อนที่จะลดลงมาอยู่ที่ 54 ปอนด์ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2014

ผลที่ตามมาคือ ค่าใช้จ่ายสำหรับยาดังกล่าวของหน่วยงานสาธารณสุขแห่งชาติของอังกฤษ ก็พุ่งตามไปด้วย จากเดิม 2 ล้านปอนด์ ในปี 2012 ไปเป็น 50 ล้านปอนด์ ในปี 2013 โดยมีการระบุด้วยว่าราคายาดังกล่าวในสหราชอาณาจักรนั้นสูงกว่าที่อื่นในยุโรป

ไฟเซอร์นั้นเคยทำตลาดยาดังกล่าวภายใต้แบรนด์ “อีพานูติน” แต่ได้ขายสิทธิ์ในเดือนกันยายน 2012 ให้กับ “ฟลินน์ ฟาร์มา” บริษัทอังกฤษที่เอกชนเป็นเจ้าของ จากนั้นก็มีการถอดแบรนด์ ทำให้ไม่ตกเป็นเป้าในการตรวจสอบราคา แล้วราคาก็พุ่งทะยานทันที

“บริษัทเหล่านี้จงใจฉวยโอกาสเอาเปรียบด้วยการถอดแบรนด์ตราสินค้าเพื่อโก่งราคายา ซึ่งเป็นที่พึ่งของผู้ป่วยหลายพันคน” ฟิลิป มาร์สเดน ประธานหน่วยงาน CMA ระบุในวันพุธ

“นี่เป็นการปรับเงินก้อนโตที่สุดเท่าที่ CMA เคยทำมา มันเป็นการส่งข้อความที่ชัดเจนไปยังหมวดอุตสาหกรรมนี้ว่าเราจะตรวจสอบและปราบปรามการกระทำลักษณะดังกล่าว” มาร์สเดน ระบุ

ด้านบริษัทยา “ไฟเซอร์” ระบุในคำแถลงว่า มีแผนจะทำการอุทธรณ์ต่อคำตัดสินทั้งหมดของ CMA

บริษัทยาอเมริกันรายนี้ ระบุว่า ยาตัวดังกล่าวไม่ทำเงินให้บริษัท ทำให้บริษัทต้องพิจารณาว่าจะยังคงผลิตออกมาอีกหรือไม่ ไฟเซอร์ยังบอกด้วยว่า ราคาที่กำหนดโดยฟลินน์นั้นที่จริงแล้วเป็นราคาต่ำกว่าของบริษัทอื่นประมาณ 25 - 40 เปอร์เซ็นต์


กำลังโหลดความคิดเห็น