xs
xsm
sm
md
lg

ความสัมพันธ์ระหว่าง'จีน'กับ'โดนัลด์ ทรัมป์'

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ สนทนาทางโทรศัพท์โดยตรงกับประธานาธิบดีไช่ อินเหวิน ของไต้หวัน เมื่อวันศุกร์ (2 ธ.ค.) ที่ผ่านมา เรื่องนี้นักการทูตมากประสบการณ์อย่าง เอ็ม เค ภัทรกุมาร มองว่าไม่น่าสร้างปัญหาอะไรนักให้แก่ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีมือประสานเชื่อมโยงอย่าง เฮนรี คิสซิงเจอร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เดวิด บรุนน์สตรอม แห่งสำนักข่าวรอยเตอร์ ซึ่งเฝ้าติดตามข่าวอยู่ในวอชิงตันเตือนว่า กรณีนี้อาจเป็นการยิงซัลโวทักทายแสดงถึงการที่สหรัฐฯจะใช้ท่าทีแข็งกร้าวยิ่งขึ้นกับปักกิ่ง

'จีน'ดูเหมือนพอใจข่าวคราวจาก'โดนัลด์ ทรัมป์'
โดย เอ็ม เค ภัทรกุมาร

China seems pleased with tidings from Trump
By M K Bhadrakumar
03/12/2016

การสนทนาทางโทรศัพท์เมื่อวันศุกร์ (2 ธ.ค.) ที่ผ่านมา ระหว่างว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ กับประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไต้หวัน คือการติดต่อในลักษณะดังกล่าวครั้งแรกซึ่งกระทำโดยประธานาธิบดีหรือว่าที่ประธานาธิบดีอเมริกัน นับตั้งแต่ที่ จิมมี่ คาร์เตอร์ ได้เปลี่ยนแปลงหันมาให้การรับรองทางการทูตแก่ปักกิ่งแทนที่ไทเปเมื่อปี 1979 โดยที่ยอมรับด้วยว่าเกาะไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน มันเป็นการพูดคุยกันทางโทรศัพท์อยู่ประมาณ 10 นาที แต่ก็กลายเป็นเชื้อเพลิงโหมกระพือให้เกิดการคาดเดากะเก็งกันว่าทรัมป์อยู่ในความเสี่ยงที่จะทำให้จีนเดือดดาล

ทว่ามันกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น รัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีน แสดงอาการไม่แยแสกับเรื่องนี้โดยถือว่าเป็นเพียง “การปฏิบัติการหยุมๆ หยิมๆ “ ของไต้หวัน (ถึงแม้ปกติแล้วการติดต่อในลักษณะเช่นนี้ ย่อมต้องมีการวางแผนกันล่วงหน้าและทั้งสองฝ่ายต่างต้องตกลงเห็นพ้องกันก่อน) หวัง กล่าวว่า “ผมเชื่อว่าการพูดคุยกันทางโทรศัพท์นี้ จะไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายจีนเดียวที่สหรัฐฯยึดถือมาเป็นเวลานานปี” (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.chinadaily.com.cn/world/2016-12/03/content_27559077.htm)

จีนนั้นกำลังอยู่ระหว่างการทดสอบคาดเดาขนาดขอบเขตของ “ความเป็นปกติอย่างใหม่” (new normal) นั่นก็คือ ทรัมป์ไม่ได้ถูกผูกมัดด้วยการปฏิบัติและประเพณีนิยมของสหรัฐฯในอดีต อีกทั้งเปิดกว้างที่จะปรับเปลี่ยนแกนหมุนสำคัญทั้งหลายในนโยบายการต่างประเทศถ้าหากเห็นว่ามันเป็นผลประโยชน์ของอเมริกัน แน่นอนทีเดียว สภาวการณ์เช่นนี้คือการนำเอาองค์ประกอบแห่งความไหลลื่นไม่คงตัวเข้ามา

ชาติซึ่งทำท่าจะกลายเป็นเพื่อนและพันธมิตรของจีนบางราย อาจรู้สึกเหมือนกับว่ากำลังหวนกลับไปเป็นดาวบริวารในวงโคจรของอเมริกันอีกคำรบหนึ่ง ทั้งนี้ เมื่อทรัมป์พูดคุยทางโทรศัพท์และเรียกนายกรัฐมนตรี นาวาซ ชาริฟ ของปากีสถานว่า เป็น “คนยิ่งใหญ่” หรือพูดจาสนทนาอย่าง “ถูกอกถูกใจและออกท่าออกทาง” กับประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ (ดูที่ http://www.voanews.com/a/duterte-trump-bilateral-ties-drug-crackdown/3621539.html) พวกเขาทั้งสองต่างรู้สึกใจพองโต ชารีฟถึงกับเร่งส่งผู้ช่วยคนสำคัญคนหนึ่งรีบเดินทางไปสหรัฐฯ ในภารกิจเพื่อติดต่อกับพวกผู้ช่วยของทรัมป์โดยเฉพาะ ทางด้านดูเตอร์เตได้เชื้อเชิญทรัมป์ให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอด อีสต์ เอเชีย ซัมมิต (East Asia Summit รายการหนึ่งในช่วงการประชุมซัมมิตประจำปีของสมาคมอาเซียน –ผู้แปล) ปีหน้าซึ่งกำหนดจัดขึ้นที่กรุงมะนิลา และกล่าวว่าถ้าทรัมป์สามารถเดินทางมาได้ “ก็จะเป็นเรื่องยอดเยี่ยมสำหรับประเทศเรา”

อันที่จริง จีนเองก็มีความสนใจกระตือรือร้นเกี่ยวกับ “ความเป็นปกติอย่างใหม่” นี้ ตลอดจนโอกาสอันยิ่งใหญ่มหาศาลที่มาพร้อมๆ กับมัน เฮนรี คิสซิงเจอร์ ผู้ซึ่งได้พบปะกับทรัมป์เมื่อ 10 วันก่อนหน้านั้น ได้เดินทางถึงกรุงปักกิ่งช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ใช้เวลา 90 นาทีในการหารือกับคิสซิงเจอร์เมื่อวันศุกร์ (2 ธ.ค.) ณ มหาศาลาประชาชน (Great Hall of the People) โดยที่รายงานข่าวระบุว่า สีพูดว่า “ดร.คิสซิงเจอร์ การมาเยือนของท่านคราวนี้เป็นจังหวะเวลาที่ดีมาก เรากำลังตั้งตาคอยเพื่อรับฟังทัศนะความคิดเห็นของท่านในเรื่องความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯที่จะดำเนินต่อไปข้างหน้า เรากำลังเฝ้าจับตามองสถานการณ์อย่างใกล้ชิดยิ่ง ช่วงเวลาขณะนี้คือช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน”

สำนักข่าวซินหวารายงานว่า คิสซิงเจอร์ได้บอกกับสีว่า เป็นที่คาดหมายกันว่าคณะบริหารทรัมป์ซึ่งกำลังจะเข้าปฏิบัติงานนั้น จะ “เอื้ออำนวย” ให้ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน “เติบโตขยายตัวไปอย่างยืนยาว, มั่นคง, และดียิ่งขึ้น” ขณะที่สีก็กล่าวตอบให้ความมั่นใจว่า จีน “จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ณ จุดเริ่มต้นใหม่ เพื่อประคับประคองให้การเปลี่ยนผ่านของสายสัมพันธ์ตลอดจนการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพดำเนินไปอย่างราบรื่น” สียังได้ย้ำถึงความสำคัญของการที่ บุคคลระดับสูงของทั้งสองฝ่ายควรที่จะต้องมีการแลกเปลี่ยนกันอย่างใกล้ชิด, “สายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่ทั้งสองฝ่ายต่างเป็นผู้ชนะ” และการขยาย “ความร่วมมือกันอย่างเป็นเนื้อเป็นหนังในทุกๆ ด้าน”, ตลอดจนการเพิ่มความแข็งแกร่งของ “การประสานงานกันในประเด็นปัญหาสำคัญๆ ทั้งระดับโลกและระดับภูมิภาค”

แล้วตัวคิสซิงเจอร์เองล่ะ ประเมินวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์เอาไว้อย่างไร? ไม่นานนักหลังจากเขาพบปะกับทรัมป์ในนครนิวยอร์กเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน คิสซิงเจอร์ได้ให้สัมภาษณ์ ฟารีด ซาคาเรีย (Fareed Zakaria) ของโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น โดยที่คิสซิงเจอร์พูดถึงทรัมป์ว่า เป็น “ว่าที่ประธานาธิบดีผู้มีความมุ่งมั่น ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากความเป็นนักรณรงค์หาเสียงมาสู่ความเป็นนักยุทธศาสตร์ระดับชาติ และกำลังทำให้ตนเองมีความรอบรู้เกี่ยวกับมิติอันหลากหลายของสถานการณ์ปัจจุบัน”

คิสซิงเจอร์ยกย่องว่า สิ่งที่ถือเป็นคุณสมบัติซึ่ง “โดดเด่นที่สุด” เกี่ยวกับทรัมป์ก็คือ “เขาเป็นคนที่ไม่มีหีบห่อสัมภาระซึ่งต้องคอยแบกขนไปด้วย เขาไม่ได้ต้องเข้าไปร่วมอยู่ในกลุ่มใดๆ โดยเฉพาะเจาะจง เนื่องจากเขาก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีบนพื้นฐานแห่งยุทธศาสตร์ของเขาเอง และบนหลักนโยบายซึ่งเขายื่นเสนอต่อสาธารณชนชาวอเมริกันอย่างชนิดที่พวกคู่แข่งของเขาไม่เคยเสนอกันมาก่อน ดังนั้นนี่จึงเป็นสถานการณ์ที่โดดเด่นไม่มีใครเหมือนโดยแท้”

คิสซิงเจอร์ชี้ว่า โลกาภิวัตน์นั้นมีทั้งผู้ชนะและผู้พ่ายแพ้ และ “ผู้พ่ายแพ้ย่อมต้องผูกพันแสดงตัวตนของพวกเขาในปฏิกิริยาทางการเมืองแบบใดแบบหนึ่ง” ด้วยเหตุนี้เอง เขากล่าวว่า “ผมมีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันว่า เราไม่ควรยืนกรานที่จะตอกตรึงเขา (ทรัมป์) ให้ยึดแน่นอยู่กับจุดยืนต่างๆ ซึ่งเขาได้ประกาศเอาไว้ในระหว่างการรณรงค์หาเสียง ถ้าหากว่าในเวลานี้เขาไม่ได้ยืนกรานแล้ว แต่ถ้าเขายืนกรานในสิ่งเหล่านั้น มันก็แน่นอนทีเดียวว่าจะต้องมีการแสดงความไม่เห็นด้วย ทว่าถ้าหากเขาพัฒนาหลักนโยบายอีกอย่างยิ่ง และปล่อยให้คำถามเปิดกว้างไว้เกี่ยวกับสิ่งที่เขาได้เคยพูดในระหว่างการรณรงค์หาเสียง ถึงตอนนี้เราก็ควรมองเห็นว่านี่เป็นพัฒนาการที่พึงปรารถนา”

พูดง่ายๆ ก็คือ การที่ทรัมป์จะพลิกลิ้นจากสิ่งที่เคยพูดไว้ในตอนหาเสียงกันบ้างย่อมกลายเป็นเรื่องซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทว่าถึงตอนนั้น “ผม (คิสซิงเจอร์) คิดว่า เราควรที่จะให้โอกาสเขา (ทรัมป์) ในการพัฒนาวัตถุประสงค์ทางบวกต่างๆ ซึ่งเขาจะพึงมี และทำการอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้น” ยิ่งเมื่อมองไปข้างหน้าแล้ว คิสซิงเจอร์บอกว่า ทรัมป์ “ดูเหมือนจะมียุทธศาสตร์ที่เขายึดมั่นเอาไว้อย่างเหนียวแน่นจริงๆ ไม่ว่าจะมีแรงกดดันโถมเข้าใส่เขามากมายเพียงใดก็ตาม”

ภารกิจต่อไปข้างหน้าของทรัมป์คือ การทำให้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว “มีความยั่งยืน” ด้วยการนำเอายุทธศาสตร์นี้ออกมาเผชิญกับความวิตกกังวลต่างๆ ที่ได้เคยปรากฏขึ้นมาบนช่วงเส้นทางการรณรงค์หาเสียง ขณะเดียวกันนั้นก็เชื่อมยุทธศาสตร์นี้เข้ากับ “แนวคิดหลักๆ บางแนวคิด” ของนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นว่า “เสรีภาพและสันติภาพของโลก” ทั้งนี้คิสซิงเจอร์สรุปย้ำเน้นว่า “ภารกิจสูงสุดนี้ (เสรีภาพและสันติภาพของโลก) จำเป็นที่จะต้องรักษาเอาไว้ให้ได้” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การที่สหรัฐฯจักต้องมีปฏิสัมพันธ์อย่างกระตือรือร้นในระดับโลก ถึงแม้ในยุคของทรัมป์ มัน (ภารกิจสูงสุดนี้)อาจจะ “อยู่ในลักษณะที่แตกต่างออกไปและอยู่ในบริบทที่แตกต่างออกไป และบางทีอาจจะอยู่ในลักษณะมุ่งมั่นยืนกรานลดน้อยลงกว่าที่เคยเป็นมาในช่วงต่างๆ เมื่อก่อนนี้”

สีดูจะพออกพอใจจากการสนทนากับคิสซิงเจอร์คราวนี้ (ดูรายงานข่าวของซินหวาเกี่ยวกับการพบปะกันระหว่างสีกับคิสซิงเจอร์ได้ที่ http://news.xinhuanet.com/english/2016-12/02/c_135877048.htm)

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline)

เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) รวมทั้งเขียนให้เอเชียไทมส์เป็นประจำตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา

หมายเหตุผู้แปล

ควรต้องระบุด้วยว่า ข้อเขียนข้างบนนี้ของ เอ็ม เค ภัทรกุมาร เผยแพร่เมื่อวันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม ก่อนหน้าที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะทวิตข้อความโจมตีจีนอีกรอบหนึ่งในวันจันทร์ (5 ธ.ค.) สำหรับรายงานข่าวของ เดวิด บรุนน์สตรอม แห่งสำนักข่าวรอยเตอร์ มีเนื้อความดังนี้

'ทรัมป์'เปิดฉากยิงซัลโวเสี่ยงทดสอบเจตนารมณ์ของ'ปักกิ่ง'
โดย เดวิด บรุนน์สตรอม แห่งสำนักข่าวรอยเตอร์

Trump fires opening salvo in risky test of wills with Beijing
By David Brunnstrom
06/12/2016

วอชิงตัน - ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังแสดงท่าทีว่าสหรัฐฯจะใช้วิธีที่แข็งกร้าวยิ่งขึ้นในการติดต่อสัมพันธ์กับจีน จากการที่เขาติดต่อสนทนาทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีหญิงของไต้หวันในสัปดาห์ที่แล้ว ทว่ายังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าเขาจะผลักดันเดินหน้าไปไกลแค่ไหน ในการดำเนินการอันแสนเสี่ยงเช่นนี้เพื่อทดสอบเจตนารมณ์และเรียกร้องการอ่อนข้อจากปักกิ่งในประเด็นปัญหาต่างๆ ตั้งแต่เรื่องการค้าไปจนถึงเรื่องเกาหลีเหนือ

การพูดคุยกันระหว่างทรัมป์ กับ ไช่ อิงเหวิน คราวนี้ ถือเป็นครั้งแรกซึ่งประธานาธิบดีหรือว่าที่ประธานาธิบดีอเมริกัน ติดต่อโดยตรงกับผู้นำของไต้หวัน ภายหลังจากที่ประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ได้สับสวิตช์หันมารับรองทางการทูตต่อปักกิ่งแทนที่ไทเปเมื่อปี 1979

ความเคลื่อนไหวคราวนี้ทำให้จีนยื่นประท้วงทางการทูตอย่างทันทีทันควัน ซึ่งทำให้คณะบริหารของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่กำลังจะหมดวาระ ออกมาเตือนทรัมป์ว่า เรื่องนี้สามารถบ่อนทำลายความก้าวหน้าในความสัมพันธ์ที่สหรัฐฯมีอยู่กับปักกิ่ง ซึ่งคณะบริหารของประธานาธิบดีอเมริกันคนแล้วคนเล่าทั้งที่มาจากพรรครีพับลิกันและจากพรรคเดโมแครต ได้พยายามบ่มเพาะสร้างขึ้นมาด้วยความระมัดระวังเป็นเวลายาวนานหลายสิบปี

ทางด้านนักวิเคราะห์หลายรายก็ให้ความเห็นว่า หากออกแรงบีบคั้นกันมากเกินไปแล้ว อาจจะถึงขั้นกลายเป็นการยั่วยุให้เกิดการประจันหน้าทางทหารกับจีนได้ทีเดียว

พวกเจ้าหน้าที่ในทีมงานของทรัมป์ และโดยเฉพาะว่าที่รองประธานาธิบดี ไมก์ เพนซ์ ได้พยายามออกมาลดทอนความสำคัญของการสนทนาทางโทรศัพท์เป็นเวลา 10 นาทีระหว่างทรัมป์กับไช่ โดยบอกว่ามันเป็นเพียงการพูดจากัน “ตามมารยาท” และไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะแสดงให้เห็นว่ากำลังจะมีการหักเหเปลี่ยนแปลงทางด้านนโยบาย

อย่างไรก็ดี ทรัมป์กลับยังคงเติมเชื้อเพลิงให้ลุกโชนยิ่งขึ้นอีกเมื่อวันอาทิตย์ (4 ธ.ค.) ที่ผ่านมา ด้วยการทวิตข้อความแสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับนโยบายทางเศรษฐกิจและทางทหารของจีน พร้อมกันนั้น สตีเฟน มัวร์ (Stephen Moore) ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจคนหนึ่งของทรัมป์ ยังได้ออกมากล่าวในวันจันทร์ (5 ธ.ค.) ว่า ถ้าหากปักกิ่งไม่ชอบคำพูดเหล่านี้ ก็ “ชั่งหัวมันไปซะ”

ทั้งนี้ข้อความในทวิตเตอร์ของทรัมป์มีดังนี้: จีนเคยถามเราหรือไม่ว่ามันโอเคไหมในการลดค่าสกุลเงินของพวกเขา (ทำให้เป็นเรื่องยากลำบากสำหรับพวกบริษัทของเราที่จะไปแข่งขันด้วย), การขึ้นภาษีหนักหน่วงต่อผลิตภัณฑ์ของเราที่เข้าไปยังประเทศของพวกเขา (สหรัฐฯกลับไม่ได้เก็บภาษีจากพวกเขา) หรือการสร้างสิ่งปลูกสร้างทางทหารอันมหึมาขึ้นในบริเวณกลางทะเลจีนใต้? ผมไม่คิดว่ามันโอเคหรอก!

นักวิเคราะห์หลายคน รวมทั้งอดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯบางรายด้วย แสดงความเห็นว่า อย่างน้อยที่สุดการติดต่อทางโทรศัพท์ระหว่างทรัมป์กับไช่ครั้งนี้ ก็ถือเป็นการเริ่มต้นยิงเตือน เป็นการส่งสัญญาณว่ากำลังจะมีการใช้วิธีแข็งกร้าวขึงตึงยิ่งขึ้นในการจัดการกับปักกิ่ง ซึ่งก็รวมไปถึงแผนการที่จะเพิ่มพูนแสนยานุภาพทางทหารของอเมริกัน โดยที่เป็นส่วนหนึ่งของการตอบโต้รับมือกับอำนาจอิทธิพลซึ่งกำลังเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ของจีนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

จอน ฮันต์สแมน (Jon Huntsman) อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำจีน ซึ่งมีรายงานข่าวว่าเป็นแคนดิเดตคนหนึ่งที่อาจได้รับเลือกเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของทรัมป์ ได้พูดกับหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า น่าจะสามารถใช้ไต้หวัน เป็น “จุดแก้ไขปัญหา” ที่มีคุณประโยชน์ทีเดียว ในการจัดการกับจีน

ส่วน ปีเตอร์ นาวาร์โร (Peter Navarro) ที่ปรึกษาของทรัมป์และเป็นพวกแนวคิดสายเหยี่ยวในเรื่องการติดต่อสัมพันธ์กับจีน กับ จอห์น โบลตัน (John Bolton) อดีตเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำสหประชาชาติ ซึ่งก็เป็นตัวเก็งอีกคนหนึ่งที่อาจจะได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของทรัมป์ ต่างเสนอให้ใช้วิธียกระดับความสัมพันธ์กับไต้หวันขึ้นสูงสักระดับหนึ่ง เพื่อมาบีบคั้นกดดันจีนให้ต้องยอมถอยหลังกลับในเรื่องความพยายามที่จะเสาะแสวงหาครอบครองดินแดนในเอเชียตะวันออก

นาวาร์โรซึ่งได้เขียนหนังสือหลายเล่มรวมทั้งผลิตภาพยนตร์สารคดีทางโทรทัศน์หลายตอนจบเพื่อเตือนถึงอันตรายจากการก้าวผงาดขึ้นมาของจีน กำลังเสนอแนะว่าควรเพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์กับไต้หวัน เป็นต้นว่าการให้ความช่วยเหลือในโครงการพัฒนาเรือดำน้ำของไทเป

เขาเสนอความคิดเห็นด้วยว่า วอชิงตันควรต้องเลิกอ้างอิงเลิกระบุว่ายอมรับนโยบาย “จีนเดียว” อีกต่อไป ทว่าเขายังไม่ถึงกับชี้แนะว่าสหรัฐฯควรต้องหันมารับรองไทเป โดยกล่าวว่า “ไม่มีความจำเป็นใดๆ เลยที่จะต้องไปแหย่หมีแพนด้าอย่างไม่ใช่เรื่อง”

ทว่าสำหรับโบลตันแล้ว ในบทความชิ้นหนึ่งซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เขาถึงขั้นแสดงความเห็นพ้องให้ใช้ “บันไดทางการทูตเพื่อการไต่สูงยกระดับ” โดยอาจเริ่มจากให้กระทรวงการต่างประเทศอเมริกันแสดงการรับรองนักการทูตไต้หวันอย่างเป็นทางการ และยกระดับขึ้นเรื่อยๆ จนไปสู่การฟื้นฟูการรับรองทางการทูตอย่างเต็มรูปแบบ

อีแวน เมเดรอส ( Evan Medeiros) อดีตเจ้าหน้าที่ผู้เคยทำงานเป็นที่ปรึกษาระดับสูงว่าด้วยเอเชียตะวันออกให้ประธานาธิบดีบารัค โอบามา กล่าวติงว่าความคิดเช่นนี้ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่มีความเสี่ยงสูงยิ่ง

“ความเป็นจริงมีอยู่ว่า จีนได้บอกให้เราทุกคนทราบอย่างชัดเจนมากมาตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1990 แล้วว่า ประเด็นปัญหาเรื่องไต้หวันคือประเด็นปัญหาสำคัญถึงขั้นสงครามหรือสันติภาพสำหรับจีนทีเดียว”

“ประเด็นปัญหาไต้หวันนั้นเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองอย่างยิ่งยวด และก็มีลำดับความสำคัญทางผลประโยชน์สูงยิ่งสำหรับจีน จนกระทั่งพวกเขาจะไม่ยินยอมเริ่มต้นต่อรองอะไรทั้งสิ้นเพื่อแลกเปลี่ยนกับเรื่องนี้ และถ้าหากสหรัฐฯตัดสินใจที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับไต้หวันแล้ว มันก็ง่ายเหลือเกินที่จะทำให้เกิดวิกฤตการณ์ทางทหารขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือในทันที” เขากล่าว

ดักลาส พาอัล ( Douglas Paal) เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวในยุคคณะบริหารของประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันหลายชุด รวมทั้งเคยทำหน้าที่เป็นผู้แทนสหรัฐฯประจำไต้หวันในช่วงปี 2002 – 2206 ให้ทัศนะว่า วิธีเข้าถึงปัญหาของพวกที่ปรึกษาของทรัมป์นั้นดูเหมือนมีรากเหง้าติดอยู่กับยุคทศวรรษ 1990 เมื่อตอนที่จีนยังอ่อนแอกว่าในปัจจุบันมาก และสหรัฐฯอยู่ในฐานะดีกว่าเวลานี้มากที่จะใช้แนวทางแข็งกร้าวเพิ่มขึ้น

“ปัญหาอยู่ที่ว่า ปักกิ่งได้ตัดสินใจเมื่อปี 1996 ในเรื่องการสร้างแสนยานุภาพทางทหารระยะเวลา 10 ปี เพื่อที่จะได้ไม่ต้องกลืนยาขมแบบนี้อีกแล้ว” พาอัลกล่าว

การทดสอบเจตนารมณ์

เขากล่าวด้วยว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนนั้นกำลังหาทางเพิ่มพูนความมั่นคงให้แก่ตำแหน่งของเขาเองเมื่อถึงการประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปีหน้า

“ถ้าหากเขาแสดงท่าทีให้เห็นเหมือนกับว่าอ่อนปวกเปียกในเรื่องอย่างเช่น การยินยอมให้สำนักงานของสหรัฐฯในไทเปกลายเป็นที่มั่นทางการทูตอย่างเป็นทางการแล้ว สีก็จะถูกพวกคู่แข่งของเขาเขมือบกินอย่างรวดเร็ว และเขาจะไม่มีทางปล่อยให้เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นมาหรอก” พาอัล บอก

คริส เมอร์ฟีย์ (Chris Murphy) วุฒิสมาชิกสหรัฐฯสังกัดพรรคเดโมแครตซึ่งนั่งอยู่ในคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาอเมริกัน ก็กล่าวว่าการใช้ไต้หวันเป็นหนทางในการบีบคั้นกดดันจีนให้ยอมร่วมมือในเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีหนือ หรือในเรื่องการค้านั้น เป็นสิ่งที่จะไม่บังเกิดผล

“บีบจีนด้วยเรื่องไต้หวันไม่น่าจะทำให้พวกเขาเข้าโต๊ะเจรจาเรื่องเกาหลีเหนือหรือค่าเงินตรา” เขาเขียนเอาไว้เช่นนี้ทางทวิตเตอร์ พร้อมระบุว่า มัน “เสี่ยงที่จะผลักให้พวกเขาเข้าไปอยู่ในมุมมืดที่มีอันตราย”

แหล่งข่าว 2 รายซึ่งมีความคุ้นเคยกับการถกเถียงอภิปรายเรื่องนโยบายว่าด้วยจีนภายในทีมงานของทรัมป์ต่างกล่าวว่า โบลตันและพวกสายแนวคิดแข็งกร้าวคนอื่นๆ เป็นผู้ที่กระตุ้นส่งเสริมให้พวกผู้นำไต้หวันเข้าติดต่อสัมพันธ์กับทางว่าที่ประธานาธิบดีอเมริกัน

อย่างไรก็ตาม เฮนรี คิสซิงเจอร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ และคนอื่นๆ กำลังให้คำแนะนำทรัมป์และทีมงานถ่ายโอนอำนาจของเขาให้ระมัดระวัง อย่าได้เปิดแผลสร้างความเสียหายแก่นโยบาย “จีนเดียว” ที่ใช้กันมา 40 ปีแล้ว แหล่งข่าว 2 รายนี้ระบุ

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือ ทรัมป์ในตอนแรกทีเดียวพูดถึงคำขอติดต่อสนทนาทางโทรศัพท์จากผู้นำไต้หวันในฐานะที่เป็นเรื่องส่วนบุคคล แทนที่จะเป็นสัญญาณแรกเริ่มของการปรับเปลี่ยนนโยบายของสหรัฐฯ ทำให้ญี่ปุ่นตลอดจนพวกชาติพันธมิตรเอเชียของสหรัฐฯรายอื่นๆ ยังไม่รู้สึกสะทกสะท้านอะไร

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าว 2 รายนี้บอกว่า ภายหลังที่ทรัมป์ทวิตโจมตีว่าจีนเป็นผู้ปั่นค่าเงินตรา รวมทั้งพูดเรื่องภาษีนำเข้าและทะเลจีนใต้ ก็ทำให้ผู้นำเอเชียบางรายกำลังตั้งคำถามว่า ทรัมป์กำลังมีเจตนาจริงๆ หรือที่จะยั่วยุจีน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่ความตึงเครียดที่จะยกระดับสูงขึ้นไปอย่างน่าเกรงอันตราย

เชส ฟรีแมน (Chas Freeman) อดีตนักการทูตสหรัฐฯ ผู้ซึ่งเคยเป็นล่ามของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน เมื่อครั้งที่นิกสันเดินทางไปเยือนจีนครั้งประวัติศาสตร์ในปี 1972 กล่าวว่า เขาคิดว่าพวกเจ้าหน้าที่จีนกำลังเฝ้าจับตาดูว่าทรัมป์เมื่อขึ้นเป็นประธานาธิบดีแล้วจะมีความตั้งใจอย่างไรกันแน่ๆ

“พวกเขา (ฝ่ายจีน) ไม่ต้องการที่จะสร้างความอับอายให้มิสเตอร์ทรัมป์ หรือเข้าไปพัวพันอยู่ในการเผชิญหน้าอย่างเต็มไปด้วยอารมณ์กับเขา (ทรัมป์)” ฟรีแมน บอก

“ดังนั้นผลกระทบในทันทีเฉพาะหน้าของเรื่องนี้จะอยู่ในลักษณะที่ว่าพวกเขาจะปล่อยให้เขาเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากความสงสัยข้องใจซึ่งเกิดขึ้นมา โดยบอกว่าเขาไม่ทราบหรอกว่าเขากำลังทำอะไรอยู่ และไม่เข้าอกเข้าใจถึงความสำคัญของเรื่องนี้ และบางทีเขาอาจจะถูกปั่นหัวหาประโยชน์จากผู้คนที่อยู่แวดล้อมตัวเขา”

(ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษของรายงานข่าวนี้ได้ที่ http://mobile.reuters.com/article/idUSKBN13U2YD)


กำลังโหลดความคิดเห็น