รอยเตอร์/MGRออนไลน์ - ศาลสูงในกรุงลอนดอนตัดสินวันนี้ (3 พ.ย.) ว่า รัฐบาลสหราชอาณาจักรจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาเสียก่อน ในการเริ่มต้นกระบวนการขอถอนตัวออกจากการเป็นรัฐสมาชิกของสหภาพยุโรป (อียู) คำพิพากษานี้กำลังสร้างความสับสนซับซ้อนให้แก่แผน “เบรตซิต” ของนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ แต่ทำให้ค่าเงินปอนด์พุ่งสูงขึ้น
รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเมย์ออกคำแถลงอย่างทันควันว่า จะยื่นอุทธรณ์คำตัดสินนี้ และศาลสูงสุดของสหราชอาณาจักรก็กำหนดแล้วที่จะใช้ช่วงวันที่ 5-8 ธันวาคมนี้มาพิจารณาวินิจฉัยเรื่องนี้
ทางด้านเงินปอนด์สเตอร์ลิงของสหราชอาณาจักรขยับเพิ่มค่าขึ้นเนื่องจากข่าวนี้ โดยอยู่ในระดับ 1 ปอนด์แลกได้ 1.24 ดอลลาร์เป็นครั้งแรกในรอบ 3 สัปดาห์ หรือสูงขึ้นราว 1.5% ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ ตลาดยังวิตกกังวลหนักเกี่ยวกับเรื่องที่โดนัลด์ ทรัมป์ อาจชนะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งสร้างความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายทางเศรษฐกิจ, การค้าเสรี, และเรื่องภูมิรัฐศาสตร์
นักลงทุนรู้สึกดีใจกับคำพิพากษานี้ เนื่องจากจำนวนมากกำลังมองว่า ฝ่ายนิติบัญญัติจะลดทอนน้ำหนักของนโยบายต่างๆ ในเรื่องนี้ของรัฐบาล และทำให้มีความเป็นไปได้น้อยลงที่จะเกิด “ฮาร์ด เบร็กซิต” (hard Brexit) หรือการออกจากอียูแบบแข็งขันจริงจัง ซึ่งมองกันว่าจะก่อให้เกิดความติดขัดวุ่นวายของเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ขณะที่รัฐบาลเมย์และพวกสนับสนุน “เบร็กซิต” อย่างหนักแน่น ต้องการให้สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากอียูและการอยู่ในตลาดหนึ่งเดียวของยุโรป ซึ่งหมายความว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรกับอียูในอนาคตจะอิงอยู่กับกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก (WTO) เท่านั้น จะได้ไม่ต้องอ่อนข้อให้แก่นโยบายเคลื่อนย้ายประชากรอย่างเสรีของอียู แต่พวกนิยม “ซอฟต์ เบร็กซิต” (soft Brexit) กลับเรียกร้องให้พยายามคงอยู่ในตลาดหนึ่งเดียวของยุโรปต่อไปในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ถึงแม้จะต้องต่อรองกับอียูในเรื่องการอพยพ
“กฎพื้นฐานที่สุดของรัฐธรรมนูญแห่งสหราชอาณาจักรคือ รัฐสภาเป็นองค์อธิปัตย์ (ผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศ) ซึ่งสามารถที่จะตราหรือยกเลิกกฎหมายใดๆ ก็ได้ตามที่เห็นเหมาะสม” ประธานผู้พิพากษาแห่งเขตการปกครองอังกฤษและเวลส์ จอห์น โธมัส ระบุในคำตัดสินของศาลสูง
ทางด้านรัฐบาลเมย์ระบุในคำแถลงว่า รู้สึกผิดหวังต่อคำพิพากษาของศาล
“ประเทศได้ออกเสียงให้ถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป ในการลงประชามติซึ่งรับรองโดยพระราชบัญญัติของรัฐสภา และรัฐบาลก็มีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวที่จะเคารพผลของการลงประชามติคราวนี้” คำแถลงกล่าว
ในทางทฤษฎีแล้ว รัฐสภาสามารถที่จะสกัดกั้นไม่ให้เดินหน้าเรื่องเบร็กซิตได้ ทว่าแทบไม่มีใครเลยที่คาดหมายว่าจะมีความเคลื่อนไหวเช่นนั้น ในเมื่อประชาชนชาวสหราชอาณาจักรไปโหวตในการลงประชามติเมื่อเดือนมิถุนายน และคะแนนออกมาว่าฝ่ายเบร็กซิตชนะ 52 ต่อ 48%
อย่างไรก็ดี คำตัดสินของศาลสูงในลอนดอนคราวนี้ ก็ทำให้ภารกิจอันลำบากสาหัสอยู่แล้วในการนำสหราชอาณาจักรออกไปจากสหภาพที่ได้เข้าร่วมมา 43 ปี ต้องยิ่งยุ่งยากสับสนขึ้นไปอีก ขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้รัฐบาลเมย์ไม่สามารถทำตามเส้นตายที่กำหนดไว้ว่า จะเริ่มต้นการเจรจาอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับเงื่อนไขต่างๆ ของการออกจากอียูภายในสิ้นเดือนมีนาคมปีหน้า
จริงหรือที่ “ฮาร์ด เบร็ตซิต” มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยลงแล้วในตอนนี้?
ศาลสูง (High Court) ในกรุงลอนดอน ซึ่งคณะผู้พิพากษาเป็นตุลาการระดับอาวุโสที่สุดของสหราชอาณาจักร 3 คน ตัดสินในคราวนี้ว่า รัฐบาลไม่สามารถประกาศขอปฏิบัติตามมาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอนของอียู อันเป็นขั้นตอนอย่างเป็นทางการที่จะต้องทำเพื่อเริ่มต้นกระบวนการถอนตัวจากสหภาพยุโรป โดยที่ไม่ได้ผ่านการอนุมัติจากรัฐสภา
“ศาลไม่รับฟังข้อโต้แย้งที่เสนอโดยรัฐบาล” ประธานผู้พิพากษาโธมัส ระบุในคำตัดสิน
“จากเหตุผลต่างๆ ตามที่ระบุเอาไว้ในคำวินิจฉัยนี้ เราตัดสินว่ารัฐบาลไม่ได้มีอำนาจ … ที่จะแจ้งขอปฏิบัติตามมาตรา 50 เพื่อที่สหราชอาณาจักรจะได้ถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป”
ในการลงประชามติเมื่อเดือนมิถุนายนนั้น สมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่โหวตให้คงอยู่ในอียูต่อไป พวกนักลงทุนจำนวนมากเชื่อว่าหากรัฐสภาเข้าเกี่ยวข้องกับกระบวนการนี้มากขึ้นเท่าใด ก็จะยิ่งลดอิทธิพลของพวกรัฐมนตรีในรัฐบาลเมย์ ซึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุนเบร็กซิต
เรื่องนี้อาจจะสามารถลดโอกาสที่จะเกิด “ฮาร์ด เบร็กซิต” ซึ่งหมายถึงสถานการณ์ที่สหราชอาณาจักรให้ความสำคัญลำดับต้นๆ แก่เรื่องการควบคุมการอพยพเข้าเมือง ยิ่งกว่าความพยายามที่จะคงอยู่ในตลาดหนึ่งเดียวของยุโรป
ทางด้าน ไนเจล ฟาราจ ผู้นำของพรรค UKIP ซึ่งเป็นพวกต่อต้านอียู ได้ทวิตแสดงความเห็นว่า เขาหวั่นกลัวว่าคำพิพากษานี้อาจเปลี่ยนไปเป็นความพยายามที่จะทำลายเบร็กซิตไปอย่างสิ้นเชิง
“ผมวิตกว่าอาจใกล้ที่จะเกิดการทรยศขึ้นมาแล้ว” เขากล่าว
“ตอนนี้ผมกลัวว่าจะมีการใช้ความพยายามทุกอย่างเพื่อสกัดหรือชะลอการขอใช้มาตรา 50 พวกเขาช่างไม่มีความคิดเอาเสียเลยว่าพวกเขาจะยั่วยุให้ประชาชนโกรธแค้นถึงขนาดไหน”