xs
xsm
sm
md
lg

รัสเซียติงนอร์เวย์เปิดไฟเขียวมะกันตั้ง “ฐานทัพนาวิกฯ” ในประเทศ กระทบความมั่นคงภูมิภาค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากเอเอฟพี
เอเอฟพี /เอเจนซีส์ / MGR online - ทางการรัสเซียออกโรงวิจารณ์การตัดสินใจของรัฐบาลนอร์เวย์ที่เปิดไฟเขียวให้สหรัฐอเมริกาเข้าตั้งฐานทัพนาวิกโยธินในประเทศ ชี้กระทบความมั่นคงแถบสแกนดิเนเวีย-อาร์กติก

มักซิม กูรอฟ โฆษกสถานเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำกรุงออสโลของนอร์เวย์ เผยผ่านอีเมลที่ส่งถึงสำนักข่าวเอเอฟพี โดยระบุว่ารัสเซียรู้สึกไม่สบายใจต่อความเคลื่อนไหวนี้ที่จะนำไปสู่การเข้าประจำการของนาวิกโยธินอเมริกันในนอร์เวย์ พร้อมตั้งคำถามถึงแรงจูงใจที่แท้จริงของรัฐบาลนอร์เวย์ในการขยายบทบาททางการทหารและความมั่นคงของตนในแถบสแกนดิเนเวียและมหาสมุทรอาร์กติก

“เรากำลังพยายามทำความเข้าใจกับท่าที และจุดยืนของรัฐบาลนอร์เวย์ต่อการเพิ่มบทบาททางการทหารและความมั่นคงในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตอบรับข้อเสนอของสหรัฐฯในการส่งนาวิกโยธินเข้าประจำการในครั้งนี้” โฆษกสถานเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำกรุงออสโล กล่าว

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นเดือนนี้ มีรายงานข่าวแพร่สะพัดว่าสหรัฐฯ เปิดการหารือกับรัฐบาลนอร์เวย์ ที่เป็นชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1949 เพื่อเปิดทางส่งนาวิกโยธินอเมริกันเข้าประจำการ หวังสกัดกั้นการแผ่ขยายอิทธิพลของรัสเซีย

คำแถลงเมื่อ 10 ต.ค.ของแอนน์ คริสติน ซาลบูวิค โฆษกกระทรวงกลาโหมนอร์เวย์ ระบุว่าการหารือในเรื่องดังกล่าวระหว่างรัฐบาลออสโลกับรัฐบาลวอชิงตันได้เปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการแล้วภายใต้เงื่อนไขที่ว่า การคงอยู่ของนาวิกโยธินอเมริกันในแผ่นดินนอร์เวย์นั้นจะต้องไม่เป็นการคุกคามอธิปไตยและความสงบสุขของชาวนอร์เวย์

หากการเจรจาดำเนินไปได้ด้วยดี และประเด็นนี้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาของนอร์เวย์แล้ว เป็นที่คาดกันว่าสหรัฐฯ อาจส่งนาวิกโยธินชุดแรกที่มีจำนวนราว 300 คนเข้ามาประจำการในฐานทัพ “Vaernes” ใกล้เมืองทรอนด์ไฮม์ของนอร์เวย์ ที่อยู่ห่างจากพรมแดนรัสเซียราว 1,000 กิโลเมตร

ด้านเอริกเซน โซไรเด รัฐมนตรีกลาโหมของนอร์เวย์ ระบุว่าในขณะนี้ทุกอย่างยังคงอยู่ในขั้นตอนของการเจรจาเท่านั้น และยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเข้ามาประจำการในนอร์เวย์ของนาวิกโยธินสหรัฐฯแต่อย่างใด

หากการเข้ามาประจำการในนอร์เวย์ของนาวิกโยธินสหรัฐฯ เกิดขึ้นจริงจะถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่างอเมริกา และรัสเซียที่ถูกรุมเร้าจากวิกฤตในยูเครนอยู่ก่อนแล้ว

ขณะเดียวกัน ความเคลื่อนไหวนี้ยังถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่รัฐบาลนอร์เวย์เปิดไฟเขียวอนุญาตให้มีกำลังทหารของต่างชาติเข้ามาประจำการอยู่ในประเทศของตัวเองได้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลนอร์เวย์ทุกยุคทุกสมัยได้ยืนหยัดรักษา “จุดยืนดั้งเดิม” ที่เปิดให้กำลังทหารต่างชาติเดินทางเข้ามายังแผ่นดินนอร์เวย์เพื่อการ “ซ้อมรบ” ได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น