xs
xsm
sm
md
lg

สงครามปราบยาเสพติดของ'ดูเตอร์เต' อาศัย'คนท้องถิ่น'ช่วยจัดทำรายชื่อ'ผู้ที่ต้องถูกเก็บ'

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: แอนดริว อาร์.ซี. มาร์แชล และ จอห์น ชัลเมอร์ส

(เก็บความจากรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์และเอเชียไทมส์)

Duterte's willing executioners
By Andrew R.C. Marshall and John Chalmers
08/10/2016

สงครามปราบยาเสพติดในฟิลิปปินส์ ของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ทำให้มีผู้ถูกเข่นฆ่าเสียชีวิตไปกว่า 3,600 คนแล้ว ถึงแม้ถูกนานาชาติประสานเสียงประณาม แต่ก็ได้รับความสนับสนุนอย่างล้นหลามจากประชาชนภายในประเทศ และพวกผู้นำของหน่วยการปกครองระดับล่างสุดของแดนตากาล็อกที่เรียกว่า “บารังไก” นั่นเอง ซึ่งมีบทบาทสำคัญยิ่งในการรวบรวมจัดทำรายชื่อผู้ต้องเฝ้าจับตามอง อันนำไปสู่บัญชีสังหารโหดผู้ต้องสงสัยกันอย่างมากมายราวกับใบไม้ร่วง

ในลักษณะเช่นไรกันแน่ ที่ เนปตาลี เซเลสติโน (Neptali Celestino) เผชิญหน้ากับมัจจุราชผู้ปลิดชีวิตของเขาด้วยความรุนแรงเมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา บางทีอาจจะไม่มีการพิสูจน์ขุดคุ้ยหาความจริงออกมาให้สาธารณชนได้ทราบกันเลย ในเวอร์ชั่นของตำรวจนั้น เขาถูกยิงภายหลังที่เปิดฉากสาดกระสุนใส่ตำรวจนอกเครื่องแบบผู้หนึ่งระหว่างการบุกจู่โจมตรวจค้นจับกุม แต่สำหรับครอบครัวของเซเลสติโนแล้ว นี่ไม่เป็นความจริงหรอก เรื่องแท้ๆ แน่ๆ ที่เกิดขึ้นก็คือพวกตำรวจบุกเข้าไปในบ้านของพวกเขา ไล่ต้อนชายผู้ไม่มีอาวุธติดตัวผู้นี้ให้จนมุม แล้วก็ยิงใส่เขาต่อหน้าต่อตาพวกลูกชายวัยรุ่นของเขา

ไม่ว่าเรื่องราวจะเป็นเช่นไรกันแน่ ชายผู้มีอาชีพเป็นคนขี่สามล้อรับจ้างในกรุงมะนิลาผู้นี้ก็ดูเหมือนได้ถูกประทับตราเอาไว้แล้วว่าจะหลงเหลือวันเวลามีชีวิตอยู่ได้อีกเพียงไม่กี่วัน เมื่อชื่อของเขาไปปรากฏอยู่ในบัญชีผู้ต้องสงสัยกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งตำรวจจะต้องเฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิด บัญชีรายชื่อนี้จัดทำขึ้นมาด้วยความช่วยเหลือของพวกผู้นำชุมชนและคนอื่นๆ บางคนที่พำนักอาศัยอยู่ในละแวกนั้น ซึ่งเป็นย่านธรรมดาๆ ไร้เสน่ห์ดึงดูดพิเศษใดๆ ในซีกตะวันออกของนครหลวงที่มีอาณาเขตแผ่ออกไปอย่างกว้างขวางและแออัดยัดเยียดด้วยผู้คนของฟิลิปปินส์

พวกเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ช่วยเหลือรวบรวมจัดทำบัญชีรายชื่อเหล่านี้ เปรียบได้กับ “ทหารราบ” ในสงครามต่อสู้ปราบปรามยาเสพติด ซึ่งได้นำไปสู่การเข่นฆ่าสังหารผู้คนมากกว่า 3,600 คนแล้ว นับตั้งแต่ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต เข้ารับตำแหน่งในวันที่ 30 มิถุนายน

จำนวน 1,377 คนซึ่งมีการยืนยันว่าตำรวจเป็นผู้สังหารนั้น แทบทั้งหมดมีชื่อปรากฏอยู่ในบัญชีเช่นนี้ ทั้งนี้ตามการแถลงของผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์ โรนัลด์ เดลา โรซา (Ronald Dela Rosa) ส่วนเหยื่อที่เหลืออีก 2,275 คนซึ่งพวกนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนสงสัยกันว่าแทบทั้งหมดน่าจะเป็นการลงมือของกลุ่มที่ใช้อำนาจลงโทษผู้กระทำผิดแบบศาลเตี้ยนั้น ไม่เป็นที่แน่ชัดว่ามีจำนวนเท่าไรซึ่งมีชื่ออยู่ในบัญชี

เมื่อเร็วๆ นี้ ดูเตอร์เตใช้คำพูดที่อยู่ในลักษณะเปรียบเทียบตนเองเป็นเหมือนกับฮิตเลอร์ รวมทั้งกล่าวด้วยว่า เขา “มีความยินดีที่จะเข่นฆ่าสังหาร” พวกติดยาเสพติด 3 ล้านคนในฟิลิปปินส์ เสียงประณามติเตียนจากนานาชาติที่ประสานดังกึกก้องขึ้นเรื่อยๆ ดูเหมือนรังแต่จะทำให้เขาเพิ่มความดึงดันยืนกรานที่จะกระทำเรื่องนี้ด้วยความเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่น ในขณะที่แรงสนับสนุนเห็นดีเห็นชอบอย่างล้นหลามจากผู้คนภายในประเทศก็ทำให้เขายิ่งมีกำลังใจ ทั้งนี้เมื่อพิจารณากันให้ถ่องแท้แล้ว แคมเปญนี้จะมีประสิทธิผลแค่ไหนต้องขึ้นอยู่กับพวกเจ้าหน้าที่ระดับล่างที่สุด นั่นคือในระดับ “บารังไก” (barangay) หน่วยการปกครองระดับล่างที่สุดของประเทศ เทียบได้กับระดับตำบลหมู่บ้าน

“พวกเขาเหล่านี้อยู่ในแนวหน้าสุดของการสู้รบครั้งนี้” เดลา โรซา กล่าวในการให้สัมภาษณ์คราวหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ “พวกเขาสามารถที่จะระบุตัวได้ว่า ใครเป็นผู้เสพยาเสพติดและใครเป็นผู้ขายยาเสพติดในบารังไกของพวกเขา พวกเขารู้จักทุกๆ คน”

มาริการ์ อาซิโล วิเวโร (Maricar Asilo Vivero) เป็นหัวหน้า หรือที่เรียกกันว่า “กัปตัน” (captain) ของชุมชน “ปินักบูฮาตัน” (Pinagbuhatan) บารังไกแห่งหนึ่งในกรุงมะนิลา ซึ่งมีประชากรอยู่ประมาณ 145,000 คน เธอบอกว่าเธอเป็นคนหนึ่งที่ให้ความสนับสนุนอย่างกระตือรือร้นต่อการรณรงค์ของดูเตอร์เต

“สงครามปราบยาเสพติดเป็นเรื่องดีนะ” เธอกล่าว “มันทำให้อาชญากรรมลดลง มันทำให้สามารถระบุตัวพวกที่ต้องการจะกลับเนื้อกลับตัวเปลี่ยนแปลงตัวเอง”

วิเวโรเล่าว่า เมื่อคืนก่อนหน้านี้ กลุ่มมือสังหารที่ใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ ได้เข่นฆ่าชาย 2 คนซึ่งถูกขึ้นบัญชีว่าเป็นผู้ค้ายา ในรายชื่อผู้ที่ต้องจับตามองของบารังไกของเธอ วิเวโรกล่าวว่าเธอมีความเห็นอกเห็นใจครอบครัวของเหยื่อที่ถูกฆ่า แต่ไม่ได้รู้สึกว่าต้องมีส่วนรับผิดชอบอะไรต่อการตายคราวนี้

การใส่ชื่อพวกเขาเอาไว้ในบัญชีติดตามเฝ้าจับตา ไม่ใช่เป็นเพราะมี “วัตถุประสงค์ที่จะฆ่าทิ้งพวกเขา หรือมีวัตถุประสงค์ที่จะขอให้ตำรวจหรือทางการเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจัดการฆ่าพวกเขาเสีย” เธออธิบายมุมมองของเธอ “วัตถุประสงค์ของเราอยู่ที่การชักนำชี้ทางแก่พวกเขา ให้นำพาชีวิตของพวกเขาไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม –ไม่ใช่เพื่อเข่นฆ่า”

เมื่อถูกซักไซ้ว่าคนที่มีชื่อปรากฏอยู่ในบัญชีต้องจับตาเฝ้าระวัง เป็นพวกที่มีโอกาสถูกฆ่ามากกว่าคนอื่นๆ ใช่หรือไม่ วิเวโรก็ตอบว่า “ไม่ใช่เลย ฉันไม่คิดว่าเป็นอย่างนั้นหรอก”

ในบัญชีผู้ที่ต้องจับตาเฝ้าระวังของบารังไก “ปินักบูฮาตัน” มีชื่อผู้ต้องสงสัยเป็นผู้เสพและผู้ค้ายาเสพติดจำนวนรวม 323 คน ทั้งนี้ตามแผ่นกระดาษสั่งพิมพ์ออกมาจากคอมพิวเตอร์ซึ่งทางผู้สื่อข่าวของรอยเตอร์ได้พบเห็น ในเวลาต่อมา บัญชีนี้ยังมีรายชื่อเพิ่มเติมเข้ามาอีกจากผู้คนที่เดินทางไปยังสำนักงานบารังไก และยอมรับสารภาพกับตำรวจว่าพวกเขาเป็นผู้ใช้ยาเสพติด กระบวนการสารภาพเช่นนี้เป็นที่รู้จักเรียกขานกันว่า “การยอมจำนน”

ต้นกำเนิดดั้งเดิมของระบบบารังไกนั้น สามารถสาวย้อนไปได้ไกลถึงช่วงระยะเวลาก่อนการเข้ามาของพวกนักล่าอาณานิคมชาวสเปนในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ด้วยซ้ำ ในกรุงมะนิลา บารังไกหนึ่งๆ อาจจะประกอบด้วยถนนที่มีประชากรหนาแน่นเพียงแค่ 2 สายถนนเท่านั้น ทว่าในแถบชนบท บารังไกหนึ่งๆ อาจจะมีพื้นที่แผ่กว้างออกไปไกลหลายๆ กิโลเมตร [1]

แต่ละบารังไก มีหัวหน้าที่เรียกว่า “กัปตัน” (หรือ “กะปิตัน” capitan ในภาษาสเปน) 1 คน และ คากาวัด (kagawad) หรือก็คือ สมาชิกสภาบารังไกจำนวน 6 คน เจ้าหน้าที่เหล่านี้ได้รับการเลือกตั้งด้วยวิธีลงคะแนน ทว่ามักถูกกล่าวหากันเรื่อยมาว่าเต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่น และเฉกเช่นเดียวกับพวกตำแหน่งระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสยิ่งกว่านี้ในฟิลิปปินส์ ตำแหน่งกัปตันบารังไกก็มักถูกถ่ายทอดสืบต่อกันไปในระหว่างสมาชิกของครอบครัวเดียวกัน

ที่ทำการบารังไกมักตั้งอยู่ในบริเวณย่านใจกลางของชุมชน และในวันทำการแต่ละวัน บริเวณห้องโถงของที่ทำการมักอัดแน่นไปด้วยผู้คนซึ่งกำลังมายื่นขอเอกสารที่เรียกกันว่า “ใบรับรอง” เอกสารเช่นนี้คือใบรับรองชนิดต่างๆ ที่ลงนามโดยกัปตันของบารังไก สำหรับให้ผู้ยื่นขอนำไปใช้ในการตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัย, การจัดตั้งธุรกิจ, การขอสมัครงาน, หรือการลงทะเบียนเด็กเพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนท้องถิ่น

กัปตันของบารังไก ยังเป็นผู้ที่เข้าร่วมงานแต่งงาน, พิธีถือศีลล้างบาป, และงานศพ ของผู้คนในชุมชนอยู่เป็นประจำ กระทั่งในกรณีที่เกิดคดีอาชญากรรมร้ายแรง บางครั้งเหยื่อก็อาจเข้าแจ้งความต่อกัปตันเป็นอันดับแรก แทนที่จะตรงไปหาตำรวจเลย

“พวกเขาไว้เนื้อเชื่อใจพวกเรามากกว่า ว่าจะได้รับการตอบสนอง ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างทันอกทันใจ” เป็นคำกล่าวของ เอริเบอร์โต เกวาร์รา (Eriberto Guevarra) ผู้ครองตำแหน่งกัปตันแห่งบารังไก “ปาลาติว” (Palatiw) อยู่เป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันภรรยาของเขาที่ชื่อ ดินาร์ (Dinah) เป็นผู้นั่งตำแหน่งนี้สืบแทน ขณะที่เอริเบอร์โตยังคงทำงานอยู่เคียงข้างเธอ ในฐานะที่เป็น “หัวหน้ารักษาความสงบเรียบร้อย” ในแบบที่เขาแต่งตั้งให้แก่ตนเอง

ปาลาติวก็เช่นเดียวกับบารังไกอื่นๆ มีการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิบัติการต่อต้านยาเสพติดประจำบารังไก (Barangay Anti-Drug Action Committees ใช้อักษรย่อว่า BADACs) ขึ้นมา คณะกรรมการชุดนี้แสดงบทบาทสำคัญในการเข้าช่วยเหลือตำรวจระบุตัวผู้ที่ถูกกล่าวหาเป็นผู้ค้ายาและผู้เสพยาเสพติดในแต่ละชุมชน

สมาชิกคณะกรรมการ BADACs ที่มีจำนวนระหว่าง 6-10 คน ได้รับการคัดสรรโดยกัปตันของบารังไก ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานของคณะกรรมการชุดนี้ด้วย สำหรับสมาชิกคณะกรรมการเหล่านี้อาจจะมาจากพวกครูบาอาจารย์, เจ้าหน้าที่ของโบสถ์, ผู้นำเยาวชน, หรือสมาชิกของกลุ่มประชาสังคมอื่นๆ

คณะกรรมการ BADAC แต่ละชุดจะจัดทำรายชื่อของสิ่งที่ศัพท์วงการตำรวจฟิลิปปินส์เรียกขานกันว่า “บุคลากรด้านยาเสพติด” (drug personalities) ซึ่งหมายถึงพวกที่ต้องสงสัยว่าเป็นผู้เสพหรือผู้ขาย คนที่ปรากฏอยู่ในรายชื่อเหล่านี้ส่วนใหญ่ที่สุดเป็นพวกรายย่อยๆ ทางการตำรวจอธิบายว่าถัดจากนั้นพวกเขาก็ “ตรวจสอบยืนยัน” รายชื่อเหล่านี้ ด้วยการปรึกษาหารือกับพวกเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดระดับชาติและพวกเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรอง พวกเขายังสามารถเพิ่มเติมรายชื่อที่พวกเขารวบรวมขึ้นเองเข้าไปได้ด้วย

ตั้งแต่ที่รัฐบาลสั่งการให้จัดตั้งคณะกรรมการเช่นนี้ขึ้นมาครั้งแรกเมื่อปี 1998 ก็ได้กำหนดให้จัดการประชุม BADACs เดือนละครั้ง แต่ช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการเช่นนี้จำนวนมากแทบไม่ได้ทำอะไรเลย หรือกระทั่งปรากฏตัวอยู่บนแผ่นกระดาษเท่านั้นเอง ครั้นเมื่อมาถึงสมัยของดูเตอร์เต เขาไม่เพียงฟื้นฟูชุบชีวิต BADACs ขึ้นมาใหม่เท่านั้น หากยังทำให้คณะกรรมการนี้กลายเป็นแกนหลักแห่งสงครามต่อสู้ปราบปรามยาเสพติดของเขา

ดูเตอร์เตได้บุกเบิกนำร่องการรณรงค์ที่นำมาใช้ทั่วประเทศอยู่เวลานี้ ณ เมืองดาเวา (Davao) นครใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของฟิลิปปินส์และเป็นอันดับ 1 ทางภาคใต้ของประเทศ ซึ่งดูเตอร์เตดำรงตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีมาอย่างยาวนานถึง 22 ปี

ณ ที่นั้น พวกผู้นำของบารังไกและตำรวจก็จัดทำรวบรวมบัญชีรายชื่อทำนองเดียวกันนี้ ซึ่งได้ถูกนำไปใช้โดยทีมมือสังหารที่ออกเข่นฆ่าไล่ล่าดับชีพผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ค้ายาเสพติด, อาชญากรรายเล็กรายน้อย, และเด็กเร่ร่อนตามท้องถนนไปเป็นจำนวนหลายร้อยคน ทั้งนี้ตามรายงานเมื่อปี 2009 ของกลุ่ม “ฮิวแมน ไรต์ส วอตช์ (Human Rights Watch) (ดูรายละเอียดได้ที่ (https://www.hrw.org/report/2009/04/06/you-can-die-any-time/death-squad-killings-mindanao) อย่างไรก็ดี ตัวดูเตอร์เตเองปฏิเสธเรื่อยมาว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องพัวพันกับการสังหารเข่นฆ่าเหล่านี้

ปัจจุบันก็มีเจ้าหน้าที่หลายรายออกมาแถลงว่า บัญชีเฝ้าจับตามองเหล่านี้ ไม่ได้เป็นบัญชีรายชื่ออนุญาตให้เข่นฆ่าสังหารได้ตามอำเภอใจ อีกทั้งมีการตรวจสอบอย่างรอบคอบ

คิมเบอร์ลีย์ โมลิตัส (Kimberley Molitas) โฆษกหญิงของกองบัญชาการตำรวจนครบาลของฟิลิปปินส์แลงว่า บัญชีรายชื่อผู้เสพและผู้ค้ายาเสพติดจำนวน 11,700 คนของมหานครมะนิลานั้น มีการ “ตรวจสอบยืนยัน แล้วยังให้ฝ่ายข่าวกรองตรวจสอบยืนยันอีกครั้งด้วย” ทั้งนี้กองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งรับผิดชอบดูแลเขตเมืองหลวงของประเทศนี่เอง เป็นพื้นที่ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจากสงครามยาเสพติด เป็นจำนวนมากกว่า 1 ใน 4 ของยอดรวมทั้งหมด

ทว่ากลุ่มเฝ้าติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและเจ้าหน้าที่บางฝ่ายโต้แย้งว่า กระบวนการในการรณรงค์ปราบปรามยาเสพติดนี้มีความหละหลวม และเปิดช่องเปิดโอกาสให้มีการใช้อำนาจโดยมิชอบ

แคเรน โกเมซ-ดัมพิต (Karen Gomez-Dumpit) กรรมการคนหนึ่งในคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของฟิลิปปินส์ (the Philippines’ Commission on Human Rights) ระบุว่า บัญชีเหล่านี้ได้รวมเอาชื่อของบุคคล “ผู้ซึ่งไม่ได้แม้กระทั่งเสพยา อย่าว่าแต่ค้ายาเสพติดเลย”

“มันเป็นสภาพแวดล้อมที่โน้มนำให้ใครสักคนหนึ่ง ซึ่งมีความโกรธแค้นและมีปืนอยู่ในมือ ก็จะออกมาไล่ล่าเข่นฆ่าคุณได้แล้ว” เธอกล่าว

คดีที่กลายเป็นกรณีเกรียวกราวใหญ่โตกรณีหนึ่ง ได้แก่เรื่องของ มาร์ก คูลาตา (Mark Culata) ศพของเขาที่เต็มไปด้วยรูพรุนของกระสุนปืน ถูกพบที่จังหวัดคาวิเต (Cavite) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของมะนิลาเมื่อวันที่ 9 กันยายน ข้างๆ ตัวเขามีแผ่นกระดาษแข็งเขียนข้อความระบุว่าเขาเป็นผู้ค้ายาเสพติด

อีวา (Eva) มารดาของคูลาตาบอกกับสื่อท้องถิ่นว่า บุตรชายวัย 27 ปีของเธอผู้นี้ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับยาเสพติดเลย แถมยังกำลังเตรียมจะเดินทางไปต่างประเทศเพื่อทำงานอีกด้วย ทางด้านตำรวจบอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ด้วยคำแถลงฉบับหนึ่งซึ่งกล่าวว่า พวกพนักงานสอบสวนกำลังพิจารณากันว่า “การค้ายาเสพติดผิดกฎหมายและปัญหารักสามเส้า” อาจจะเป็นแรงจูงใจของกรณีเข่นฆ่ากันคราวนี้

ตำรวจ 4 คนที่เกี่ยวข้องพัวพันกับคดีนี้ ได้รับคำสั่งโยกย้ายไปทำงานด้านบริหารชั่วคราว ในระหว่างรอฟังผลการสอบสวนของสำนักงานสอบสวนแห่งชาติ (National Bureau of Investigation) อันเป็นหน่วยงานของฟิลิปปินส์ซึ่งมีอำนาจหน้าที่คล้ายๆ กับสำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ (Federal Bureau of Investigation) การถูกสังหารของคูลาตา ยังทำให้เกิดคำถามว่ามีการจัดตั้งขบวนการสังหารผู้คนแบบใช้อำนาจศาลเตี้ยหรือไม่ ในระหว่างการให้ปากคำของวุฒิสภาฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม

ทางการตำรวจบอกกับรอยเตอร์ว่า บัญชีรายชื่อผู้ต้องถูกจับตามองเหล่านี้ถือเป็นเอกสารข้อมูลลับ ทว่าจากการปฏิบัติการที่เรียกชื่อกันว่า “เคาะประตูเพื่อพูดคุยขอร้อง” (“knock and plead”) ซึ่งตำรวจจะไปเยี่ยมผู้ต้องสงสัยพัวพันยาเสพติดถึงที่บ้านของพวกเขา และเกลี้ยกล่อมโน้มน้าวให้พวกเขากลับเนื้อกลับตัว นี่ย่อมหมายความว่าสาธารณชนมักรับทราบอยู่ดีว่าใครบ้างซึ่งมีชื่ออยู่ในบัญชีดังกล่าว

พวกผู้ค้าและผู้เสพยาเสพติด ยังถูกโน้มน้าวเกลี้ยกล่อมให้ “ยอมจำนน” มอบตัวต่อตำรวจ ระหว่างการประชุมครั้งต่างๆ ของบารังไก ซึ่งก็เป็นรายการที่เปิดกว้างให้สาธารณชนเข้าฟัง ทั้งนี้สิ่งหนึ่งที่มีการพูดกันในที่ประชุมของบารังไกก็คือ ชื่อของพวกเขาถูกใส่เอาไว้ในบัญชีผู้ต้องถูกจับตามองแล้ว

กระบวนการเช่นนี้ละม้ายคล้ายคลึงกับการที่ตำรวจออกกวาดจับผู้ต้องสงสัยกันคราวละมากๆ พวกที่ถูกเรียกว่า “ผู้ยอมจำนน” เหล่านี้จะถูกตำรวจซักถาม โดยที่ตำรวจต้องการให้แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ที่ขายยาเสพติดให้พวกเขาและพวกเพื่อนๆ ที่เป็นผู้เสพด้วยกัน ตำรวจบอกว่าข้อมูลข่าวสารเช่นนี้สามารถใช้ในการระบุตัวผู้ต้องสงสัยพัวพันยาเสพติดรายอื่นๆ ต่อไปอีก ขณะที่รายชื่อของผู้ยอมจำนน จะยังคงถูกบรรจุเอาไว้ในฐานข้อมูลระดับชาติ ทำให้พวกเขาอาจถูกจับตามองอย่างต่อเนื่องแม้กระทั่งโยกย้ายไปพำนักอาศัยยังบารังไกแห่งอื่น

หลังผ่านกระบวนการซักถามแล้ว ผู้เสพยาจะถูกพิมพ์ลายนิวมือและถูกถ่ายภาพขนาดติดบัตรประจำตัวโดยที่พวกเขาต้องถือแผ่นกระดานสีขาวที่ระบุชื่อของพวกเขาและวันที่ถ่ายภาพ ถัดมาพวกเขาจะต้องยกมือขวาขึ้นมาสาบานว่าจะอยู่ให้ห่างไกลยาเสพติด และให้ความสนับสนุน “รัฐบาลและตำรวจในการรณรงค์อันมีเกียรติของพวกเขา”

วิเวโร กัปตันของบารังไก ปินักบูฮาตัน เล่าว่า อีกหลายๆ สัปดาห์หลังจากนั้นไป เป็นที่คาดหมายกันว่าพวกผู้ยอมจำนนจะต้องทำงานบริการชุมชนต่างๆ เป็นต้นว่า การทาสีกำแพง, การขุดลอกท่อระบายน้ำที่อุดตัน, ตลอดจนการเก็บขยะ

ขณะที่ เอริเบอร์โต เกวาร์รา อดีตผู้นำบารังไก บอกว่า เขาได้ใช้ความพยายามแล้วเพื่อไม่ให้มีการสังหารเซเลสติโน เนื่องจากเขาเห็นว่าชายผู้มีอาชีพขี่สามล้อรับจ้างผู้นี้เป็นเพียงผู้เสพและผู้ค้ายาเสพติดรายย่อยๆ ไม่ได้เป็น “ผู้ค้ายาชื่อดังฉาวโฉ่” อย่างที่ตำรวจประทับตราให้

“เขาตกอยู่ในอันตรายเนื่องจากเขามีชื่ออยู่ในบัญชีจับตาเฝ้าระวัง” เกวาร์รา บอก

อดีตกัปตันของบารังไกผู้นี้เล่าต่อไปว่า เขาได้เตือนเซเลสตินาให้หยุดการค้าและการเสพยา สามวันก่อนหน้าถึงแก่ความตาย เซเลสติโนยังได้เข้าร่วมการประชุมสัมมนา “เตือนภัยยาเสพติด” เป็นเวลา 3 ชั่วโมง ซึ่งจัดขึ้นโดยตำรวจและพวกเจ้าหน้าที่บารังไก

“มันแสดงให้เห็นว่าเขามีความตั้งใจที่จะกลับเนื้อกลับตัว” เกวาร์รา กล่าว

ทางด้าน จอห์น แพทริก เซเลสตินา (John Patrick Celestino) ซึ่งปัจจุบันอายุ 17 ปี และเป็น 1 ในจำนวนลูก 4 คนของเซเลสติโน ยังคงอยู่ในอาการตัวสั่นหวั่นไหวขณะที่เขาย้อนระลึกถึงคืนที่พ่อของเขาเสียชีวิต

มีเสียงสุนัขเห่าดังขึ้นตั้งแต่ตอนเวลาประมาณ 3 ทุ่ม แล้วก็มีชายถืออาวุธกลุ่มหนึ่งปรากฏตัวที่ประตูบ้าน พวกเขาให้ จอห์น แพทริก ดูภาพถ่ายภาพหนึ่งบนโทรศัพท์มือถือ พร้อมกับถามอย่างคาดค้นว่า “นี่พ่อมึงใช่ไหม?”

ตามคำบอกเล่าของ จอห์น แพทริก เมื่อเขาตอบรับว่าใช่ ชายเหล่านี้ก็กรูกันเข้ามา บุกขึ้นไปชั้นบนของบ้าน และเตะประตูที่นำไปยังห้องเล็กๆ ห้องหนึ่งซึ่งเซเลสตินากำลังซ่อนตัวอยู่

จอห์น แพทริก ซึ่งติดตามคนเหล่านี้เข้าไปในห้องดังกล่าว เล่าต่อไปว่า “คนพวกนั้นเอาแต่ตะโกนถามย้ำว่า 'ซ่อนชาบูไว้ที่ไหน?' 'ซ่อนชาบูไว้ที่ไหน?' ทั้งนี้ ชาบู (shabu) เป็นชื่อที่นิยมเรียกกันในท้องถิ่นสำหรับสาร “คริสตอล เมตแอมเฟตามีน” ในรูปเกล็ด (crystal methamphetamine) ยาเสพติดที่แพร่หลายกว้างขวางในฟิลิปปินส์

เขาบอกชายเหล่านั้นว่าพ่อของเขาไม่มีอาวุธ และวิงวอนพวกเขาว่าอย่ายิง ทว่ามือปืนคนหนึ่งได้ยิงปืน 3 นัดเข้าไปในห้องดังกล่าว และหนุ่มวัยรุ่นผู้นี้ก็ได้ยินพ่อของเขาอ้าปากหายใจด้วยความเจ็บปวด

ถึงตอนนั้นมือปืนคนดังกล่าวได้สั่งให้จอห์น แพทริก หลบหนีไป ขณะที่เขาวิ่งลงบันไดนั่นเอง เขาได้ยินเสียงปืนคำรามขึ้นอีก 5 นัด

ตำรวจแจ้งว่า พวกเขาพบปืนพกรีวอลเวอร์ขนาด .22 กระบอกหนึ่ง พร้อมด้วยถุงใส่ชาบู 3 ถุงบนตัวเลเลสติโน แต่ภรรยาของเขาที่ชื่อ ซานเดย์ (Zandey) และปัจจุบันอยู่ในวัย 38 ปี ปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง

“ผัวฉันยอมจำนนยอมมอบตัวแล้ว ทำไมพวกเขายังต้องฆ่าผัวฉันอีก” เธอตั้งคำถาม “ทำไมพวกเขาไม่ยอมให้โอกาสผัวฉันอีกสักครั้ง?”

พวกญาติๆ ที่กำลังนั่งรายล้อมหีบศพของเขา บอกเล่าให้ผู้สื่อข่าวคนหนึ่งของรอยเตอร์ฟังว่า พวกเขามีเรื่องอาฆาตบาดหมางกับอีกครอบครัวหนึ่งมานานแล้ว พวกเขากล่าวโทษว่าครอบครัวนั้นเองที่เป็นคนแจ้งตำรวจว่าเซเลสติโนเป็นผู้ค้ายาเสพติด ทั้งนี้รอยเตอร์ไม่สามารถหาการรับรองยืนยันอย่างเป็นอิสระเกี่ยวกับข้อกล่าวอ้างนี้ได้

ขณะที่ โรมูโล ซาปิตูลา (Romulo Sapitula) ผู้บังคับการตำรวจนครบาลเขตตะวันออกของมะนิลา (Eastern Police District of Manila) ยืนยันว่า ชื่อของเซเลสติโนปรากฏอยู่ในบัญชีผู้ต้องจับตาเฝ้าระวังจริง โดยระบุว่าเป็นผู้ค้ายาเสพติด

“ข้อมูลข่าวสารนี้มาจากทางชุมชน” เขากล่าว “ข้อมูลนี้ให้มาโดยพวกเจ้าหน้าที่ของบารังไก และได้รับการตรวจสอบยืนยันจากทางตำรวจ”

เขากล่าวต่อไปว่า “ข้อมูลข่าวสารดีที่สุด” มาจากย่านละแวกบ้านของผู้ต้องสงสัยนั่นเอง พร้อมกับยืนยันว่า “รายชื่อในบัญชีต้องจับตาเฝ้าระวัง ซึ่งส่วนใหญ่ที่สุดได้มาจากละแวกย่านนั้นเอง เป็นรายชื่อที่ถูกต้องของจริง”

ซาปิตูลา บอกว่า การที่เซเลสตินายอมจำนนรับสารภาพว่าเป็นผู้เสพยาเสพติดนั้น ไม่ได้ทำให้เขาพ้นข้อสงสัยไป

“มีบางคนในบัญชีต้องจับตาเฝ้าระวัง ที่ได้ยอมจำนนขอมอบตัว ทว่ายังคงทำกิจกรรมที่ชั่วช้าเลวร้ายของพวกเขาต่อไป” เขากล่าว “พวกนี้แกล้งทำเป็นยอมรับเข้าร่วมโครงการแล้ว ทว่าในความเป็นจริง … พวกนี้ยังคงทำเรื่องแบบเก่าๆ ของพวกเขาต่อไป แล้วยังมีบางคนที่ยอมจำนนยอมมอบตัวกับเราโดยอ้างว่าเป็นเพียงผู้เสพ ทว่าแท้จริงแล้วพวกเขาเป็นผู้ค้ายาเสพติดทีเดียว”

ซาติปูลายังยืนยันด้วยว่า การปฏิบัติการที่นำไปสู่การสังหารเซเลสติโนนั้น มีสมาชิกราว 7-8 คนของตำรวจปราบปรามยาเสพติดเข้าร่วม แต่เขาปฏิเสธข้อกล่าวอ้างของครอบครัวผู้ตายที่ว่า ยาเสพติดที่ค้นพบนั้นถูกนำมาซุกไว้ในตัวเซเลสติโน เขากล่าวว่าจากการสอบสวนภายในหน่วยงานเอง มีข้อสรุปออกมาแล้วว่าตำรวจต้องเปิดฉากยิงก็เพื่อป้องกันตัว เพราะเซเลสติโน “ได้เลือกที่จะยิงก่อน”

ซาปิตูลาบอกว่าพวกสมาชิกในครอบครัวไม่ควรหวาดผวาอะไร ถ้าหากต้องการยื่นเรื่องร้องเรียนอย่างเป็นทางการ ขอแต่เพียงว่า “พวกเขาเป็นคนบริสุทธิ” และไม่ได้เกี่ยวข้องพัวกันกับกิจกรรมในทางอาชญากรรมใดๆ

ทางด้านครอบครัวเซเลสตินาบอกกับรอยเตอร์ว่า แทบไม่เห็นประโยชน์อะไรเลยที่จะร้องอุทธรณ์ต่อผู้คนซึ่งเป็นผู้ที่ได้สังหารญาติของพวกเขา ซานเดย์กล่าวว่าเธอรู้สึกหวาดกลัวไม่เพียงเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของลูกๆ ของเธอเองเท่านั้น แต่ยังเรื่องความปลอดภัยของพวกญาติพี่น้องต่างๆ ของเธออีกด้วย โดยเฉพาะพวกที่ได้ “ยอมจำนน” มอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ทางการแล้ว แบบเดียวกับเซเลสติโน

เธอเล่าด้วยว่า ลูกชายคนโตของเธอ ที่ชื่อ เซดริก (Cedric) ซึ่งเวลานี้อายุ 19 ปี อยู่ในอาการเจ็บปวดทรมานทางจิตใจจากเหตุการณ์สังหารโหดคราวนี้ จนกระทั่งเขาไม่ยอมพูดจาอะไรเลย

ผู้นำท้องถิ่นใช่ว่าจะเห็นดีเห็นงานไปกับการเข่นฆ่าผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ค้าและผู้เสพยาเสพติดไปเสียทั้งหมด มีบางคนเหมือนกันซึ่งออกมาขอร้องตำรวจให้ละเว้นเรื่องนี้เสียบ้าง

ในสลัม “ตอนโด” (Tondo) ซึ่งตั้งอยู่ในมะนิลา อีริค ซิมบิลิง (Erick Simbiling) กัปตันของบารังไกแห่งนี้ เล่าว่าเมื่อเร็วๆนี้ตำรวจ 2 คนบอกกับเขาว่า พวกเขามี “กำหนดการที่จะสังหาร” ชายชาวท้องถิ่นผู้หนึ่งซึ่งเป็นพวกค้ายารายย่อยก็จริงทว่าดื้อรั้นไม่ยอมเลิกไม่ยอมกลับเนื้อกลับตัว

“ผมเลยพูดกับตำรวจ 2 คนนี้ว่า ‘ได้โปรดให้โอกาสเขาอีกสักครั้งเถอะ’” ซิมบิลิง กล่าว

หลังจากนั้นเขาก็ไปเยี่ยมผู้ค้ายาเสพติดรายนี้ และตักเตือนให้เขายอมจำนนมอบตัวต่อพวกเจ้าหน้าที่ ซึ่งผู้ค้ายารายนี้ก็ยินยอม เหมือนๆ กับคนอื่นๆ อีกเป็นจำนวนแสนๆ ทั่วประเทศ แล้วต่อมาก็หลบหนีออกจากบารังไกหายตัวไปเลย

แม้กระทั่งบรรดากัปตันของบารังไกทั้งหลาย ก็กำลังตกอยู่ใต้แรงบีบคั้นกดดันจากประธานาธิบดีด้วย ดูเตอร์เตประกาศเอาไว้แล้วว่าจะเผยแพร่บัญชีรายชื่อเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนในตำแหน่งต่างๆ จำนวนรวมประมาณ 1 พันคน ซึ่งต้องสงสัยว่ามีความเกี่ยวข้องโยงใยกับยาเสพติด โดยกลุ่มที่โด่งดังกว่าเพื่อนเลยได้แก่พวกกัปตันของบารังไก ที่แอบร่วมมืออย่างลับๆ กับบรรดาผู้ก่อการร้ายและพวกเจ้าพ่อยาเสพติด ทั้งนี้เขาพูดเรื่องนี้เอาไว้ระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 18 กันยายน

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าบารังไกทุกๆ แห่งจะยินยอมทำตามนโยบายของประธานาธิบดีผู้นี้โดยดี นายตำรวจคนหนึ่งในภาค “ลูซอนกลาง” (central Luzon) [2] บอกกับรอยเตอร์ว่า ในบรรดาบารังไก 3,100 แห่งของภาคนี้ มีอยู่ 31 แห่งที่ยังไม่ยอมยื่นบัญชีจับตาเฝ้าระวังให้ตำรวจเลย

โรเมโอ คารามัต (Romeo Caramat) ผู้บังคับการตำรวจของจังหวัดบูลาคัน (Bulacan province) ซึ่งสังกัดอยู่กับภาคลูซอนกลางนี้ กล่าวว่าบางทีพวกเจ้าหน้าที่ของบารังไกเหล่านี้ อาจจะเป็นพันธมิตรกับพวกฝ่ายค้านทางการเมืองของดูเตอร์เต หรือไม่ก็รับเงินทองจากพวกค้ายาเสพติด

“อันที่จริงแล้ว มีกัปตันของบารังไกซึ่งไม่ยอมให้ความร่วมมือนี้ ถูกฆ่าตายไปคนหนึ่งแล้ว” คารามัต เปิดเผย และเล่าต่อไปว่า ชายผู้นี้ถูกยิงตายเมื่อต้นเดือนสิงหาคมในเมืองซานโฮเซเดลมองเต (San Jose Del Monte) โดยฝีมือของทีมมือสังหารที่ใช้รถมอเตอร์ไซค์เป็นพาหนะและยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นใคร

“หัวหน้าใหญ่ของบารังไกคนหนึ่งคงจะใช้โชคไปจนหมดเกลี้ยงแล้ว” คารามัตกล่าวต่อพร้อมกับหัวเราะร่วน เขาพูดถึงชายผู้นี้ว่า เป็น “ผู้ค้ายาและผู้ติดยาเสพติดซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี” และไม่เคยเอาชื่อของตัวเองใส่เข้าไปในบัญชีผู้ที่ต้องเฝ้าจับตามองของบารังไกของเขาเลย

แต่สำหรับ อาร์มาน ซานติอาโก (Arman Santiago) น้องชายของ ดามาโซ ซานติอาโก (Damaso Santiago) กัปตันที่ถูกสังหารผู้นี้ เขายืนยันว่าพี่ชายของเขาเป็นเพียงคนติดยา ไม่ได้เป็นผู้ค้า “คุณลองไปถามใครก็ได้ ไม่ว่าใครทั้งนั้นก็จะต้องบอกว่าพี่ชายผมไม่ได้ขายยาเสพติด เขาเป็นเพียงเหยื่อของการใช้ยาคนหนึ่งเท่านั้น” อาร์มาน บอก

ผู้บังคับการตำรวจ คารามัต เรียกผู้ค้ายาและผู้ติดยาเสพติดจำนวนราว 17,000คนในจังหวัดของเขาว่า แต่ละคนไม่ต่างอะไรกับการเป็น “ระเบิดเวลาเดินได้” สำหรับเขาแล้ว จำนวนคนที่ตายในจังหวัดของเขา คือมาตรวัดความสำเร็จของการรณรงค์ปราบปรามยาเสพติด

“มันจะต้องนองเลือดอย่างนี้แหละ” เขากล่าว “เวลาที่คุณมีปัญหาเรื่องไข้เลือดออก คุณคิดว่าคุณสามารถแก้ไขได้โดยไม่ต้องฆ่ายุงหรือ?”

หมายเหตุผู้แปล

[1] บารังไก (barangay) ซึ่งเมื่อก่อนเรียกกันว่า บาร์ริโอ (barrio) เป็นชื่อหน่วยการปกครองระดับล่างที่สุดในฟิลิปปินส์ และก็เป็นคำฟิลิปิโนพื้นเมืองซึ่งหมายถึงหมู่บ้าน, ตำบล ในภาษาพูด คำๆ นี้อาจหมายความถึง ย่านในเขตตัวเมืองชั้นในของเมืองใหญ่, เขตชานเมือง, หรือย่านละแวกชานเมือง คำว่า “บารังไก” นั้น มีรากเหง้าต้นกำเนิดมาจากคำว่า “บาลังไก” (balangay) ซึ่งเป็นเรือประเภทหนึ่งที่กลุ่มชาวออสโตรเนเชีย (Austronesian) ใช้ในเวลาที่พวกเขาอพยพโยกย้ายเข้ามาอยู่ในฟิลิปปินส์

หน่วยการปกครองระดับ เทศบาล (municipalities) และเมือง (cities) ทั้งหลายในฟิลิปปินส์ ต่างแบ่งย่อยออกเป็นหลายๆ บารังไก ยกเว้นเทศบาลอาดัมส์ (Adams) ในจังหวัด อิโลโกส นอร์เต (Ilocos Norte) และเทศบาลคาลายาน (Kalayaan) ของจังหวัดปาลาวัน (Palawan) ที่มีเพียงบารังไกเดียว ขณะที่หน่วยการปกครองระดับ บารังไก เอง บางครั้งก็ถูกแบ่งย่อยออกเป็นพื้นที่ย่อมๆ ลงมา เรียกว่า ปูรอค (purok) หรือ แขวง บารังไกแต่ละแห่งมักประกอบด้วยบริเวณที่มีกลุ่มบ้านเรือนอยู่รวมกันหนาแน่น และ ซิติโอส (sitio) หรือ ท้องที่ หลายๆ ท้องที่ ปกติแล้ว ซิติโอ เป็นท้องที่ซึ่งอยู่ในแถบชนบทและห่างไกลจากศูนย์กลางของบารังไก ตามตัวเลขจนถึงเดือนมิถุนายน 2015 ทั่วทั้งประเทศฟิลิปปินส์ในปัจจุบันประกอบด้วยบารังไกทั้งสิ้น 42,029 บารังไก

(ข้อมูลจาก Wikipedia)

[2]ภาค “ลูซอนกลาง” (central Luzon)

ในฟิลิปปินส์นั้น ถือว่าหน่วยการปกครองระดับท้องถิ่นแบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ 1.เขตปกครองตนเอง (Autonomous regions), 2.จังหวัด (Provinces) และเมืองอิสระ (indepenent cities), 3.เทศบาล (municipalities) และเมืองประกอบ (component cities) และ 4.บารังไก (barangay) ขณะที่ ภาค (region) กำหนดกันขึ้นมาด้วยจุดมุ่งหมายที่จะจัดระเบียบหน่วยการปกครองระดับจังหวัด เพื่อให้สะดวกแก่การบริหารมากขึ้นเท่านั้น โดยที่แต่ละภาคเป็นการรวบรวมเอาจังหวัดและเมืองอิสระต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกันเข้ามาไว้ด้วยกัน

ปัจจุบันฟิลิปปินส์แบ่งออกเป็น 18 ภาค (โดยที่มี 1 ภาคเป็นเขตปกครองตนเอง) สาขาของหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลกลาง ส่วนใหญ่แล้วจะจัดตั้งขึ้นเป็นระดับภาค แทนที่จะตั้งสำนักงานอยู่ในแต่ละจังหวัด ทว่าภาคเองนั้นไม่ได้มีรัฐบาลท้องถิ่นของตนเอง ยกเว้นแต่ ภาคปกครองตนเองในมินดาเนามุสลิม (Autonomous Region in Muslim Mindanao) ซึ่งมีสภานิติบัญญัติภาคและผู้ว่าการภาคที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในภาค

สำหรับภาค “ลูซอน กลาง” หรือที่เรียกกันว่า ภาค 3 ประกอบด้วย 7 จังหวัดในที่ราบตอนกลางของเกาะลูซอน ได้แก่ ออโรรา (Aurora), บาตาน (Bataan), บูลาคัน (Bulacan), นูวา เอซิจา (Nueva Ecija), ปัมปังกา (Pampanga), ตาร์ลัค (Tarlac), และ ซัมบาเลส (Zambales)

(ข้อมูลจาก Wikipedia)


กำลังโหลดความคิดเห็น