เอเจนซีส์ - จอร์แดนไม่ใช่ประเทศที่ขึ้นชื่อในเรื่องฝนตก แต่แม้ธรรมชาติไม่เอื้ออำนวย ก็ยังมีเทคโนโลยีคอยช่วยเหลือ โดยนับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป จอร์แดนจะใช้เทคนิคการทำฝนเทียมของ “ในหลวง” เพื่อทำให้ประเทศพวกเขามีฝนตกมากขึ้น
เทคโนโลยีดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นในปี 1969 โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ของประเทศไทย ด้วยการค้นพบวิธีทำให้ก้อนเมฆมีความหนาแน่นเพิ่มขึ้น แล้วทำให้กลายเป็นฝนตกลงมา
โมฮัมหมัด ซามาวี ผู้อำนวยการกรมอุตุนิยมวิทยาของจอร์แดน ระบุว่า จอร์แดนติดอันดับต้น ๆ สำหรับประเทศที่ประสบปัญหาเรื่องน้ำ
ในขณะที่การขาดแคลนน้ำได้ทำให้เกิดความกังวลมากขึ้นในเรื่องของสุขภาพ ปัญหาเรื่องสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงก็ถูกคาดหมายว่าจะทำให้จอร์แดนยิ่งแย่หนักไปอีก จากอุณหภูมิที่จะสูงขึ้น กับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของฝนที่จะตกลงมาสู่พื้นดิน
ทุกวันนี้ ความหวั่นวิตกในเรื่องของการขาดน้ำและผลที่จะตามมานั้น ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามลำดับสูงสุด ต่อสุขภาพของคนในประเทศจอร์แดน ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก รวมถึงเป็นปัจจัยที่จำกัดการพัฒนาเศรษฐกิจ
กระทรวงน้ำและกระกรวงเกษตรของจอร์แดน ระบุว่า กระบวนการทำฝนเทียมในช่วง 2 - 3 ปีข้างหน้านั้น จะเป็นโครงการระดับชาติที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนโดยกองทัพอากาศแห่งราชวงศ์จอร์แดน
จอร์แดนได้รับอนุญาตจากไทยในปี 2009 เพื่อใช้เทคนิคการทำฝนเทียม หรือที่คนไทยเรียกกันว่า “ฝนหลวง” โดยทั้งสองประเทศมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เมื่อวันที่ 23 มีนาคมปีนั้น เพื่อขอรับความรู้ความชำนาญในการทำฝนหลวงจากไทย
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่จอร์แดนพยายามใช้เทคโนโลยีเข้ามาบรรเทาความแห้งแล้งด้วยการกระตุ้นให้เกิดฝน โดยในการให้สัมภาษณ์กับ “จอร์แดน ไทม์” ซามาวีได้บอกว่า จอร์แดนเคยลองพยายามทำฝนเทียมด้วยตัวเองแล้วในช่วงระหว่างปี 1989 - 1995 แต่ก็ล้มเหลว เนื่องจากข้อจำกัดทางเทคนิค
การทำฝนเทียมหรือฝนหลวงเป็นกรรมวิธีการเหนี่ยวนำน้ำจากฟ้า ใช้เครื่องบินบรรจุสารเคมีขึ้นไปโปรยในท้องฟ้า โดยดูจากความชื้นของเมฆและสภาพทิศทางลมประกอบกัน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดฝนคือ ความร้อนชื้นปะทะความเย็น และมีแกนกลั่นตัวที่มีประสิทธิภาพในปริมาณที่เหมาะสม กล่าวคือ เมื่อมวลอากาศร้อนชื้นที่ระดับผิวพื้นขึ้นสู่อากาศเบื้องบน อุณหภูมิของมวลอากาศจะลดต่ำลงจนถึงความสูงที่ระดับหนึ่ง หากอุณหภูมิที่ลดต่ำลงนั้นมากพอก็จะทำให้ไอน้ำในมวลอากาศอิ่มตัว จะเกิดขบวนการกลั่นตัวเองของไอน้ำในมวลอากาศขึ้นบนแกนกลั่นตัว เกิดเป็นฝนตกลงมา
ทรัพยากรน้ำในจอร์แดนนั้นมีใช้เพียงปีละ 800 - 900 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอสำหรับประชากรแค่ 3 ล้านราย แต่จำนวนผู้ใช้น้ำในปัจจุบันของจอร์แดนนั้นมีมากถึง 10 ล้านราย ทั้งยังเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีควบคุมทรัพยากรธรรมชาติ ค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่มีความยั่งยืน
ทั้งนี้ ประเทศไทยเคยประสบปัญหาภัยแล้งและขาดแคลนน้ำ แต่ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีสร้างฝนหลวงได้ทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมสร้างฝนเทียมเขตร้อนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรคอยออกแบบและดำเนินงานโครงการทดลองด้วยเทคนิคที่ล้ำสมัย