xs
xsm
sm
md
lg

“บ็อบ ดีแลน” กลายเป็นนักร้อง-นักแต่งเพลงคนแรกที่ได้รางวัล “โนเบลสาขาวรรณกรรม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>บ็อบ ดีแลน นักร้องและนักแต่งเพลงชาวอเมริกัน ขณะไปแสดงในอังกฤษเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2012  ราชบัณฑิตยสถานแห่งสวีเดนประกาศในวันพฤหัสบดี (13 ต.ค.) ว่า เขาเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปีนี้ </i>
รอยเตอร์ - บ็อบ ดีแลน ซึ่งได้รับการยอมรับนับถือมานานแล้วจากบทเพลงของเขาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา ได้รับการประกาศในวันพฤหัสบดี (13 ต.ค.) ว่าเป็นผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปีนี้ นับเป็นการตัดสินที่สร้างเซอร์ไพรส์ไปทั่ว และทำให้เขากลายเป็นนักร้อง-นักแต่งเพลงเพียงคนเดียวที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้

คณะกรรมการพิจารณารางวัลกล่าวในคำแถลงว่า ดีแลน ซึ่งปัจจุบันอายุ 75 ปี ได้รับรางวัลนี้ “จากการสร้างสรรค์การแสดงออกทางกวีอย่างใหม่ๆ ภายในขนบประเพณีเพลงอเมริกันอันยิ่งใหญ่” และ “ดีแลนมีฐานะเป็นไอคอนคนหนึ่ง อิทธิพลของเขาที่มีต่อดนตรีร่วมสมัยนั้นลึกซึ้งมาก”

อย่างไรก็ตาม การตัดสินคราวนี้ทำให้นักเขียนบางคนออกมาแสดงความข้องใจว่า จากการให้เกียรติแก่นักดนตรีผู้ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักยกย่องกันดีที่สุดคนหนึ่งของโลกเช่นนี้ ทำให้ราชบัณฑิตสถานสวีเดนซึ่งเป็นผู้พิจารณาตัดสินรางวัลนี้ ต้องพลาดโอกาสในการได้สร้างความสนใจให้แก่ศิลปินซึ่งเป็นที่รู้จักลดน้อยลงมาหรือไม่

“ผมเป็นแฟนดีแลนคนหนึ่ง แต่นี่เป็นการให้รางวัลแบบโหยหาอดีตที่มิได้ผ่านการขบคิดพิจารณาให้ดี ซึ่งบิดผันออกมาจากต่อมลูกหมากอันเหม็นหืนของพวกฮิปปี้เฒ่าชราที่พูดจาไร้สาระ” นี่เป็นทวีตของ เออร์วิน เวลช์ นักเขียนชาวสกอต ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีจากผลงานนวนิยายปี 1993 เรื่อง “Trainspotting”

เมื่อมีการประกาศตัดสินรางวัลออกมา บรรยากาศห้องประชุมของราชบัณฑิตสถานสวีเดน ในกรุงสตอกโฮล์ม อยู่ในอาการตะลึงอ้าปากค้าง ติดตามมาด้วยเสียงหัวเราะของบางคน ขณะที่ แพร์ วอสต์เบิร์ก สมาชิกคนหนึ่งของราชบัณฑิตสถานสวีเดน แถลงว่า “ดีแลนบางทีอาจจะถือได้ว่าเป็นกวีซึ่งมีความยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดากวีที่ยังมีชีวิตอยู่”

ครั้งหนึ่ง นอร์แมน เมลเลอร์ นักเขียนนวนิยายผู้ล่วงลับไปแล้ว ได้เคยแสดงความคิดเห็นเอาไว้ว่า “ถ้าดีแลนเป็นกวี ก็ต้องถือว่าผมเป็นนักบาสเกตบอล”
<i>ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 1978 ขณะที่ บ็อบ ดีแลน ไปเปิดการแสดงที่กรุงปารีส </i>
อย่างไรก็ตาม มีนักเขียนชื่อดังอีกหลายๆ คนแสดงการชมเชยคำตัดสินมอบรางวัลในปีนี้

ซัลมาน รัชดี ผู้เขียนนวนิยายอย่างเช่นเรื่อง “The Satanic
Verses” และ “Shalimar the Clown” กล่าวยกย่องการตัดสินว่า เป็นการเดินตามขนบประเพณีทางวรรณกรรมอันเก่าแก่ต่อเนื่องมาหลายๆ ศตวรรษ ตั้งแต่ยุคคลาสสิกของกรีซ ขยายยืดยาวมาจนถึงยุคสมัยใหม่ในอินเดีย

เพลงของดีแลน อย่างเช่น “Blowin' in the Wind”, “The Times They Are a-Changin'”, “Subterranean Homesick Blues”, และ “Like a Rolling Stone” เป็นที่ยอมรับกันมานานว่าสามารถยึดกุมจิตวิญญาณแห่งการก่อกบฎ, การแสดงความไม่เห็นด้วยกับทางการ, และความเป็นอิสระของคนรุ่นอายุหนึ่ง

รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมถือเป็นเกียรติยศชิ้นล่าสุดในบรรดาเกียรติยศมากมายที่มอบให้แก่ดีแลน ซึ่งเกิดที่เมืองดูลุธ มลรัฐมินนิโซตา และเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมาครั้งแรกบนท้องถนนของกรีนนิชวิลเลจ ในนครนิวยอร์กเมื่อทศวรรษ 1960 อัลบั้มผลงานเพลงของเขาชนะรางวัลแกรมมี่มาแล้วสิบกว่ารางวัล และในปี 1998 ดีแลนได้รับคัดเลือกให้เข้าสู่หอเกียรติยศดนตรีร็อกแอนด์โรล (Rock and Roll Hall of Fame) เมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ

สำหรับผู้คนจำนวนมาก เนื้อเพลงของเขาเปล่งเสียงกึกก้องสะเทือนสะท้านมาตั้งหลายสิบปีแล้ว

“Blowin' in the Wind” ซึ่งดีแลนเขียนขึ้นในปี 1962 ได้รับความเคารพนับถือว่าเป็นเพลงโฟล์กซองซึ่งมีถ้อยคำคมคายที่สุดเพลงหนึ่งเท่าที่มีการแต่งกันขึ้นมา “The Times They Are A-Changin'” ซึ่งในเนื้อเพลงดีแลนบอกกับชาวอเมริกันว่า “your sons and your daughters are beyond your command” กลายเป็นเพลงสดุดีเพลงหนึ่งของขบวนการเรียกร้องสิทธิพลเมือง และการประท้วงสงครามเวียดนาม

เมื่อถูกถามว่าเขาคิดว่าในการไปเลกเชอร์ที่กรุงสตอกโฮล์มเนื่องในโอกาสรับรางวัลโนเบลของดีแลน ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของผู้ชนะรางวัลนั้น จะมีการจัดคอนเสิร์ตของดีแลนหรือไม่ คำตอบจากผู้แถลงข่าวก็คือ “ถ้าได้อย่างนั้นก็เยี่ยมเลย”
<i>ส่วนหนึ่งของผลงานหนังสือโดย บ็อบ ดีแลน ซึ่งตั้งแสดงอยู่ที่ราชบัณฑิตสถานแห่งสวีเดน ในกรุงสต็อกโฮล์ม เมื่อวันพฤหัสดี (13 ต.ค.)  ในระหว่างการแถลงข่าวว่าเขาคือผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปีนี้ </i>

กำลังโหลดความคิดเห็น