xs
xsm
sm
md
lg

“อนามัยโลก” แนะผู้ผ่านพื้นที่เสี่ยง “ซิกา” มีเซ็กซ์โดยใช้ถุงยางหรือเว้นยาว “ครึ่งปี”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - องค์การอนามัยโลก (ฮู) ปรับปรุงคำเตือนเสียใหม่ คราวนี้แนะนำทั้งชาย - หญิง ที่กลับจากพื้นที่ซึ่งไวรัสซิการะบาด ควรมีเพศสัมพันธ์แบบปลอดภัยหรืองดเว้นไปก่อนเป็นระยะเวลา 6 เดือน ถึงแม้ไม่ได้มีแผนมีลูก หรือแสดงอาการใด ๆ ก็ตาม ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง นักวิจัยในอเมริกาเผยแพร่รายงานบ่งชี้ความเป็นไปได้ที่ไวรัสนี้อาจแฝงตัวอยู่ในดวงตาและแพร่เชื้อผ่านน้ำตา

คำเตือนล่าสุดคราวนี้ เป็นการแก้ไขปรับปรุงจากคำแนะนำชั่วคราวที่องค์การอนามัยโลก ประกาศเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งแนะนำเฉพาะผู้ชายว่าควรมีเพศสัมพันธ์แบบปลอดภัย เช่น สวมถุงยางอนามัย และระยะเวลาที่แนะให้ระวังก็สั้นกว่าคืออย่างน้อย 8 สัปดาห์เท่านั้น

คำแถลงที่ออกมาเมื่อวันอังคาร (6 ก.ย.) อิงกับหลักฐานใหม่เกี่ยวกับการแพร่เชื้อของซิกาจากชายที่ไม่แสดงอาการไปยังคู่นอนที่เป็นผู้หญิง และจากหญิงที่ไม่แสดงอาการไปยังคู่นอนที่เป็นผู้ชาย ตลอดจนถึงหลักฐานที่ว่า ซิกาคงอยู่ในน้ำอสุจินานกว่าที่เคยคาดไว้

ทั้งนี้ หญิงมีครรภ์ที่ติดเชื้อซิกา มีความเสี่ยงที่จะทำให้ทารกในครรภ์เกิดภาวะศีรษะเล็กโดยกำเนิด (microcephaly) ซึ่งทำให้สมองมีความผิดปกติและพัฒนาช้า

ในส่วนการติดเชื้อซิกาผ่านการมีเพศสัมพันธ์นั้น นับถึงวันที่ 26 สิงหาคม พบแล้วใน 11 ประเทศ ส่วนใหญ่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด อย่างไรก็ดี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พบกรณีแรกที่ติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักในชายคนหนึ่ง และเดือนเมษายนยังพบกรณีต้องสงสัยว่า มีการแพร่เชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก

สำหรับรายงานล่าสุดที่เสนอแนวทางแนะนำระยะ 6 เดือน ฮู ระบุว่า ถึงแม้พบกรณีชายผู้หนึ่งซึ่งมีไวรัสซิกาแฝงในน้ำอสุจิของเขาอยู่นานถึง 188 วัน หลังจากเริ่มแสดงอาการ แต่ระยะเวลายาวนานสุดที่พบกันโดยทั่วไป คือ ไวรัสนี้สามารถแพร่เชื้อได้ภายใน 24 วัน

ในผู้ติดเชื้ออีกรายนั้น พบว่า ซิกาในน้ำอสุจิมีความเข้มข้นมากกว่าในเลือดถึง 100,000 เท่า หลังจากวินิจฉัยพบการติดเชื้อ 14 วัน

อีกด้านหนึ่ง ดร.ไมเคิล ไดมอนด์ จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน เมืองเซนต์หลุยส์, สหรัฐฯ และคณะ ได้เผยแพร่รายงานการศึกษาของพวกเขาในวารสารเซลล์ รีพอร์ตส์ โดยระบุว่า ไวรัสซิกาอาจสามารถแฝงตัวอยู่ในดวงตาและแพร่เชื้อผ่านน้ำตา

รายงานดังกล่าวอ้างอิงจากการศึกษากับหนูทดลอง โดยทีมงานได้เพาะเชื้อไวรัสใต้ผิวหนังหนู เพื่อจำลองวิธีที่คนเราได้รับเชื้อจากการถูกยุงกัด และได้พบไวรัสซิกาที่มีชีวิตในตาหนูในสัปดาห์ต่อมา หลังจากนั้น 28 วัน พบสารพันธุกรรมจากไวรัสในน้ำตาหนูที่ติดเชื้อ

นักวิจัยระบุว่า การค้นพบนี้บ่งชี้ว่า มีโอกาสอยู่มากที่ซิกาอาจแพร่เชื้อผ่านการสัมผัสน้ำตาของผู้ติดเชื้อ ทว่า ยังต้องทำการทดลองเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์สมมติฐานนี้

ขณะที่ ดร.ราเชนทรา อัปเต ผู้เขียนอาวุโสของรายงานชิ้นนี้ เผยว่า มีแผนทำการศึกษากับคนเพื่อดูว่า ไวรัสซิกาที่แพร่เชื้อได้สามารถแฝงตัวอยู่ในกระจกตาหรือส่วนอื่น ๆ ในดวงตาได้หรือไม่ เนื่องจากสมมติฐานนี้มีความสำคัญกับกรณีการปลูกถ่ายกระจกตา


กำลังโหลดความคิดเห็น