xs
xsm
sm
md
lg

2 ‘เหยี่ยวหญิง’ก้าวขึ้นเป็น‘นายกเล็กโตเกียว’และ‘รมว.กลาโหมญี่ปุ่น’

เผยแพร่:   โดย: ไอดัน ฟอสเตอร์-คาร์เตอร์

<i>ยูริโกะ โคอิเกะ นายกเทศมนตรีโตเกียวคนใหม่ เดินทางถึงอาคารรัฐบาลท้องถิ่นมหานครโตเกียว เพื่อเข้าพิธีรับตำแหน่ง ในวันที่ 2 สิงหาคม 2016 </i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

The rise of Japan’s lady-hawks: Tokyo two talk tough
By Aidan Foster-Carter
05/08/2016

ญี่ปุ่นที่เป็นพื้นที่ลำบากสุดหินสำหรับนักสิทธิสตรี เมื่อไม่กี่วันก่อนกลับมีผู้หญิงถึง 2 คนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งระดับท็อป อย่างไรก็ตาม ทั้ง ยูริโกะ โคอิเกะ นายกเทศมนตรีโตเกียวคนใหม่ และโทโมมิ อินาดะ รัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ ต่างเป็นนักชาตินิยมขวาจัด และนี่จึงถือเป็นข่าวร้าย อย่างน้อยที่สุดก็สำหรับเกาหลี

บรรยากาศอันแสนคุ้นเคย ช่วงจังหวะที่ แมกกี้ แธตเชอร์ ขึ้นครองอำนาจหวนกลับมาให้ได้เห็นได้รู้สึกอีกครั้งหนึ่ง คุณทราบดีเลยว่ามันเป็นยังไง แต่ในกรณีที่คุณยังไม่ทราบ ผมก็ขอเล่าให้ฟังแล้วกัน

มันเป็นปี 1979 ในฐานะของนักสังคมวิทยาชายซึ่งอายุเพิ่งย่างเข้า 30 ปี คุณกำลังมีความรู้สึกอย่างเต็มเปี่ยมถึงพลังและความกราดเกรี้ยวของกระแสเรียกร้องสิทธิสตรีระลอกที่ 2 แห่งทศวรรษ 1970 -–ทั้งๆ ที่คุณเองต้องการเสมอมาที่จะเป็นส่วนหนึ่งของผู้หญิงเหล่านั้น

ดังนั้นคุณจึงปรารถนาที่จะรู้สึกภาคภูมิใจ ในการที่ดินแดนซึ่งออกจะมีความคิดปฏิกิริยาต่อต้านความเปลี่ยนแปลงและชวนให้อึดอัดหายใจไม่ออกอย่างประเทศของคุณ กลับกลายเป็นชาติในโลกตะวันตกแห่งแรก และก็เป็นเพียงประเทศอันดับ 5 ไม่ว่าที่ใดในโลก ซึ่งเลือกตั้งผู้หญิงขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เพียงแต่ว่ามันมีปัญหาอยู่ข้อหนึ่ง ได้แก่ นามของผู้หญิงคนนั้นคือ มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ และคุณรังเกียจชิงชังทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอเรียกร้องไขว่คว้า

เดินหน้าอย่างเร็วๆ ไปอีก 37 ปี นับว่าเราเดินมาได้ไกลทีเดียว ในโลกตะวันตก หัวหน้ารัฐบาลที่เป็นสตรีไม่ใช่สิ่งที่หายากอีกต่อไป ถึงแม้ยังไม่ถึงกับเป็นสิ่งที่พบเห็นกันอยู่ทั่วไปก็ตามที อันที่จริงแล้วสำหรับสหราชอาณาจักร นับถึงตอนนี้ก็มีนายกรัฐมนตรีหญิงเป็นคนที่ 2 เท่านั้น (ถึงแม้ในทางเป็นจริงแล้ว ไม่ได้มีพวกเราสักคนที่เลือกตั้ง เทเรซา เมย์ ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหารที่เธอเพิ่งครองอยู่หมาดๆ ก็ตามที –ทว่านั่นย่อมเป็นเรื่องที่ต้องเล่ากันเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากออกไป)

ส่วนสำหรับทางโลกตะวันออกนะรึ? ภาพออกจะสลับซับซ้อนอยู่ แต่พูดได้ว่า ผู้นำชาวเอเชียที่เป็นผู้หญิงทั้งหมดไม่ว่าจะในอดีตหรือในปัจจุบัน ยกเว้นอยู่คนเดียว ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องโยงใยกับพวกผู้ชายซึ่งขึ้นเป็นผู้นำก่อนหน้าพวกเธอ ตัวอย่างชัดเจนที่สุดได้แก่ พัค กึน-ฮเย ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของเกาหลีใต้ ซึ่งขึ้นชื่อลือชาในการเป็นบุตรสาวของจอมเผด็จการผู้หนึ่งแห่งแดนโสมขาว สำหรับผู้ที่เป็นข้อยกเว้นหนึ่งเดียวนั้นคือ ไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีคนใหม่ของไต้หวัน ผู้ก้าวขึ้นสู่อำนาจโดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยใบบุญผู้ชายคนไหน เธอเป็นสตรีที่ก้าวผงาดขึ้นมาได้ด้วยตัวเธอเอง 100% นี่เป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจสำหรับเธอ

ในระเบียงแห่งอำนาจชั้นบนๆ ของเอเชียตะวันออกนั้น กรณีแบบเธอถือว่ามีอยู่น้อยนิด ด้วยเหตุนี้เองเมื่อมองกันในเชิงนามธรรมแล้ว ผมต้องส่งเสียงเชียร์ลั่นทีเดียว จากการที่ในญี่ปุ่น --ซึ่งก็เฉกเช่นเดียวกับเกาหลี ถือเป็นพื้นที่อันลำบากยากเย็นสำหรับนักสิทธิสตรีทั้งหลาย— มีตำแหน่งงานระดับท็อป 2 ตำแหน่งเพิ่งตกมาอยู่ในมือของผู้หญิงในช่วงไม่นานมานี้

กล่าวคือ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา พวกผู้ออกเสียงในกรุงโตเกียว ได้โหวตกันอย่างท่วมท้น เลือก ยูริโกะ โคอิเกะ (Yuriko Koike) ให้เป็นนายกเทศมนตรี แล้วอีก 3 วันถัดจากนั้น นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ซึ่งทำการปรับปรุงคณะรัฐมนตรีระดับมินิ ก็ได้เลือกเอา โทโมมิ อินาดะ (Tomomi Inada) เป็นรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ของเขา

ในญี่ปุ่นซึ่งเป็นสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่อย่างชัดเจน นี่อาจจะถือเป็นเคราะห์ร้ายที่มากันทีเดียว 2 ครั้งซ้อนๆ สำหรับผู้หญิง เราสมควรที่จะส่งเสียงเชียร์ไหม? ในทางหลักการล่ะก้อ แน่นอนอยู่แล้ว ทว่าเมื่อมองที่ตัวบุคคล มันก็ดูจะไม่ใช่เรื่องน่าดีใจอะไรหรอก อย่างน้อยที่สุดก็ไม่ใช่แน่ๆ เมื่อมองจากจุดยืนของเกาหลี

“ผีเสื้อเหล็ก”แห่งญี่ปุ่น

แน่นอนทีเดียว พวกเธอ 2 คนนี้มีความแตกต่างกัน โคอิเกะเป็นคนที่น่าสนใจ โดยมีภูมิหลังอันผิดธรรมดา เธอเรียนภาษาอาหรับเป็นวิชาเอก ในมหาวิทยาลัยที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ แล้วทำงานเป็นนักแปลและผู้ประกาศข่าวทางทีวี ก่อนได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ในปี 1992 ในช่วงปี 2003-06 เธอนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีเพื่อสิ่งแวดล้อม และสีเขียวคือสีที่ใช้ในการรณรงค์หาเสียงในตอนนั้น เธอยังเข้าดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกลาโหมช่วงสั้นมากในปี 2007 มาถึงเวลานี้ “ผีเสื้อเหล็ก” (iron butterfly ตามฉายาออกจะทะแม่งๆ ที่นิตยสารอีโคโนมิสต์ตั้งให้เธอ ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.economist.com/news/asia/21703286-yuriko-koike-combines-nationalism-and-steely-ambition-tokyo-gets-its-first-female-governor) ผู้นี้ ก็ได้กลายเป็นผู้ว่าการของนครซึ่งมีเศรษฐกิจแบบเมืองขนาดใหญ่ที่สุดของโลก (ดูรายละเอียดได้ที่ http://qz.com/747117/tokyos-new-female-governor-will-run-the-biggest-city-economy-in-the-world/)

แล้วมีอะไรที่ทำให้รู้สึกไม่ชอบ? แย่หน่อยล่ะ มันก็มีอยู่นิดหน่อย โคอิเกะเป็นนักชาตินิยมใหม่ (neo-nationalist) ผู้มีแนวความคิดอันแข็งกร้าว สามารถกาเครื่องหมายถูกให้เธอได้หมดเลยในเรื่องคุณสมบัติทั้งหลายของบุคคลประเภทนี้ เธอเป็นผู้ที่เดินทางไปสักการะศาลเจ้ายาสุคุนิ (Yasukuni Shrine) เป็นประจำ, และเป็นผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมอยู่ในองค์กรต่างๆ ซึ่งมุ่งหาทางลบล้างฟอกขาวให้แก่การกระทำอันโหดร้ายป่าเถื่อนต่างๆ แบบนักจักรวรรดินิยมของญี่ปุ่นในยุคก่อนหน้าปี 1945 ไม่ว่าจะในตำราเรียนที่ใช้ตามโรงเรียนต่างๆ หรือในแวดวงกว้างขวางกว่านั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อ สปปก. (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี ซึ่งก็คือเกาหลีเหนือ ภาษาอังกฤษใช้ว่า DPRK ย่อมาจาก Democratic People's Republic of Korea) ท่านผู้อ่านของเอเชียไทมส์อาจจะได้เห็นบทความชื่อเตะตาของเธอซึ่งเผยแพร่โดย โปรเจคต์ ซินดิเคต (Project Syndicate) เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา (ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.project-syndicate.org/commentary/pachinko-funds-north-korean-missiles-by-yuriko-koike-2016-03?barrier=true) ก็อย่างที่ชื่อบทความของเธอ “North Korea’s Pachinko Missiles” (ขีปนาวุธปาจิงโกะของเกาหลีเหนือ) ชี้เอาไว้ เนื้อหาของมันมุ่งเสนอแนะว่า โครงการขีปนาวุธนำวิถีของคิม จองอึน ส่วนใหญ่ทีเดียวได้รับเงินทุนสนับสนุนจากชาวเกาหลีผู้นิยมเกาหลีเหนือซึ่งพำนักตั้งถิ่นฐานอยู่ในญี่ปุ่น และก็เป็นเจ้าของร้านเกมพนัน “ปาจิงโกะ” ที่พบเห็นกันอยู่ทั่วไปในแดนอาทิตย์อุทัยเป็นจำนวนมากจริงๆ

แล้วคำกล่าวหานี้เป็นความจริงหรือเปล่า? มีคดีขึ้นศาลที่ออกจะประหลาดพิกลอยู่คดีหนึ่งซึ่งไฮไลให้เห็นว่ามีเรื่องประเภทนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวเหมือนกัน (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.nti.org/gsn/article/japanese-businessman-found-guilty-of-exporting-nuclear-capable-components-to-north-korea/) ทว่าพูดกันตรงๆ ก็อย่างที่ความเห็นหนึ่งของเว็บไซต์กล่าวเอาไว้อย่างคมคายชัดเจนนั่นแหละ ไม่มีหลักฐานอะไรทั้งสิ้นซึ่งระบุชี้ชัดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงทั้งหมด

ตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา ญี่ปุ่นยังได้ห้ามการค้าขายทุกอย่างกับเกาหลีเหนือ ก่อนหน้านั้นอะไรๆ อาจจะมีหย่อนคลายหละหลวมบ้างนิดหน่อย ทว่าการที่มองไปว่าคนเกาหลีที่เป็นคนต่างด้าวในญี่ปุ่น(zainichi) คือถุงเงินสำคัญแหล่งหนึ่งของคิม จองอึน นั้น ต้องถือว่าเชื่ออะไรง่ายเกินไปแล้ว

นอกจากนั้นมันยังเป็นการพูดจาใส่ร้ายกัน ถึงแม้โคอิเกะจะหยิบยกอ้างแรงจูงใจว่าคือความหวาดกลัว ไม่ใช่ความรักชอบในระบอบปกครองของตระกูลคิมก็ตามที แต่บทความของเธอก็เป็นการป้ายสีชุมชนทั้งชุมชนซึ่งก็ถูกตามรังควานอย่างมากมายอยู่แล้ว มันทำให้ผมย้อนนึกไปถึงเรื่องราวอันน่าสะอิดสะเอียนที่เราอ่านพบกันมากกว่านี้อีกในเซคชั่นต่างๆ ของหนังสือพิมพ์สหราชอาณาจักร ซึ่งพยายามที่จะป้ายร้ายชาวมุสลิมทุกคนในประเทศนี้ด้วยแปรงแห่งลัทธิก่อการร้ายนักรบญิฮัด ในแบบของอัลกออิดะห์และรัฐอิสลามไอเอส โคอิเกะก็กำลังกวนหม้อต้มสีที่ส่งกลิ่นเหม็นบูดแบบนี้แหละครับ
<i>โทโมมิ อินาดะ รัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ของญี่ปุ่น พูดกับผู้สื่อข่าว เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2016 </i>
ถ้าหากโคอิเกะถือว่าแย่แล้ว โทโมมิ อินาดะ ก็ต้องถือว่าแย่ยิ่งกว่า เธอเป็นพวกพ้องติดตามอาเบะมายาวนาน จนกระทั่งขึ้นเป็นหัวหน้าผู้วางนโยบายของพรรคลิเบอรัลเดโมเครติกปาร์ตี้ (Liberal Democratic Party หรือ LDP) ของอาเบะ อินาดะยังมีประวัติอันยาวนานในการปกป้องแก้ต่างให้แก่พฤติการณ์ช่วงสงครามของญี่ปุ่น รวมทั้งการเข้าทำหน้าที่เป็นทนายความให้แก่พวกครอบครัวของทหารซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำการโหดเหี้ยมทารุณต่างๆ (ดูรายละเอียดได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Contest_to_kill_100_people_using_a_sword)

นักชาตินิยมระดับหัวชนฝา

ลัทธิชาตินิยมของเธอยังไม่ได้หยุดยั้งอยู่แค่เพียงการลบล้างฟอกขาวให้แก่อดีตอันน่าขนลุกขนพองเท่านั้น ในปี 2011 อินาดะคือ 1 ใน 3 ส.ส.ญี่ปุ่นที่เข้าร่วมในการเผชิญหน้าเป็นเวลา 9 ชั่วโมง ณ ท่าอากาศยานกิมโป (Gimpo airport) ของกรุงโซล เกาหลีใต้ปฏิเสธไม่ยอมให้พวกเขาเข้าประเทศ เนื่องจากพวกเขาต้องการผลักดันเรื่องที่ญี่ปุ่นกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือกลุ่มเกาะเล็กเกาะน้อยชื่อ ดอคโด (Dokdo islets) ซึ่งญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้พิพาทช่วงชิงกันอยู่ (โดยที่ญี่ปุ่นเรียกชื่อว่า ทาเกชิมะ Takeshima) การถกเถียงอภิปรายกันนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่นี่เป็นเพียงการแสดงอะไรหวือๆ หวาๆ เพื่อมุ่งสร้างข่าวของพวกขวาจัดเท่านั้น

เป็นตัวเลือกชั้นเยี่ยมสำหรับตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม ใช่ไหม? ในช่วงเวลาที่อาเบะกับพัคเพิ่งสามารถกลบฝังข้อบาดหมางอันยืดเยื้อไปได้ในที่สุดนี่นะรึ? การที่พัคยอมหันมาคืนดีด้วยก็กำลังกลายเป็นปัญหาท้าทายอยู่แล้ว โดยที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในเกาหลีใต้ต่อข้อตกลงสุดท้ายเมื่อเดือนธันวาคมที่จะตกลงรอมชอมกันในประเด็นปัญหา “หญิงบำเรอกาม” (comfort women ดูรายละเอียดเรื่องนี้ได้ที่ http://thediplomat.com/2016/05/6-months-later-the-comfort-women-agreement/) ไม่รู้จริงๆ ว่าอาเบะกำลังคิดอะไรอยู่?

การเลือกอินาดะมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นการฉีกกระชากการรอมชอมอันยุ่งยากและเปราะบางเหล่านี้ ให้กลายเป็นแผลเปิดกว้างขึ้นมาอีก สหรัฐฯซึ่งรู้สึกผ่อนคลายที่พันธมิตรในเอเชียตะวันออกทั้ง 2 ของตนกำลังร่วมมือประสานงานกันได้อีกครั้ง จะต้องรู้สึกหงุดหงิดหัวเสีย ความร้าวฉานที่เกิดขึ้นมาใหม่นี้ย่อมยากที่จะช่วยให้พันธมิตรทั้ง 3 สามารถก้าวเดินไปร่วมกันในทางปฏิบัติ เพื่อต่อสู้คัดค้านภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ

ทว่าคุณสามารถพนันวางเดิมพันได้เลยว่าในกรุงเปียงยางนั้น พวกเขากำลังหัวเราะเฮฮากันอยู่ วันเดียวกับที่มีการยืนยันตำแหน่งใหม่ของอินาดะ เกาหลีเหนือได้ทำการท้าทายด้วยการยิงขีปนาวุธนำวิถีอีกลูกหนึ่งซึ่งตกลงมาในเขตน่านน้ำเศรษฐกิจจำเพาะของญี่ปุ่น (ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.nknews.org/2016/08/n-korea-launches-ballistic-missile-from-south-hwanghae-yonhap/) ฤดูร้อนอันร้อนฉ่ากำลังใกล้เข้ามา และเราจะได้อภิปรายถกเถียงกันในข้อเขียนชิ้นต่อๆ ไป

ผมมิได้มุ่งหมายที่จะทำการตัดสินวินิจฉัยล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนที่พวกเธอจะทำงาน ไม่ว่าในกรณีของโคอิเกะหรืออินาดะ อันที่จริงสำหรับกรุงโตเกียวแล้ว การขึ้นเป็นนายกเทศมนตรีของโคอิเกะอาจจะหมายความการก้าวไปสู่อนาคตอันสดใสทีเดียว อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลา 1 ปีและโลกซึ่งมีชาติต่างๆ มากเกินไปแล้วกำลังหันกลับไปเอาแต่มุ่งมองปัญหาภายในของตัวเอง -–อย่าได้มาย้อนถามผมเรื่องเกี่ยวกับ “เบร็กซิต” เชียวนะ-– การแต่งตั้งอินาดะจึงดูเหมือนกับว่าญี่ปุ่นกำลัง “ยกนิ้วกลาง” แสดงการเยาะเย้ยหยามหยันทั้งเพื่อนมิตรและเหล่าปรปักษ์

การรุกคือการป้องกันที่ดีที่สุด นี่เป็นสิ่งที่คนเขาพูดกันอยู่ แต่ผมไม่คิดว่าคนเขาหมายถึงการรุกด้วยการเย้ยเยาะหยันหยามคนอื่นหรอก โทโมมิ อินาดะ นั้นสร้างฐานะการงานของเธอขึ้นมาด้วยวิธีนี้แหละ สำหรับความชำนาญเชิงยุทธศาสตร์ของเธอในเรื่องความมั่นคงในชีวิตจริงนั้น เธอยังไม่ได้ผ่านการพิสูจน์อะไรเลย

ไอดัน ฟอสเตอร์-คาร์เตอร์ เป็นนักวิจัยอาวุโสกิตติคุณ ทางด้านสังคมวิทยาและเกาหลีสมัยใหม่ ณ มหาวิทยาลัยลีดส์, สหราชอาณาจักร ความสนใจในเรื่องเกาหลีของเขาเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1968 นับจากปี 1997 เขาเป็นนักวิเคราะห์และที่ปรึกษาเต็มเวลาว่าด้วยกิจการเกาหลีทั้งเหนือและใต้ โดยทั้งเขียน, เล็คเชอร์, และออกรายการวิทยุโทรทัศน์ ไปถึงผู้อ่านผู้ชมผู้ฟังทั้งที่อยู่ในแวดวงวิชาการ, ธุรกิจ, และนโยบาย ทั้งในสหราชอาณาจักรและตลอดทั่วโลก

(ความคิดเห็นที่ปรากฏในข้อเขียนนี้เป็นของผู้เขียนเอง ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นการสะท้อนทัศนะของเอเชียไทมส์)

กำลังโหลดความคิดเห็น