เมื่อช่วงเช้าตรู่ของวันพุธที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือภายใต้การนำของผู้นำอย่าง คิม จอง-อึน ทำการท้าทาย-ยั่วยุประชาคมโลกรอบใหม่ ด้วยการยิงขีปนาวุธไปตกในน่านน้ำที่อยู่ในความควบคุมของญี่ปุ่นจุดกระแสความตึงเครียดรอบใหม่ ทั้งบนคาบสมุทรเกาหลีและในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ขณะที่สหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ตบเท้าประสานเสียงประณามพฤติกรรมก้าวร้าวล่าสุดของรัฐบาลเปียงยางแบบทันควัน
รายงานข่าวของสื่อดังแดนโสมขาวอย่างสำนักข่าวยอนฮัป และสื่อดังแห่งแดนปลาดิบอย่างสำนักข่าวเกียวโด ระบุตรงกันโดยอ้างคำแถลงของสำนักงานประธานเสนาธิการทหารร่วมเกาหลีใต้ ที่ระบุว่า เกาหลีเหนือได้ทำการยิงขีปนาวุธซึ่งยังไม่ทราบชนิดที่แน่ชัดจำนวน 1 ลูก เมื่อเวลาราว 7.50 น. ตามเวลาท้องถิ่นของกรุงโซล ตรงกับเวลาประมาณ 05.50 น. ของวันที่ 3 ส.ค. ตามเวลาตามเวลาในประเทศไทย จากฐานยิงในพื้นที่จังหวัดฮวางแฮใต้ ก่อนที่ขีปนาวุธของรัฐบาลโสมแดงลูกนี้จะพุ่งไปตกในน่านน้ำ “ทะเลญี่ปุ่น”
อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากกองบัญชาการยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ กลับระบุว่า ในความเป็นจริงแล้ว อเมริกาตรวจพบการยิงขีปนาวุธจำนวน 2 ลูกจากชายฝั่งเกาหลีเหนือในวันเวลาดังกล่าว แต่ทว่า ขีปนาวุธลูกหนึ่งในจำนวนนี้ เกิดระเบิดแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ในทันทีที่มันถูกปล่อยออกจากฐานยิง
หลังยืนยันการตกของขีปนาวุธเกาหลีเหนือในทะเลญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีสายเหยี่ยวอย่าง ชินโซ อาเบะ ออกมาแถลงว่า การยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือนี้ เป็น ภัยคุกคามร้ายแรงต่อความมั่นคงของญี่ปุ่นและกระทบบรรยากาศด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออก พร้อมย้ำชัดว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะเดินหน้าประท้วงเรื่องนี้อย่างแข็งขัน ขณะเดียวกัน กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น ได้รับคำสั่งให้อยู่ในสถานะ “เตรียมพร้อม” ต่อไป เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ที่อาจเกิดขึ้นจากพฤติกรรมยั่วยุ-ก้าวร้าวของรัฐบาลคอมมิวนิสต์เปียงยาง
ด้าน โยชิฮิเดะ ซูงะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งรั้งตำแหน่งหัวหน้าโฆษกรัฐบาลด้วย กล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกนับจากปี ค.ศ. 1998 เป็นต้นมา ที่เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธไปตกในน่านน้ำส่วนที่เป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะในทะเลญี่ปุ่น และยังเป็นการยิงโดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า ถือเป็นอันตรายอย่างยิ่งยวดต่อความปลอดภัยของเครื่องบินโดยสารและเรือประมง เข้าข่ายละเมิดหลักกฏหมายระหว่างประเทศหลายข้อ
ส่วนบรรยากาศในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. นั้น ทางโฆษกกระทรวงต่างประเทศเมืองลุงแซมประณามการกระทำของเกาหลีเหนือ โดยระบุว่า มิได้ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด และรังแต่จะทำให้นานาชาติต้องตัดสินใจเพิ่มมาตรการลงโทษต่อเปียงยางให้หนักหน่วงมากยิ่งขึ้นเท่านั้น
ขณะที่เกาหลีใต้ รัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีหญิง พัค กึน-ฮเยออกคำแถลงประท้วงเกาหลีเหนืออย่างรุนแรง พร้อมกล่าวหา รัฐบาลโสมแดงส่อ “เจตนาไม่บริสุทธิ์” ที่ต้องการ “ทำลายล้าง” ชาติเพื่อนบ้านโดยเฉพาะเกาหลีใต้
จนถึงขณะนี้แหล่งข่าวทางด้านความมั่นคงทั้งในกรุงโซลและกรุงโตเกียวต่างลงความเห็นว่า ขีปนาวุธที่ทางรัฐบาลเปียงยางนำมาทดสอบยิงล่าสุดนี้ น่าจะเป็นขีปนาวุธพิสัยกลางแบบ “โรดอง” ที่มีพิสัยทำการไกลประมาณ 1,000 กิโลเมตร จากจุดปล่อย
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทางการเกาหลีเหนือ เพิ่งทดสอบยิงขีปนาวุธจำนวน 3 ลูก ที่มีพิสัยทำการระหว่าง 500 - 600 กิโลเมตร ไปตกในทะเลด้านตะวันออกของประเทศตัวเอง โดยประกาศว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งของการจำลองการ “เปิดโจมตีก่อน” ต่อท่าเรือและสนามบินของเกาหลีใต้ในอนาคต
ความเคลื่อนไหวที่ตึงเครียดล่าสุดในคาบสมุทรเกาหลี มีขึ้นหลังจากสหรัฐฯและเกาหลีใต้ตกลงกันเมื่อเดือนก่อนว่า จะเดินหน้าติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธขั้นสูง “THAAD” ในเกาหลีใต้ในช่วงปลายปี 2017 ซึ่งปรากฏว่า ทางการเกาหลีเหนือไม่พอใจและขู่จะตอบโต้ต่อการตัดสินใจนี้ของรัฐบาลวอชิงตันและโซลอย่างสาสม
ล่าสุดทางคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ได้เรียกประชุมฉุกเฉินในวันพุธ (3ส.ค.) เพื่อหารือเกี่ยวกับกรณีเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธไปตก ในน่านน้ำเขตเศรษฐกิจจำเพาะในทะเลญี่ปุ่นครั้งนี้ และส่อเค้าอาจมีการออกมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อรัฐบาลคอมมิวนิสต์เปียงยาง
ที่ผ่านมา เกาหลีเหนือถูกสหประชาชาติ ประกาศบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรมาแล้วถึง 5 ครั้ง นับตั้งแต่ทดสอบระเบิดนิวเคลียร์หนแรกในปี 2006 ขณะที่เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพิ่งลงมติรับมาตรการคว่ำบาตรครั้งหนักหน่วงที่สุดต่อเปียงยาง ด้วยการห้ามส่งออกถ่านหิน เหล็กและแร่ธาตุอื่นๆไปยังเกาหลีเหนือ เช่นเดียวกับการเพิ่มข้อจำกัดอื่นๆ โดยเฉพาะในภาคการเงิน-ภาคธนาคาร
อย่างไรก็ตาม การแสดงออกซึ่งเต็มไปด้วยความก้าวร้าวและยั่วยุ ของรัฐบาลเกาหลีเหนือภายใต้การนำของคิม จอง-อึนยังคงเกิดขึ้นเป็นประจำและต่อเนื่องโดยไม่มีแนวโน้มจะยุติลงโดยง่าย ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ประชาคมโลกที่นำโดยสหรัฐอเมริกานั้น มี “น้ำยา” มากน้อยเพียงใด ในการรับมือภัยคุกคามจากเปียงยาง เพราะดูเหมือนลำพัง คำกล่าวประณามและถ้อยแถลงสวยหรูทางการทูตอาจ “ไม่พอเพียง” สำหรับการป้องปรามระบอบการปกครองของผู้นำที่คาดเดาได้ยากยิ่งอย่าง คิม จอง-อึน