xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำตุรกีพลิกบทงอนง้อขอโทษรัสเซีย หลังสัมพันธ์'ร้าว'กรณี'ยิงเครื่องบินรบ'

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บินาลี ยิลดิริม นายกรัฐมนตรีของตุรกี แถลงต่อสื่อมวลชนในในกรุงอังการี, ตุรกี คืนวันจันทร์ (27 มิ.ย.) โดยที่พูดถึงเรื่องการรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับรัสเซียซึ่งต้องร้าวฉานลง หลังกรณีตุรกียิงเครื่องบินรบของรัสเซียตกที่บริเวณชายแดนซีเรีย-ตุรกีเมื่อปลายปีที่แล้ว
เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิป เออร์โดกัน ของตุรกี ร่อนจดหมายถึงประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย “ขอโทษ” กรณียิงเครื่องบินทหารหมีขาวตกปลายปีที่แล้ว อย่างไรก็ตามเกิดความสับสนในการแถลงของ บินาลี ยิลดิริม นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของตุรกีผู้หันมาเดินหน้าตามแผนการ “เพิ่มมิตร-ลดศัตรู” โดยในตอนแรกเขาระบุว่าพร้อมพิจารณาจ่ายค่าชดเชยแก่รัสเซีย ก่อนจะมีการแถลงใหม่ในวันอังคาร (28 มิ.ย.) ว่า ไม่มีข้อเสนอเรื่องนี้

“เรื่องการจ่ายเงินชดเชยให้รัสเซีย ไม่ได้เป็นสิ่งที่มีการเสนอกัน เราเพียงแต่แสดงความเสียใจของเราเท่านั้น” โทรทัศน์ ซีเอ็นเอ็น-เติร์ก รายงานข่าวในวันอังคาร (28)โดยอ้างว่าเป็นคำกล่าวของ ยิลดิริม ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่เขาพูดว่าตุรกีพร้อมที่จะเสนอจ่ายเงินชดเชยสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งได้ทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองที่กำลังทำท่าจะกระเตื้องดีขึ้นเรื่อยๆ ต้องมีอันร้าวฉานหนัก

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีตุรกีให้สัมภาษณ์เครือข่ายทีวี ทีอาร์ที เมื่อคืนวันจันทร์ (27) ว่า หากจำเป็น ตุรกีพร้อมจ่ายค่าชดเชยสำหรับเหตุการณ์ที่อังการายิงเครื่องบินรบของรัสเซียตก 1 ลำที่บริเวณชายแดนซีเรียติดต่อกับตุรกีเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

ยิลดิริม ไม่ได้เป็นผู้นำตุรกีคนแรกซึ่งแสดงท่าทีต้องการปรับปรุงความสัมพันธ์กับฝ่ายรัสเซีย โดยก่อนหน้านี้มีรายงานว่า ประธานาธิบดีเออร์โดกันได้ส่งจดหมายแสดงความเสียใจถึงปูติน

นายกรัฐมนตรีตุรกีระบุด้วยว่า เออร์โดกันมีกำหนดจะหารือกับปูตินทางโทรศัพท์ในวันพุธ (29) หรือพฤหัสบดี (30) นี้ เพื่อหาทางฟื้นความสัมพันธ์สองประเทศ นอกจากนั้น เมฟลัต คาวูโซกลู รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี ยังตอบรับคำเชิญร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจทะเลดำที่เมืองโซชิ ในรัสเซีย วันที่ 1 กรกฎาคมนี้

ก่อนหน้านี้ อังการาปฏิเสธมาตลอดที่จะขอโทษต่อเหตุการณ์ดังกล่าว โดยยืนกรานว่า เครื่องบินรัสเซียรุกล้ำน่านฟ้าและเพิกเฉยต่อคำเตือน ขณะที่รัสเซียยืนยันว่า เครื่องบินของตนอยู่ในพรมแดนซีเรียและกล่าวหาตุรกี “วางแผนยั่วยุ”

มอสโกยังออกมาตรการลงโทษทางการค้าต่ออังการา ซึ่งรวมถึงการระงับโครงการสร้างสายท่อส่งก๊าซจากรัสเซียไปยุโรปโดยผ่านตุรกี รวมทั้งการแนะนำนักท่องเที่ยวรัสเซียงดเดินทางไปตุรกี โดยปูตินประกาศว่า จะยกเลิกมาตรการเหล่านี้บางส่วนต่อเมื่อเออร์โดกันยอมขอโทษเท่านั้น

ทั้งนี้ สองประเทศมีจุดยืนคนละขั้วในสงครามกลางเมืองของซีเรีย โดยตุรกีสนับสนุนกลุ่มกบฏที่ต้องการโค่นล้มประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดของซีเรีย ขณะที่รัสเซียเป็นหนึ่งในพันธมิตรของอัสซาด

เออร์โดกันได้กล่าวเมื่อคืนวันจันทร์ว่า หวังว่า ความสัมพันธ์กับมอสโกจะกลับสู่ระดับปกติโดยเร็ว

ในวันเดียวกัน เครมลินแถลงว่า เออร์โดกันส่งจดหมายขอโทษปูตินเรื่องที่ตุรกียิงเครื่องบินรัสเซียตกบริเวณชายแดนซีเรียเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

ทางด้านเจ้าหน้าที่ตุรกีแถลงว่า เออร์โดกันส่งจดหมายแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ไม่ได้ยืนยันว่า ผู้นำของตนกล่าวคำขอโทษหรือไม่

นอกจากขอปรองดองกับรัสเซียแล้ว ในวันจันทร์ (27) เช่นกัน อังการายังตอกย้ำการพลิกกลยุทธ์การทูตมาเน้นการประสานผลประโยชน์และความร่วมมือเพื่อขยายอิทธิพลในภูมิภาค ด้วยการทำข้อตกลงฟื้นความสัมพันธ์กับอิสราเอล

รายงานระบุว่า นายกรัฐมนตรีตุรกีและอิสราเอลร่วมกันเปิดเผยรายละเอียดข้อตกลงเพื่อยุติความบาดหมางนาน 6 ปี หลังเหตุคอมมานโดยิวจู่โจมกองเรือบรรเทาทุกข์ที่มุ่งหน้าสู่กาซา และทำให้นักเคลื่อนไหวตุรกีเสียชีวิต 10 คน

การปรับความเข้าใจกับรัสเซียและอิสราเอลถือว่า มีความสำคัญอย่างยิ่งในจังหวะที่ตุรกี ซึ่งเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาปกป้องแอตแลนติกเหนือ (นาโต) กำลังมีปัญหากระทบกระทั่งกับสหภาพยุโรป (อียู) จากการที่บรรดาผู้นำตะวันตกแสดงความกังวลเกี่ยวกับการแผ่ขยายลัทธิอำนาจนิยมภายใต้เออร์โดกัน ขณะที่ตะวันออกกลางแตกแยกกันอย่างหนักจากสงครามกลางเมืองในซีเรีย และกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) กำลังคุกคามความมั่นคงของภูมิภาค

หลังจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนที่แล้ว ยิลดิริมประกาศว่า ตุรกีจำเป็นต้อง “เพิ่มมิตรและลดศัตรู” ซึ่งเป็นแนวทางที่ตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงจากแผนการริเริ่มของอาเหม็ด ดาวูโตกลู นายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้า ที่ส่งเสริมนโยบายต่างประเทศที่ก้าวร้าว ซึ่งนักวิเคราะห์บางคนวิจารณ์ว่า สร้างปัญหามากกว่าประโยชน์

โซเนอร์ คากัปเทย์ ผู้อำนวยการตุรกี รีเสิร์ช โปรแกรม จากเดอะ วอชิงตัน อินสติติวต์ ชี้ว่า นโยบายของดาวูโตกลูส่งผลให้ตุรกีแทบไม่เหลือเพื่อนในตะวันออกกลาง


กำลังโหลดความคิดเห็น