xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่น-โซล-สหรัฐฯ “เต้น” ชี้เทคโนโลยีคืบหน้า โสมแดงยิงจรวดพิสัยกลาง “มูซูดัน” 2 ลูกซ้อนวันนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>จอโทรทัศน์กำลังเสนอข่าวการปล่อยจรวดของเกาหลีเหนือ ณ สถานีรถไฟในกรุงโซล วันพุธ (22 มิ.ย.) กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ระบุว่า โสมแดงได้ยิงขีปนาวุธ 2 ลูกในเวลาห่างกัน 2 ชั่วโมง คาดกันว่าจรวดที่เปียงยางทดสอบปล่อยในคราวนี้ คือ จรวดพิสัยกลาง “มูซูดาน” </i>
เอเจนซีส์ - นานาชาติพร้อมใจประณาม หลัง “เปียงยาง” ลองของยกใหม่ ปล่อยจรวด 2 ลูกซึ่งคาดกันว่าน่าจะเป็นขีปนาวุธพิสัยกลาง “มูซูดัน” ในเวลาห่างกัน 2 ชั่วโมงเมื่อวันพุธ (22 มิ.ย.) โดยประสบความสำเร็จในแง่ระยะทางที่ไกลขึ้นทั้งสองลูก ด้านผู้เชี่ยวชาญเตือนให้ผู้วางนโยบายเร่งเพิ่มมาตรการห้ามการทดสอบของเกาหลีเหนือ เนื่องจากความล้มเหลวทุกครั้งล้วนเป็นบทเรียนที่นำไปต่อยอดได้ ซึ่งอาจทำให้วันหนึ่งโสมแดงมีขีปนาวุธที่โจมตีถึงอเมริกาสมใจ

กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้แถลงว่า จรวดลูกแรกที่ปล่อยออกมาก่อนเวลา 06.00 น. (04.00 น. ตามเวลาไทย) ล้มเหลวหลังจากไปได้ราว 150 กิโลเมตรเหนือทะเลตะวันออก (ทะเลญี่ปุ่น) หลังจากนั้นสองชั่วโมงเกาหลีเหนือยิงจรวดลูกที่สองจากตำแหน่งเดิมในเมืองวอนซาน บนชายฝั่งตะวันออก และไปได้ไกล 400 กิโลเมตร

ทางกระทรวงเสริมว่า กำลังร่วมกับอเมริกาวินิจฉัยเหตุการณ์นี้เพิ่มเติม แต่ไม่ได้ระบุว่าจรวดลูกที่สองของเปียงยางสำเร็จหรือล้มเหลว กระนั้น ระยะทางที่ทำได้ในทางทฤษฎีของจรวดลูกนี้คือครึ่งทางก่อนถึงชายฝั่งด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะฮอนชู ซึ่งเป็นเกาะหลักของญี่ปุ่น

ก่อนหน้านี้ภายในปีนี้ เกาหลีเหนือได้ดำเนินการทดสอบจรวดซึ่งเข้าใจกันว่าเป็นขีปนาวุธมูซูดันมาแล้วรวม 4 ครั้ง ปรากฏว่าล้มเหลวทั้งหมด โดยจรวดระเบิดคาแท่นปล่อย หรือระเบิดหลังจากยิงขึ้นได้ไม่นาน

กระนั้น พวกผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ถึงแม้ล้มเหลว แต่ก็ทำให้เกาหลีเหนือมีประสบการณ์และสามารถเก็บรับบทเรียน ยิ่งเมื่อการทดสอบทำท่าจะประสบความสำเร็จเช่นการปล่อยครั้งที่ 2 ด้วยแล้ว ก็ถือเป็นก้าวย่างสำคัญของโครงการอาวุธโสมแดงซึ่งมีเป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่การพัฒนาการโจมตีด้วยนิวเคลียร์ต่อแผ่นดินใหญ่อเมริกา
<i>ระบบปล่อยขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศแพทริออต รุ่น PAC-3  ซึ่งเป็นอาวุธยิงต่อต้านขีปนาวุธที่ยิงเข้ามาโจมตี  ได้ถูกนำออกติดตั้งในบริเวณกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นที่กรุงโตเกียวตั้งแต่เมื่อวันอังคาร (21 มิ.ย.) ดังที่เห็นในภาพที่ถ่ายโดยสำนักข่าวจีจิภาพนี้  ทั้งนี้หลังจากมีสัญญาณแสดงว่าเกาหลีเหนือเตรียมที่จะทดสอบยิงขีปนาวุธพิสัยกลาง  ปรากฏว่าโสมแดงทำการทดสอบจริงๆ ในวันพุธ (22) โดยยิงถึง 2 ลูกในเวลาห่างกัน 2 ชั่วโมง </i>
ขณะเดียวกัน การทดสอบครั้งล่าสุดของเปียงยางยังถือเป็นการท้าทายคำเตือนและมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ห้ามเกาหลีเหนือใช้เทคโนโลยีขีปนาวุธ

จอห์น เคอร์บี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า การทดสอบล่าสุดจะกระตุ้นให้ทั่วโลกพยายามมากขึ้นในการต่อต้านโครงการอาวุธผิดกฎหมายของเกาหลีเหนือ และวอชิงตันเตรียมหยิบยกเรื่องนี้หารือในที่ประชุมยูเอ็น เพื่อหามาตรการบังคับให้เกาหลีเหนือรับผิดชอบการยั่วยุเหล่านี้

ด้านนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น วิจารณ์ว่า การทดสอบของเกาหลีเหนือถือเป็นการยั่วยุอย่างรุนแรงและไม่อาจยอมรับได้

ที่กรุงโซล กระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้เตือนว่าเกาหลีเหนืออาจเผชิญมาตรการคว่ำบาตรขั้นรุนแรงขึ้น และว่า การทดสอบล่าสุดตอกย้ำพฤติกรรมปากว่าตาขยิบและโป้ปดของเปียงยางที่ก่อนหน้านี้เสนอเจรจาทางทหารร่วมกัน

นอกจากนั้น สำนักประธานาธิบดีเกาหลีใต้ยังเผยว่าจะมีการประชุมความมั่นคงแห่งชาติในวันพุธเพื่อหารือเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวล่าสุดของเปียงยาง
<i>ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2015 และเผยแพร่โดยสำนักข่าวเคซีเอ็นเอของทางการเกาหลีเหนือ แสดงให้เห็นขีปนาวุธซึ่งถูกนำออกมาอวด ระหว่างการเดินสวนสนามที่กรุงเปียงยางในวันดังกล่าว </i>
จรวดมูซูดันที่เผยโฉมครั้งแรกระหว่างพิธีสวนสนามในเปียงยางเดือนตุลาคม 2010 นั้น ในเชิงทฤษฎีมีพิสัยทำการระหว่าง 2,500-4,000 กิโลเมตร หรือครอบคลุมทั่วทั้งญี่ปุ่น และยังไปจนถึงฐานทัพอเมริกันบนเกาะกวม

ความล้มเหลวในการทดสอบสามครั้งในเดือนเมษายนทำให้ผู้นำเปียงยางเสียหน้าอย่างมาก เนื่องจากมีขึ้นก่อนการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ หรือที่ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า พรรคผู้ใช้แรงงานเกาหลี ในเดือนพฤษภาคมเพื่อฉลองความสำเร็จของประเทศ มิหนำซ้ำความพยายามอีกครั้งในเดือนพฤษภาคมก็ล้มเหลวอีกเช่นกัน

กระนั้น สำนักข่าวยอนฮัปของเกาหลีใต้รายงานโดยอ้างการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลที่ไม่ประสงค์ออกนามว่า การทดสอบจรวดลูกที่สองเมื่อวันพุธแสดงให้เห็นถึงการปรับปรุงศักยภาพและเทคโนโลยีอย่างชัดเจน อีกทั้งดูเหมือนจรวดถูกยิงในวิถีให้ไต่สูงขึ้นเพื่อจำกัดระยะทาง

รายงานดังกล่าวสอดคล้องกับคำแถลงของโฆษกกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นที่ระบุว่า จรวดลูกที่สองพุ่งขึ้นสูงถึง 1,000 กิโลเมตร และแสดงถึงศักยภาพในการทำงานบางประการ
<i>ทหารเกาหลีใต้เตรียมตัวยิงปืนใหญ่ขนาด 105 ม.ม. ระหว่างการฝึกซ้อมที่ เปจู, เกาหลีใต้ ใกล้ๆ พรมแดนเกาหลีเหนือ เมื่อวันพุธ (22 มิ.ย.) </i>
การทดสอบจรวดคราวนี้มีขึ้นขณะที่คาบสมุทรเกาหลียังคงตึงเครียดอย่างมากหลังจากเปียงยางทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ครั้งที่ 4 เมื่อเดือนมกราคม ตามด้วยการทดสอบยิงจรวดส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรในเดือนถัดมา ซึ่งเห็นกันว่าคือการทดลองเทคโนโลยีจรวดพิสัยไกล จึงทำให้คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นประกาศมาตรการลงโทษรุนแรงที่สุดเท่าที่เปียงยางเคยเผชิญมา

ช่วงหลายเดือนมานี้เกาหลีเหนือยังอ้างว่าประสบความสำเร็จในการพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีป (ไอซีบีเอ็ม) ที่สามารถยิงหัวรบนิวเคลียร์ถึงเป้าหมายในอเมริกาได้

เมลิสซา แฮนแฮม ผู้เชี่ยวชาญด้านโครงการอาวุธทำลายล้างสูงของเกาหลีเหนือจากมิดเดิลเบอรี อินสติติวท์ ออฟ อินเตอร์เนชันแนล สตัดดีส์ ในแคลิฟอร์เนีย แสดงความเห็นว่าไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม การทดสอบล่าสุดบ่งชี้ความคืบหน้าที่น่ากังวล เนื่องจากเกาหลีเหนือสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมจากการทดสอบแต่ละครั้ง ดังนั้น บรรดาผู้วางนโยบายควรมุ่งเน้นการให้ยุติการทดสอบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกาหลีเหนือคืบหน้าถึงขั้นพัฒนาขีปนาวุธที่ใช้งานได้จริง

เจฟฟรีย์ ลูอิส จากสถาบันเดียวกันสำทับว่า ปกติแล้วจรวดจะถูกปล่อยในมุมที่มีพิสัยไกลที่สุด ดังนั้น การเพิ่มความสูงในการปล่อยจรวดลูกที่สองจึงอาจมีเจตนาเพื่อหลีกเลี่ยงน่านฟ้าญี่ปุ่น ซึ่งเท่ากับว่าจรวดทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบ เนื่องจากหากยิงในมุมปกติจรวดอาจไปได้ไกลสุดตามพิสัยที่กำหนด

ลูอิสเสริมว่า ความล้มเหลวเป็นองค์ประกอบปกติในการทดสอบ และเกาหลีเหนือจะแก้ไขปัญหาด้วยจรวดมูซูดานลูกต่อไปไม่ช้าก็เร็ว ซึ่งหากยังคงทดสอบต่อเนื่อง วันหนึ่งเกาหลีเหนือจะมีเทคโนโลยีขีปนาวุธที่สามารถคุกคามอเมริกาได้

กำลังโหลดความคิดเห็น